25 พ.ย. 2019 เวลา 10:21 • ประวัติศาสตร์
ราชวงศ์เชียงรายของพระเจ้าอู่ทอง
เดิมนักประวัติศาสตร์สมัยก่อนเคยเรียกราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดี (พระเจ้าอู่ทอง) ผู้สถาปนากรุงศรีอยุทธยาว่า “ราชวงศ์เชียงราย” แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมากเรียกว่า "ราชวงศ์อู่ทอง"
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีตำนานโบราณหลายชิ้นอ้างว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสืบราชวงศ์มาจากกษัตริย์เมืองเชียงราย หนึ่งในนั้นคือ “จุลยุทธการวงศ์” ซึ่งบันทึกเรื่องราวของวงศ์กษัตริย์โบราณในเมืองสุโขทัยและเมืองเชียงราย จนมาจบลงในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี แต่งเป็นภาษามคธ เชื่อว่าเป็นงานนิพนธ์ของสมเด็จพระวันรัตน์ วัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ ๑
นอกจากนี้ยังมี “เทศนาจุลยุทธการวงศ์” ซึ่งอธิบายลำดับโบราณกษัตริย์ในสยามประเทศตั้งแต่พระเจ้าเชียงรายแพ้สงครามพระยาสะตองหนีเข้าสยามประเทศสืบมาจนถึงรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเนื้อหาเกี่ยวกับปฐมวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีได้อ้างอิงมาจากจุลยุทธกาลวงศ์อีกต่อหนึ่ง
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เทศนาจุลยุทธการวงศ์บันทึกเรื่องราวของราชวงศ์กษัตริย์สยามไว้ว่า พระเจ้าอู่ทองทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าสิริชัยเชียงแสน (ท้าวแสนปม) พระมารดาเป็นพระธิดาพระเจ้าไตรตรึงษ์ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์เมืองเชียงราย
“บัดนี้จะได้รับพระราชทานถวายพระสัทธรรมเทศนา ในจุลยุทธการวงศ์ สำแดงเรื่องลำดับโบราณกษัตริย์ในสยามประเทศนี้ อันบุพพาจารย์รจนาไว้ว่า กาลเมื่อพระเจ้าเชียงรายพ่ายแพ้ยุทธสงครามแต่พระยาสะตอง เสียพระนคร พาประชาราษฏรชาวเมืองเชียงราย ปลาศนาการมาสู่แว่นแคว้นสยามประเทศ ถึงราวป่าใกล้เมืองกำแพงเพ็ชร ด้วยบุญญานุภาพแห่งพระองค์ สมเด็จอัมรินทราธิราชนิรมิตรพระกายเป็นดาบศมาประดิษฐานอยู่ตรงหน้าช้างพระที่นั่ง ตรัสบอกให้ตั้งพระนครในที่นี้เป็นที่ชัยมงคลสถาน บรมกษัตริย์ก็ให้สร้างพระนครลงในที่นั้น จึงให้นามชื่อว่าเมืองไตรตรึงษ์ พระองค์เสวยไอศุริยสมบัติอยู่ในพระนครนั้นตราบเท่าทิวงคต พระราชโอรสนัดดาครองราชสมบัติสืบ ๆ กันมาถึงสี่ชั่วกษัตริย์
ครั้งนั้นยังมีบุรุษผู้หนึ่ง เป็นปมเปาทั่วทั้งกาย ทำไร่ปลูกพริกมะเขืออยู่ในแดนพระนครนั้น เก็บผลพริกมะเขือขายเลี้ยงชีวิต แลมะเขือต้นหนึ่งนั้นอยู่ใกล้ห้าง บุรุษนั้นไปถ่ายปัสสาวะลงที่ริมต้นนั้นเป็นนิตย์ มะเขือนั้นออกผล ๆ หนึ่งใหญ่กว่าผลมะเขือทั้งปวง เหตุทราบไปด้วยรสแห่งมูตรอันเจือด้วยสมภวะ พอพระราชธิดาพระยาไตรตรึงษ์มีพระทัยปรารถนาจะเสวยผลมะเขือ จึงใช้ทาสีไปเที่ยวซื้อ ก็ได้ผลมะเขือผลใหญ่นั้นมาเสวย นางก็ทรงพระครรภ์ ทราบถึงพระราชบิดาตรัสไต่ถาม ก็ไม่ได้ความว่าคบหาสมัคสังวาสกับด้วยบุรุษผู้ใด จนพระครรภ์ใหญ่กำหนดทสมาศประสูติพระราชกุมาร อันบริบูรณ์ด้วยบุญธัญญลักษณะ
พระญาติทั้งหลายอภิบาลบำรุงเลี้ยงพระราชกุมารจนค่อยวัฒนาการ ประมาณพระชนม์สองสามขวบ สมเด็จพระอัยกาปรารถนาจะทดลองเสี่ยงทายแสวงหาบิดาพระราชกุมาร จึงให้ตีกลองเป่าร้องบุรุษชาวเมืองมาให้สิ้นบมิได้เศษ ให้มีมือถือขนมแลผลาผลมาทุกคน ๆ ประชุมพร้อมกันในหน้าพระลาน ทรงพระอธิษฐานว่าถ้าบุรุษผู้ใดเป็นบิดาของทารกนี้ ขอจงทารกนี้รับเอาสิ่งของในมือแห่งบุรุษนั้นมาบริโภค แล้วให้อุ้มกุมารนั้นออกไปสู่ที่มหาชนสันนิบาต แลบุรุษกายปมนั้นได้แต่ก้อนข้าวเย็นถือมาก้อนหนึ่ง พระราชกุมารนั้นก็เข้ากอดเอาคอ แล้วรับเอาก้อนข้าวมาบริโภค คนทั้งปวงเห็นก็พิศวงชวนกันกล่าวติเตียนต่าง ๆ สมเด็จบรมกษัตริย์ก็ละอายพระทัย ได้ความอับประยศ จึงพระราชทานพระราชธิดาและพระนัดดานั้นให้แก่บุรุษแสนปมให้ใส่แพลอยไปถึงที่ไร่มะเขือ ไกลจากพระนครทางวันหนึ่งบุรุษแสนปมก็พาบุตรภรรยาขึ้นสู่ไร่อันเป็นที่อยู่
ด้วยอานุภาพแห่งบุญของชนทั้งสาม บันดาลให้สมเด็จอัมรินทราธิราชนิมิตรกายเป็นวานรนำ เอาทิพยเภรีมาส่งให้ชายแสนปมนั้น แล้วตรัสบอกว่า จะปรารถนาสิ่งใดจงตีเภรีนี้ อาจให้สำเร็จที่ความปรารถนาทั้งสิ้น บุรุษแสนปมปรารถนาจะให้รูปงามจึงตีกลองนั้นเข้า อันว่าปมเปาทั้งปวงก็อันตรธานหาย รูปกายนั้นก็งามบริสุทธิ์ จึงนำเอากลองนั้นกลับสู่ที่สำนัก แล้วบอกเหตุแก่ภริยา ส่วนพระนางนั้นก็กอบด้วยปีติโสมนัส จึงตีกลองนิมิตรทอง ให้ช่างกระทำอู่ทองให้พระราชโอรสไสยาศน์ เหตุดังนั้นพระราชกุมารจึงได้พระนามปรากฏว่าเจ้าอู่ทอง
จำเดิมแต่นั้นมา ในกาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๖๘๑ ปี ส่วนว่าบิดาแห่งเจ้าอู่ทองราชกุมาร จึ่งประหารซึ่งทิพยเภรีนิมิตรเป็นพระนครขึ้นในที่นั้น ให้นามชื่อว่า เทพนคร เหตุสำเร็จ ( ด้วย ) เทวดานุภาพ มหาชนทั้งปวงชวนกันมาอาศัยอยู่ในพระนครนั้นเป็นอันมาก พระองค์ก็ได้เสวยไอศุริยสมบัติในเมืองเทพนคร ทรงพระนามกรชื่อพระเจ้าสิริชัยเชียงแสนปรากฏในสยามประเทศ กาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๗๐๖ ปี สมเด็จพระเจ้าสิริชัยเชียงแสนเสด็จดับขันธ์ทิวงคต กลองทิพย์นั้นก็อันตรธานหาย
สมเด็จพระเจ้าอู่ทองราชโอรสได้เสวยราชสมบัติแทนพระราชบิดาได้ ๖ พระวัสสา ทรงพระปรารภจะสร้างพระนครใหม่ จึ่งใช้ราชบุรุษให้เที่ยวแสวงหาภูมิประเทศที่ อันมีพรรณมัจฉาชาติบริบูรณ์ครบทุกสิ่งราชบุรุษเที่ยวหามาโดยทักษิณทิศ ถึงประเทศที่หนองโสน กอบด้วยพรรณมัจฉาชาติบริบูรณ์พร้อม สมเด็จบรมกษัตริย์ทรงทราบ จึงยกจตุรงคโยธาประชาราษฏรทั้งปวง มาสร้างพระนครลงในประเทศที่นั้น
ในกาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๗๑๒ ปี ให้นามบัญญัติชื่อว่ากรุงเทพมหานครนามหนึ่ง ตามนามพระนครเดิมแห่งพระราชบิดา ให้ชื่อทวาราวดีนามหนึ่ง เหตุมีคงคาล้อมรอบเป็นขอบเขตต์ดุจเมืองทวาราวดี ให้ชื่อศรีอยุธยานามหนึ่ง เหตุเป็นที่อยู่แห่งชนชราทั้งสอง อันชื่อยายศรีอายุและตาอุทยา เป็นสามีภริยากัน อาศัยอยู่ในที่นั้น ประกอบกันพร้อมด้วยนามทั้งสามจึงเรียกว่า กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดี ศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าอู่ทองได้ราชาภิเษก เสวยสวริยาธิปัตย์ถวัลย์ราชณกรุงเทพมหานคร ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี”
.
ในเวลาต่อมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นศิษย์ของสมเด็จพระวันรัตน์ ทรงนำเรื่องพระเจ้าอู่ทองในเทศนาจุลยุทธการวงศ์ มาประกอบเป็นเรื่องต้นของพระราชพงศาวดารที่ทรงชำระ คือ “พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน” (ซึ่งมีบานแพนกระบุว่า ทรงชำระร่วมกับสมเด็จพระวันรัตน์ที่เป็นพระอุปัชฌาย์ สันนิษฐานว่าชำระเสร็จในรัชกาลที่ ๓) นอกจากนี้ยังทรงพระนิพนธ์ไว้ใน “พระราชพงษาวดารสังเขป” ของพระองค์ด้วย มีเนื้อหาตรงกัน
ด้วยเหตุนี้ ผู้ศึกษาพงศาวดารในชั้นหลังจึงถือว่าสมเด็จพระรามาธิบดีทรงเป็นเชื้อสายราชวงศ์พระเจ้าเชียงราย และเรียกราชวงศ์ของพระองค์ว่า “ราชวงศ์เชียงราย”
แต่นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังไม่เชื่อตำนานเหล่านี้แล้ว เลยเปลี่ยนมาเรียกว่า "ราชวงศ์อู่ทอง" ตามพระนามแทน สันนิษฐานว่าอาจอ้างอิงจากทฤษฎีของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงเสนอว่าพระเจ้าอู่ทองมาจากเมืองอู่ทอง ในจังหวัดสุพรรณบุรีด้วย
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
เรื่องพระเจ้าเชียงรายที่เป็นบรรพชนของพระเจ้าอู่ทองในจุลยุทธกาลวงศ์ เข้าใจว่าอ้างอิงมาจาก “ตำนานสิงหนวติกุมาร” ของโยนกเชียงแสน กล่าวถึงราชวงศ์กษัตริย์ของเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแสน นับตั้งแต่พระเจ้าสิงหนวติซึ่งเป็นโอรสกษัตริย์เมืองราชคฤห์ในอินเดียที่มาตั้งบ้านเมืองในเชียงแสน สืบราชวงศ์ลงมาถึงพระเจ้าพรหม ซึ่งย้ายไปสร้างเวียงไชยปราการ
เมื่อพระเจ้าพรหมสวรรคต พระองค์ไชยสิริโอรสได้เสวยราชย์สืบต่อ ภายหลังกษัตริย์มอญเมืองสุธรรมวดี (สะเทิม) ยกทัพมาตีเวียงไชยปราการ พระองค์ไชยสิริพาครัวอพยพหลบหนีไป พระอินทร์จึงแปลงตนเป็นตาผ้าขาวขอให้ตั้งเมืองขึ้นในที่นั้น พระองค์ไชยสิริจึงทรงสร้างเมืองเรียกชื่อว่าเมืองกำแพงเพชร แล้วทรงเปลี่ยนพระนามพระองค์เป็น “พระองค์ไชยสิริเชียงแสน”
.
สันนิษฐานว่าเมื่อกลุ่มชนที่ใช้ภาษาตระกูลไท-ลาวเคลื่อนย้ายถิ่นฐานลงมายังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้นำตำนานเกี่ยวกับราชวงศ์เชียงแสนที่เป็นบรรพชนลงมาด้วย แล้วนำตำนานในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาคือเรื่องท้าวแสนปมและพระเจ้าอู่ทองเข้าไปผสมในภายหลัง ทำให้ราชวงศ์กษัตริย์เชียงแสนโบราณกลายเป็นบรรพชนของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุทธยา “พระองค์ไชยสิริเชียงแสน” โอรสพระเจ้าพรหมถูกแปลงเป็น “พระเจ้าสิริชัยเชียงแสน” พระราชบิดาของพระเจ้าอู่ทอง
มีหลักฐานว่ารัฐในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับอิทธิพลจากตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยาเป็นอย่างช้า ปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาของ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ระบุว่า ชาวสยามบางกลุ่มในยุคนั้นเชื่อว่า “พรมเทพ” คือพระเจ้าพรหม เป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรสยาม
ในจดหมายเหตุของซิมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère) และบาทหลวงกีย์ ตาชารด์ (Guy Tachard) ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ รวมถึงเอกสาร “คู่มือทูตตอบ” สำหรับให้ราชทูตไทยตอบคำถามได้อย่างเหมาะสมเมื่อถูกข้าราชการต่างประเทศซักถามที่จัดทำใน พ.ศ. ๒๒๒๕ รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ก็ระบุว่าปฐมวงศ์กษัตริย์สยามมาเป็นผู้สร้างเมือง “ไชยปราการ” เช่นเดียวกัน
เรื่องพระเจ้าอู่ทองเป็นเชื้อสายราชวงศ์เชียงรายนี้เป็นหนึ่งในตำนานที่มาของพระเจ้าอู่ทองที่มีจำนวนมาก และยังหาข้อสรุปชัดเจนไม่ได้ครับ
บรรณานุกรม
- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดารกับเรื่องราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช, พิมพ์ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพินทุ์เพญภาคย์, ๒๔๗๙.
- “จุลยุทธการวงศ์” ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๖. พระนคร : โรงพิมพ์เดลิเมล์, ๒๔๘๐.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัดถเลขา เล่ม ๑. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๘๑.
- ตาชารด์, บาทหลวง. จดหมายเหตุการเดินทางสู่สยามประเทศครั้งที่ ๑ และจดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ ๒ ของบาทหลวงตาชารด์ และภาคผนวกเรื่องไทยกับฝรั่งเศสเป็นไมตรีกันครั้งแผ่นดินสมแด็จพระนารายณ์. นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๕๑
- “ตำนานสิงหนวติกุมาร” ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๑. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรโสภณ, ๒๔๗๙.
- “เทศนาจุลยุทธการวงศ์” ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๖. พระนคร : โรงพิมพ์เดลิเมล์, ๒๔๘๐.
- พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). ๒๕๕๘.
- ลาลูแบร์, ซิมอน เดอ. จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : ศรีปัญญา, ๒๕๔๘.
- วันวลิต. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ. ๒๑๘๒. แปลโดย วนาศรี สามนเสน. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๗.
- Smithies, Michael and Dhiravat na Pombejra. “Instruction Given to the Siamese Envoys Sent to Portugal, 1684.” JSS Volume 90, Part 1&2, 2002.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ในเฟสบุ๊คที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา