30 พ.ย. 2019 เวลา 10:58 • การเกษตร
พืชขึ้นค้าง🌱
พืชหลายชนิดมีลักษณะนิสัยการเจริญเติบโตแบบเถาเลื้อย ตรงกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษคือ climbing plants, creeper, vine
ตัวอย่างพืชเหล่านี้ เช่น พืชตระกูลแตงหลายชนิด อย่างแตงกวา เมลอน ฟักทอง เป็นต้น พืชตระกูลถั่วอย่างถั่วพู ถั่วฝักยาว เป็นต้น รวมไปถึงมะเขือเทศ
ไม้ผลที่เป็นตัวอย่างเถาเลื้อย ก็เช่น องุ่น เสาวรส เป็นต้น หรือจะเป็นพืชเครื่องเทศอย่างพริกไทย
การให้ผลผลิตของพืชเถานี้ มักจะเกิดจากการออกดอกติดผลจากตาที่ซอกใบ พูดง่ายๆ คือที่ข้อของลำต้น
ดังนั้น เวลาปลูก หากอยากจะทำให้ได้ผลผลิตดีๆ ก็ต้องช่วยด้วยการทำค้างให้กับต้นพืชเหล่านี้ได้เลื้อยและเจริญเติบโตขึ้นไป ส่วนใหญ่จะทำเป็นค้างขึ้นแนวดิ่งมากกว่าแนวราบ
ข้อดีของการทำค้างให้กับพืชเถาเลื้อยเหล่านี้...มีมากกว่าทำให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ซึ่งพอจะรวบรวมได้ดังนี้
1) แน่นอนว่าเป็นการปลูกในพื้นที่จำกัดได้อย่างดียิ่ง เพราะการทำค้างเป็นการบังคับต้นให้เจริญเติบโตขึ้นแนวดิ่ง เพียงแค่มีที่ว่างไม่เกิน 1 ตารางเมตร ก็อาจปลูกพืชขึ้นค้างที่ผลมีขนาดเล็กได้ เช่น แตงกวา พริกไทย เป็นต้น
2) การให้น้ำสามารถให้ได้ที่โคนต้นที่ปลูกลงดิน ทำให้ช่วยให้น้ำไม่สัมผัสกับส่วนใบ ซึ่งหากอากาศชื้น การรดน้ำจนใบเปียก แห้งช้า จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากเชื้อรา เช่น ราแป้ง หรือเป็นการป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา รวมทั้งไม่สัมผัสกับดอกหรือผลโดยตรง ซึ่งมีปัญหาคล้ายกับใบเช่นกัน
3
3) การเก็บเกี่ยวผลผลิตทำได้ง่าย อย่างในกรณีของการแตงกวา ซึ่งมีใบสีเขียวขนาดใหญ่ มักจะบังผลแตงกว่าที่มีขนาดเล็กกว่า การปลูกแนวดิ่งทำให้เราสามารถมองเห็นผลได้ง่ายกว่า
4) แน่นอนว่า ผลจะสะอาดกว่า เพราะไม่สัมผัสกับดิน ทำให้ปราศจากเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกปนเปื้อนจากดิน
5) ผลมีสีสม่ำเสมอ ไม่ค่อยมีจุดหรือรอยด่าง เหมือนกับต้นที่ถูกปล่อยให้ต้นของพืชเถาเลื้อยเจริญราบไปกับดิน
1
6) ในกรณีของแตงกวา ผลที่ได้จะยาวตรง ไม่บิดเบี้ยวหรือหงิกงอ
ค้างมีหลายแบบ แต่แบบที่นิยมนำมาใช้กับการปลูกพืชเถาเลื้อยโดยเฉพาะพืชผักในบ้านเรามากที่สุด คือ ค้างแบบ เอ-เฟรม หรือ แบบวอลล์ (A-frame/Wall Trellis) และแบบปิรามิด (Pyramidal Trellis)
ค้างดังกล่าวมีลักษณะการขึ้นเป็นโครงด้วยวัสดุที่อาจใช้เป็นไม้ ไม้ไผ่ พลาสติก หรือเหล็ก
และโครงสร้างที่ทำขึ้นจะมีแท่งไม้หรือเชือกขึงพาดลงมาตามแนวดิ่ง มีทั้งแบบสานเป็นตาข่าย หรือขึงโยงกับแต่ละต้นโดยตรง
ทั้งสองแบบเมื่อเราปลูกพืชเถาลงดินแล้ว ในระยะเริ่มที่ต้นเจริญเติบโต เราจำเป็นต้องช่วยจับให้ยอดพันขึ้นไปตามแนวดิ่ง ไม่ปล่อยให้ยอดเจริญเองให้พันกันยุ่งเหยิง การทำในลักษณะดังกล่าวเรียกว่า Training หรือการ train ต้น
ในการปลูกเชิงการค้า มักนิยมใช้เป็นเชือกหรือตาข่ายไนลอน เพราะเหนียว ทนทาน ใช้ได้อย่างน้อย 4-5 รอบการผลิต
สำหรับในกรณีไม้ผลของโลกอย่างองุ่นนั้น การทำค้างและการ training ต้น มีขั้นตอนและวิธีทำที่ซับซ้อนและยากกว่า เพราะจะมีวิธีปฏิบัติเพื่อเลี้ยงต้นโดยให้ช่อผลขององุ่นได้เติบโตทั้งแนวดิ่ง (ความยาวช่อผล) และแนวราบ (จำนวนช่อ) ซึ่งไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดในตอนนี้
ปิดท้ายด้วยการปลูกแตงกวาไว้ในสวนหลังบ้าน ทำง่ายๆ เอาไว้กินเองในครอบครัว ใช้พื้นที่สัก 1 ตารางเมตร
ซื้อเมล็ดแตงกวาชนิดซองมา ไม่แพงมาก เลือกยี่ห้อที่เคยได้ยินชื่อบ่อยๆ อ่านข้างซอง ควรมีเปอร์เซ็นงอกมากกว่า 90% ยี่ห้อไหนไม่ระบุเปอร์เซ็นต์การงอก วันผลิตและวันหมดอายุ อย่าซื้อ
ที่เหลือหลังจากเพาะให้ม้วนซองมัดหนังยางและใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงอีกที และเก็บไว้ตรงช่องข้างตู้เย็น
การเพาะทำได้ 2 แบบ แบบแรกหยอดเมล็ดเพื่อปลูกเลย โดยหยอดหลุมละ 4-5 เมล็ด ห่างหลุมละ 20 เซนติเมตรหรือ 1 คืบกว่าๆ กลบดิน รดน้ำ 6-7 วัน ต้นกล้ามีใบจริง 2 ใบ ให้ถอนต้นกล้าที่ไม่ค่อยโตทิ้งเหลือต้นที่แข็งแรงที่สุดไว้หลุมละ 1 ต้น
แบบที่สอง เพาะทีละเมล็ดในกระป๋องหรือแก้วพลาสติก เมื่อต้นกล้าอายุ 7-10 วัน จึงค่อยย้ายลงปลูก ใช้ระยะปลูกเช่นเดียวกับแบบแรก
หากไม่มีดินปลูกเลยจริงๆ ก็ให้ปลูกลงกระถางขนาด 10 นิ้วขึ้นไป
การดูแลใส่ปุ๋ยทำตามสมควร หากต้องการผลโต แต่ยังคงความเป็นอินทรีย์อยู่ ก็อาจใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพสูตรเร่งผลโต หรือใส่ปุ๋ยมูลไส้เดือนลงดินก็ได้ เรื่องหนอนแมลงศัตรูพืช ก็อาจใช้สารสกัดจากสะเดามาฉีดพ่น หรือจับหนอนออกเองบ้าง 🐛
หลังปลูกสัก 30 วันก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้ หากอยากมีแตงกวากินตลอด ก็คงต้องวางแผนเวลาเอาเอง
และหาวัสดุเท่าที่พอหาได้ในบ้านมาทำเป็นค้างและใช้หลักการตามที่ว่าไป ประยุกต์แบบไหนได้ทั้งนั้น หรือไม่ทำอะไรเลย แต่มีรั้วบ้านอยู่ ก็ให้แตงกวาของเราเลื้อยขึ้นรั้วไปเลย และอาจจะมีปุ๋ยยูเรียธรรมชาติจากน้องหมา 🐕 ของเรามาช่วยให้โตดีขึ้น 😆
💡หากท่านผู้อ่านที่มีไอเดียหรือประสบการณ์ดีๆ แผกออกไปจากหลักการ เชิญแชร์เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นความรู้ได้ในเพจเลยนะคะ💡
cr.https://salacastello.com/#developing-cucumber-trellis-ideas-for-your-own-field
การปลูกตามธรรมชาติแบบไร้สารเคมีนั้น ผลผลิตอาจไม่งามเหมือนปลูกด้วยระบบเกษตรเคมี แต่สบายใจในการกิน อิ่มใจหากผลผลิตมีมากและแบ่งปันเพื่อนบ้าน แถมอร่อยเพราะภูมิใจที่ปลูกดูแลและเก็บผลได้ด้วยตนเอง
เรียนเกษตรแล้วได้ดี..30 พฤศจิกายน 2562 🙏
โฆษณา