6 ธ.ค. 2019 เวลา 01:12 • ประวัติศาสตร์
#ป่อเต็กตึ๊ง
เป็นชื่อของมูลนิธิที่เราคุ้นชินกันดี
ที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน
จึงกลายเป็นชื่อที่ ติดหู ติดปากของเราไปโดย ปริยาย
ส่วนความเป็นมาของมูลนิธิ
จะเป็นอย่างไรนั้น
ตามเขียนนอกกรอบ มาเลยครับ
ป่อเต็กตึ๊ง เป็นมูลนิธิที่มาจาก คณะเก็บศพ
ไต้ฮงกง ก่อตั้งในปี พ.ศ.๒๔๕๒ โดยพ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ ๑๒ คน
มีจุดประสงค์เพื่อเก็บศพไร้ญาติทุกภาษาและนำไปฝังที่ป่าช้าทุ่งวัดดอน ถนนเจริญกรุง ที่ชาวจีนได้เรี่ยไรเงินซื้อที่ดิน.
ระยะแรกของคณะเก็บศพไต้ฮงกง เป็นไปอย่างอัตคัต เงินที่ได้รับบริจาคไม่พอกับค่าใช้จ่าย และเมื่อในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคืองในปี พ.ศ.๒๔๕๕
คณะผู้ก่อตั้งขอพระบรมราชูปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินช่วยเหลือให้ปีละ ๒.๐๐๐ บาท แต่ถึงกระนั้นการดำเนินงานก็ยังทำได้ในวงจำกัด
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๐ นักธุรกิจจีนได้ร่วมกับบรรดาสมาคมและหนังสือพิมพ์จีน ระดมความคิดปฏิรูปคณะเก็บศพไต้ฮงกงขึ้นใหม่
โดยจดทะเบียน (ทุน ๒,๐๐๐ บาท) จัดตั้งเป็นมูลนิธิในนาม "ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง" เป็นมูลนิธิลำดับที่ ๑๑ ของประเทศสยาม
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ดำเนินงานสาธารณะสงเคราะห์มาเป็นลำดับ ทั้งกิจกรรมหลักแรกเริ่ม คือการเก็บศพไร้ญาติ ไปจนถึงบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นอัคคีภัย ภัยแล้ง ภัยหนาว หรืออุทกภัย รวมไปจนถึงความยากจน
ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชาวจีนได้หลั่งไหลหนีภัยมายังประเทศไทยจำนวนมาก คน ๑ ใน ๔ ของผู้อพยพเป็นหญิงที่ติดตามสามีมา ส่วนใหญ่ยากไร้และอยู่ในวัยเจริญพันธุ์
และด้วยความที่ไม่คุ้นกับภาษาและวัฒนธรรมสยาม ทำให้เกิดปัญหายามตั้งครรภ์และตอนคลอดบุตร มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้มีส่วนช่วยโดย
ได้เปิดสถานผดุงครรภ์หัวเฉียว (ฮั่วเคี้ยวกิ้วหูลิ่วซั่วอี่) ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ ขนาด ๘ เตียง ที่หลังศาลป่อเต็กตึ๊ง (ถนนพลับพลาไชย)
การให้บริการทำคลอดได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๓ จึงขยายสถานผดุงครรภ์ไปเป็นโรงพยาบาลหัวเฉียว
(ฮั่วเคี้ยวกิ้วหูอุยอี่) ขนาด ๒๕ เตียง (ใช้ห้องเช่าแถวพลับพลาไชย) ให้บริการทำคลอดเกือบ ๓,๐๐๐ คน
และได้ผลักดันจัดตั้ง โรงเรียนผดุงครรภ์หัวเฉียว จนสำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ในช่วงที่สงครามทวีความรุนแรงมากขึ้น ซ้ำยังเกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2485
เป็นเวลาเดือนเศษ มูลนิธิทำภารกิจหนักในการจัดหาข้าวสารไปแจกจ่ายประชาชนที่เดือดร้อน
ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๗ - ๒๔๘๘ ภัยสงครามทางอากาศรุนแรงถึงขีดสุด ทำให้ในกรุงเทพฯ ถูกระเบิดทำลาย ระบบสาธารณูปโภคถูกทำลายเช่นกัน มูลนิธิเป็นธุระเสาะหาน้ำสะอาด
มาบรรเทาความขาดแคลน และยังจัดตั้งหน่วยบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยทางอากาศ และเก็บศพเหยื่อสงครามและผู้ตามไร้ญาติกว่าหมื่นศพ (ตลอดทั้งสงคราม)
เมื่อสงครามเริ่มซาลง (พ.ศ.๒๔๘๙ - ๒๔๙๐) มีชาวจีนจำนวนมากถึง ๑๗๐,๐๐๐ คน อพยพมายังประเทศไทยโดยเรือกลไฟ นำโรคระบาดมาคือริดสีดวงตา
ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงเพราะทำให้ตาบอดได้ ทางการไทยสั่งกักผู้โดยสารที่มาถึงกรุงเทพฯ ไว้เกือบ ๑ เดือน
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเข้ามาบรรเทาความเดือนร้อนแก่ชาวจีนอพยพ โดยนำข้าวต้ม น้ำสะอาดและเวชภัณฑ์ มาช่วยเหลือต่อเนื่อง ๔๐๐ วัน และยังช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวจีนโพ้นทะเล
โดยช่วยเหลือด้านค่าธรรมเนียมและต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว โดยทำมายาวนาน ๒๕25 ปี รวมถึงยื่นขอใบอนุญาตทำงานแก่ชาวจีนถึงราว ๘๐,๐๐๐ คน
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ดำเนินงานสาธารณะสงเคราะห์มาเป็นลำดับ ทั้งกิจกรรมหลักแรกเริ่ม คือการเก็บศพไร้ญาติ ไปจนถึงบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นอัคคีภัย ภัยแล้ง ภัยหนาว หรือ อุทกภัย รวมไปจนถึงความยากจน
ในปัจจุบันภารกิจของหน่วยกู้ภัยป่อเต็กตึ๊งมิได้ทำเพียงการเก็บศพอย่างเดียว แต่ดูแลเรื่องศพจนจบสิ้นกระบวนการ โดยจะทำพิมพ์นิ้วมือ
ทำประวัติและถ่ายรูปผู้ตาย จากนั้นส่งศพไปเก็บที่นิติเวชหรือโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อให้ญาติมารับ
หากไม่มีผู้มารับศพ มูลนิธิจะรับศพไปฝังชั่วคราว โดยที่สุสานของป่อเต็กตึ๊ง หากฝังครบ ๓ ปี ไม่มีผู้มาขอรับศพ มูลนิธิจะทำพิธีฌาปนกิจให้ (ภายหลังจากทางราชการได้ออกใบมรณบัตรให้)
งานสังคมสงเคราะห์ที่สำคัญและถือเป็นประเพณีบุญของมูลนิธิมายาวนาน คือ งานทิ้งกระจาด ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในเทศกาลสารทจีน
มีผู้ร่วมรับทานกว่า ๗๐,๐๐๐ คนต่อปี ส่วนในด้านการรักษาพยาบาล
นอกเหนือจากบริการหลักที่โรงพยาบาลหัวเฉียว (ขนาด ๗๕๐ เตียง) แล้ว ยังมีบริการหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยแพทย์อาสาสมัครจากโรงพยาบาลหัวเฉียว
ออกไปให้บริการแก่ผู้ยากไร้ในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด ทั้งในยามปกติและยามประสบสาธารณภัย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ
หลังจากที่มูลนิธิดำเนินกิจกรรมสาธารณสงเคราะห์มานานกว่า ๔ ทศวรรษ คณะกรรมการบริหารมูลนิธิ มีมติขยายวัตถุประสงค์
ให้ครอบคลุมถึงด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคนด้วย จึงเกิดแนวคิดที่มาของสถาบันอุดมศึกษานามพระราชทาน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปิดสอนรวม ๑๓ คณะ
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้รับรางวัลจาก คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ให้เป็นหน่วยงานดีเด่นของชาติสาขาพัฒนาสังคม (ด้านสังคมสงเคราะห์) ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๓๕
#เขียนนอก กรอบ
ขอขอบพระคุณครับ🙏
โฆษณา