2 ธ.ค. 2019 เวลา 09:00 • สุขภาพ
”เกลือ”...ทำให้ความดันพุ่งได้อย่างไร? (Edited)
เกลือเพียงตัวเดียวสามารถทำให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมอง เกลือเพียงตัวเดียวสามารถทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และเกลือเพียงตัวเดียวสามารถทำให้เกิดโรคไตและโรคต่างๆอีกมากมาย...
สาเหตุที่ทำให้เกลือมีความสามารถในการทำร้ายร่างกายของมนุษย์มากถึงเพียงนี้นั้นมีอยู่เพียงสาเหตุเดียว นั่นก็คือเกลือทำให้”ความดันโลหิตสูงขึ้น”!
เมื่อพูดถึงเกลือในแง่ของอาหาร เกลือคือ”โซเดียมคลอไรด์(NaCl)” ซึ่งเป็นสารที่คุณคงยังจำได้สมัยเรียนวิชาเคมี สารตัวนี้พบเจอได้ในอาหารทั่วไป หรืออาจจะเรียกว่าพบเจอมากเกินไปน่าจะเหมาะสมกว่า
สารตัวนี้เมื่อสัมผัสกับลิ้นของพวกเราแล้วก็จะเกิด”ความรู้สึกเค็ม” อาหารหรือซอสเครื่องปรุงใดๆก็ตามที่มีรสชาตินี้จึงมีที่มาจากเกลือโซเดียมคลอไรด์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางลม ซอสเต้าเจี้ยว เป็นต้น และเชื่อว่าคุณคงเคยได้ยินประโยคนี้กัน
”กินเค็มระวังเป็นโรคความดันสูงนะ”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโรคความดันโลหิตสูงกันแล้วก็จะโดนหมอห้ามปรามอยู่ตลอด แต่ว่าความเค็มหรือเกลือทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้อย่างไร ยังเป็นสิ่งที่คนทั่วไปยังไม่เห็นภาพและไม่เข้าใจ กินเค็มแล้วยังไง มันเข้าไปทำอะไรในร่างกายของพวกเรา
และเมื่อไม่รู้จึงทำให้ยากที่จะเห็นความสำคัญ ในขณะที่การกินเค็มในแต่ละมื้อนั้น มันก็กำลังเตะหัวใจ เตะสมอง และเตะไตของคุณอยู่ทุกมื้อเสมอมา
ดังนั้นเพื่อให้คุณเห็นภาพชัดเจนกันมากขึ้น หมอจะเล่าให้คุณฟังว่า”เกลือทำให้ความดันพุ่งได้อย่างไร”!
ต้องเกริ่นนำก่อนว่าร่างกายของมนุษย์นั้นมี”น้ำ”ไหลเวียนอยู่มากมาย และนั่นก็รวมถึงน้ำที่อยู่ในรูปของ”เลือด”ที่ไหลเวียนอยู่ในเส้นเลือดทั่วร่างกายของคุณ ซึ่งคุณอาจเข้าใจว่าน้ำส่วนใหญ่ที่อยู่ในร่างกายของคุณนั้นก็คือเลือดเหล่านี้
แต่ในความจริงแล้ว เลือดที่อยู่ในเส้นเลือดทั่วร่างกายเหล่านี้กลับเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น โดยคิดเป็นประมาณ”1 ใน 12”ของน้ำทั้งหมดในร่างกาย แล้วคำถามก็คือ...
“น้ำส่วนใหญ่ไปซ่อนอยู่ที่ไหนล่ะ?”
ความจริงแล้วน้ำส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในเส้นเลือด แต่พวกมันอยู่”ภายนอก”เส้นเลือด อยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ และอยู่ในอวัยวะต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุดเลยก็คือผิวหนังของคุณ ยามใดที่พวกมันมีน้ำไม่เพียงพอ ผิวของคุณก็จะเเห้งผากทันที และเช่นเดียวกัน อวัยวะใดๆที่ไม่มีน้ำก็จะทำให้อวัยวะนั้นเหี่ยวแห้งจนไม่สามารถทำงานได้
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลแล้วที่น้ำในเส้นเลือดนั้นจะเป็นเพียงส่วนน้อยของน้ำทั้งหมด น้ำในเส้นเลือดนั้นมีหน้าที่เพียงแค่ลำเลียงก๊าซและสารอาหารต่างๆเท่านั้น เมื่อมันลำเลียงมาถึงจุดหมายแล้ว สารต่างๆในเส้นเลือดเหล่านี้รวมถึงน้ำก็จะถูกเก็บสะสมไว้ในเนื้อเยื่อและอวัยวะปลายทางแทน
สมดุลน้ำที่อยู่ภายในและภายนอกเส้นเลือดแบบนี้นั้นสำคัญมาก คุณลองจินตนาการดูนะครับ... ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นถ้าน้ำที่อยู่ในเนื้อเยื่อภายนอกเส้นเลือดเหล่านี้ไหลเข้ามาอยู่ในเส้นเลือดเป็นสัดส่วน”6 ใน 12” แทน เหมือนท่อน้ำที่ถูกอัดน้ำเข้าไปมากขึ้น
เหตุการณ์นี้จะทำให้แรงดันในเส้นเลือด”สูงขึ้น”นั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามเหตุกาณ์แบบนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมากๆในร่างกายของมนุษย์ เนื่องจากตามธรรมชาติแล้ว ร่างกายของมนุษย์มีความสามารถในการควบคุมการเข้าออกแลกเปลี่ยนของน้ำที่อยู่ทั้งภายในและภายนอกเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี โดยควบคุมให้พวกมันอยู่ในระดับคงที่และไม่ยอมให้พวกมันไหลเข้าออกได้อย่างตามอำเภอใจ
แต่สิ่งใดล่ะที่คอยควบคุมสมดุลเหล่านี้อยู่?
ธรรมชาติได้มอบหมายหน้าที่นี้ให้กับสารสำคัญกลุ่มหนึ่ง แต่สารที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือ ”โซเดียม” หรือ ”เกลือ” นั่นเอง!
”โซเดียม”หรือ”เกลือ” คือหนึ่งในสารที่เรียกได้ว่าสามารถละลายน้ำได้ดีที่สุดในโลก เรียกได้ว่าน้ำไปที่ไหน เกลือจะขอตามไปด้วย และเกลือไปที่ไหน น้ำก็จะขอตามไปด้วยเช่นกัน
โดยเกลือเหล่านี้จะอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายในทั่วทั้งร่างกาย ทั้งภายในเส้นเลือดและภายนอกเส้นเลือด เนื้อเยื่อหรืออวัยวะใดที่ต้องมีน้ำเป็นองค์ประกอบปริมาณมาก ก็ต้องมีเกลือสะสมอยู่มากเช่นกันเพื่อทำหน้าที่คอยดูดน้ำไว้ให้อยู่กับตนเอง
เหมือนดั่งการเล่นชักกะเย่อระหว่างฝั่งภายในเส้นเลือดและฝั่งภายนอกเส้นเลือด ที่ต่างฝ่ายต่างดึงน้ำเอาไว้ ไม่ยอมให้ไหลเข้าไปในอีกฝ่ายหนึ่ง
โดยตามธรรมชาติแล้ว ร่างกายของมนุษย์ได้จัดสรรเกลือเหล่านี้อยู่ไว้ทั้ง 2 ฝั่งอย่างเท่าเทียมกันเลยทีเดียว เพื่อไม่ให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะแบบขาดลอยในเกมการต่อสู้นี้
แต่อย่างไรก็ตาม สมดุลเกลือเหล่านี้กลับสามารถถูกทำลายได้อย่างง่ายดาย โดยพฤติกรรมการกินอาหารของพวกเรา
คำถามคือ... พวกเราทำลายมันได้อย่างไร?
ต้องบอกว่าคุณสามารถทำลายสมดุลนี้ได้อย่างง่ายดายโดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆมากมาย
เมื่อคุณได้กินอาหารที่มีเกลือสูงเข้าไป เกลือจำนวนมากเหล่านี้ก็จะถูกดูดซึมผ่านลำไส้เข้าไปสมทบกับเหล่าเกลือที่อยู่”ภายใน”เส้นเลือดอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นยิ่งคุณกินเค็มมากเท่าใด ก็ยิ่งมีเกลือเข้าไปสะสมภายในเส้นเลือดมากขึ้นเท่านั้น!
และเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ก็หมายความว่าเกลือที่อยู่”ภายนอก”เส้นเลือดก็จะเสียเปรียบด้วยจำนวนเกลือที่น้อยกว่าทันที ทำให้พวกมันต้องยอมปล่อยให้น้ำถูกดึงไหลเข้าไปในเส้นเลือดแทน
อย่างที่หมอได้เล่าไปในตอนต้นของบทความ เส้นเลือดที่มีน้ำไหลเข้าไปจนเกินความจุ ก็จะทำให้แรงดันภายในเส้นเลือด”สูงขึ้น”
และเหตุการณ์นี้ก็คือกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดโรค”ความดันโลหิตสูง”นั่นเอง
นอกจากนี้ ในบางครั้งน้ำอาจไหลเข้าเส้นเลือดมากเกินไปจนรั่วท้นออกมา ทำให้เวลาที่คุณกินเค็มกันมากเกินไป จึงสามารถทำให้หน้าบวมตัวบวมกันเลยทีเดียว
และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมการกินเค็มจึงทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น...
ทุกๆมื้อที่คุณกินเค็ม ก็เป็นดั่งการเติมเกลือ”ภายใน” เส้นเลือด ให้มีความสามารถในการดูดน้ำมาสะสมมากขึ้นจนเกินความจุของเส้นเลือด เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมื้ออาหารทุกๆมื้อโดยที่คุณเคยไม่รู้ตัว
1
ความดันสูงก็เหมือนแรงดันที่ไปเตะอวัยวะต่างๆอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นถ้าคุณไม่อยากทำร้ายอวัยวะของตัวเองแล้ว ก็อย่าเติมเกลือเข้าเส้นเลือดมากเกินไปล่ะครับ^^
📥Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
📥ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
โฆษณา