25 พ.ย. 2019 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
25 พฤศจิกายนของทุกปีคือวันคล้ายวันสวรรคตของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6
วันนี้จึงจะขอมา “เล่า” พระราชประวัติของพระองค์ในแบบฉบับมุมมองของเว็บจากต่างประเทศให้ฟังกันครับ
หลายๆคนคงเคยอ่านพระราชประวัติของท่านในแบบภาษาไทยกันมามากมายครับ วันนี้เพจเล่าขอนำเสนอโดยการแปลมาจากเว็บของประเทศอังกฤษ (Brittanica)ดูบ้าง จะได้ทราบว่าคนต่างชาตินั้นพูดถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์อย่างไร
ขอแบ่งเป็นข้อๆ ให้อ่านง่ายนะครับ ข้อแรกๆจะเป็นพระราชประวัติ ส่วนข้อหลังๆจึงจะเริ่มเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญ
*** เกร็ดความรู้เล็กน้อยคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคตตรงกับเช้ามืดช่วงตี 1 ของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 แต่ทางราชการยังคงนับให้วันคล้ายวันสวรรคตนั้นเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน เพราะในอดีตนั้นยังนับว่ามันคือคืนของวันที่ 25 อยู่
1. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติในวันปีใหม่ 1 มกราคม พ.ศ.2424 และได้รับพระราชทานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ” เมื่อมีพระชนมายุ 8 พรรษา
2. ทรงศึกษาอยู่ในประเทศไทยจนถึงพระชนมายุ 12 พรรษา ก่อนที่พระราชบิดา (รัชกาลที่ 5) จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ
3. ที่ประเทศอังกฤษพระองค์ได้ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก Sandhurst ก่อนจะเข้าเป็นทหารกองทัพอังกฤษอยู่ช่วงสั้นๆ และทรงศึกษาต่อที่วิทยาลัย Christchurch ใน University of Oxford ในด้านของประวัติศาสตร์และกฎหมาย
4. ระหว่างนั้นพระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ต่างชาติใช้คำว่า Heir Apparent หรือรัชทายาท) ในปี พ.ศ. 2438 เพราะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์เดิมสวรรคตลง เสด็จกลับมายังสยามประเทศและขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2453
5. ทรงประกาศใช้กฎหมายให้ชาวไทยสมรสโดยมีคู่ครอง (สามี/ภรรยา)เพียงคนเดียวเท่านั้น (Monogamy form of marriage)
6. ทรงเปลี่ยนปฎิทินให้เป็นแบบ Gregorian Calendarที่มีความเป็นสากลมากขึ้น
7. ทรงดำเนินการให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษอย่างแพร่หลาย
8. ทรงสถาปนาสภากาชาดไทย
9. ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นเพื่อให้คนไทยทุกคนมีนามสกุลเป็นของตนเอง
10. สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทย และประกาศให้ประถมศึกษาเป็นการศึกษาภาคบังคับ
11. ทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น โดยจะเป็นกองกำลังที่รักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ไม่ขึ้นตรงกับกองทัพปกติที่มีอยู่เดิม
12. ประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร (The Allies) นำไปสู่การเจรจากับมหาอำนาจหลายประเทศเพื่อแก้สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหลายๆอย่างได้ในปี พ.ศ. 2469
13. ในด้านของวรรณกรรมต่าง พระองค์ได้พระราชนิพนธ์บทละครไว้หลายเรื่อง ภายใต้นามปากกามากมาย เช่น อัศวพาหุ พระขรรค์เพชร วชิราวุธ ศรีธนญชัย เป็นต้น (***นามปากกาไม่ได้มีเอ่ยถึงในเว็บอ้างอิงนะครับ ผมเพิ่มเติมให้เองจากที่เคยอ่านบทพระราชนิพนธ์มาบ้าง)
ในบทความของ Britanica ได้สรุปพระราชกรณียกิจของพระองค์ไว้ประมาณนี้ แต่สำหรับพวกเราชาวไทยก็น่าจะทราบดีว่านี่ยังไม่ถึงครึ่งของที่พระองค์ทรงสร้างไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังครับ
ส่วนอื่นๆที่ผมอยากจะขอเพิ่มเติมเข้าไปได้แก่ การสถาปนาสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งวชิรพยาบาล, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, สถานเสาวภา, โรงเรียนมหาดเล็กหลวง(ภายหลัง ร.๗ ทรงโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย)
รวมไปถึงการจัดตั้งเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” และยกเลิกการใช้ธงช้าง เปลี่ยนมาเป็นธงไตรรงค์ในปัจจุบัน
เป็นครั้งแรกที่เขียนอะไรยาวๆแล้วต้องใชคำราชาศัพท์ค่อนข้างเยอะ ผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ด้วยนะครับ และถ้ามีคำไหนควรแก้ไขสามารถ Comment บอกแอดมินได้เลยครับ
ในโพสต่อๆไปก็จะนำเรื่องน่าสนใจของหนังสือเล่มอื่นๆ รวมไปถึงเกร็ดความรู้ต่างๆ มาเล่าให้ฟังเรื่อยๆ สนใจก็กดติดตามเพจ “เล่า” ไว้เพื่อที่จะไม่พลาดเนื้อหาดีๆในอนาคต
ส่วนถ้าใครไม่อยากพลาดทุกโพสต์ของเพจ “เล่า” แอดมินแนะนำให้กด See First เอาไว้ด้วยครับ :)
ติดตามเรื่อง “เล่า” ผ่าน facebook ได้ที่
#เล่า #เล่าหนังสือ #เล่าความรู้ #unfold #ส่งเสริมการอ่าน #ส่งเสริมการเรียนรู้ #วันวชิราวุธ #พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
โฆษณา