28 พ.ย. 2019 เวลา 00:30 • ความคิดเห็น
การนิ่งเงียบ ดีจริงหรือ ?
การนิ่งเงียบในที่นี้ขอเน้นไปที่วาจาคำพูด มีสมัยหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้สนทนากับปริพาชกที่ชื่อว่าโปตลิยะ พระองค์ได้จำแนกบุคคลบางคนในโลกนี้ออกเป็น 4 ประเภท แล้วถามโปตลิยะว่า สำหรับท่านแล้ว คิดว่าบุคคลประเภทใด งดงามที่สุด เพราะเหตุใด แล้วเราคิดเหมือนโปตลิยะหรือไม่ มาดูกันเลยครับ
ประเภทที่ 1 คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนชอบตำหนิ ติเตียนคนที่ควรตำหนิอย่างเดียว เวลาเห็นคนทำผิด หรือทำอะไรไม่ดี จะต้องเข้าไปต่อว่า ตามที่เป็นจริง โดยกาลอันควร แต่เขาเหล่านี้ไม่เคยกล่าวชม หรือสรรเสริญใครเลย เรียกได้ว่าชมใครไม่เป็น ตำหนิอย่างเดียว
ประเภทที่ 2 ตรงข้ามกับประเภทที่ 1 คือ คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนชอบชม ชอบสรรเสริญคนที่ควรสรรเสริญอย่างเดียว เวลาเห็นคนทำดี ทำถูกต้อง จะต้องเข้าไปกล่าวชื่นชม ตามที่เป็นจริง โดยกาลอันควร แน่นอนเขาเหล่านี้ไม่เคยกล่าวตำหนิ ติเตียนใครเลย เป็นประเภทชมเก่ง
ประเภทที่ 3 เข้าได้กับหัวข้อบทความนี้เลย เป็นประเภทนิ่งเงียบ เห็นคนทำผิด ทำอะไรไม่ดี ก็เฉย ๆ หรือเห็นใครทำอะไรดี ๆ ก็เฉย ๆ ไม่กล่าวติเตียน บุคคลที่ควรติเตียน และ ไม่กล่าวสรรเสริญ บุคคลที่ควรสรรเสริญ
ประเภทที่ 4 เป็นการผสมของประเภทที่ 1+2 คือ คนบางคนในโลกนี้เป็นคนชอบตำหนิ ติเตียนคนที่ควรตำหนิ ตามที่เป็นจริง โดยกาลอันควร และชอบชม ชอบสรรเสริญคนที่ควรสรรเสริญ ตามที่เป็นจริง โดยกาลอันควร เช่นกัน
แล้วท่านคิดว่า โปตลิยะ คิดว่าบุคคลประเภทไหน เป็นบุคคลที่งดงามกว่า ประณีตกว่า แน่นอนครับ โปตลิยะ คิดว่าประเภทที่ 3 เพราะ "นั่น งดงามยิ่งด้วยอุเบกขา” อุเบกขาคือการวางจิตเป็นกลาง เฉย ๆ
แต่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า คือประเภทที่ 4 เหตุผล "นั่น งดงาม เพราะความเป็นผู้รู้กาละ ในกรณีนั้น ๆ" ตำหนิได้ครับ สรรเสริญได้ครับ แต่ต้องเป็นเรื่องจริง และดูกาละที่เหมาะสมด้วย ในการกล่าวคำพูดนั้น ๆ ออกไป
ลองคิดดูครับถ้าทุกคนเป็นแบบประเภทที่ 3 จะเกิดอะไรขึ้น คนทำผิดไม่รู้ตัวว่าทำผิด เพราะไม่มีใครว่า ไม่มีใครตำหนิเลย เขาก็คงทำผิดต่อไป สังคมที่อยู่ร่วมกันก็ค่อย ๆ เสื่อมลง หรือคนทำดี ที่ควรได้รับคำชื่นชม แต่ไม่มีใครชมหรือสรรเสริญเลย เขาอาจจะน้อยใจได้ เราจึงมักได้ยินคำกล่าวที่ว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน"
หลายคนไม่อยากว่า ไม่อยากตำหนิ เพราะกลัวการทะเลาะเกิดขึ้น เพราะธรรมชาติของมนุษย์คงไม่ชอบให้ใครมาว่า มาตำหนิแน่นอน หากเรารู้ว่าเรื่องที่จะตำหนินั้นเป็นเรื่องจริง เราต้องหาโอกาส (กาละ) ที่เหมาะสมในการบอกเขา แต่ถ้าบอกไปแล้วเกิดปฏิกริยาโต้กลับ (เถียงกลับ) แล้วเป็นเหตุให้มีการทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือ "ปาก" เราควรเงียบ และถือว่าเราได้บอกเขาไปแล้ว
ดังนั้นเราจะตำหนิ หรือสรรเสริญใคร เราควรใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบ ไม่อย่างนั้นเราจะกลายเป็น คนที่สรรเสริญผู้ที่ควรตำหนิ หรือตำหนิผู้ที่ควรสรรเสริญ แล้วพระพุทธเจ้าจะเรียกการกระทำแบบนี้ว่า "ย่อมค้นหาโทษด้วยปาก"
บางครั้งการนิ่งเงียบ ไม่พูดดีกว่า อาจจะมองว่าเป็นเรื่องดี แต่ลึก ๆ มีสิ่งที่ดีกว่าถ้าเราได้พูดออกไป
28 พ.ย. 2562 (7:30 น)
ขอบคุณภาพทั้งหมดจาก pixabay

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา