Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ประวัติศาสตร์ สถาบันกษัตริย์
•
ติดตาม
28 พ.ย. 2019 เวลา 12:35 • ประวัติศาสตร์
พระมหากษัตริย์ vs รัฐบาล : สหราชอาณาจักร
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และนายกรัฐมนตรี วิลเลียม แกลดสตัน
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นตัวแทนของการสืบเนื่องทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติ เมื่อได้ผ่านพ้นมาสู่ในโลกสมัยใหม่ต้องประสบกับอุปสรรคในการปรับตัวของสถาบันให้ตอบรับกับยุคสมัยด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างความอยู่รอดของสถาบันให้ดำรงต่อไปได้ในสังคม วันนี้เราจะมาพูดถึงอังกฤษ หรือ สหราชอาณาจักรกันนะครับ ซึ่งหลายท่านคงทราบว่าเป็นประเทศที่ผ่านการปฏิรูปทางการเมืองมาอย่างยาวนาน และตั้งมั่นด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างมั่นคง
แต่อย่างไรก็ตาม ในสหราชอาณาจักรเองก็ประสบกับความขัดแย้งระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับคณะรัฐบาลของพระองค์ ซึ่งทำให้เกิดบทสรุปทั้งรุนแรงมากและรุนแรงเล็กน้อย กรณีของสหราชอาณาจักรที่จะพูดถึงกันในโพสต์นี้คือ เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) ซึ่งครองราชย์ระหว่างปีค.ศ. 1837 - 1901 โดยแอดมินเองได้อ่านเรื่องราวนี้จากหนังสือเล่มหนึ่ง ผมว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจในการศึกษา ซึ่งผมจะใส่ไว้ในอ้างอิงท้ายโพสต์นะครับ
เรื่องราวความวุ่นวายครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงปีค.ศ. 1868 - 1874 หลังสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ทำให้เกิดการยกเลิกระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศส การก่อตั้งสาธารณรัฐทำให้แนวคิดสาธารณรัฐนิยมสุดโต่งในอังกฤษขยายตัวอย่างรวดเร็ว สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงถูกโจมตีในหน้าหนังสือพิมพ์ ในฐานะของสัญลักษณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า "พระนางใช้สิ่งเหล่านี้ไปทำอะไร" ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ไปกว่าล้านฉบับ หนังสือกล่าวถึงการใช้พระราชทรัพย์จำนวนมากของสมเด็จพระราชินีนาถ จากข้อวิพากษ์วิจารณ์จนกลายเป็นข้อเรียกร้องในการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์
แกลดสตันเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
ความไม่พอใจในสมเด็จพระราชินีนาถในหมู่สาธารณรัฐนิยมได้เพิ่มขึ้นมากเมื่อทรงขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรี วิลเลียม แกลดสตัน (William Ewart Gladstone) แห่งพรรคเสรีนิยม ทั้งพระราชินีและแกลดสตันต่างพยายามหาทางเล่นงานกันทุกทาง มูลเหตุของความไม่พอใจมาจากการที่แกลดสตันพยายามนำบุคคลที่มีแนวคิดสาธารณรัฐนิยมมาเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี และต่อมาในปีค.ศ. 1881 พระราชินีวิกตอเรียพระชนมายุ 62 พรรษา ต้องปะทะกับคณะรัฐมนตรีของแกลดสโตนวัย 72 ปี ในสภา เนื่องจากขณะที่พระนางเสด็จออกกล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภา ทรงประหลาดใจที่ร่างสุนทรพจน์ของพระนางถูกแก้ไขโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต ซึ่งกลยุทธ์ด้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลถูกเปลี่ยนจากที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ พระนางทรงพิโรธอย่างมาก ระหว่างการโต้เถียงในสภา ขุนนางบางคนขู่จะลาออก เพราะพวกเขาเห็นว่าพระราชินีทรงแทรกแซงนโยบายของรัฐด้วยความหยาบคาย ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมประนีประนอมและแยกย้ายออกไปด้วยความไม่พอใจ คณะรัฐมนตรีได้โยนคำพูดมาประโยคหนึ่งว่า "ฝ่าบาททรงทำได้เพียงกล่าวสุนทรพจน์ตามความปรารถนาของคณะรัฐมนตรี เพราะหน้าที่ของฝ่าบาทมีเพียงพยักพระพักตร์เท่านั้น ไม่สามารถโต้เถียงได้!"
การปฏิรูปของแกลดสตันได้ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ แกลดสตันนำมติคณะรัฐมนตรีมาวางบนโต๊ะทรงงานของพระนางเพื่อบีบบังคับให้ลงพระปรมาภิไธย พระราชินีชราทรงพิโรธอย่างมาก ซึ่งเดิมทีพระนางทรงเป็นคนหัวแข็งและทรงทำตามพระทัยตัวเองเสมอ แต่ต้องตกมาอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก พระนางทรงยินยอมลงพระปรมาภิไธยเพราะทรงเห็นอันตรายที่เกิดขึ้นหากไม่ทรงยินยอม เพราะทรงทราบว่าแกลดสตันเป็นผู้ให้การสนับสนุนกลุ่มสาธารณรัฐนิยมที่มีพลังมากในขณะนั้น
ในวันที่แกลดสตันพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ต่อพรรคอนุรักษ์นิยมที่พระราชินีสนับสนุน พระราชินีนาถวิกตอเรียจึงมีโอกาสแสดงความไม่พอพระทัย วันที่ออกจากคณะรัฐมนตรี แกลดสตันมาทูลลาพระราชินี พระนางทรงตรัสสั้นๆว่า "ท่านแกลดสตัน ข้าพเจ้าคิดว่าท่านควรได้พักผ่อนบ้างแล้วกระมัง" แต่หลังจากนั้นแกลดสตันก็ได้รับเลือกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยสุดท้ายคือสมัยที่ 4 ก่อนจะลาออกในปีค.ศ. 1894
นั่นแสดงว่าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียไม่โปรดแกลดสตันตลอดเวลาที่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่แกลดสตันเป็นที่รู้จักกันในบรรดาผู้สนับสนุนว่า “แกลดสตันขวัญใจประชาชน” เนื่องจากได้ชัยชนะในการเลือกตั้งหลายสมัยและเป็นผู้สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติการก่อตั้งรัฐบาลปกครองตนเอง (Home Rule Bill) ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติที่ร้องขอการก่อตั้งรัฐบาลในการปกครองตนเองในไอร์แลนด์ภายในสหราชอาณาจักร แกลดสตันเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ในขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงก้าวสู่การเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญผู็มีวุฒิภาวะ ทรงมีความสุขในการลงพระปรมาภิไธยบนเอกสารต่างๆ และทรงเสด็จออกตรวจราชการไปทุกหนแห่ง ความสัมพันธ์ของพระนางกับคณะรัฐมนตรีในยุคหลังจึงเป็นไปอย่างราบรื่น คณะรัฐมนตรีก็ให้ความเคารพพระราชินี ส่วนพระราชินีก็ไม่ทรงแทรกแซงงานบริหารของคณะรัฐมนตรีมากเกินควรอีกต่อไป เหมือนที่ทรงเคยทำในสมัยของเบนจามิน ดิสราเอลี (Benjamin Disraeli) พรรคอนุรักษ์นิยม ก่อนหน้าสมัยของแกลดสตัน ที่ทรงสนับสนุนนโยบายจักรวรรดินิยมอย่างรุนแรง
อ้างอิง
- ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา เขียนโดย หวังหลง แปลโดย เขมณัฐฐ์ ทรัพย์เกษมชัย และ สุดารัตน์ วงศ์กระจ่าง
-
https://en.wikipedia.org/wiki/Queen_Victoria
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย