26 พ.ย. 2019 เวลา 12:19 • สุขภาพ
"คำประกาศสิทธิของผู้ป่วย"
บทความสาระความรู้ด้านสุขภาพบทความนี้ มีประเด็นที่พวกเราควรรู้มาเล่าสู่กันฟัง หลายท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาก่อน หลายท่านไม่เคยรู้เลยว่ามันมีอยู่ด้วยหรือ ไม่เป็นไรครับ เรามาเรียนรู้ไปพร้อมกันได้
สิ่งนั้นคือ "คำประกาศสิทธิของผู้ป่วย" ที่อยู่ในพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มีด้วยกันทั้งหมด 10 ข้อ เป็นเรื่องราวของเราในฐานะ "ผู้ป่วย" สิทธิพึงมีของเรานั้นมีอะไรบ้าง แล้วเราได้รับประโยชน์ตามสิทธินั้น ๆ หรือไม่
ข้อที่ 1 ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับบริการด้านสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญ ข้อความเขียนสั้น ๆ ว่าเป็น “บริการด้านสุขภาพ” ไม่ได้แจกแจกรายละเอียดลงไปว่าบริการอะไร อย่างไร แบบนี้ก็สามารถเหมารวมได้ว่าเป็นบริการด้านสุขภาพทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ การป้องกัน การวินิจฉัย การรักษา การฟื้นฟูโรค ทั้งโรคทางกายและโรคทางใจ ดังนั้นเรามีสิทธิที่จะได้รับบริการเหล่านี้
แต่ไม่ได้มีข้อความไหนที่เขียนว่า “ฟรี” นะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิทธิการรักษาของเราเลย ซึ่งเป็นประเด็นที่เราต้องรู้อีกเช่นกัน
ข้อที่ 2 ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับบริการจากบุคลากรทางการแพทย์โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าเราจะเป็นคนไทย ชาวต่างชาติ ชาวต่างด้าว คนจน คนรวย หรือนับถือศาสนาไหนก็ตาม จะเป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดง เพศชาย เพศหญิง เด็ก คนแก่ คนพิการ บุคลากรทางการแพทย์ต้องปฏิบัติต่อเราโดยเท่าเทียม ตามมาตรฐานการรักษา และไม่เลือกปฏิบัติ
ดังนั้นโรงพยาบาลจะเลือกไม่ได้ว่าจะรักษาใคร หรือไม่รักษาใคร เช่นผู้ป่วยเมาเหล้าอาละวาด เข้ามาที่ห้องฉุกเฉิน ชกต่อยหน้าหมอหนึ่งที หลังจากนั้นไม่นานถูกรถชนกลับมา หมอจะบอกว่าคนนี้เคยต่อยผม ผมไม่รักษา แบบนี้ได้หรือไม่ ?
ข้อที่ 3 ข้อนี้สำคัญมาก ๆ เภสัชกรวิงวอนขอให้ผู้ป่วยใช้สิทธิข้อนี้ด้วยนะครับ
สิทธิข้อนี้คือผู้ป่วยที่ขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอ ย้ำ! อย่างเพียงพอนะครับ สิ่งที่เภสัชกรขอคือ ไม่ว่าเราจะไปรับบริการด้านสุขภาพที่ไหน ถ้ามีการสั่งจ่ายยาให้เรากลับมากินต่อที่บ้าน เรามีสิทธิ์ที่จะรู้ชื่อยานั้น ๆ นะครับ ต้องรู้ไปถึงชื่อสามัญเลย เช่นยา Diclofenac จะเขียนแค่ยาแก้ปวดอักเสบ แบบนี้ไม่ได้นะครับ แบบนี้ไม่เรียกว่าชื่อยาครับ
เพราะเจอปัญหาเยอะเหมือนกันครับ ไปซื้อยาจากร้านยา จากคลินิกต่าง ๆ พอกินยาแล้วแพ้ ก็มาหาหมอที่โรงพยาบาล หมอก็จะส่งพบเภสัชกรช่วยดูให้หน่อย ผู้ป่วยแพ้ยาอะไร บางทีเราก็ไม่รู้นะครับว่ายาเม็ดนั้น สีนั้น คือยาอะไร เพราะไม่มีเภสัชกรคนไหนรู้จักยาทุกเม็ดบนโลกใบนี้ได้ครับ ต่อให้เรามีฐานข้อมูลช่วย identify ยา แต่ถ้ายาเม็ดนั้น ๆ ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูล ก็บอกไม่ได้ว่าเป็นยาอะไรเช่นกันครับ หรือบางทีเราใช้วิธีโทรไปถามแหล่งที่ผู้ป่วยได้ยามาก็มักจะไม่ให้ความร่วมมือ สุดท้ายความซวยตกที่ผู้ป่วยเองเลย
เมื่อผู้ป่วยได้ทราบข้อมูลเพียงพอและเข้าใจชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพแล้ว ผู้ป่วยจะสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน ต้องรีบช่วยชีวิต อาจจะไม่รอการตัดสินใจ
ข้อที่ 4 สืบเนื่องจากข้อยกเว้นในข้อที่ 3 หากผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยทันที ตามความจำเป็นแล้วแต่กรณี โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่
ถ้าเร่งด่วนต้องรีบช่วยชีวิตก่อนครับ
ข้อที่ 5 น่าสนใจเลยทีเดียว คือ ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่เป็นผู้ให้บริการแก่ตน
ประเด็นที่น่าสนใจคือ รู้ชื่อ-สกุล ไปทำไมกัน น่าคิดครับ เวลามีปัญหาจากการได้รับการบริการจะได้ร้องเรียนได้ถูกคนรึป่าวนะ ? ฝากผู้อ่านคิดต่อครับประเด็นนี้
ข้อที่ 6 ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่น ที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตน หมายความว่าสมมติเรากำลังรักษากับแพทย์ A อยู่ แต่เราสามารถขอความเห็นจากแพทย์ B หรือ แพทย์ C ได้นะครับ
นอกจากนี้เรายังมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการ เช่นแพทย์ A กำลังรักษาเราอยู่แต่เราไม่ชอบ ไม่พอใจ หรือด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เราสามารถเปลี่ยนแพทย์ได้ครับ และนอกจากแพทย์แล้วเรายังสามารถขอเปลี่ยนโรงพยาบาลในรักษาได้ด้วยครับ (ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงสิทธิการรักษาของเราด้วยครับ)
ข้อที่ 7 ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยเคร่งครัด ข้อนี้สำคัญมาก ๆ เลยครับ เพราะโรคบางโรคหรือข้อมูลบางอย่างเราไม่อยากให้คนอื่นรู้ เรามีสิทธิ์ที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลนั้น ๆ นะครับ
แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่น ได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยแล้วว่าให้เปิดเผยข้อมูลได้ หรือ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แบบนี้ก็สามารถเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วยได้ครับ
ข้อที่ 8 เป็นเรื่องของการศึกษาวิจัยในมนุษย์ หากเราเป็นอาสาสมัครเข้ามาร่วมทดลองการรักษาบางอย่าง เรามีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน ในการตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการเป็นผู้ถูกทดลอง ซึ่งประเด็นนี้จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์มักจะครอบคลุมอยู่แล้ว ทำให้เราได้รับสิทธิในเรื่องนี้ไปในตัว หากเราเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมงานวิจัย
ข้อที่ 9 เชื่อว่าหลายท่านอาจไม่ทราบเรื่องนี้ คือผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูล เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเฉพาะของตนที่ปรากฏในเวชระเบียนเมื่อร้องขอ คือเราสามารถขอดูข้อมูลการรักษาของเราในเวชระเบียนได้ และโรงพยาบาลต้องให้ความร่วมมือ แต่การขอดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น แสดงว่าถ้าเราจะไปขอดูของคนอื่น แบบนี้ไม่ได้นะครับ
ข้อที่ 10 สิทธิทั้ง 9 ข้อที่กล่าวมาหากผู้ป่วยเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้บกพร่องทางกายหรือจิต ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิด้วยตนเองได้ ดังนั้น บิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรมอาจใช้สิทธิแทนผู้ป่วยได้ เป็นต้น
ณ โอกาสหนึ่งเราอาจจะเป็นผู้ป่วยในสักวัน อย่าลืม "คำประกาศสิทธิของผู้ป่วย" ทั้ง 10 ข้อนะครับ
ถ้าเป็นเภสัชกรขอเน้นข้อ 3 ครับ ไปรักษาที่ไหน ไปซื้อยาที่ไหน โปรดถามสักนิดว่าจ่ายยาอะไรให้เรากิน ถ้าเขาไม่บอก แจ้งเขาไปเลยว่าคุณกำลังละเมิด สิทธิของผู้ป่วย ตาม พรบ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 อยู่นะครับ ต้องจัดให้หนัก ฝากด้วยครับเรื่องนี้ สำคัญมากจริง ๆ
ขอขอบคุณรูปภาพประกอบทั้งหมดจาก pixabay
โฆษณา