2 ธ.ค. 2019 เวลา 07:17 • ธุรกิจ
เจาะลึกโครงสร้างการส่งออกของประเทศไทยรายอุตสาหกรรม ตอนที่ 3.2
(ตอนจบ)
บทความนี้จะเเบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนบนจะเป็นข้อมูลในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่เหลือจากตอนก่อนหน้า
ส่วนล่างจะเป็นการสรุปภาพรวมของการส่งออกทั้งหมด
สูดลมหายใจลึกๆก่อนอ่านนะครับ เพราะนอกจากจะยาวแล้ว สิ่งที่อยู่ด้านในเป็นอนาคตที่น่ารักพอสมควร
1. เฟอร์นิเจอร์
ภาพรวมในกลุ่มนี้ฟื้นตัวได้เล็กน้อยถือว่ามีสัญญาณที่ดีครับ
โดยจุดที่น่าสนใจของกลุ่มนี้เมื่อเข้าไปดูยังรายสินค้าแล้วพบว่า
*ที่นอน หมอน ฟูก มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยปี 62 ก็มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นถึง 1,343 ล้านบาท
หนึ่งในสินค้าที่มีศักยภาพ นั่นก็คือ ที่นอน หมอน ฟูก ที่ทำมาจากส่วนผสมของยางพารา
แต่ประเด็นที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากนี้คือ
"ทุนจีนเข้ามาเปิดโรงงานในไทย"
ในระยะที่ผ่านมา เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนจีนเริ่มเข้ามาซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปยางพาราในไทย
หากผมเข้าใจไม่ผิด กลุ่มทุนเหล่านั้นต้องการที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงการศึกษาเทคโนโลยีและกระบวนการ การผลิตสินค้าจากไทย
มาถึงจุดนี้อย่าเพิ่งเข้าใจว่าจีนจะมาเลียนแบบการผลิตสินค้าจากไทยตรงๆ
เทคโนโลยีการผลิตของจีนในปัจจุบันล้ำหน้าชนิดที่ว่าไทยไม่มีทางตามทันได้อีกต่อไป
แต่สิ่งที่จีนสามารถมาเรียนรู้จากเราได้คือ Core ของการผลิตสินค้าชนิดนั้นๆ
*วัตถุดิบเราดี และ ศักยภาพเรามีสูงมาก เพียงแต่ขาดการสนับสนุนมานานเหลือเกิน
2.ไม้
กลุ่มนี้อาการค่อนข้างหนัก การส่งออกลดลงเกือบทุกตัว
3.เหล็ก
ตลาดเหล็กอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากอุปทานเหล็กจากจีนยังมีอยู่ในระดับสูง ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการที่โดนเหล็กจีนเข้ามาตีตลาด
ไม่ใช่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ประเทศอื่นๆก็โดนกันระนาว ดังนั้นกลุ่มนี้จึงถือว่ามีปัจจัยเฉพาะตัว ระดับอุตสาหกรรมโลก
สำหรับนักลงทุนถ้ายังจำกันได้ เคสบริษัทเหล็กไทยที่ไปล้มละลายในอังกฤษเมื่อไม่กี่ปีมานี้ นับว่าเป็นสัญญาณเตือนสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กที่ดังมากครับ
4.เม็ดพลาสติค
กลุ่มนี้มีการชะลอตัวลงตามสภาวะการค้าโลก ช่วงที่ผ่านมายังมีการแกว่งตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลกมาประกอบ
ยอดการส่งออก ลดลงเกือบทุกรายการ
5.ผลิตภัณฑ์พลาสติค
*จากบรรทัดนี้ไปจะเป็นข้อสังเกตของผมครับ ยังหาเอกสารประกอบไม่ได้จึงให้เป็นข้อสังเกตไปก่อน
ผมสังเกตว่า อุตสาหกรรมที่มีวัตถุดิบตั้งต้นมาจากกลุ่มปิโตรเคมี
อย่างผลิตภัณฑ์ ที่มีการแปรรูปมาจากส่วนประกอบของน้ำมัน มีการส่งออกที่ลดลงทั้งสิ้น
ดังนั้นหากการเติบโตของกลุ่มน้ำมันไม่ดีขึ้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องในปีถัดไป
6.เคมีภัณฑ์
ยอดส่งออกลดลงกระจายไปในแทบทุกกลุ่มสินค้า
7.ยานพาหนะ
กลุ่มนี้ คือ กระดูกสันหลังเส้นที่ 2 ของการส่งออกไทย
ซึ่งเมื่อผมเจาะเข้าดูรายสินค้าแล้ว ทำให้มุมมองที่ผมมีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะ 1 ปีข้างหน้า มีภาพที่ไม่ค่อยสดใสเท่าไหร่
กลุ่มนี้มีสินค้าเด่นๆ อยู่ประมาณ 5 รายการ ที่มียอดการส่งออกตั้งแต่
150,000 ล้านขึ้นไป คือ
1. รถยนต์นั่ง ยอดการส่งออกปี 61 356,694 ลบ. ระยะ 10 เดือนแรกปี 62 อัตราการขยายตัวลดลง -9.64%
2. รถปิกอัพ รถบัส และรถบรรทุก ยอดการส่งออกปี 61 250,712 ลบ.ระยะ 10 เดือนแรกปี 62 อัตราการขยายตัวลดลง -1.38%
3. ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ยอดการส่งออกปี 61 320,050 ลบ.
ระยะ 10 เดือนแรกปี 62 อัตราการขยายตัวลดลง -7.80%
4. ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่น ยอดการส่งออกปี 61 295,278 ลบ.
ระยะ 10 เดือนแรกปี 62 อัตราการขยายตัวลดลง -7.73%
5. เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ
ยอดการส่งออกปี 61 168,465 ลบ. ระยะ 10 เดือนแรกปี 62 อัตรา
การขยายตัวลดลง -18.76%
จากข้อมูลข้างต้นนี้ทำให้ผมสามารถได้ข้อสรุปว่า กำลังซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลในตลาดโลก ลดลงอย่างน่าใจหาย
ซึ่งกลุ่มผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยเกี่ยวข้องกับการจ้างงานจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อกำลังซื้อของทั้งโลกลดลง สิ่งที่ตามมาคงไม่ใช่เรื่องดีสำหรับผู้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้เท่าไหร่ครับ
และในส่วนสุดท้ายของ โครงสร้างการส่งออกของไทยคือ
สินค้าแร่และเชื้อเพลิง
ส่วนได้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะสงครามการค้าและการชะลอตัวลงของกำลังซื้อทั่วโลกครับ
เอาเข้าจริงตอนนี้น้ำมันกำลังล้นโลก
เหล่าผู้ผลิตต่างคุมเชิงกันอยู่ แต่ทุกๆครั้งที่เราคาดหวังกับกลุ่ม OPEC ให้สามารถควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันของชาติพันธมิตรได้
แต่มีผู้เล่นรายนึงที่ไม่เคยมาสังฆกรรมร่วมกับชาวบ้านเขาเลยคือ
"อเมริกา" ในขณะที่ OPEC ควบคุมการผลิตน้ำมันทั้งกลุ่ม
แต่ ผู้ประกอบการของ อเมริกา ผลิตน้ำมันออกมาขายอย่างสบายใจ(พวก shale oil นี่ตัวดีเลยครับ) ที่มีคนควบคุมราคาน้ำมันให้แต่ตัวเองกลับได้ประโยชน์ไปเต็มๆ
เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ
ก่อนหน้านี้ อเมริกา มีการบริโภคน้ำมันในประเทศ(อัตราการใช้น้ำมันในประเทศ) มากกว่าที่ผู้ผลิตน้ำมันในประเทศจะผลิตได้ ก่อนหน้านี้ อเมริกาเลยเป็น "ลูกค้า" รายใหญ่ของ OPEC คือต้องสั่งซื้อน้ำมันมาจากกลุ่ม OPEC
วันดีคืนดี อเมริกาดันไปพบเทคนิคการขุดเจาะน้ำมันแบบใหม่ ทำให้สามารถขุดน้ำมันดิบที่อยู่ใต้ชั้นหินขึ้นมาได้ กลายเป็นว่าด้วยเทคนิคนี้ทำให้ "อเมริกา เปลี่ยนสถานะจากผู้บริโภค กลายเป็นผู้ผลิตใหญ่อีกราย"
ทำให้ปริมาณน้ำมันที่ opec ขายได้ ลดลง ในขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันในกลุ่มมีแต่จะทรงๆกับเพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันก็เลยร่วงระนาว (เอาไว้ผมจะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังในบทความหน้านะครับ)
ยังไม่รวมถึงเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เข้ามา Disrupt ธุรกิจอีกปัจจัย
ทำให้ภาพรวมในกลุ่มนี้ ปีหน้าก็ยังไม่น่าจะดีขึ้นครับ
บทสรุปองค์ประกอบโครงสร้างการส่งออกทั้งหมดของประเทศไทย
หลังจากที่เราได้ดูรายละเอียดในแต่ละส่วนในบทความก่อนหน้านี้ทั้งหมด
เราก็ได้ทำความรู้จักชิ้นส่วน ของการส่งออกทั้ง 4 ชิ้น เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผมจะทำการสรุปประเด็นสำคัญๆให้ทุกท่านได้มองเห็นภาพรวมอีกครั้ง
โครงสร้างการส่งออกของไทยสามารถแบ่งออกมาได้ทั้งหมด 4 ส่วน
และมีสัดส่วนดังที่ท่านเห็นข้างต้น
เมื่อนำความเคลื่อนไหวในแต่ละส่วนมารวมกันแล้ว พบว่า
มีอัตราการขยายตัวในปี 2562 อัตราการขยายตัว "ลดลงทุกส่วน"
กระจายไป สินค้าทุกรายการ
ในส่วนภาคเกษตรกรรม ส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกระจุกตัวอยู่ใน
"ภาคกสิกรรม" เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ในขณะที่มีกลุ่มผลไม้บางส่วนสามารถเติบโตได้ดีกว่าที่คาด เช่น ทุเรียน มังคุด และ ลำไย
"ภาคการประมง" กลุ่มที่โชคร้ายที่สุดเนื่องจากได้รับผลกระทบเรื่อง IUU จากปัญหาเรื่องแรงงาน ทำให้เจ้าของเรือประมงรายย่อยประมาณ ครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมประมงต้องหยุดกิจการไป
หลังจากนี้ยังมีความท้าทายเรื่อง GSP ที่จะตัดสิทธิ์ลดหย่อนภาษีสินค้าประมงของไทยร่วมด้วยทำให้แนวโน้มกลุ่มนี้ในอนาคตไม่สดใสเท่าใดนัก
ในขณะที่ ภาคที่สามารถคงการเติบโตได้ดีคือ
"ภาคปศุสัตว์" ซึ่งมีผลมาจาก "ไก่ และ ไก่แช่แข็ง" ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรมีการเพิ่มมูลค่าเข้าไปในตัวสินค้าจากวัตถุดิบตั้งต้น ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบที่หนักเท่ากับกลุ่มเกษตรกรรม
โดยที่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มประมงได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
ในขณะที่ สินค้าที่เติบโตได้ดีคือสินค้าประเภทเครื่องดื่มและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
สินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกที่มากที่สุดเห็นสัญญาณการชะลอตัวที่ชัดเจน
ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับการจ้างงานในวงกว้าง
ดังนั้นการที่ยอดการส่งออกสินค้นอุตสาหกรรมลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญในสินค้าตัวหลัก หลายประเภท ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกแย่
และเมื่อตัดสินค้าเก็งกำไรอย่าง "ทองคำแท่ง" ซึ่งมีปริมาณการส่งออกที่มากขึ้นเป็นเท่าตัวออกไปแล้ว ทำให้เรื่องแย่เข้าไปอีก
สินค้าแร่และเชื้อเพลิง ชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมัน
*นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไปจะเป็นมุมมองของผมในฐานะนักลงทุนธรรมดาผู้หนึ่ง
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการส่งออกของไทยส่งสัญญาณให้เห็นถึงความอ่อนแอในหลายกลุ่มสินค้า การส่งออกชะลอตัวลงทุกภาคส่วน
หากผมเปรียบเทียบการส่งออกเป็นร่างกายมนุษย์แล้ว
ขณะนี้ร่างกายได้รับบาดแผลที่มีลักษณะ ทำให้เลือดค่อยๆไหล(Bleeding)
.
ทำให้ "คนที่ชื่อว่า การส่งออก" นี้จะไม่ตายในทันที แต่จะค่อยๆอ่อนแอลงตามปริมาณเลือดที่เสียไป อุณหภูมิร่างกายจะค่อยๆลดลงทีละนิด
ดังนั้น ในระยะข้างหน้านี้เราจะไม่ได้เห็นโรงงานขนาดใหญ่ ปิดตัวกระทันหัน มากนัก แต่จะเริ่มจาก "มาตรการ เบา ไปหา หนัก "
เช่น สั่งพักไลน์ผลิต อาทิตย์ละ 1-2 วัน บีบให้พนักงานที่ไม่สามารถทำตาม KPI ออกทีละน้อย ปลดผู้ที่อยู่ในตำแหน่งงานที่มีเงินเดือนสูง ฯลฯ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ของบริษัทออกไปให้ได้มากที่สุด
สำหรับช่วงเวลาที่จะมาถึง
เมื่อดำเนินงานตามมาตรการจนถึงที่สุดแล้ว ขั้นสุดท้ายคือ "การปิดกิจการ"
หากเลือกได้เหล่าเจ้าของกิจการไม่มีใครที่จะอยาก ปิดกิจการแน่นอนครับ
แต่ถ้ามันเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆก็จำเป็นต้องทำเพื่อรักษาชีวิตไว้
.
ซึ่งจะเห็นได้ว่า สิ่งที่ทำให้ "คนที่ชื่อว่า การส่งออก" นี้อ่อนแอ ไม่เพียงแต่จะมาจากบาดแผลที่เกิดขึ้นเท่านั้น เรายัง "อ่อนแอในเชิงของโครงสร้าง"
ซึ่งขาดการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาไปกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่อยู่ในมือของ กลุ่มทุนขนาดใหญ่(สังเกตได้จากสินค้าหลายๆรายการ ตัวที่ยืนอยู่ได้ล้วนอยู่ในมือของรายใหญ่แทบทั้งสิ้น) ทำให้เกิด "ช่องว่างขององค์ความรู้" ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งส่วนนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยระยะเวลาอันสั้น
ส่วนจะรอนโยบายมาแก้นั้น มันสามารถทำได้แน่นอนครับ ส่วนอยากทำรึเปล่า เป็นอีกเรื่อง เนื่องจากนโยบายระยะยาวจะมีผลคาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
ดังนั้นการทำประโยชน์ให้กับการเมืองกลุ่มตรงข้าม มักไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจทำได้โดยง่าย(แน่นอนว่าผู้ที่มีวิสัยทัศน์ล้วนคงอยู่ในทุกยุคทุกสมัย อยู่ที่ว่าเขาเหล่านั้นจะได้มีโอกาสเปล่งประกายหรือไม่)
และหากเกิด ช่วงเวลาวิกฤติขึ้นมาจริงๆ เมื่อมองในตัวโครงสร้างแล้ว
จะต้องอุ้ม "โครงสร้างหลัก" ก่อนเสมอ เรียงตามลำดับความสำคัญ และเม็ดเงินที่ทำได้
*หากเกิดวิกฤติครั้งนี้จะไม่เหมือนกับวิกฤติปี 40 เนื่องด้วยบริบทที่ต่างกัน อีกทั้งฐานะทางการเงินของประเทศเราอยู่ในระดับที่มีความมั่นคงสูง
ดังนั้น อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป เตรียมพร้อมรับมือ ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท อย่าสร้างหนี้ "ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้" โดยไม่จำเป็น
หมั่นหาความรู้ทางการเงินอยู่เสมอ
และอย่าลืม กดติดตามผมด้วยนะครับ ;)
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามและคอยให้กำลังใจมาโดยตลอด
หวังว่าบทความซีรีย์ เจาะ นี้จะทำให้ทุกท่านได้เห็นโครงสร้างการส่งออกที่ชัดเจนขึ้นครับ
รักเสมอ
หมูน้อย
*โล่งใจมากครับที่สามารถปิดบทความชุดนี้ได้เสียที ข้อมูลค่อนข้างมากจริงๆ และทำให้เห็นอนาคตได้ค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียว
reference
แถม
รูปที่ผมใช้ประกอบบทความทั้งหมดใน"ซีรีย์ เจาะ นี้" สามารถกด save ไปใช้งานในลักษณะที่ไม่ใช่ comercial ได้เลยครับ
อย่างไรฝากโฆษณาเพจผมด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับ
.
*สำคัญมาก ข้อมูลที่ผมใช้นำมาจาก
เข้าไปตรงการส่งออกแล้วโหลดข้อมูลออกมานะครับ เผื่อท่านใดอยากนำข้อมูลไปต่อยอด
โฆษณา