1 ธ.ค. 2019 เวลา 02:53 • ประวัติศาสตร์

โกษาธิบดีจีน และอิทธิพลชาวจีนในรัชกาลพระเพทราชาถึงพระเจ้าท้ายสระ

หลังจากสมเด็จพระเพทราชา (ครองราชย์ ค.ศ. 1688-1703/พ.ศ. 2231-2246) ขจัดอิทธิพลของชาวฝรั่งเศสออกไปจากสยาม มีความเข้าใจว่าสยาม “ปิดประเทศ” ตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง แต่หลักฐานประวัติศาตร์บ่งชี้ว่าการค้าทางทะเลยังคงเป็นกิจกรรมสำคัญของราชสำนักอยุทธยา สยามยังคงติดต่อค้าขายกับต่างประเทศจำนวนมาก เช่น ดัตช์ สเปน จีน ญี่ปุ่น โจฬะมณฑล ฯลฯ
ฝรั่งเศสที่เคยมีปัญหากันมาก่อน ได้มีการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีขึ้นใหม่ในปลายรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา และกลับเข้ามาทำการค้าได้ ในรัชกาลพระเจ้าเสือก็พบหลักฐานว่าราชสำนักพยายามดึงดูดชาติยุโรปหลายชาติให้เข้ามาทำการค้าในสยามแลกกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ
แต่การค้าของยุโรปในสยามไม่ได้กลับมาเฟื่องฟูเทียบเท่าสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เป็นยุคสมัยแห่งการค้า (Age of Commerce) ที่รุ่งเรืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบริบทของสยามเองเพราะราชสำนักอยุทธยายังคงระแวงชาติยุโรป จึงพยายามจำกัดความสัมพันธ์ไม่ให้ชาติยุโรปเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากเท่ารัชกาลสมเด็จพระนารายณ์
ในบริบทของภูมิภาคพบว่าการค้าของยุโรปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซบเซาลงไปเนื่องจากเกิดสงครามใหญ่ในยุโรปติดต่อกัน ในตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 คือ สงครามอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ (Anglo-Dutch Wars) สงครามมหาสัมพันธมิตร (War of the Grand Alliance) และ สงครามสืบราชบัลลังก์สเปน (War of the Spanish Succession)
บริษัทการค้าที่เคยทรงอิทธิพลในภูมิภาคอย่างบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oostindische Compagnie; VOC) ก็ทำผลกำไรได้ไม่มากเหมือนในอดีตจากปัญหาหลายประการ และมีปัญหากระทบกระทั่งกับราชสำนักสยามจนมีการปิดบริษัทในสยามชั่วคราวหลายครั้ง
สยามได้หันทำการค้ากับโลกตะวันออกโดยมีคู่ค้าสำคัญคือจีนแทน ทำให้การค้ากับจีนเฟื่องฟูขึ้นมากในช่วงศตวรรษที่ 18 สมัยอยุทธยาตอนปลาย
ชาวจีนซึ่งเข้ามาค้าขายตั้งรกรากในสยามนานแล้ว ปรากฏบทบาทสูงขึ้นมากตั้งแต่ปลายรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา เป็นต้นมา มาจนถึงในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (ค.ศ. 1709-1733/พ.ศ. 2252-2276) ที่นักประวัติศาสตร์บางคนวิเคราะห์ว่าเป็นยุคที่อิทธิพลของชาวจีนขึ้นสู่จุดสูงสุดในสมัยกรุงศรีอยุทธยา
ภาพเขียนบรรพบุรุษชาวจีน สมัยปลายราชวงศ์หมิง  ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวแมนจูยึดครองแผ่นดินจีนสถาปนาราชวงศ์ชิง ออกกฎบังคับให้ชาวฮั่นที่เป็นประชากรส่วนใหญ่โกนผมไว้เปียและแต่งกายอย่างชาวแมนจู จนมีชาวฮั่นทั้งขุนนางและสามัญชนจำนวนมากที่ต่อต้านและหลบหนีไปต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังพบหลักฐานว่าชาวฮั่นโพ้นทะเลในช่วงต้นราชวงศ์ชิงรวมยังมีการเกล้าผมเป็นมวยดังเดิมโดยไม่โกนผม
อิแมล คริสติอ็อง ก๊อก (Imel Christiaen Cok) ลูกจ้างบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oostindische Compagnie; VOC) ที่เมืองนครศรีธรรมราช ได้บันทึกเรื่องอิทธิพลของชาวจีนในสยามไว้เมื่อ ค.ศ. 1716 (พ.ศ. 2259) ว่า
“สิ่งแรกที่ต้องทราบคือ ราชอาณาจักรสยามในปัจจุบันนี้ไม่ได้อุดมไปด้วยผู้คนเหมือน 25 หรือ 30 ปีก่อน เหตุด้วยประสบกับการบาดเจ็บล้มตายและโรคระบาดบ่อยครั้ง อีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องกล่าวเพิ่มคือมีความไม่สงบภายในเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสามรัชกาลที่ผ่านมานี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ [พระเจ้าแผ่นดิน...] ได้พระราชทานอำนาจให้แก่เสนาบดีผู้ใหญ่เพื่อที่จะทำให้พระองค์สามารถเสวยราชสมบัติได้อย่างมั่นคง และเพื่อจะแสวงหาความอภิรมย์สำหรับพระองค์ด้วยวิธีการต่างๆ
[…] (เนื่องจากพระองค์ไม่ได้สืบสายพระราชวงศ์กษัตริย์สยามอย่างชอบธรรม) คนดีจำนวนมาถูกกดขี่ข่มเหงจนอ่อนกำลัง หลายคนต้องหลบหนีไปอยู่ในดินแดนหรืออาณาจักรใกล้เคียง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในดินแดนเหล่านั้นบ่อยครั้ง
...ในเวลานี้ชาวจีนได้กระทำทุกวิถีทางเพื่อขยายอำนาจของตนเอง เพื่อครอบครองตำแหน่งราชการ และสอดแทรกตนเองเข้ามาในราชอาณาจักรนี้ ในปัจจุบันสามารถครอบครองตำแหน่งที่ดีและสำคัญที่สุดทั้งในราชสำนักและหัวเมือง การนี้เริ่มต้นตั้งแค่ปี 1700 (พ.ศ. 2243) เมื่อ ‘พระทรงธรรม์’ (สมเด็จพระเพทราชา) พระอัยกาของพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันทรงแต่งตั้งชาวจีนเป็น ‘พระคลัง’ เป็นครั้งแรก”
.
ตำแหน่ง “พระคลัง” หมายถึง “โกษาธิบดี” เสนาบดีจตุสดมภ์กรมพระคลัง (หรือกรมท่า) ซึ่งรับผิดชอบราชการคลังสินค้า การค้าขาย และการต่างประเทศของราชสำนัก ในสมัยอยุทธยาตอนปลายยังได้ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้และหัวเมืองชายทะเลตะวันออกซึ่งครอบคลุมเมืองท่าทางทะเลทั้งหมดของอาณาจักร และยังสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากราชการได้มาก จึงเป็นตำแหน่งที่มีอิทธิพลสูงมาก
ในช่วงรัชกาลพระเพทราชาถึงพระเจ้าท้ายสระ มีชาวจีนขึ้นมาครองตำแหน่ง “พระคลัง” อยู่หลายคน
พระคลังชาวจีนในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา คือ “ออกญาสมบัติบาล” เจ้ากรมพระคลังในขวา หลักฐานร่วมสมัยของดัตช์และฝรั่งเศสระบุว่าเคยเป็นคนของออกญาวิไชยเยนทร์ (คอนสตันซ์ ฟอลคอน) เดิมเป็นขุนนางระดับกลาง แต่ในช่วง ค.ศ. 1699-1700 (พ.ศ. 2242-2243) เกิดกบฏเมืองนครราชสีมา ชาวจีนผู้นี้ยึดหนังสือลับที่เมืองนครราชสีมาส่งมาถึงพระสงฆ์หลายรูปไปถวายเป็นความดีความชอบ ทำให้กลายเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเพทราชา ต่อมาจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นออกญา
มีบันทึกว่าออกญาสมบัติบาลเป็นเสนาบดีคนเดียวที่สมเด็จพระเพทราชาทรงไว้วางพระทัยในช่วงปลายรัชกาล ในระดับที่พระองค์ต้องพึ่งเขามากยิ่งกว่าที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเคยพึ่งพาฟอลคอนเสียอีก
ออกญาสมบัติบาลยังมีอำนาจดูแลด้านการค้าต่างประเทศมากจนออกญาพระคลังยังไม่อาจตัดสินใจในเรื่องการค้าต่างประเทศได้เอง หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากออกญาสมบัติบาล เป็นผู้กุมอำนาจในฐานะ “พระคลัง” ตัวจริง นอกจากนี้ยังเป็น “พระอภิบาล” (gouverneur) ของเจ้าพระขวัญ พระโอรสของสมเด็จพระเพทราชาและเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาของสมเด็จพระนารายณ์ด้วย
.
รายงานของ อาร์เนาต์ เกลอร์ (Arnout Cleur) หัวหน้าสถานีการค้าของ VOC ในสยาม ระบุว่าในต้น ค.ศ. 1703 (พ.ศ. 2246) สมเด็จพระเพทราชาประชวรหนัก เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพทรงติดต่อออกญาสมบัติบาลและขุนนางผู้ใหญ่หลายคนให้เตรียมการยกเจ้าพระขวัญขึ้นเป็นใหญ่
แต่เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระเจ้าเสือ) ทรงทราบ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ก่อนสมเด็จพระเพทราชาสวรรคต 1 วัน จึงมีพระราชบัณฑูรให้จับกุมออกญาสมบัติบาลและริบบ้านเรือนทรัพย์สิน (ซึ่งมีจำนวนมากเนื่องจากออกญาสมบัติบาลรับผิดชอบผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของแผ่นดิน) เป็นของหลวงทั้งหมด
เมื่อสมเด็จพระเพทราชาสวรรคต พระเจ้าเสือขึ้นครองราชย์แทน ทรงปลดออกญาสมบัติบาลจากบรรดาศักดิ์ แล้วทรงแต่งตั้งชาวจีนอีกคนมารับตำแหน่งแทนในบรรดาศักดิ์ “พระสมบัติบาล” พร้อมทั้งพระราชทานบ้านเรือนและทรัพย์สินของออกญาสมบัติบาลคนเก่าให้ด้วย
.
ในรัชกาลพระเจ้าเสือ อาร์เนาต์ เกลอร์ ได้รายงานถึงขุนนางชาวจีนที่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเสือหลายคน ได้แก่ ออกญาสมบัติบาล (เข้าใจว่าคือพระสมบัติบาลที่ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์) พระยา “Lauja” และออกหลวงพิบูล ออกญาสมบัติบาลนั้นปรากฏในหลักฐานของ VOC ว่าได้รักษาการในตำแหน่ง “พระคลัง” และเป็นผู้รับผิดชอบส่งเรือสลุปพร้อมศุภอักษรไปเมืองปัตตาเวียใน ค.ศ. 1709 (พ.ศ. 2252)
สำเภาจีนและกำปั่นฝรั่ง จากสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 6 อายุประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ อิทธิพลของชาวจีนยิ่งสูงมากขึ้น มีพระคลังชาวจีนที่ปรากฏเรียกในพระราชพงศาวดารว่า “พระยาโกษาธิบดีจีน” หรือ “พระยาโกษาจีน” (สันนิษฐานว่าอาจเป็นคนเดียวกับออกญาสมบัติบาลในรัชกาลพระเจ้าเสือ) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในราชสำนัก และเป็นที่โปรดปรานของทั้งพระเจ้าเสือและพระเจ้าท้ายสระ
มีการสันนิษฐานว่า "พระยาโกษาธิบดีจีน" เป็นชาวฮกเกี้ยน (福建 ฝูเจี้ยน) เนื่องจากถูกกล่าวถึงในบันทึกรายวันที่ฟอร์ตเซนต์จอร์จ (Fort St. George) เมืองมัทราส (Madras) ในอินเดียว่า มีญาติเป็นขุนนางเมืองเอ้หมึง (廈門 เซี่ยเหมิน) ในมณฑลฮกเกี้ยน ทั้งนี้ปรากฏหลักฐานว่า ไต้ก๋ง หรือนายสำเภาของสยามมักเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนจากเอ้หมึงซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ
จดหมายของมงเซนเญอร์หลุยส์ ช็องปียง เดอ ซีเซ่ (Mgr. Louis Champion de Cicé) ประมุขมิสซังสยาม ส่งถึงเมอร์ซิเออร์แอแบรต์ (Guillaume André d'Hébert) ผู้สำเร็จราชการเมืองพอนดิเชอร์รี ใน ค.ศ. 1714 (พ.ศ. 2257) ระบุว่าพระยาโกษาธิบดีจีนมีอิทธิพลสูงมากในราชสำนัก เป็นผู้อุปถัมภ์ชาวจีนจำนวนมากให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในระบบราชการ จนชาวจีนสามารถควบคุมการค้าของสยามไว้ในมือ
“พระคลังผู้นี้ เป็นคนที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนนับถือและโปรดปรานอย่างมาก และพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันซึ่งเดินตามรอยพระบาทพระราชบิดา ก็ดูจะทรงโปรดปรานนับถือเช่นกัน แต่เนื่องจากพระคลังปล่อยให้ชาวจีนผู้เป็นพ่อค้าของบริษัทฮอลันดาชักจูงตนทุกอย่าง จึงเป็นหลักตอใหญ่ที่ขัดขวางการดำเนินการของเมอซิเออร์ (แอแบรต์ - ผู้เขียน) และยากที่จะกำจัดได้
พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ยังมีพระชนมายุน้อย โปรดแต่แสวงหาความเพลิดเพลิน จึงมอบราชการงานเมืองส่วนใหญ่ให้พระคลังจัดการ ขุนนางผู้นี้ทราบถึงทิศทางลมในราชสำนัก ได้ทำทุกวิถีทางเพื่อเสริมสถานะในระบบราชการของตนให้เข้มแข็ง และทำให้ตนเองเป็นที่เกรงขามของศัตรู
เขาได้หาหนทางนำผู้หญิงชาวจีนเข้าไปไว้ในพระราชวังเพื่อให้คอยรับใช้พระมเหสีและเจ้านายผู้หญิง และแต่งตั้งชาวจีนให้ดำรงตำแหน่งราชการที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย ในเวลาชาวจีนจึงควบคุมการค้าทั้งหมดของราชอาณาจักร ถึงแม้ว่าชาวไทย ชาวมอญ ชาวมลายู ชาวมัวร์(แขกเทศ) จะไม่พอใจกับการเอื้อประโยชน์ให้ชาวจีนเช่นนี้ก็ไม่กล้าจะจัดการใดๆ เพราะรู้ดีว่าชาวจีนได้รับอำนาจคุมพระทัยพระเจ้าแผ่นดินด้วยการอุดหนุนของพระคลัง””
.
จดหมายฉบับเดียวกันยังกล่าวถึงชาวจีนอีกคนหนึ่งว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อพระยาโกษาธิบดีจีนอย่างมาก จนดัตช์ต้องว่าจ้างเป็น “พ่อค้าของบริษัทฮอลันดา” (Marchand de la Compaqnie de Hollande)
“พระคลังโดยส่วนตัวเป็นคนดีใช้ได้ แต่เต็มใจปล่อยให้ตนเองถูกชักจูงโดยชาวจีนอีกคนหนึ่ง พวกฮอลันดามองเห็นจุดอ่อนนี้ จึงตั้งชาวจีนคนนี้เป็นพ่อค้าของบริษัทฮอลันดา และยินยอมให้ทำการค้าส่วนตัวได้ด้วย (นอกเหนือจากการค้าของบริษัท-ผู้เขียน) ทำให้ชาวจีนคนนี้ได้รับประโยชน์ถึงสองทาง และผูกพันแนบแน่นกับผลประโยชน์ของพวกฮอลันดา"
1
...พวกฮอลันดาต้องพึ่งพาพระคลังซึ่งมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับพวกตนอย่างมาก จนถึงขั้นที่เล่นสนุกดื่มกินสังสรรค์ร่วมกันอยู่เสมออย่างแทบไม่มีการควบคุมจนทำให้คนทั้งหลายประหลาดใจ การพบปะเหล่านี้ก็จัดที่บ้านของชาวจีนที่เป็นพ่อค้าของบริษัทฮอลันดา”
ครั้งหนึ่งมีพ่อค้าอังกฤษจากเบงกอลได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทำการค้าในสยามได้ กลับถูกชาวจีนผู้นี้และพระยาโกษาธิบดีจีน “ทำให้พ่อค้าอังกฤษได้รับความลำบากและเดือนร้อนเป็นอันมาก" จนพ่อค้าอังกฤษคนนี้คิดจะออกไปจากเมืองไทย
.
อิทธิพลของชาวจีนในเวลานั้นยังปรากฏในหลักฐานของดัตช์ว่า เมื่อ ค.ศ. 1711 (พ.ศ. 2254) กะลาสีของ VOC ชื่อ โยโดกุส เดอ ฟรี (Jodocus de Vrie) ถูกชาวจีนสองคนสังหารด้วยเหตุวิวาทจากสุรา ราชสำนักอยุทธยาใช้เวลานานมากในการนำคนร้ายมาลงโทษ จน อาร์เนาต์ เกลอร์ เชื่อว่าคนร้ายได้รับการปกป้องจากขุนนางชาวจีนในราชสำนัก
สุดท้ายจีนคนร้ายถูกลงโทษเฆี่ยนด้วยหวายคนละ 150 ทีและจำคุกตลอดชีวิต ออกหลวงศรีวิโรจน์ (ตำแหน่งเศรษฐีขวา เข้าใจว่าเป็นพ่อค้าจีนของราชสำนัก) ขุนนางชาวจีนที่เป็นหัวหน้าของหนึ่งในคนร้ายถูกลงโทษเฆี่ยน 150 ทีเช่นเดียวกันและต้องจ่ายค่าปรับ ในขณะที่ดัตช์ต้องการให้คนร้ายถูกประหาร แต่พระยาโกษาธิบดีจีนชี้แจงว่าไม่สามารถลงโทษประหารชาวต่างประเทศที่ไม่ใช่ข้าราชการของพระเจ้ากรุงสยามได้
ภาพชายหญิงชาวจีนสมัยราชวงศ์ชิง คริสต์ศตวรรษที่ 18
ใน ค.ศ. 1717 (พ.ศ. 2260) พระยาโกษาธิบดีจีนได้รับพระราชโองการให้เป็นแม่ทัพเรือไปตีเมืองพุทไธมาศของกัมพูชา อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) กัปตันเรือชาวสก็อตที่เดินทางเข้ามาในสยามบันทึกว่า พระยาโกษาธิบดีจีนไม่สันทัดในการสงคราม สุดท้ายจึงถูกกองทัพญวนและเขมรตีแตกพ่ายกลับเข้ามา แต่เข้าใจว่าพระยาโกษาธิบดีมีบารมีและเป็นที่โปรดปรานอยู่มาก จึงปรากฏในพงศาวดารว่าสมเด็จพระเจ้าท้ายสระโปรดให้ลงโทษด้วยการชดใช้อาวุธปืน ลูกกระสุน และดินประสิวเท่านั้น
ระยาโกษาธิบดีจีนน่าจะได้เลื่อนเป็น “เจ้าพระยา” หลังจากนั้น ดังที่ปรากฏหลักฐานคือสนธิสัญญาที่สยามกับสเปนใน ค.ศ. 1718 (พ.ศ. 2261) กล่าวถึง "เจ้าพระยาพระคลัง" (chupahya barcalam)
เช่นเดียวกับจดหมายที่โกษาธิบดีส่งไปถึงผู้สำเร็จราชการเมืองปัตตาเวียในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1719 (พ.ศ. 2262) ระบุบรรดาศักดิ์ของตนเองว่า “เจ้าพระยาศรีธรรมราชเดชะชาติอำมาตยานุชิตพิพิทรัตนราชโกษาธิบดีอภัยพิริยบรากรมภาหุ เจ้าพระยาพระคลัง” (Sjopia Seri Dermaraat Ditsjat Tsjaat Amaat Tiaansjat Pipit Ratna Raat Kosa Tabdie Apia Piri Brakarma Pahok Tsjopia Berkelang)
.
ขุนนางชาวจีนยังได้มีบทบาทในการต่อสำเภาและกำปั่นสำหรับการค้าต่างประเทศ ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่าใน พ.ศ. 2264 สมเด็จพระเจ้าท้ายสระมีรับสั่งให้ "โกษาธิบดี" ต่อกำปั่นสำหรับบรรทุกช้างไปขายที่อินเดียด้วย
“ทรงพระกรุณาตรัสสั่งโกษาธิบดีให้ต่อกำปั่น ๓ หน้า ปากกว้าง ๖ วา แล้วทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้ติดสมอ ณ วัดมเหยงคณ์ต่อกำปั่น ๕ เดือนเศษจึ่งสำเร็จแล้ว ๆ ให้ใช้ใบออกไปณเมืองมฤท แล้วให้ประทุกช้างออกไปจำหน่าย ณ เมืองเทศ ๔๐ ช้าง”
.
นอกจากเจ้าพระยาโกษาธิบดีจีน ยังมีขุนนางชาวจีนคนสำคัญในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระอีกหลายคน เช่น พระยา “Lauja” ซึ่งเคยเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเสือมาก่อน ไวบรานด์ บล็อม (Wijbrand Blom) หัวหน้าสำนัก VOC ของสยามรายงานว่า “เป็นผู้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ และเป็นพ่อค้าเอกชนที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศนี้”
.
หนังสือมหามุขมาตยานุกูลวงศ์ เล่ม ๑ เรียบเรียงโดย ก.ศ.ร. กุหลาบ ระบุว่าในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระมีชาวจีนชื่อ “อ๋องเฮงฉ่วน” (พิจารณาจากชื่อเข้าใจว่าเป็นชาวฮกเกี้ยน) ขนตุ๊กตาหินแกะสลักมาขายแต่ไม่สามารถขายได้ จึงขอความช่วยเหลือจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี ให้ช่วยรับซื้อสินค้าแลกเปลี่ยนกับสินค้าประเภทของป่ากลับไปขายที่เมืองจีนไม่ให้ขาดทุน เจ้าพระยาโกษาธิบดีจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระจนทรงพระกรุณาพระราชทานส่วยของป่าหัวเมืองให้
1
อ๋องเฮงฉ่วนค้าขายได้ไม่ขาดทุน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจึงนำแผ่นหินอ่อนมาทูลเกล้าถวายฯ สำหรับพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าท้ายสระจึงทรงจัดของป่าตอบแทนให้ตามสมควร แล้วโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “ขุนท่องสื่อ” ล่ามกรมท่าซ้าย ให้นำคณะทูตสยามไปจิ้มก้องจีน ต่อมาจึงได้เลื่อนเป็น “หลวงศิริสมบัติ” ตำแหน่งเจ้าท่าเปิดระวางสำเภาที่เข้าเทียบท่ากรุงศรีอยุทธยา และตกแต่งสำเภาไปค้าขายกับจีน
จนถึงรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงได้เลื่อนเป็น “ออกพระโชฎึกราชเศรษฐี” เจ้ากรมท่าซ้าย ผู้ดูแลชาวจีนและการค้าฝั่งตะวันออก แล้วได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เรียกกันว่า “เจ้าคุณพระคลังจีน”
เจ้าพระยาโกษาธิบดีที่ให้ความช่วยเหลืออ๋องเฮงฉ่วน เข้าใจว่าคือเจ้าพระยาโกษาธิบดีจีนนั่นเอง สอดคล้องกับหลักฐานที่ระบุว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดีจีนสนับสนุนชาวจีนให้ดำรงตำแหน่งสำคัญจำนวนมาก
อิทธิพลของชาวจีนแผ่ขยายไปถึงระดับหัวเมือง เช่น เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่ง VOC ได้รับสิทธิให้ผูกขาดการค้าดีบุกมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ แต่เมื่อถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ อิแมล คริสติอ็อง ก๊อก รายงานว่าชาวจีนเข้ามามีส่วนแบ่งผลประโยชน์การผลิตดีบุก
แหล่งผลิตดีบุกที่เขาแดง และ “Dinlemo” ที่ใช้เป็นส่วยส่งไปพระนครซึ่งเดิมถูกควบคุมโดยข้าราชการท้องถิ่น กลับตกไปอยู่ในมือของขุนนางชาวจีนบรรดาศักดิ์ “ออกหลวงไชยภักดี” ชาวจีนที่เมืองนครศรีธรรมราชสามารถผลิตดีบุกได้ในปริมาณมาก จนราชสำนักสามารถเรียกจำนวนส่วยดีบุกเพิ่มขึ้นจากเดิมได้เกือบสามเท่าตัว ดีบุกซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสยามจึงตกอยู่ใต้การดูแลของชาวจีนไปโดยปริยาย
ก๊อกยังรายงานว่า มีชาวจีนหลายคนใช้เงินจำนวนมากเพื่อซื้อตำแหน่งขุนนาง บางคนถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัวเป็นหนี้ก้อนโตเนื่องจากต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมากในเดินทางไปวิ่งเต้นที่กรุงศรีอยุทธยา
ภาพวาดสำเภาสยาม (暹羅船) จากม้วนภาพสำเภาจีน (唐舩の圖) วาดโดยจิตรกรชาวญี่ปุ่น ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘
พ่อค้าชาวจีนในสยามยังได้รับหน้าที่ควบคุมสำเภาหลวงของอยุทธยาไปค้าขายกับจีนบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงหลัง ค.ศ. 1722 (พ.ศ. 2265) เป็นต้นมาที่การค้าในระบบบรรณาการกับราชสำนักต้าชิงกลับมาดำเนินอีกครั้ง (หลังจากที่มีนโยบายห้ามทำการค้าทางทะเลมาหลายปี แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่าการค้าเอกชนระหว่างมณฑลตอนใต้จีนกับสยามก็เติบโตขึ้น)
เนื่องจากต้าชิงต้องการนำเข้าข้าวจากสยามในปริมาณมากเพื่อแก้ไขภาวะขาดแคลนข้าวอย่างรุนแรงในหลายมณฑลทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ทั้งฮกเกี้ยน กวางตุ้ง และเจ้อเจียง จึงมีสำเภาหลวงของสยามรวมถึงสำเภาพ่อค้าเอกชนชาวจีน (ซึ่งน่าเชื่อว่าได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์หรือขุนนาง) ขนส่งข้าวจากสยามไปขายที่ต้าชิงจำนวนมากเป็นประจำ
ผลจากการขยายตัวทางการค้ากับจีนนี้น่าจะส่งผลให้มีชาวจีนเดินทางเข้ามาในสยามจำนวนมากขึ้น และหลายคนคงจะแสวงหาช่องทางเข้าสู่ระบบราชการของราชสำนักด้วย
บทบาทสำคัญอีกประการของชาวจีนคือการคุมสำเภาสยามไปทำการค้าที่ญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นมีนโยบายปิดประเทศ (鎖国) ห้ามไม่ให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าออกประเทศโดยเด็ดขาด โดยอนุญาตให้ชาวต่างประเทศบางชาติค้าขายในเมืองท่าที่กำหนดไว้เท่านั้น จีนได้รับอนุญาตให้ทำการค้าที่เมืองนางาซากิได้ ราชสำนักกรุงศรีอยุทธยาจึงว่าจ้างชาวจีนให้ควบคุมสำเภาหลวงไปทำการค้าแทน ด้วยเหตุนี้สยามจึงสามารถทำการค้ากับญี่ปุ่นได้เรื่อยมาแม้ว่าญี่ปุ่นจะปิดประเทศก็ตาม
.
จากเอกสาร “โทเซ็น ฟูเซะทสึ-กะคิ” (唐船風説書) หรือจดหมายเหตุคำให้การของตัวแทนลูกเรือสำเภาจีนที่เข้าไปเทียบท่าเรือนางาซากิ ได้บันทึกจำนวนเรือที่เข้าไปยังกรุงศรีอยุทธยา และจำนวนเรือที่ออกจากสยามซึ่งคาดว่าจะเดินทางไปที่นางาซากิ รวมถึงประเภทเรือ ชื่อไต้ก๋ง จำนวนลูกเรือชาวจีนกับสยาม และสินค้าจากสยามที่เรือซื้อ
ในช่วง ค.ศ. 1674-1724 (พ.ศ. 2217-2267) พบว่ามีสำเภาจากสยามเดินทางไปยังญี่ปุ่นเป็นประจำเกือบทุกปี มีไต้ก๋งเป็นชาวจีนทั้งสิ้น ลูกเรือส่วนใหญ่เป็นชาวจีน และมีเรือจำนวนมากที่ถูกบันทึกว่าได้รับการว่าจ้างจากกษัตริย์สยาม
การค้าต่างประเทศในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระซึ่งจีนมีบทบาทสำคัญจึงเฟื่องฟูพอสมควร ปรากฏในรายงานของไวบรานด์ บล็อม ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1733 (พ.ศ. 2276) หลังสมเด็จพระเจ้าท้ายสระสวรรคต 2 เดือนว่า มีสำเภาจากเมืองจีนมาเทียบท่าที่กรุงศรีอยุทธยาเฉลี่ยปีละ 18 ลำทุกปี นอกจากนี้ยังมีสำเภาจีนอีก 4-5 ลำที่ไปทำการค้ากับเมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช รวมไปถึงหัวเมืองประเทศราชคือปตานีและตรังกานูด้วย
บล็อมยังรายงานการค้าภายในของสยามว่า มีเรือของคนพื้นเมืองมากกว่า 1,000 ลำที่เดินทางเข้าออก “แม่น้ำสยาม” (แม่น้ำเจ้าพระยา) รวมถึงเรือที่จะเดินทางไปยังกัมพูชา จามปา โคชินจีน ตังเกี๋ย ราชบุรี เพชรบุรี กุย ปราณ ไชยา นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปตานี ตรังกานู ปะหัง ยะโฮร์ และมะละกา ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีเรือสินค้าของชาวจีนในสยามอยู่ด้วย เพราะปรากฏในจดหมายเหตุรายวันของ VOC ใน ค.ศ. 1730 (พ.ศ. 2273) ว่ามีสำเภาจีนจากมะละกาและปัตตาเวียเข้ามายังกรุงศรีอยุทธยา
ลายกำมะลอรูปเซี่ยวกาง ศิลปะสมัยอยุทธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 23 เป็นการประยุกต์ศิลปะจีนผสมผสานกับศิลปะไทย
เมื่อสมเด็จพระเจ้าท้ายสระสวรรคตในเดือนมกราคม ค.ศ. 1733 (พ.ศ. 2276) เกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติระหว่างฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย พระโอรสของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ กับฝ่ายของพระมหาอุปราช (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ปรากฏในหลักฐานชั้นต้นของดัตช์และฝรั่งเศสว่า “พระคลังชาวจีน” สนับสนุนเจ้าฟ้าอภัย
แต่สุดท้ายเจ้าฟ้าอภัยพ่ายแพ้ “พระคลังชาวจีน” ต้องหนีราชภัยด้วยการออกบวช พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงส่งชาวมลายู 30 คนไปกุมตัวไว้ได้ ภายหลังจึงถูกชาวมลายู 2 คนสังหารทั้งผ้าเหลืองเนื่องจากไม่ยอมสึก
"พระคลังชาวจีน" คนนี้ไม่น่าใช่คนเดียวกับโกษาธิบดีจีนที่ไปรบที่เขมร เพราะมีบันทึกของฝรั่งเศสช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ ค.ศ. 1730 (พ.ศ. 2273) ว่า "พระคลัง" เวลานั้นยังหนุ่มมีอายุน้อย
(พงศาวดารระบุว่า มีขุนนางฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย 2 คนคือ พระยาพิชัยราชา (เสม) กับพระยายมราช (พูน) หนีไปบวชที่แขวงเมืองสุพรรณบุรีแต่ถูกจับตัวกลับมาคุมตัวไว้ที่วัดฝางในอยุทธยา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศให้แขกจามแทงตายในวัด สันนิษฐานว่า "พระคลังชาวจีน" อาจเป็นคนเดียวกับพระยาพิชัยราชา (เสม) ซึ่งอาจได้ว่าที่เป็นโกษาธิบดีในเวลานั้น)
พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงแต่งตั้งขุนชำนาญชาญณรงค์ (อู่) ข้าหลวงเชื้อสายพราหมณ์เทศผู้มีความดีความชอบเป็นเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ว่าที่โกษาธิบดี ทำให้อำนาจดูแลการค้าต่างประเทศถูกเปลี่ยนมือไปจากชาวจีน
.
การผลัดแผ่นดินครั้งนี้น่าจะส่งผลกระทบต่ออิทธิพลของชาวจีนในกรุงศรีอยุทธยามากพอสมควร เพราะปรากฏในพระราชพงศาวดารว่าใน ค.ศ. 1734 (พ.ศ. 2277) ชาวจีนย่านนายก่าย ชุมชนชาวฮกเกี้ยนที่ใหญ่ที่สุดในพระนครราว 300 คน ก่อกบฏบุกพระราชวังหลวงในขณะที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไม่อยู่ในพระนคร
รายงานของ มงเซนเญอร์ เดอ เกราแล (Mgr. Jean-Jacques Tessier de Quéralay) ประมุขมิสซังสยามระบุว่าชาวจีนเหล่านี้มีจุดประสงค์ถึงขั้นตั้งพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ที่จะให้คุณแก่พวกตนมากขึ้น แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จกลับมาก็ถูกปราบปรามได้สำเร็จ
แม้ไม่ปรากฏหลักฐานสาเหตุการกบฏชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าชาวจีนเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบหรือสูญเสียผลประโยชน์จากการเสียชีวิตของ “พระคลังชาวจีน” ที่เสมือนเป็นผู้นำหรือผู้อุปถัมภ์ของตน
หลังจากรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระจนกระทั่งกรุงศรีอยุทธยาล่มสลาย การค้าข้าวระหว่างสยามกับต้าชิงยังคงเฟื่องฟู ราชสำนักสยามยังคงอาศัยชาวจีนทำการค้ากับเมืองจีนมาอย่างต่อเนื่อง และยังพบว่ามีชาวจีนหรือคนเชื้อสายจีนได้รับราชการในตำแหน่งสำคัญอยู่มาก ถึงกระนั้นไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงอิทธิพลของชาวจีนในอยุทธยามากเท่ารัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระอีก
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
- กฎหมายตรา 3 ดวง เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2548.
- ก.ศ.ร. กุหลาบ. มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ เล่ม 1 ส่วนที่ 2. กรุงเทพฯ: , ร.ศ. 124.
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยารวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2553.
- ประชุมพงศาวดารภาคที่ 37 เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเจ้าเสือแลแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ภาค 4. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2469.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553.
- วรพร ภู่พงศ์พันธุ์. "คำให้การลูกเรือสำเภาจีนเกี่ยวกับสยาม ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17" ใน 100 เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2554.
- สารสิน วีระผล. จิ้มก้องและกำไร : การค้าไทยจีน 2195-2396. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548.
.
ภาษาต่างประเทศ
- Alexander Hamilton and Michael W. Charney. 'Account of Pegu and the Voyage to Cambodia and Siam in 1718 by Alexander Hamilton, edited by Michael W. Charney.' SOAS Bulletin of Burma Research 4(2), 2006. 98-122.
- Barend J. Terwiel. “Two Scrolls Depicting Phra Petracha’s Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation.” Journal of the Siam Society (Vol.14), 2016. 79 - 94.
- Bhawan Ruangsilp, Dutch East India Company Merchants at the Court of Ayutthaya: Dutch Perception of the Thai Kingdom, c 1604-1765, Leiden:Brill, 2007.
- Dhiravat na Pompejra, “Dutch and French Evidence Concerning Court Conflicts at the End of King Petracha’s Reign, c 1699-1703,” Silpakorn University International Journal, 2/1 (Jan-June 2002), 47-70.
- Dhiravat na Pombejra, “Letter from the Chaophraya Phrakhlang on behalf of King Thai Sa (r. 1709-1733) to the Supreme Government in Batavia, before March 1719, and the answer from Batavia, 17 August 1719.”In: Harta Karun. Hidden Treasures on Indonesian and Asian-European History from the VOC Archives in Jakarta, document 24. Jakarta: Arsip Nasional Republik Indonesia, 2016.
- Dhiravat na Pompejra. “Prince, Pretender, and the Chinese Phraklang: An Analysis of the Dutch Evidence Cocerning Siamese Court Politic, 1699-1734”. On the Eighteenth Century as a Category of Asian History Van Leur in Tetrospect. Edited by Leonard Bluss and Femme Gaastra. 1988.
- Llanes, F.C. (2009, June). Dropping Artillery, Loading Rice and Elephant: A Spanish Ambassador in the Court of Ayudhya in 1718. New Zealand Journal of Asian Studies, 11(1), 60-74.
หมายเหตุ : บบทความเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอความกรุณาต่อผู้อ่านไม่นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ โดยแอบอ้างข้อมูลเป็นของตนเอง หรือนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์
ผู้ดูแลเพจยินดีให้ผู้อ่านแชร์ (share) บทความของเพจจาก Facebook ของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ได้โดยตรงโดยไม่ต้องขออนุญาต หากมีความประสงค์จะนำบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อในช่องทางอื่น ขอความกรุณาผู้อ่านขออนุญาตจากผู้ดูแลเพจก่อนครับ
โฆษณา