22 พ.ย. 2020 เวลา 09:33 • ประวัติศาสตร์
อาชีพชาวนา กระดูกสันหลังของชาติ
ตั้งแต่ตอนเราเด็กๆ ภาพในความทรงจำของเรา คือภาพพ่อกับแม่ที่ใส่เสื้อผ้าเก่าๆออกไปทำนาตั้งแต่ เจ็ดโมงเช้า และ กลับมาในเวลาที่พระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าไปแล้ว กลับมาพร้อมกับตัวที่แปดเปื้อนไปด้วยโคลน เหงื่อเต็มกาย ไม่ว่าจะร้อนมากมายแค่ไหน มืดฟ้ามัวฝน หนาวจับใจ พ่อกับแม่ก็ต้องออกไปทำนา
แม่บอกเสมอว่า ให้ตั้งใจเรียน จะได้ไม่ต้องมาทำนา ไม่ต้องเหนื่อยและลำบากเหมือนแม่ ได้ทำงานในห้องแอร์เย็นๆ
2
เราก็ตั้งใจเรียนอย่างที่แม่สอน สอบเอ็นทรานส์ติดมหาลัยเชียงใหม่ และได้ทำงานในบริษัทที่ใหญ่และดีมากๆ รวม 13 ปี
แต่ชีวิตคนเราไม่ได้สวยงามอย่างที่คนอื่นคาดหวังเสมอไป อาจเป็นโชคชะตา หรือ ใจเราลิขิตชีวิตเราเอง เรากลับเลือกลาออก และกลับมาทำนา ทำในสิ่งที่แม่ไม่อยากให้ทำ เพราะสิ่งเดียว คือ คำว่า "กตัญญู"
"เราอยากกลับมาดูแลพ่อกับแม่ยามท่านแก่เฒ่าลง"
ปี 2017 เราลาออกและกลับมาสานต่ออาชีพชาวนา อาชีพที่เราไม่เคยได้เรียน ได้สัมผัสจริงๆจังๆ อาชีพที่พ่อกับแม่ทำมา ตั้งแต่ผืนนาผืนนี้ยังเป็นของคนอื่น จนสุดท้ายเราก็สะสมเงินจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนจนสามารถทำให้ผืนนาผืนนี้เป็นสมบัติของครอบครัวได้สำเร็จ
เมื่อได้ลงมาทำเอง มันเหนื่อยมากจริงๆค่ะ เหนื่อยที่สุดก็ขอความรู้จากพ่อนี่แหละค่ะ พ่อกับแม่ไม่ยอมสอนอะไรเลย
เพราะแกก็ทำมาแบบไม่ได้มีความรู้อะไร เราถามว่าทำไมใช้ปุ๋ยสูตรนี้ พ่อก็บอกว่าก็คนอื่นใช้แล้วข้าวงาม เอิ่มมม คือ บางอย่างประสบการณ์จากพ่อก็พอสอนเราได้ แต่บางอย่างก็ไม่มีความรู้ จริงๆจังๆทำตามๆกันมา
ปัจจุบันวิถีชาวนาได้ปรับเปลี่ยนการทำนาไปค่อนข้างมาก
บ้านเรา อยู่ จ.พะเยา เรายังคงทำนาปี นั่นคือ 1 ปี จะทำเพียงแค่ครั้งเดียว ปลูกพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิที่อดีตเคยเป็นอันดับ 1 ของโลกนั่นแหละค่ะ
เราลองวิเคราะห์ดู
อดีต : ใช้วิธีการหว่านแล้วเลือกต้นกล้าที่ดูแข็งแรงเพื่อนำมาปลูกลงดิน และใช้วิธีลงแขกเกี่ยวข้าว คือ ร่วมกันทำในที่นาใดที่นาหนึ่ง แล้วผลัดเปลี่ยนกันไปทำของคนอื่นๆต่อ
ปัจจุบัน:หว่านแล้วหว่านเลยจนโต ใช้แรงงานคนเดียวคือ คนหว่านข้าว
สาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการ
1.แรงงานในการทำนาไม่มี ก็ ลูกเล็กเด็กแดง ไปทำงานกันหมดละ ใครเขาจะมาทำนาที่แสนจะลำบาก ที่เหลือๆอยู่ก็ 50 ขึ้น วางมือกันละจร้าา
2.การปลูกต้องใช้แรงงานตั้งแต่ การดึงกล้า มัดกล้าเป็นมัด การนำต้นกล้าลงดิน(การปลูก) ลองนึกภาพนะคะ แดดร้อนๆ บางทีก็ฝนตก ต้องนั่งดึงกล้าทีละต้น มัดแล้วหาบไปปลูก แค่คิดก็ไม่ไหวละค่ะ หากจ้างค่าแรง 300 บาทก็ไม่คุ้มทุนอีก แถมแรงงานที่มีก็อายุค่อนข้างเยอะกันแล้ว
อดีต :แทบไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้าเลย เพราะใช้วิธีการปลูก หญ้าแทบไม่มีค่ะ เพราะวิธีการปลูกแบบปักดำ น้ำจะมีเยอะ หญ้าจะไม่ค่อยมี
ปัจจุบัน:พอเปลี่ยนวิธีมาเป็นการหว่าน หญ้ามาเพียบ ต้องพึ่งสารเคมีอย่างเดียวหญ้าถึงจะตาย ลองผสมสูตรปลอดสารเคมีทุกสิ่งอย่าง หญ้ามันไม่ตาย หญ้าในนานี่มันอึด ถึก ทน จริงๆค่ะ
อดีต:ใส่ปุ๋ยน้อย เพราะ ข้าวเวลาปลูก และมีน้ำ จะงามมากๆค่ะ เพราะไม่มีหญ้ามาแย่งอาหารด้วยค่ะ และสัตว์ต่างๆก็มีตามระบบนิเวศน์
ปัจจุบัน:พอหว่าน จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมี พวกขี้ไก่ ขี้วัว ปัจจุบันหายากยิ่งกว่าปุ๋ยเคมีอีกค่ะ
อดีต:เกี่ยวข้าวโดยใช้วิธี ใช้เคียวเกี่ยวข้าว เกี่ยวเสร็จ ก็ตากไว้กลางทุ่งนา และค่อยมาตีข้าวเพื่อเก็บเข้ายุ้งฉางรอขาย
ปัจจุบัน :ใช้รถดูดข้าว ดูดเสร็จก็เอาไปขายเลยทั้งๆที่ยังชื้นอยู่
ที่สำคัญ รถดูดบางคันไม่ได้ล้างโม่เวลาดูดข้าวเหนียวแล้วมาดูดข้าวสวย ดังนั้นก็เกิดปัญหาข้าวปนกัน
ดังนั้นหาข้าวคุณภาพดีๆค่อนข้างยาก ราคาจึงต่ำลง เพราะคุณภาพข้าวเราแย่ลง
ปี 2020 เราเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง จดทุกบาททุกสตางค์ เรียนรู้ทุกเรื่องเอง จากเพื่อนๆในกลุ่มชาวนา
การทำนาไม่ใช่เรื่องยากค่ะ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไว้จะมาเล่าต่อ ว่าปี 2020 ชีวิตมนุษย์ชาวนาของเราเป็นยังไงบ้าง
ขอบคุณที่ติดตามกันนะคะ
โฆษณา