29 พ.ย. 2019 เวลา 03:49 • ประวัติศาสตร์
ราชวงศ์ดัตช์กับการจัดการความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์และประชาชนในเนเธอร์แลนด์
สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ในพิธีขี้นครองราชย์ ค.ศ. 1980
ประเทศเนเธอร์แลนด์ปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ค.ศ. 1815 สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่พยายามยืนหยัดต่อสู้กับการรุกรานจากนาซีเยอรมนี โดยการตั้งคณะรัฐบาลพลัดถิ่น และเมื่อนาซีเยอรมนีพ่ายแพ้ ราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซาก็ได้กลับมาเนเธอร์แลนด์อย่างเต็มภาคภูมิ
สถาบันกษัตริย์เนเธอร์แลนด์ต้องเผชิญกับภาวะยากลำบากและถูกโจมตี จากกรณีอื้อฉาวในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถจูเลียนา (Queen Juliana) เรื่องแรกคือ เจ้าหญิงไอรีน (Princess Irene) พระราชธิดาองค์ที่สองทรงเปลี่ยนศาสนาจากโปรแตสแตนต์ไปเป็นโรมันคาทอลิกอย่างลับๆ โดยปราศจากความเห็นชอบจากรัฐบาล เพื่อทรงเสกสมรสกับเจ้าชายการ์โลส ฮูโก ดยุกแห่งปาร์มา (Carlos Hugo, Duke of Parma) ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์สเปนสายการ์ลิสต์ (Carlist) ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ชาวดัตซ์ที่ยังคงมีความทรงจำกับการปกครองที่กดขี่ของสเปนและศาสนจักรโรมันคาทอลิกในช่วงก่อนได้รับเอกราช ซึ่งทำให้ทรงถูกต่อต้านและมีการเรียกร้องให้สมเด็จพระราชินีสละราชบัลลังก์
พิธีอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงเบียทริกซ์และเคลาส์ ฟาน อัมส์เบิร์ก ปีค.ศ. 1966
วิกฤตที่สองคือ ค.ศ. 1965 ราชสำนักได้ประกาศการหมั้นระหว่าง เจ้าหญิงเบียทริกซ์ (Princess Beatrix) องค์รัชทายาทกับ เคลาส์ ฟาน อัมส์เบิร์ก (Claus von Amsberg) นักการทูตชาวเยอรมันที่เคยเป็นสมาชิกกองทัพนาซีเวร์มัคท์และเป็นอดีตยุวชนฮิตเลอร์ ทำให้ชาวดัตซ์ผู้โกรธแค้นเยอรมันออกมาเดินขบวนตามท้องถนนเรียกร้องให้ยกเลิกการเสกสมรส สมเด็จพระราชินีนาถจูเลียนาทรงเลือกที่จะนิ่งเฉยและปล่อยให้การเสกสมรสเกิดขึ้น ยิ่งทำให้เกิดการประท้วงอย่างต่อเนื่อง ความคิดของฝูงชนกระจายไปทั่วประเทศประกาศว่า เจ้าหญิงเบียทริกซ์จะเป็นสมาชิกราชวงศ์ออเรนจ์องค์สุดท้ายที่จะได้ครองราชย์ แต่ในเวลาต่อมาเจ้าชายเคลาส์ก็ได้รับการยอมรับจากประชาชน จนกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกราชวงศ์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในหมู่ชาวดัตซ์
วิกฤตอีกประการที่ราชวงศ์ดัตช์เผชิญ คือ ในปีค.ศ. 1976 เกิดเหตุการณ์เปิดเผยว่า เจ้าชายแบร์นฮาร์ด (Prince Bernhard) พระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถ ทรงรับสินบนจำนวน 1.1 ล้านดอลล่าร์ฯ จากบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินล็อกฮีด (Lockheed Corporation) ของอเมริกา ซึ่งส่งอิทธิพลต่อรัฐบาลดัตซ์ที่ทำการซื้อเครื่องบินจากบริษัทนี้ นายกรัฐมนตรี Joop den Uyl สั่งสอบสวนเรื่องนี้ในขณะที่เจ้าชายแบร์นฮาร์ดทรงปฏิเสธที่จะตอบผู้สื่อข่าว การสืบสวนนำไปสู่วิกฤตรัฐธรรมนูญเมื่อสมเด็จพระราชินีจูเลียนาทรงขู่ว่าจะสละราชบัลลังก์ถ้าหากเจ้าชายแบร์นฮาร์ดถูกดำเนินคดี ซึ่งเจ้าชายแบร์นฮาร์ดทรงหลุดพ้นจากคดี แต่พระองค์ได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง ทหางทหาร รวมถึงประธานองค์กรต่างๆทุกตำแหน่ง
สมเด็จพระราชินีนาถจูเลียนาประกาศสละราชบัลลังก์แก่เจ้าหญิงเบียทริกซ์ ค.ศ. 1980
แต่ถึงอย่างไรก็ตามความนิยมในตัวสมเด็จพระราชินีจูเลียนาก็ยังคงมีอยู่ ทรงเป็นที่รักของชาวดัตช์จากการปฏิบัติพระองค์อย่างสมถะและเรียบง่าย พระนางสละราชบัลลังก์ในปีค.ศ. 1980 แก่สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ พระราชธิดา รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์เริ่มต้นไม่ค่อยราบรื่นนัก พระนางต้องประสบกับการประท้วงในวันครองราชย์ของพระนาง ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า "Geen woning; geen Kroning" (แปล:ไม่มีบ้าน ไม่ต้องครองราชย์) กลุ่มผู้จับจอง (Squatting) (การจับจอง คือ การยึดครองสถานที่หรือสิ่งก่อสร้างที่มักจะเป็นที่อยู่อาศัย ที่ “ผู้จับจอง” มิได้เป็นเจ้าของ หรือ มีสิทธิในการพำนักอาศัย) กลุ่มคนเหล่านี้มีแนวคิดสังคมนิยม ใช้โอกาสนี้ประท้วงเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของคนจนในเนเธอร์แลนด์และต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่วมกับกลุ่มสาธารณรัฐนิยม กลุ่มอนาธิปัตย์และกลุ่มต้อต้านกษัตริย์ (anti-monarchy) การเดินขบวนเกิดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1980 บนท้องถนนกรุงอัมส์เตอร์ดัม การเดินขบวนเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงกับตำรวจและกองกำลังรักษาความปลอดภัย ผู้ประท้วงได้ถูกปราบปราม
กลุ่มผู้ประท้วงขว้างหินใส่ตำรวจที่เข้ามาสลายการชุมนุมในการจลาจล "Geen woning; geen Kroning" (ไม่มีบ้าน ไม่ต้องครองราชย์) ค.ศ. 1980
สภาวะที่สถาบันกษัตริย์เนเธอร์แลนด์ถูกท้าทายเช่นนี้ สมเด็จพระราชินีเบียทริกซ์ทรงดำเนินตามพระราชมารดาคือ ทรงนิ่งเฉยและเลือกที่จะเงียบต่อความขัดแย้ง พระนางมักจะไม่ทรงแสดงความคิดเห็นใดๆต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญคือ การเป็นตัวแทนของราชอาณาจักรในต่างประเทศและเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเอกภาพในประเทศ พระนางเสด็จออกรับเอกอัครราชทูตต่างประเทศและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญตราต่างๆ พระนางยังทรงตอบรับคำเชิญในการเสด็จเปิดนิทรรศการ การเข้าร่วมงานเฉลิมฉลอง การเปิดสะพาน เป็นต้น พระราชินีเบียทริกซ์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกยกพระราชดำรัสมาเปิดเผยต่อสื่อน้อยมาก ทั้งนี้เพราะกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ที่ได้ออกมาในช่วงรัชกาลของพระนาง ได้ปกป้องพระนางจาก "ความยุ่งยาก" ทางการเมือง ทั้งหมดนี้ทำให้ความนิยมของประชาชนต่อพระราชวงศ์เพิ่มสูงขึ้น สมเด็จพระราชินีเบียทริกซ์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจจำนวนมาก ส่วนมากจะเป็นด้านการกุศลและทรงเสด็จไปเยือนตามเมืองต่างๆ ทำให้ทรงเข้าถึงพสกนิกรได้
ในช่วงต้นรัชกาล สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ทรงถูกมองว่าทรงเป็นคนที่เยือกเย็นและห่างเหิน แต่ในเวลาต่อมาพระนางก็สามารถพิสูจน์ให้ประชาชนรักพระนางได้ และทำให้สถาบันกษัตริย์กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง นายกรัฐมนตรี มาร์ก รูท (Mark Rutte) ได้ออกแถลงการณ์เฉลิมพระเกียรติพระนางผ่านโทรทัศน์ในช่วงที่ทรงประกาศสละราชบัลลังก์ว่า "สมเด็จพระราชินีนาถทรงอยู่ร่วมกับเราทั้งในเวลาที่ดี และในเวลาที่เลวร้ายก็ยังทรงอยู่ด้วย พระปัญญาและความเมตตากรุณาของพระนางได้ทำให้พระนางทรงเป็นสัญลักษณ์ของเนเธอร์แลนด์" พระราชพิธีครองราชย์ของพระราชโอรสของพระนางจึงดำเนินไปด้วยความราบรื่น และกระแสความนิยมในพระราชวงศ์ดัตช์เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเมื่อ 33 ปีที่แล้วในช่วงที่พระนางทรงครองราชย์
สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ออกอากาศ ประกาศสละราชสมบัติในปีค.ศ. 2013
โฆษณา