25 พ.ย. 2019 เวลา 13:32 • ธุรกิจ
BAM ถึงเวลาแล้ว !
เมื่อบริษัททวงหนี้ที่ใหญ่ที่สุดในไทยกำลังจะเข้าตลาด
ถ้าพูดถึงคำว่า “หนี้” คงไม่มีใครอยากเป็นกันสักเท่าไหร่หรอกใช่ไหม แต่บางครั้งบางที หนี้มันก็คือสิ่งที่จำเป็น จะเพื่อการเติบโต เพื่อการเลี้ยงชีพหรือเพื่ออะไรก็ว่ากันไป
แต่เมื่อกู้ยืมเงินมาแล้วก็ควรจะใช้ให้ครบตามกำหนด ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็น “หนี้เสีย” หรือ NPL นั่นเอง
หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้ว่าล่าสุดประเทศไทยมี NPL ในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ถึง 4.7 แสนล้านบาทและมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 12.7% ด้วย
เศรษฐกิจก็ไม่ดี อสังหาฯก็ซบเซา ทำให้ “บริษัททวงหนี้” กลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ
และจะมาบอกว่า BAM บริษัทบริหารสินทรัพย์เจ้าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กำลังจะเข้าตลาดและขายหุ้น IPO เร็วๆนี้แล้ว
1
วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ BAM ให้อ่านกัน ว่าพวกเขาคือใคร ทำอะไร และเกี่ยวอะไรกับ NPL ที่สูงขึ้น ??
BAM หรือบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด มีธุรกิจหลักๆอยู่ 2 กลุ่มคือ
1. บริหารจัดการ NPL (สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ) โดยการซื้อ, ประมูล NPL จากธนาคารและปรับโครงสร้างหนี้เพื่อทำการเจรจากับลูกหนี้ใหม่ กับข้อเสนอที่น่าสนใจขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็น NPL ที่มีหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัย์
2. บริหารจัดการ NPA (สินทรัพย์รอการขาย) หากลูกค้าชำระหนี้ไม่ได้ ก็จะทำการเจรจาเพื่อให้โอนหลักประกันตามสัญญา หรืออีกแบบนึงคือซื้อ NPA จากสถาบันการเงินและนำมาบริหารจัดการเพื่อนำไปขายเองในตลาด
BAM เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่และหลากหลายสุดในไทย ถูกก่อตั้งเมื่อปี 2542 เพื่อรับโอน NPL จากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) (BBC) ในช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง
จนถึงปัจจุบันบริษัทสามารถปิดบัญชีหนี้ NPL ที่ซื้อมาบริหารได้แล้วกว่า 90,000 ล้านบาท
ต่อมาจึงได้ขยายธุรกิจด้วยการไปซื้อ NPL จากสถาบันการเงิน, ธนาคาร รวมไปถึงจากบริษัทอื่น
ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่และสาขาครอบคลุมทั่วประเทศทั้งหมด 26 แห่ง ทำให้พวกเขาได้เปรียบในเรื่องฐานข้อมูลที่เป็นสิ่งสำคัญในยุคเทคโนโลยีแบบนี้ บวกกับประสบการณ์ที่มากถึง 20 ปีในธุรกิจบริหารสินทรัพย์
ราคาของหนี้ ก็เปรียบเสมือนต้นทุนของธุรกิจนี้
ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ จะทำให้ในตลาดมี NPL และ NPA มากขึ้นและมีราคาลดลง ซึ่งจะกลายเป็นช่วงที่ BAM สามารถประมูล NPL และ NPA สะสมไว้เพื่อการทำกำไรในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว
ดังนั้น ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญต่อการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ เพราะเป็นคนกลางที่ช่วยให้ธนาคารไม่ต้องแบกรับภาระจากการตั้งสำรองหนี้ที่สูงเกินไป
💰 ผลการดำเนินงานของ BAM มีการเติบโตในตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
ปี 60 รายได้ 7.63 พันล้านบาท
กำไร 4.50 พันล้านบาท
ปี 61 รายได้ 9.75 พันล้านบาท
กำไร 5.20 พันล้านบาท
งวด 9 เดือนปีนี้(62)
รายได้ 9.20 พันล้านบาท
กำไร 4.88 พันล้านบาท
นอกจากนี้เงินสดรับ (Cash Collection) ที่เป็นตัวบ่งบอกสุขภาพของธุรกิจนี้และ BAM ก็มีเงินสดรับปีละกว่าหมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยปีที่แล้ว(61) บริษัทมีเงินสดรับที่ 1.66 หมื่นล้านบาท
สำหรับการเข้าตลาดในครั้งนี้ BAM ก็จะนำเงินไปขยายธุรกิจคือการเก็บ NPL และ NPA เข้าพอร์ต ใช้คืนหนี้ และนำมาหมุนเวียนในบริษัท ซึ่ง BAM จะทำการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 280 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเดิมอีกไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น และอาจจะมีหุ้นกรีนชูอีกไม่เกิน 230 ล้านหุ้น
รวมหุ้นทั้งหมดไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้นหรือคิดเป็น 54.4% ของบริษัท
สำหรับใครที่สนใจก็มีการเปิดให้จองแล้วตั้งแต่ 25 - 29 พศจิกายนนี้ในราคา 15.50 - 17.50 บาท แต่นี่ไม่ใช่การแนะนำให้ไปลงทุนกันแต่อย่างใด
เพราะการลงทุนที่ไม่ได้ลงมือศึกษาเอง ก็เหมือนกับการไปออกรบมือเปล่า อย่าพึ่งว่ากันถึงอาวุธ แค่ชุดเกราะก็ยังไม่มี
สำหรับวันนี้หลายๆคนก็คงจะรู้จัก BAM บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่กำลังถูกจับตามองไปแล้ว โดยคาดว่าในเดือนธันวาคมนี้เราคงจะได้เห็นหุ้นตัวนี้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์บ้านเรา
บริษัททวงหนี้ ผู้ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจ จะสามารถเติบโตได้ดีแค่ไหนในอนาคตไม่มีใครตอบได้
แต่จากปัจจัยโดยรวม ก็ถือว่าน่าจะสดใส...
>>ขอกำลังใจให้ 1 ไลค์ 1 แชร์นำสิ่งดีๆแบบนี้อีกนะครับ
สนใจเรียนรู้เรื่องการลงทุน..แอดมาเลยครับ
Line ID: @Bestcom (มีตัว @ ด้วยนะครับ)
โฆษณา