28 พ.ย. 2019 เวลา 22:08 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ย้อนประวัติศาสตร์ 51ปี ของเครื่องบินโบอิ้ง 747: จากเครื่องบินขนส่งทางทหาร กลายเป็นเครื่องบินโดยสารพลเรือน
1
โบอิ้ง 747 กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางระยะไกล สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่าเครื่องบินทุกแบบก่อนหน้านี้ ย้อนดูประวัติศาสตร์ 51 ปีของเครื่องบินรุ่นนี้ นับตั้งแต่เปิดตัวเป็นครั้งแรก
1
วันที่ 30 ก.ย. 1968 ฝูงชนนับพันคนรวมตัวกันที่โรงงานแห่งใหม่ของโบอิ้งที่เมืองเอเวอเรตต์ ห่างจากเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ไปทางเหนือราว 30 ไมล์ (50 กม.) พวกเขามาที่นี่เพื่อชมเครื่องบินรุ่นใหม่ที่พลิกโฉมการออกแบบของโบอิ้ง
ในทศวรรษ 1960 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่หลายครั้ง เช่น การแข่งกันส่งมนุษย์อวกาศขึ้นไปดวงจันทร์, ความวุ่นวายจากสงครามเวียดนาม และผลกระทบจากความตึงเครียดของสงครามเย็น ในชั่วเวลา 10 ปี การเดินทางทางอากาศได้ปรับเปลี่ยนจากการเดินทางของคนมีเงิน กลายเป็นการเดินทางที่คนทั่วไปใช้บริการได้มากขึ้น
กุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนั้นคือ เครื่องบินโดยสารรุ่นใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่า และเดินทางได้เร็วกว่าเครื่องบินรุ่นเก่าที่ขับเคลื่อนด้วยใบพัด เครื่องยนต์ไอพ่นที่ทรงพลังของมันทำให้มันบินได้สูงขึ้น จึงสามารถบินข้ามสภาพอากาศที่เลวร้าย แทนที่จะต้องบินอ้อม นั่นหมายความว่า การบินไปยังจุดหมายปลายทางที่ห่างไกลใช้เวลาน้อยลงกว่าที่เคยมาก
1
ขณะนั้น เครื่องบินรุ่น 707 ของโบอิ้งเป็นพาหนะหลักของสายการบินต่าง ๆ ที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 และมีสายการบินคู่แข่งหลายราย ทั้งจากสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต การมีเครื่องบินไอพ่นขนาดใหญ่ขึ้น สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้น แต่สนามบินต่าง ๆ ก็ต้องขยายตัวตามไปด้วย เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ที่มาของเครื่องบินรุ่นใหม่ของโบอิ้ง ไม่ได้มาจากตัวบริษัทเอง แต่มาจากลูกค้ารายหนึ่งของโบอิ้ง ฆวน ทริปป์ ประธานสายการบินแพน แอม (Pan Am) ที่มีเส้นทางบินครอบคลุมไปทั่วโลก สังเกตเห็นความแออัดที่เพิ่มขึ้นตามสนามบินต่าง ๆ ขณะที่จำนวนเที่ยวบินกำลังเพิ่มขึ้น แต่เครื่องบินเองยังคงบรรทุกผู้โดยสารได้จำนวนน้อยเท่านั้น เครื่องบินลำใหญ่ขึ้นจะช่วยให้สายการบินลดต้นทุนการดำเนินงานได้
ทริปป์ ได้ขอให้โบอิ้ง ออกแบบเครื่องบินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยมีขนาดเป็นสองเท่าของเครื่องบินโบอิ้ง 707
เครื่องบินที่โบอิ้งเปิดตัวในเมื่อเดือน ก.ย. ปี 1968 ได้กลายเป็นเครื่องบินระยะไกลที่น่าดึงดูดใจ มันสามารถพาคุณไปยังชายหาดที่สดใสซึ่งอยู่ห่างไปคนละทวีป มันยังช่วยให้สนามบินแห่งต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนรูปร่างและขนาดด้วย นอกจากนี้ยังกลายเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าที่แข็งแกร่งของโลกโดยที่ไม่มีใครรู้อีกด้วย มันช่วยขนส่งสินค้าจำนวนมหาศาลไปทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้
1
ขนาดที่ใหญ่โตมหึมาของมันทำให้ผู้คนเรียกมันว่า 'จัมโบ เจ็ต' (Jumbo Jet) แต่โบอิ้งเรียกมันว่า 747
***
แต่เรื่องราวของเครื่องบินโบอิ้ง 747 เริ่มมาจากสัญญาทางการทหารที่แทบไม่มีใครรู้
ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 กองทัพอากาศสหรัฐฯ กำลังเริ่มรับมอบ ล็อกฮีด ซี-141 สตาร์ลิฟเตอร์ (Lockheed C-141 Starlifter) ซึ่งเป็นเครื่องบินไอพ่น 4 เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ถูกออกแบบมาให้บรรทุกสัมภาระได้ 27 ตัน ในการเดินทางราว 3,500 ไมล์ (5,600 กม.) แต่กองทัพอากาศต้องการเครื่องบินที่ใหญ่กว่านี้อีก
มี.ค. 1964 กองทัพอากาศสหรัฐฯ จึงขอให้บรรดาผู้ผลิตเครื่องบินส่งแบบเครื่องบินแบบใหม่ โดยกำหนดว่า เครื่องบินใหม่นี้จะต้องสามารถบรรทุกสัมภาระได้ 52 ตัน เดินทางได้ 5,000 ไมล์ (8,000 กม.) หรือสามารถบรรทุกสัมภาระหนัก 81 ตันในภารกิจที่สั้นกว่า นอกจากนั้น เครื่องบินจะต้องมีห้องเก็บสัมภาระที่มีขนาดกว้าง 5.18 ม. สูง 4.1 ม. และยาว 30 ม. ซึ่งใหญ่พอที่จะขับรถถังเข้าไปได้อย่างสบาย โดยจะต้องมีทางลาดสำหรับขนสัมภาระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อให้สามารถขับยานพาหนะเข้าออกได้ทั้งสองด้าน
โบอิ้ง ได้เสนอแบบเครื่องบินขนส่งขนาดยักษ์ไป พร้อมกับคู่แข่งอย่าง ดักลาส (Douglas), เจเนรัล-ไดนามิกส์ (General-Dynamics), ล็อกฮีด (Lockheed) และมาร์ติน-มารีเอตตา (Martin-Marietta) โดยแบบที่โบอิ้ง, ดักลาส และล็อกฮีด ยื่นไป ต่างได้รับเลือกให้นำไปศึกษาเพิ่มเติม และแต่ละรายต่างก็มีปัญหาใหญ่เรื่องเดียวกันนั่นก็คือ จะให้ห้องนักบินอยู่ตรงไหน เมื่อต้องมีประตูห้องเก็บสัมภาระอยู่ที่ด้านหน้าของเครื่องบิน
1
แบบที่ดักลาสเสนอมีห้องอยู่ที่ด้านบนส่วนลำตัวของเครื่องบิน บริเวณหน้าปีก ขณะที่ของล็อกฮีดมีห้องนักบินและห้องสำหรับผู้โดยสารไปตามแนวด้านบนกลางลำเครื่อง ส่วนแบบของโบอิ้งมีส่วนผสมผสานของทั้งสองแบบนี้ และในเวลาต่อมากลายเป็นการตัดสินใจที่เฉียบแหลม
แบบของล็อกฮีด ชนะการแข่งขันของกองทัพ (แบบที่ล็อกฮีดยื่น กลายเป็นเครื่องบิน ซี-5 กาแล็กซี ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกนาน 20 ปี) แต่แบบที่โบอิ้งยื่นกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเครื่องบินอีกแบบหนึ่งที่มีบทบาทแตกต่างกัน
ในปี 1965 โจ ซัตเตอร์ วิศวกรของโบอิ้ง ซึ่งกำลังผลิตโบอิ้ง 737 เครื่องบินสำหรับพิสัยการบินสั้นแบบใหม่ ได้รับมอบหมายจากบิล อัลเลน ประธานของโบอิ้งให้รับผิดชอบโครงการใหม่นี้ นั่นก็คือเครื่องบินยักษ์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสัญญาทางการทหาร และความปรารถนาของฆวน ทริปป์ ที่ต้องการสร้างเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาความแออัดที่สนามบิน
1
ซัตเตอร์ และผลงานของทีมของเขาเริ่มขึ้นจากแบบของเครื่องบินที่เคยเสนอให้กับทหาร โดยได้มีการเก็บชั้นลอยด้านบน และประตูที่เปิดจากจมูกเครื่องไว้ และเครื่องยนต์ 'ไฮ-บายพาส' ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเครื่องบินขนส่งทางทหาร (เครื่องยนต์ 'ไฮ-บายพาส' ช่วยทำให้อากาศไหลเวียนรอบใบพัดรวมถึงผ่านเครื่องยนต์ ทำให้เกิดแรงผลักเพิ่มขึ้นมากจากจำนวนเชื้อเพลิงที่ถูกเผาผลาญไป) จากการพูดคุยกับบริษัทที่สนใจซื้อ อย่างแพน แอม ซัตเตอร์ตระหนักว่า สายการบินต้องการเครื่องบินที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่า 190 คน ซึ่งเครื่องบินรุ่น 707 สามารถทำได้อยู่แล้วในขณะนั้น การทำให้แต่ละเที่ยวบินลดความแออัดลง และมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนต่อผู้โดยสารหนึ่งคนลดลง เครื่องบินไอพ่นลำที่ใหญ่ขึ้นก็จะมีต้นทุนที่ต่ำลงในการปฏิบัติงาน
1
แต่ก็มีความซับซ้อนที่เพิ่มเข้ามา
ไมก์ ลอมบาร์ดี นักประวัติศาสตร์ของโบอิ้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ กล่าวว่า ในช่วงนั้น โบอิ้ง กำลังทำโครงการที่มีความท้าทายมากกว่านั้นอีก "โบอิ้งกำลังสร้าง SST (Supersonic Transport -- การขนส่งเหนือเสียง) อยู่ด้วย ซึ่งจะแข่งขันกับคองคอร์ด (Concorde) ความคิดนี้ในช่วงนั้นคือเมื่อคองคอร์ด และ SST ให้บริการแล้ว ผู้คนก็คงจะอยากใช้บริการเครื่องบินทั้ง 2 แบบนี้ และคงไม่อยากจะนั่งเครื่องบินที่ช้ากว่าความเร็วเสียง
"ซัตเตอร์ เข้าใจดีว่า วันหนึ่ง เครื่องบินเหล่านี้ จะต้องกลายเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า"
นั่นหมายความว่า เครื่องบินขนาดจัมโบแบบใหม่ จะต้องรักษารูปแบบของเครื่องบินขนส่งสินค้าไว้ โดยห้องนักบินจะต้องอยู่เหนือห้องผู้โดยสาร เพราะการตระหนักว่า ระยะเวลาของการเป็นเครื่องบินโดยสารลดลงทุกขณะ
ลอมบาร์ดี กล่าวว่า "การทำให้มั่นใจว่า 747 สามารถเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าที่ดี ส่งผลต่อการออกแบบอย่างมาก" การเข้าใจอย่างถ่องแท้ช่วยทำให้ 747 ประสบความสำเร็จ
ด้านเครื่องบินโบอิ้ง SST ซึ่งรู้จักกันในชื่อ 2707 ไม่เคยถูกนำมาให้บริการสายการบิน เนื่องจาก ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับเสียงที่เกิดจากโซนิกบูม และต้นทุนเชื้อเพลิงจำนวนมหาศาล เป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินดังกล่าวถูกยกเลิกไปตั้งแต่ก่อนที่จะได้ใช้บิน
ก่อนที่โบอิ้งจะสร้าง 747 เสร็จ ทางบริษัทได้มีอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำ นั่นก็คือการสร้างโรงงานที่มีขนาดใหญ่พอสำหรับประกอบเครื่องบิน
เครื่องบินโบอิ้ง 747 มีขนาดมหึมา มีความยาว 70.6 เมตร ตั้งแต่จมูกเครื่องไปจนถึงหางเครื่องบิน ส่วนความกว้างของปีกอยู่ที่ 59 เมตร ทำให้ไม่สามารถสร้างขึ้นในโรงประกอบที่โบอิ้งมีอยู่ในขณะนั้นได้ จึงต้องสร้างโรงงานประกอบเครื่องบินแห่งใหม่ ที่ใหญ่พอที่จะนำเครื่องบิน 747 ออกมาได้เมื่อประกอบเสร็จ "ไม่เพียงแค่พวกเขากำลังสร้างเครื่องบินลำใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่พวกเขากำลังสร้างอาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อประกอบเครื่องบินด้วย" ลอมบาร์ดี กล่าว โรงงานที่เอเวอเรตต์ ยังคงเป็นอาคารปิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน
ลอมบาร์ดี เล่าว่า การสร้างเครื่องบิน 747 เกิดขึ้นในยุคที่โบอิ้งกำลังพยายามขยายตัว ไม่เพียงต้องควบคุมโครงการสร้างเครื่องบิน 747 (และอาคารสำหรับประกอบเครื่องบิน) และโครงการเครื่องบิน SST ที่ล้มเหลวเท่านั้น แต่ยังอยู่ในช่วงกำลังสร้างเครื่องบิน 737 ที่มีพิสัยการบินระยะใกล้ถึงระยะกลาง และระบบต่าง ๆ ที่ใช้ในโครงการอวกาศอพอลโล แซตเทิร์น (Apollo Saturn space programme)
และในช่วงเวลานี้ โบอิ้งใช้เงินจำนวนมาก การสนับสนุนโครงการ 747 ทำให้โบอิ้งต้องกู้เงินจากธนาคารไม่ต่ำกว่า 7 แห่ง
ซัตเตอร์ ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในฐานะ 'บิดาแห่ง 747' ได้ต่อสู้เพื่อเก็บวิศวกรในทีมของเขาไว้ ไม่ให้ถูกย้ายไปทำงานในโครงการอื่น "การที่โบอิ้งทำอะไรหลายอย่าง ไม่เพียงแค่เงินทุนที่ขาดแคลน แต่ยังขาดแคลนคนที่มีความสามารถด้านวิศวกรรมด้วย" ลอมบาร์ดี กล่าว "วิศวกรเก่ง ๆ ทั้งหมด กำลังจะไปร่วมโครงการ SST โจ ซัตเตอร์ ต้องพยายามอย่างหนักในการหาวิศวกรรมมาทำงานในโครงการสร้าง 747"
"ผมได้ยินเรื่องหนึ่งที่บอกว่า เขาเข้าร่วมการประชุมหนึ่งซึ่งเขาถูกขอให้ส่งวิศวกรให้แก่โครงการอื่นเพิ่มเติม" ลอมบาร์ดี เล่า "เขาพูดว่า: 'ถ้าเช่นนั้น ผมสร้างมัน [เครื่องบินโบอิ้ง 747] ให้ไม่ได้หรอก'"
"เขายืนขึ้นแล้วบอกว่า 'ไม่' จากนั้นก็ออกไปจากการประชุม คิดว่าก็คงจะจบแค่นั้น เขาคงจะถูกไล่ออก แต่ บิล อัลเลน พูดกับเขาว่า 'ผมเคารพในสิ่งที่คุณทำต่อหน้าทุกคน'" ซัตเตอร์ได้ทำงานของเขาต่อไป
หลังจากสร้างเสร็จในเดือน ก.ย. 1968 ในช่วงที่โลกได้ยลโฉมเครื่องบินยักษ์เป็นครั้งแรก ช่วงเวลาสำคัญถัดมาคือเดือน ก.พ. 1969 แจ็ก วอเดลล์ และไบรน์ วีเกิล นักบินทดสอบ ได้นำเครื่องบิน 747 ขึ้นบินครั้งแรกจากโรงงานในเมืองเอเวอเรตต์
"มีเรื่องเล่าว่า ก่อนที่จะนำเครื่องขึ้นบินครั้งแรก บิล อัลเลน บอก แจ็ก วอเดลล์ ว่า 'ผมหวังว่า คุณคงรู้ว่าเราลงทุนไปกับมันมากแค่ไหน' ลอมบาร์ดี เล่า "ราวกับว่า ยังมีแรงกดดันไม่พอ!"
เครื่องบินขนาดจัมโบของโบอิ้ง พิสูจน์ว่า มันบินได้ แต่ สายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกจะซื้อมันไหม?
แพน แอม คือลูกค้ารายใหญ่ โบอิ้งรับปากว่า จะส่งมอบเครื่องบินนี้ตามคำสั่งซื้อของทางสายการบินได้ภายในสิ้นปี 1969 เครื่องบินได้ถูกออกแบบและสร้างขึ้นในเวลาเพียง 28 เดือนเท่านั้น ขณะที่เวลาในการผลิตเครื่องบินโดยสารลำใหม่ปกติจะอยู่ที่ 42 เดือน การเร่งผลิตของโบอิ้ง ทำให้เครื่องบิน 747 ลำแรกถูกสร้างขึ้นที่โรงงานขนาดใหญ่ในเมืองเอเวอเรตต์ ก่อนที่หลังคาโรงงานจะแล้วเสร็จด้วยซ้ำ
ส่วนสายการบินอื่น ตัดสินใจว่า อยากจะสั่งซื้อด้วย หนึ่งในนั้นคือ บริติช แอร์เวย์ส และหนุ่มวิศวกรซ่อมบำรุงที่ชื่อว่า สจ๊วต จอห์น ได้ถูกส่งไปที่เมืองซีแอตเทิล เพื่อตรวจสอบเครื่องบินลำใหม่นี้
1
จอห์น บอกกับ บีบีซี ฟิวเจอร์ว่า "ผมได้รับเชิญให้ไปที่ซีแอตเทิล ในช่วงที่มีการนำเครื่องบินตัวอย่างลำที่ 2 ซึ่งเป็นสีของ แพน แอม ขึ้นบิน"
"เอเวอเรตต์ เพิ่งสร้างเสร็จ มีคนจาก บริติช แอร์เวย์ ไป 2 คน และมีอีกหลายคนมาจากหลายสายการบินทั้ง ลุฟต์ฮันซา, แควนตัส, อเมริกัน แอร์ไลน์ส และเดลต้า
"เราทำความคุ้นเคยกันภายในชั้นเรียน ในวันศุกร์ มีข่าวลือในชั้นเรียนว่า 'พวกเขาจะบินลำที่ 2 วันนี้'"
"เราทุกคนก็เลยออกไปกันที่ปลายรันเวย์ เราไม่อยากเชื่อว่า มันจะใหญ่ขนาดนั้น เมื่อมันขึ้นไปลอยอยู่เหนือคุณ มันน่าทึ่งมาก"
มีการต่อต้านเครื่องบิน 747 ขึ้นในช่วงแรก โดยเฉพาะสายการบินบางแห่งของสหรัฐฯ เพราะขนาดที่ใหญ่โตมโหฬารของมัน มีความกังวลว่า สนามบินส่วนใหญ่จะไม่สามารถรองรับได้ แต่โบอิ้งเชื่อว่า สายการบินเหล่านั้นต้องบินข้ามมหาสมุทร เช่นเดียวกับที่ต้องบินจากนครนิวยอร์กไปยังกรุงลอนดอนและบินกลับ พวกเขาจะเห็นถึงข้อดีของการมีเครื่องบินขนาดใหญ่ ปัจจัยบวกที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ มันบรรทุกผู้โดยสารได้ 550 คน คิดเป็นเกือบ 4 เท่าของจำนวนที่เครื่องบิน 707 บรรทุกได้
1
วันที่ 15 ม.ค. 1970 นางแพต นิกสัน สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ได้ทำพิธีเปิดตัวเครื่องบินโบอิ้ง 747-100 ลำแรกของแพน แอม (เป็นเครื่องบิน 747 ลำแรกที่ให้บริการ) อย่างเป็นทางการ และทางสายการบินใช้มันบินในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา ในเส้นทางระหว่างนครนิวยอร์กและกรุงลอนดอน
แต่เครื่องบินโบอิ้ง 747 ก็ยังไม่พ้นขีดอันตราย การใช้จ่ายเงินมหาศาลในโครงการนี้ของโบอิ้ง เกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ทำให้ทางบริษัทติดหนี้ธนาคาร 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.95 หมื่นล้านบาท ถือว่าสูงสุดในช่วงนั้น เครื่องบินโบอิ้ง 747 ไม่ได้มีราคาที่ถูก แต่ละลำมีมูลค่า 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 790 ล้านบาท ในสมัยนั้น หรือเทียบเท่ากับ 155 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5.1 พันล้านบาท ในปี 2018 โบอิ้งขายเครื่องบิน 747 ได้เพียง 2 ลำในช่วงเวลา 1 ปีครึ่งนับจากเดือน ก.ย. 1970 สายการบินอื่น ๆ ที่ตัดสินใจซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ไปอย่างรวดเร็ว ได้ขอเปลี่ยนเป็นเครื่องบินลำเล็กกว่าแทน เพราะว่า วิกฤตน้ำมันในปี 1973 ทำให้ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น
แม้แต่ บริติช แอร์เวย์ส สายการบินที่จะเป็นเจ้าของ 747 มากกว่าสายการบินอื่น ก็มีปัญหากับเครื่องบินรุ่นนี้เช่นกัน
แต่โบอิ้ง 747 ก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ได้ โบอิ้งจำเป็นต้องทำให้ 747 ประสบความสำเร็จ ทางบริษัทจึงปรับรูปแบบและรับฟังคำแนะนำจากสายการบินที่เป็นลูกค้า สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส ต้องการใช้โบอิ้ง 747 เป็นเครื่องบินเดินทางระยะสั้นที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 550 ที่นั่ง โบอิ้งก็เลยออกแบบ 747 เวอร์ชั่นที่สั้นลง เพื่อบรรทุกเชื้อเพลิงลดลงแต่บรรทุกสัมภาระได้มากขึ้น จากนั้นโบอิ้ง 747-200 ก็เกิดขึ้นตามมาในปี 1970 โดยมีเครื่องยนต์ที่ทรงพลังมากขึ้น และสามารถบรรทุกน้ำหนักสูงสุดขณะทะยานขึ้นได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
มีสายการบินต่าง ๆ สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 747 เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยรูปลักษณ์ของโบอิ้ง 747 ที่นูนขึ้นบริเวณด้านบนของลำตัวเครื่องเป็นที่กล่าวขานถึงความหรูหราของการเดินทางระยะไกล ตลอดช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ห้องโดยสารของ 747 กว้างขวาง และเครื่องบินมีบันไดวนเพื่อขึ้นไปยังชั้นบนได้ด้วย
ในการดึงดูดคนให้มาใช้บริการเครื่องบินยักษ์นี้ สายการบินบางแห่งได้นำขนาดที่ใหญ่ของ 747 มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเพิ่มเติมความหรูหราที่คาดไม่ถึงเข้าไป โดยเครื่องบิน 747 ของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส มีบาร์เปียโนในชั้นประหยัดในช่วงทศวรรษ 1970 ส่วนของสายการบินคอนติเนนตัลมีห้องนั่งเล่นที่มีโซฟาหลายตัว
โรเบิร์ต สกอตต์ เป็นหนึ่งในนักบินที่ขับเครื่องบินยักษ์นี้ "สายการบินของเขาเป็นหนึ่งในสายการบินแรก ๆ ที่นำเครื่องบิน 747 มาให้บริการ และเราตื่นเต้นมากที่จะได้ขับเครื่องบินที่ดีที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น" เขาเล่าให้บีบีซี ฟิวเจอร์ ฟัง
"มันใหญ่โตมโหฬารมาก เหมือนกับอาคารชุดหนึ่งแท่ง ก่อนนี้ผมเคยบินให้กับกองบินฟลีต แอร์ อาร์ม ของกองทัพเรือ (Fleet Air Arm of the Royal Navy) ผมก็เลยคุ้นเคยกับเครื่องบินที่มีขนาดเล็กกว่า 747 มาก ผมเคยบินเครื่องบินพลเรือนแบบอื่น ก่อนที่จะได้ไปโบอิ้งเพื่อเรียนขับเครื่องบิน 747 แต่ก็ไม่มีอะไรใกล้เคียงเลยในเรื่องของขนาด"
1
"แม้จะมีขนาดที่ใหญ่โต ผมก็ดีใจที่จะได้ขับมัน คนที่เข้าใกล้คงมีความรู้สึกหวาดหวั่นไม่มากก็น้อย จากมุมมองของคนที่ต้องขับมัน ผมคาดว่ามันคงไม่ใช่แค่หน้าตาเหมือนกับอาคารชุดหนึ่งแท่ง แต่มันยังเหมือนกับ อาคารชุดหนึ่งแท่งที่บินได้ด้วย มันจึงน่าประหลาดใจมากที่พบว่า มันควบคุมได้เหมือนกับเครื่องบินขนาดที่เล็กกว่า และคล่องตัวมาก มีแค่ตอนที่จอดอยู่บนพื้นดินเท่านั้น ที่เราจะรับรู้ถึงขนาดที่ใหญ่ของมัน และการที่จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวัง โดยเฉพาะในที่ที่มีพื้นที่จำกัด"
สายการบินหลายแห่งสั่งซื้อโบอิ้ง 747 อย่างต่อเนื่อง และสนามบินหลายแห่งก็ได้เพิ่มความยาวของทางขึ้นลงเครื่องบิน และเพิ่มขนาดของอาคารผู้โดยสารเพื่อรับรองเครื่องบิน 747 ส่วนโบอิ้งก็ยังคงปรับรูปลักษณ์ของมันพร้อมไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี
แต่ในปี 2005 เครื่องบิน 'จัมโบ เจ็ต' นี้ ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่สมชื่ออีกต่อไป แอร์บัส บริษัทยุโรป คู่แข่งของโบอิ้ง ได้ออกแบบเครื่องบินขนาดใหญ่ของตัวเองคือ เอ 380 สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 853 คน เช่นเดียวกับที่ 747 เคยเผชิญก่อนหน้านี้ ขนาดที่ใหญ่ของมัน ทำให้สนามบินต่าง ๆ ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการใช้งาน
แต่ตลาดการบินได้เปลี่ยนแปลงไปมาก นับตั้งแต่มีการออกแบบเครื่องบิน 747 ย้อนกลับไปตอนนั้น ไม่มีเครื่องบินเครื่องยนต์แฝดได้รับอนุญาตให้บินห่างจากสนามบินเกินกว่าระยะเวลาที่จะบินไปถึงสนามบินใน 60 นาที เพราะต้องเผื่อกรณีเกิดปัญหาขึ้นกับเครื่องยนต์ ปัจจุบัน เครื่องบินหลายแบบอย่าง โบอิ้ง 777 และ 787 สามารถบินได้ห่างจากนามบินที่ใกล้เคียงที่สุดได้ในระยะนานที่สุด 5 ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่า สามารถบินข้ามมหาสมุทรที่กว้างใหญ่อย่าง แอตแลนติก และแปซิฟิก ได้
การเดินทางทางอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน การเกิดขึ้นของ โบอิ้ง 747 และแอร์บัส เอ 380 นำไปสู่การมีสนามบินที่เป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ ซึ่งเครื่องบินขนาดจัมโบสามารถบินไปมาได้ ผู้โดยสารที่ใช้สนามบินที่เล็กกว่า ก็จะต้องนั่งเที่ยวบินที่มีเครื่องบินลำเล็กกว่ามาก มันได้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป็นระบบ 'ฮับ-แอนด์-สโปก' (hub and spoke) ในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงระบบขนส่งทางอากาศที่สนามบินในพื้นที่ให้บริการเที่ยวบินพาผู้โดยสารไปยังสนามบินส่วนกลาง ที่มีเที่ยวบินระยะไกลและเที่ยวบินต่างประเทศ
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิ่งต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป เครื่องบินสองเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กลงสามารถบินได้ไกลขึ้นมาก และเพราะพวกมันใช้แค่ 2 เครื่องยนต์ จึงมีราคาถูกกว่าสำหรับสายการบินในการซื้อมาใช้งาน ดังนั้น จุดหมายปลายทางจึงมีความหลากหลายมากขึ้น เที่ยวบินระยะไกลที่ไม่หยุดพักจากหลากหลายจุดหมายปลายทาง อย่างเช่น ลอนดอน-แนชวิลล์ ระยะทางประมาณ 4,200 ไมล์ (6,720 กม.) จึงใช้เครื่องบินสองเครื่องยนต์ได้
1
โดย สตีเฟน ดาวลิง
บีบีซี ฟิวเจอร์
ที่มา BBC Thai
โฆษณา