27 พ.ย. 2019 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
"เครื่องบินเจ็ทรุ่นแรกในโลกกับปริศนากลางอากาศ "
B.O.A.C. Flight 781 & South Africa Airways Flight 201
de Havilland DH-106 Comet 1 คือเครื่องบินเจ็ทพาณิชย์แรกของโลก
เครื่องบินที่เรานั่งไปไหนมาไหนกันอยู่ทุกวันนี้เราเรียกมันว่า เครื่องบินเจ็ทที่ใช้ในการพาณิชย์ (Commercial Jet Airliner) ซึ่งเราคงคุ้นตากันดี แค่แหงนหน้ามองฟ้าก็นั่นแหละครับ เครื่องบินเจ็ท ยุคบุกเบิกของเครื่องบินไม่ได้มีเครื่องบนต์ที่ทันสมัย อาศัยใบพัดเป็นตัวพยุงเครื่อง จึงเรียกมันว่าเครื่องบินใบพัด
ตัวอย่างรูปเครื่องบินพาณิชย์ชนิดใบพัดที่ใช้ในปี 1952
บริษัทผลิตและพัฒนาเครื่องบินที่หลายๆคนรู้จักกันดีก็คือพวก Airbus กับ Boeing นี่เอง ทว่าก่อนที่สองยักษ์ใหญ่จะโผล่มานี้ ในปี 1949 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทผลิตเครื่องบินสัญชาติอังกฤษ de Havilland ได้ให้กำเนิดเครื่องบินเจ็ทรุ่นแรกคือ DH-106 Comet 1 หรือ Comet จากการพัฒนาเครื่องยนต์เพื่อนำมาใส่ในเครื่องบินพาณิชย์
ภาพสเก็ตเครื่องยนต์ (รุ่น Ghost) ที่นำมาใส่ใน Comet 1
วิวัฒนาการของเครื่องบินเจ็ท พัฒนามาซึ่งการลดความดังในห้องโดยสารลงจนแทบจะเงียบ การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงให้ประหยัดลง และพระเอกของการเปลี่ยนแปลงคือ การเพิ่มระบบปรับความดันอากาศในห้องโดยสาร ทำให้เครื่องบินเจ็ทสามารถทำลายกำแพงความสูงของเครื่องบินใบพัดได้โดยที่ผู้โดยสารนั่งหายใจได้สะดวกเลยครับ (คือตามหลักแล้วถ้าบินยิ่งสูงอากาศก็เบาบาง ทำให้หายใจไม่ออก)
เจ้า Comet จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการนำมาสู่ฝูงบินของตัวเองรวมไปถึง British Overseas Airways Company (B.O.A.C.) ด้วย
เที่ยวบินที่ BOAC781 เป็นหนึ่งในเที่ยวบินของ BOAC ที่ใช้เครื่องรุ่น de Havilland DH-106 Comet 1
• ทะเบียน G-ALYP
• จากสนามบิน Kallang - สิงคโปร์ ไปยังสนามบิน Heathrow - อังกฤษ
• วันที่ 9-10 มกราคม 1954
• ผู้โดยสาร 29 คน
• ลูกเรือ 6 คน
• Captain Alan Gibson, อายุ 31 ปี, ชั่วโมงบินสะสม 6,500 ชม.
• First Officer John Bury, อายุ 33 ปี, ชั่วโมงบินสะสม 4,900 ชม.
• Engineer Francis Chales Macdonald, อายุ 27 ปี, ชั่วโมงบิน 720 ชม.
เนื่องด้วยวิวัฒนาการของเครื่องบินขณะนั้นยังบินได้ไม่ไกล ทำให้ไม่สามารถบินจากสิงคโปร์ไปยังอังกฤษภายในการนำเครื่องขึ้นครั้งเดียวได้ ต้องลงจอดตามสนามบินทางผ่านเป็นระยะๆ (Stopover) ที่สนามบินดอนเมือง - ประเทศไทย, สนามบิน Dum Dum - ประเทศอินเดีย, สนามบิน Jinnah - ประเทศปากีสถาน, สนามบินบาห์เรน - ประเทศบาห์เรน, สนามบิน Beirut - ประเทศเลบานอน, สนามบิน Ciampino - ประเทศอิตาลี, และสนามบิน Heathrow - ประเทศอังกฤษ ตามลำดับ
// แค่คิดจะเดินทางไกลสมัยนั้น ต้องยอมขึ้นๆลงๆ หลายตุ้บเลยครับกว่าจะถึง
ตัวอย่างเส้นทางการบินที่ต้องลงหลายๆ Stopover ในปี 1952
การเดินทางของเที่ยวบินที่ BOAC781 ราบรื่นมาจนถึง Stopover สุดท้ายที่สนามบิน Ciampino - ประเทศอิตาลี พนักงานและลูกเรือของสายการบินแจ้งความเรียบร้อยต่อหอควบคุม พร้อมนำเครื่องขึ้นหลังจากเติมน้ำมันตอน 10.31 น. ตามเวลาท้องถิ่น เจ้า Comet ต้องทำการไต่ระดับความสูงขึ้นไปที่ 11,000 เมตรหรือประมาณ 35,000 ฟุต ระหว่างนั้นก็มีการติดต่อสื่อสารกัปหอควบคุมและเครื่องบินใกล้เคียง (ที่บินต่ำกว่า) อยู่ตลอดเวลา
ผ่านไป 20 นาที, 10.51 ตามเวลาท้องถิ่น อยู่ดีๆเครื่องบินใกล้เคียงก็ไม่สามารถพูดคุยกับเจ้า Comet ลำนี้ได้ เขาจึงรีบแจ้งทางหอถึงสัญญาณที่ขาดหายของ BOAC781 ในเวลาเดียวกันก็มีชาวประมงได้ยินเสียงระเบิดครั้งใหญ่คล้ายฟ้าผ่า และเห็นเป็นลูกไฟหล่นลงมาที่ท้องทะเล ท้ายที่สุดคำให้การเหล่านี้ได้มีข้อมูลที่สอดคล้องกับเวลาที่สัญญาณขาดหายจึงสรุปว่าเป็นเจ้า Comet แน่นอน
หลังจากนั้นไม่นานก็มีทีมงานสำรวจเข้าพื้นที่บริเวณที่ตก พบศพของผู้โดยสารบางคนและข้าวของบางส่วนลอยอยู่ผิวน้ำ ไม่พบผู้รอดชีวิต มีการนำศพกลับมาชันสูตร ได้ข้อมูลของศพคล้ายๆกันว่ากะโหลกและปอดได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง แต่ไม่พบวัตถุระเบิดในร่างกายเลย
ข้อมูลส่วนประกอบต่างๆใน DH106 Comet 1
การตกของ BOAC781 ทำให้ทางการบินอังกฤษต้องสั่งหยุดบินเจ้า Comet เป็นการชั่วคราวขณะทำการหาข้อสรุป ทว่าผลกระทบของการหยุดบินทำให้ BOAC ขาดทุนหลายหมื่นดอลล่าต่อสัปดาห์ การสืบสวนก็ไม่มีความคืบหน้า ยังหาสาเหตุที่แท้จริงที่มาจากตัวเครื่องบินไม่ได้ ในช่วงเวลานั้นอยู่ในช่วงสงครามเย็นพอดี จึงเบี่ยงเบนข้อสรุปไปที่การก่อความไม่สงบก็อาจจะเป็นได้ ทำให้เจ้า Comet ได้ออกมาโบยบินอีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม 1954 //แต่ศพไม่พบเศษวัตถุระเบิดไม่ใช่หรอออ
ปลดล็อคปีกได้ 2 สัปดาห์กว่าๆเจ้า Comet ก็ทำเรื่องอีกแล้วครับ
สายการบิน South Africa Airways มีบริการให้เช่าเหมาลำโดยผ่านการดูแลของ BOAC เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือเที่ยวบินที่ SA201 โดยใช้ de Havilland DH-106 Comet 1 เช่นกัน
• ทะเบียน G-ALYY
• บินจากสนามบิน Heathrow - ประเทศอังกฤษ
• Stopover ที่ 1: สนามบิน Ciampino - ประเทศอิตาลี
• Stopover ที่ 2: สนามบิน Cairo - ประเทศอียิปต์
• สนามบินปลายทาง Johannesburgs - ประเทศแอฟริกาใต้
• ผู้โดยสาร 14 คน
• ลูกเรือ 7 คน โดยนักบินที่ 1 คือ Captain William Mostert
G-ALYY คือ Comet ที่ใช้บินเที่ยวบินที่ SA201
เจ้า Comet บินมาจอดเติมน้ำมันที่สนามบิน Ciampino - ประเทศอิตาลี (ที่เดียวกับ BOAC781 เลยครับ ช่างที่ตรวจเช็คความเรียบร้อยและเติมน้ำมันก็คนเดียวกันคือนาย Gerry Bull) จนเวลา 18.32 น. ตามเวลาท้องถิ่นกัปตันได้นำเครื่องขึ้นเพื่อไต่ระดับไปยังความสูง 35,000 ฟุตเช่นกัน ผ่านไปประมาณ 30 นาทีการติดต่อระหว่างเครื่องบินกับหอควบคุมก็หายไปกะทันหัน สุดท้ายก็พบว่ามันตกลงโดยไม่ทราบสาเหตุอีกครั้ง
แพทย์กล่าวว่าศพที่พบจากเหตุการณ์นี้มีลักษณะความเสียหายของอวัยวะเหมือนเหตุการณ์แรกเลย
แน่นอนครับว่าเหตุการณ์แบบเดียวกัน เกิดติดๆกัน ด้วยเครื่องบินรุ่นเดียวกัน ทางการบินอังกฤษไม่นิ่งนอนใจสั่งระงับการบินของ de Havilland DH-106 Comet 1 ทันทีทุกลำ อีกทั้งสั่งหาข้อสรุปอย่างจริงจังโดยมี Sir Arnold Alexander Hall อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริจด์ และนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังเป็นผู้นำแห่งโครงการนี้
Sir Arnold Alexander Hall
การเก็บกู้ซากเครื่องบินลำล่าสุดของเที่ยวบินที่ SA201 เป็นไปแทบไม่ได้เพราะจุดตกเครื่องบินมีความลึกประมาณ 1,000 เมตร แต่ซากเครื่องบินของเที่ยวบิน BOAC781 นั้นถูกเก็บกู้มาได้พอสมควร และได้รับการประกอบรูปร่างทันที จนเจอเบาะแสที่สำคัญเข้า นั่นคือรอยแตกร้าวที่เริ่มต้นจากมุมหน้าต่างของเครื่องบิน
การประกอบเศษซากของ G-ALYP
เมื่อเจอเบาะแส ทีมงานมุ่งข้อสงสัยไปการออกแบบในการรับแรงดันที่สูงเป็นระยะเวลานาน และในการทดสอบจำเป็นต้องนำโมเดลเครื่องบินที่คล้ายกับของจริงที่สุดมา การบินอังกฤษจึงทำการติดต่อขอเครื่องบินรุ่นเดียวกันนี้ ทะเบียน G-ALYU มาเพื่อทดสอบโดยเฉพาะ
วิธีการทดสอบให้บินขึ้นฟ้าเรื่อยๆ คงเป็นไปไม่ได้ทั้งเรื่องเงิน เวลา และที่สำคัญที่สุดคือ ชีวิตคน
เบาะแสจุดกำเนิดการเกิดรอยร้าวบริเวณขอบหน้าต่าง
ทีมงานได้ไอเดียในการนำเครื่องบินจำลองไปอยู่ในแทงค์น้ำที่สามารถปรับความดันใกล้เคียงกับความสูง 35,000 ฟุตที่สุด (เครื่องบินลำที่นำมามีเที่ยวบินสะสมอยู่ที่ 1,221 cycles ก่อนทดสอบ)
การทดสอบการทนความดันในแทงค์น้ำของ Comet
ชุดทดสอบได้ทำการทดลองเพิ่มลดความดันเสมือนจริงไปอีก 1,836 cycles และก็ได้พบร่องรอยความล้าของวัสดุ (Metal Fatigue) บริเวณขอบหน้าต่างและตามประตู ซึ่งความล้าของวัสดุนี้ก็คือการที่โลหะได้รับความดันเพิ่มขึ้นและลดลงสลับกันไปมาอยู่หลายครั้งทำให้โลหะเกิดความอ่อนแอลงจนเกิดการฉีกขาด ท้ายที่สุดแผงลำตัวของเครื่องบินก็แยกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยกลางอากาศ และจากทิศทางของรอยแตกจากหน้าต่าง พบว่าส่วนบนของลำตัว (หลังคา) น่าจะหลุดออกไปก่อน ทำให้อากาศกระแทกเข้ามาที่ส่วนหัวของผู้โดยสาร ข้าวของกระจัดกระจายไปที่ท้ายเครื่อง และสภาพศพผู้เสียชีวิตจึงคล้ายๆกันหมด
ภาพตัวอย่างการล้าของวัสดุ ที่เกิดจากมุมของหน้าต่าง
เมื่อทีมงานได้ทำบทสรุปต้นเหตุของทั้ง 2 เหตุการณ์ถึงความไม่ปลอดภัยของเครื่องบิน (Airworthiness) เผยแพร่ออกมามีผลให้ Comet 1 ทุกลำถูกห้ามบินถาวร //แน่นอนสิ !
de Hallivand ได้รับบทเรียนราคาแพงพร้อมกับผู้โชคร้ายอีก 56 ชีวิต หลังจากนั้น de Hallivand ได้ทำการพัฒนาเครื่องบินเจ็ทมาเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์อยู่เรื่อยๆแต่ว่าไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีอีกแล้ว ทั้งสาเหตุจาก 2 เหตุการณ์นี้ ทั้งการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ของ B707 จาก Boeing
ทำให้มีการพัฒนาเครื่องบินเจ็ทของ de Hallivand ไปทางทหารแทน
//จริงๆภาพนี้เป็นภาพตอนเปิดตัวเจ้า Comet ครับ แต่ชอบท่าบ๊ายบาย
Comet เจ้าเครื่องบินเจ็ทลำแรก เปิดตัวโดดเด่น ใครเห็นก็ตื่นตาตื่นใจ แต่ตัวมันเองมีอันตรายแฝงอยู่ สุดท้ายก็ผ่านน่านฟ้าไปไวเหมือนดาวหางสมชื่อ แม้จะพัฒนาไปถึง Comet 4 XS235 แต่ก็ยุติการใช้งานเป็นที่เรียบร้อยไปตั้งแต่ปี 1997
จริงๆนอกจาก 2 เหตุการณ์นี้ยังมีเหตุการณ์อีกนับไม่ถ้วนที่เกิดบนเจ้า Comet แต่อย่างน้อยเราก็ต้องขอบคุณการเริ่มต้นที่แม้ไม่ดีนัก แต่ก็เป็นบทเรียนให้วงการการบินไปนานแสนนาน
โฆษณา