1 ธ.ค. 2019 เวลา 10:03
สิ่งมีชีวิตอมตะ บนโลกใบนี้
เจ้าแมงกะพรุนตัวนี้มีชื่อว่า Turritopsis dohrnii
เคยฝันอยากมีชีวิตอมตะกันไหมครับ รู้หรือไม่ว่าโลกเราก็มีสิ่งมีชีวิตที่เป็นอมตะ
สิ่งมีชีวิต ที่ว่านี้ คือ "แมงกระพรุน" โดยเจ้าตัวนี้มีชื่อว่า Turritopsis dohrnii
แมงกะพรุนอมตะ (Immortal jellyfish) ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1988 โดยนักศึกษาชีววิทยาทางทะเลที่ไปเก็บตัวอย่างแมงกะพรุนจากท่าเรือเจนัว (Genoa) ในประเทศอิตาลี
การค้นพบชีวิตอมตะนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ จากความขี้ลืมของเขา ที่ทิ้งเหล่าแมงกะพรุนไว้ในถังน้ำโดยไม่ได้เก็บเข้าตู้แช่ แมงกะพรุนถูกลืมไว้ตั้งแต่คืนวันศุกร์และเมื่อถึงวันจันทร์ตัวเขาก็ต้องตกใจ เมื่อเหล่าแมงกะพรุนโตเต็มวัยที่มีรูปร่างแบบระฆังคว่ำหรือที่เรียกว่า "เมดูซ่า (Medusa) ได้หายไปจากถังทั้งหมด แต่แท้จริงพวกมันไม่ได้หายไปไหนแค่เปลี่ยนเป็น ‘โพลิป’ (Polyp) เหมือนดอกไม้ทะเลที่เล็กจิ๋วหลิวนั่นเอง
วงจรชีวิตของแมงกะพรุนจะเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงชีวิต จากไข่ที่ผสมแล้วของแมงกะพรุนโตเต็มวัยที่มีลักษณะเป็นถุงตัวอ่อน (Larva) ไปยึดเกาะกับหิน จะค่อย ๆ พัฒนาเป็นโพลิปและกลายเป็นขั้นเมดูซ่าที่โตเต็มวัยพร้อมผสมไข่กับสเปิร์มต่อไปจนครบวงจร
แต่สิ่งที่นักชีววิทยาหนุ่มพบกลับพิสดารกว่า เพราะแมงกะพรุนกลุ่มนี้ มีการเติบโตแบบ "ย้อนกลับ" คือแทนที่จะแก่ กลับอ่อนเยาว์ลงกลายเป็นเด็ก
นอกจากนี้แมงกะพรุนหลายสายพันธุ์นี้ บ้างข้ามจากขั้นโฟลิปไปเลย อีกสายพันธุ์ก็ข้ามการเป็นเมดูซ่าเช่นกัน หรือคงสถานะเป็นโฟลิปอยู่อย่างนั้น กลายเป็นว่าวงจรชีวิตของแมงกะพรุนมีความยืดหยุ่นสูงมากกว่าที่ใครคาดคิด หลังจากนั้นนักวิจัย Stefano Piraino จากมหาวิทยาลัย Salento ในประเทศอิตาลีพบแมงกะพรุนอมตะกลุ่มเดียวกันที่มีชื่อว่า Turritopsis
วงจรชีวิตของ Turritopsis ที่สลับไปมาได้
พวกเขาศึกษาชีวิตมันอย่างใกล้ชิด พบว่าแมงกะพรุนมีพัฒนาจากขั้นโพลิปเป็นเมดูซ่า และจากเมดูซ่ากลับไปเป็นโพลิปอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้โดยที่ไม่ตาย อันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของธรรมชาติ "พวกมันจึงเป็นอมตะจากอายุขัยของมันเอง"
แต่กระนั้นชีวิตของมันยังถูกทำลายได้จากการถูกกิน บี้ให้ตาย หรือติดเชื้อ
ในปี 2016 เกิดเหตุการณ์คล้ายกัน เมื่อนักศึกษาชาวจีน Jinru He ลืมดูแลแมงกะพรุนพระจันทร์ (Moon jellyfish) เขาพบมันลงไปนอนแน่นิ่งใต้ก้นบ่อ ร่างกระจุยเป็นชิ้น ๆ ถ้าคนอื่นเห็นก็คงตักไปทิ้งแล้ว แต่นักศึกษาคนนี้เลือกจะจับตาดูร่างแมงกะพรุนต่ออีกหลายเดือน ก็ต้องตกตะลึงเมื่อร่างของแมงกะพรุนค่อยๆ ซ่อมแซมตัวเองอีกครั้ง ไม่ต่างจากนกฟีนิกซ์ที่เกิดใหม่จากเถ้าธุลี หนวดค่อย ๆ งอกใหม่กลับไปสู่ร่างโฟลิป
เซลล์ของมันล้วนเป็นเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) ที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตอีกเรื่อยๆ ราวกับไม่มีขีดจำกัด เซลล์กล้ามเนื้อของ Turritopsis สามารถเปิด/ปิดยีนได้ ทำให้เซลล์เหล่านี้ย้อนกลับได้หลายครั้ง ซึ่งหากเราสามารถไขความลับนี้ได้ วิทยาการแพทย์สมัยใหม่อาจค้นพบกระบวนการรักษาที่เกี่ยวกับเซลล์เสื่อมสภาพได้ อาทิ โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) หรือโรคมะเร็งที่เซลล์เนื้อร้ายเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากเรานำความรู้ที่ได้จากแมงกะพรุนมาใช้เปิด/ปิด ยีนเจริญเติบโตเซลล์มะเร็ง ก็อาจพบทางสว่างในการรักษามะเร็งที่มีผลกระทบต่อผู้ป่วยต่ำ
นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเซลล์ต้นกำเนิดชาวญี่ปุ่น Shinya Yamanaka และ Kazutoshi Takahashi ได้ทดลองนำยีนของแมงกะพรุนอมตะไปฉีดในผิวหนังหนูทดลอง ด้วยการนำโปรตีนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการแสดงออกหรือไม่แสดงออกของยีนที่เรียกว่า ทรานสคริปชันแฟคเตอร์ (Transcription factors)ไปจับกับเส้น DNA เพื่อควบคุมการเปิดปิดของยีนคล้ายกลไกในแมงกะพรุน พบว่าสามารถควบคุมเซลล์ผิวหนังของหนูให้ย้อนกลับได้ ซึ่งอาจมีส่วนช่วยให้นักวิจัยเลี้ยงเซลล์ประสาท เซลล์เลือด เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ให้กลับมางอกใหม่ได้ ผลงานวิจัยนี้ส่งผลให้นักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบลในปี 2012 (Nobel Prize in Physiology or Medicine)
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องราวระดับ ‘น้ำจิ้มๆ’ ที่แมงกะพรุนกรุยทางไว้สำหรับวิทยาศาสตร์โลก ยังมีแมงกะพรุนอีกหลายสายพันธุ์ที่ซุกซ่อนความมหัศจรรย์ที่รอความบังเอิญ (หรือความขี้ลืม) เพื่อไปให้ถึงหัวใจของการตั้งคำถาม
ชีวิตแมงกะพรุนสอนใจเราได้อย่างดีเยี่ยมราวกับสัจธรรมบทหนึ่งที่ธรรมชาติมอบให้
“ทำชีวิตให้ง่ายเข้าไว้ เพื่อพร้อมเติบโตได้ใหม่ในเวลาที่เราแตกสลาย”
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอฝากภาพยนต์ที่เกี่ยวกับอายุไขเอาไว้ 2 เรื่อง สำหรับผู้อ่านที่อาจจะสนใจในเรื่องราวของอายุมนุษย์
The Curious Case of Benjamin Button (2008)
The Man from Earth (2007)
การมีชีวิตอมตะจะดีหรือไม่ หากเราต้องลืมเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้น ลืมทุก ๆ คน รวมถึงความทรงจำต่าง ๆ ที่เคยมีมากมายในชีวิต ชีวิตแบบไหนมีความหมายมากกว่ากัน ระหว่าง "ชีวิตที่มีอายุไข" กับ "ชีวิตนิรันดร์".
โฆษณา