24 พ.ย. 2019 เวลา 08:29 • ประวัติศาสตร์
ต่อไปนี้
จะอธิบายวิปัสสนาเกี่ยวกับนามธรรม คือ
เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นามธรรม
ทั้ง ๔ นี้ เป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ ๕ แต่ละเอียดไปกว่า
รูปขันธ์ คือ กาย ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา
แต่รู้ได้ทางใจ เวทนา คือ สิ่งที่จะต้องเสวยทางใจ
สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง
สัญญา คือ ความจำ เช่น จำชื่อจำเสียง จำวัตถุสิ่งของ
จำบาลีคาถา เป็นต้น
สังขาร คือ ความคิด ความปรุง เช่น คิดดี คิดชั่ว
คิดกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว หรือ ปรุงอดีตอนาคต เป็นต้น
วิญญาณ ความรับรู้ คือ รับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส
เครื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ ในขณะที่สิ่งเหล่านี้
มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
นามธรรมทั้ง ๔ นี้ เป็นอาการของใจ ออกมาจากใจ
รู้ได้ที่ใจ และเป็นมายาของใจด้วย ถ้าใจยังไม่
รอบคอบ จึงจัดว่าเป็นเครื่องปกปิดความจริงได้ด้วย
การพิจารณานามธรรมทั้งสี่ ต้องพิจารณาด้วยปัญญา
โดยทางไตรลักษณ์ล้วนๆ เพราะขันธ์เหล่านี้มี
ไตรลักษณ์ประจำตน ทุกอาการที่เคลื่อนไหว
แต่วิธีพิจารณาในขันธ์ทั้ง ๔ นี้ ตามแต่จริตจะชอบ
ในขันธ์ใด ไตรลักษณ์ใด หรือทั่วไปในขันธ์ และ
ไตรลักษณ์นั้นๆ จงพิจารณาตามจริตชอบในขันธ์
และไตรลักษณ์นั้นๆ เพราะขันธ์ และไตรลักษณ์หนึ่งๆ
เป็นธรรมเกี่ยวโยงถึงกัน จะพิจารณาเพียงขันธ์
หรือไตรลักษณ์เดียว ก็เป็นเหตุให้ความเข้าใจ
หยั่งทราบไปในขันธ์ และไตรลักษณ์อื่นๆ ได้
โดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับพิจารณาไปพร้อมๆ กัน
เพราะขันธ์ และไตรลักษณ์เหล่านี้ มีอริยสัจเป็นรั้ว
กั้นเขตแดนรับรองไว้แล้ว เช่นเดียวกับการรับประทาน
อาหารลงในที่แห่งเดียว ย่อมซึมซาบไปทั่วอวัยวะ
น้อยใหญ่ของร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนใหญ่รับรองไว้แล้ว
ฉะนั้น เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจงตั้งสติและปัญญา
ให้เข้าใกล้ชิดนามธรรม คือ ขันธ์ ๔ นี้ ทุกขณะที่ขันธ์
นั้นๆ เคลื่อนไหว คือ ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาประจำตน
ไม่มีเวลาหยุดยั้ง ตามความจริงของเขา ซึ่งแสดง
หรือประกาศตนอยู่อย่างนี้ ไม่มีเวลาสงบ แม้แต่
ขณะเดียว ทั้งภายใน ทั้งภายนอก ทั่วโลกธาตุ
ประกาศเป็นเสียงเดียวกัน คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
เป็นอนัตตา ปฏิเสธความหวังของสัตว์
พูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมเหล่านี้ไม่มีเจ้าของ ประกาศตน
อยู่อย่างอิสรเสรีตลอดกาล ใครหลงไปยึดเข้า
ก็พบแต่ความทุกข์ ด้วยความเหี่ยวแห้งใจ ตรอมใจ
หนักเข้ากินอยู่หลับนอนไม่ได้ น้ำตาไหล จนจะ
กลายเป็นแม่น้ำลำคลองไหลนองตลอดเวลา
และตลอดอนันตกาลที่สัตว์ยังหลงข้องอยู่
ชี้ให้เห็นง่ายๆ ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นบ่อหลั่งน้ำตา
ของสัตว์ผู้ลุ่มหลงนั่นเอง .
- หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน .
โฆษณา