30 พ.ย. 2019 เวลา 05:12 • สุขภาพ
ไทชิบำบัด (Tai Chi Therapy) : กับภาวะสมองเสื่อม (Dementia)
เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นเราต้องรู้จักคำ 2 คำนี้ก่อน นั่นคือ ไทชิ (Tai Chi) และภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ว่ามันคืออะไร แล้วมันเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร บทความนี้มีหลักฐานงานวิจัยที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังเช่นเคย
ขอบคุณภาพจาก https://keystone.health/early-warning-signs-dementia-alzheimers
ขอเริ่มที่ไทชิก่อนละกันครับ ไทชิ หรืออาจมีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น ไทชิฉวน ไทเก๊ก แรกเริ่มเดิมทีมาจากศิลปะการต่อสู้ของชาวจีน ที่เชื่อว่าผู้ให้กำเนิดวิชานี้คือ "นักบวชจางซานฟง" จุดเด่นของไทชิคือการเคลื่อนไหวของร่างกายที่เชื่องช้า ต่อเนื่อง อ่อนโยน นุ่มนวล เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
หลักการของไทชิจะใช้หลักของสมาธิและลมปราณ มารวมกันกำหนดเป็นท่าทาง แม้จะมองว่าเชื่องช้า แต่ทรงพลังอย่างมาก บางทีพลังงานที่เผาผลาญจากการทำไทชิอาจจะพอ ๆ กับการวิ่งออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬากลางแจ้งอื่น ๆ เลยก็ว่าได้
เราอาจพบเห็นไทชิในผู้สูงอายุ แปลกเหมือนกัน วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ มีใครใช้ไทชิบ้างไหมครับ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยเพราะภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เราพบในผู้สูงอายุเช่นกัน
ขอบคุณภาพจาก https://www.healthline.com/health/exercise-fitness/tai-chi-moves
ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เป็นภาวะผิดปกติอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ พบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสมอง ดังนั้นภาวะสมองเสื่อมจึงไม่ใช่ชื่อโรค เป็นเพียงคำเรียกรวม ๆ เท่านั้น แล้วภาวะสมองเสื่อมทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้างล่ะ ขอยกตัวอย่างเช่น โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในภาวะสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อมกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิด ความจำ การหลงลืม การทรงตัวของร่างกายไม่ค่อยดีนำไปสู่การหกล้ม (Falls) ได้ง่าย รวมถึงมีผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกอื่น ๆ โดยรวมแล้วทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันไม่ปกติ
โดยเฉพาะการหกล้มซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม และมีอันตรายพอสมควร
โรคที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อม (ขอบคุณภาพจาก https://www.liveincarer.org/signs-symptoms-of-dementia/)
เมื่อรู้จักไทชิและภาวะสมองเสื่อมในเบื้องต้นแล้วขอนำผู้อ่านเข้าสูงานวิจัยของ Bournemouth University ซึ่งตีพิมพ์ใน Clinical Interventions in Aging
งานวิจัยต้องการดูว่าไทชิ (Tai Chi ) สามารถช่วยลดการหกล้มและช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมได้หรือไม่
ผู้เข้าทำการศึกษาวิจัยจำนวน 85 คนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลอง 42 คน และกลุ่มควบคุม 43 คน โดยทั้ง 2 กลุ่มจะได้รับ usual care (การดูแลตามมาตรฐาน เช่น การให้ยา ข้อมูลการปฏิบัติตัวต่าง ๆ) แต่กลุ่มทดลองจะได้รับ intervention อีก 3 อย่างคือ 1) Tai Chi classes 2) home-based Tai Chi practice และ 3) behaviour change techniques
ขอบคุณภาพจาก https://www.britannica.com/sports/tai-chi-chuan
ผลที่ได้ออกมาน่าพอใจเลยทีเดียว กลุ่มที่ได้รับไทชิ (Tai Chi ) มีการหกล้มน้อยลง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ครอบครัวของผู้ป่วยรู้สึกมีความสุขมาก และชื่นชอบ เพราะมี home-based Tai Chi practice ร่วมด้วย จึงเกิดปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลและผู้ป่วยจากกิจกรรมไทชิที่ทำร่วมกัน
สิ่งท้าทายที่ผู้วิจัยทิ้งไว้คืองานวิจัยนี้ทำที่อังกฤษจึงอยากขยายงานวิจัยออกไปให้มากกว่านี้ ไม่แน่ในอนาคตเราอาจจะเข้าใจเพิ่มขึ้นได้ว่าไทชิลดการหกล้มได้อย่างไร
หากเรามองย้อนหลักการของไทชิ เราอาจจะพบคำตอบของคำถามได้บ้าง การผสมผสานระหว่างจิตที่เป็นสมาธิ + ศาสตร์เรื่องลมปราณ การเคลื่อนไหวที่สมดุลแต่เชื่องช้า อ่อนโยน แต่ทรงพลัง
มีคลิปวิดีโอจากงานวิจัยมาให้รับชมด้วย แต่เป็นภาษาอังกฤษนะ ลองดูลองฟังกันได้ครับ
โฆษณา