Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ประวัติศาสตร์ สถาบันกษัตริย์
•
ติดตาม
3 ธ.ค. 2019 เวลา 08:38 • ประวัติศาสตร์
โศกนาฎกรรมของแกรนด์ดัชเชสมารี-อาเดลาอีด กับบทสรุปของการใช้พระราชอำนาจอย่างเต็มที่ในฐานะกษัตริย์
แกรนด์ดัชเชสมารี-อาเดลาอีดแห่งลักเซมเบิร์ก
"พระมหากษัตริย์ vs รัฐบาล : ลักเซมเบิร์ก"
พอล ไอส์เซน นายกรัฐมนตรี
ลักเซมเบิร์กเดิมเป็นแคว้นเล็กๆที่อยู่ระหว่างขอบเขตอำนาจของประเทศต่างๆ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์ ประเทศเหล่านี้ต่างผลัดเปลี่ยนกันมาปกครองลักเซมเบิร์กทั้งด้วยวิธีสงคราม สินสมรสจากการแต่งงาน และมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ และประเทศที่เข้ามาเป็นผู้ปกครองสุดท้ายของลักเซมเบิร์ก คือ เนเธอร์แลนด์ แต่หลังจากการการสวรรคตของพระเจ้าวิลเลมที่ 3 แห่งเนเธอร์แลนด์ (King Willem III) ในปีค.ศ. 1890 ราชรัฐลักเซมเบิร์กได้แยกตัวออกจากเนเธอร์แลนด์เนื่องจากรัฐธรรมนูญของลักเซมเบิร์กในขณะนั้นไม่เปิดโอกาสให้สตรีเข้ามาเป็นประมุข ซึ่งกษัตริย์พระองค์ใหม่ของเนเธอร์แลนด์ คือ สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินา (Queen Willhelmina) ดังนั้นราชบัลลังก์ลักเซมเบิร์กจึงผ่านมายังราชวงศ์นัสเซา-ไวล์บวร์ก (Nassau-Weilburg) ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายชายที่ใกล้ชิดที่สุดตามพระราชบัญญัติราชมรดกนัสเซา ค.ศ. 1763 (Nassau inheritance pact of 1783) โดยนายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งเป็นพยานในการเปลี่ยนผ่านรัชกาลครั้งนี้คือ พอล ไอส์เซน (Paul Eyschen: เกิด 1841 - ตาย 1915)
พอล ไอส์เซน (Paul Eyschen) เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ค.ศ. 1888 ในช่วงที่ลักเซมเบิร์กยังคงมีประมุขร่วมกับเนเธอร์แลนด์ และสืบต่อมาอีกสองรัชสมัย คือ แกรนด์ดยุกอดอล์ฟ (Grand Duke Adolphe) และแกรนด์ดยุกวิลเลมที่ 4 (Grand Duke Willem IV) ซึ่งนับได้ว่าไอส์เซนเป็นนักการเมืองที่คว่ำหวอดในวงการการเมืองลักเซมเบิร์กมาอย่างยาวนาน ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีจวบจนเขาถึงแก่อสัญกรรม รวมเป็นระยะเวลา 27 ปี ไอส์เซนเป็นผู้นำที่มีบารมีมากและได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่ประชาชน เป็นผู้นำทางการเมืองที่ทถกฝ่ายให้การยอมรับอย่างสูง แกรนด์ดยุกสองพระองค์แรกของราชวงศ์นัสเซา-ไวส์บวร์ก แทบจะไม่เข้ามาแทรกแซงการเมืองของลักเซมเบิร์กเลย และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการบริหารประเทศ จึงทำให้ไอส์เซนเป็นศูนย์รวมของการเมืองลักเซมเบิร์กในขณะนั้น รัฐบาลของไอส์เซนยังมีบทบาทในการสนับสนุนราชวงศ์ไม่ให้เกิดวิกฤตการสืบราชบัลลังก์ในสมัยของแกรนด์ดยุกวิลเลมที่ 4 ที่ทรงมีแต่พระราชธิดา ด้วยการออกพระราชบัญญัติสนับสนุนสิทธิ์ของเจ้าหญิงมารี-อาเดลาอีด (Marie-Adélaïde) พระธิดาองค์โตให้มีสิทธิครองบัลลังก์สืบไป
ภายใต้การปกครองของรัฐบาลไอส์เซนได้ทำให้ลักเซมเบิร์กมีการพัฒนาอย่างมาก ไอส์เซนเป็นผู้นิยมเยอรมัน จึงพึ่งพิงเยอรมนีอย่างมากในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ "การแทรกซึมอย่างสันติ" (peaceful penetration) ของเยอรมัน ได้เป็นคำที่กลายเป็นมิติใหม่ของรัฐบาลไอส์เซน การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในลักเซมเบิร์กให้มีประสิทธิภาพต้องพึ่งพิงทุน แรงงานและทักษะของเยอรมัน ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายของชาวเยอรมันเข้ามาในลักเซมเบิร์กมากขึ้นจนกลายเป็นชาวต่างชาติกลุ่มใหญ่ในประเทศ และการพัฒนาการขนส่ง และเส้นทางรถไฟก็ได้มีการพึ่งพิงเยอรมันอย่างมาก จนทำให้ลักเซมเบิร์กอยู่ภายใต้อิทธิพลของเยอรมันต่อไปอีกครึ่งศตวรรษ ในช่วงนี้มีการเติบโตของชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางใหม่ในลักเซมเบิร์กขึ้นอย่างมาก รวมทั้งข้าราชการที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว รัฐบาลไอส์เซนได้มีการจัดกองทุนและมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพแรงงานและข้าราชการ
ด้านการศึกษาถือเป็นด้านที่มีความสำคัญต่อรัฐบาลมาก โดยในลักเซมเบิร์กแต่เดิม การศึกษาโดยเฉพาะรดับประถมศึกษาถูกควบคุมโดยกลุ่มพระจากคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก อาจารย์ในโรงเรียนจะต้องมีใบรับรองศีลธรรมจากกลุ่มพระก่อนถึงจะได้รับการว่าจ้างได้ และการเรียนการสอนในโรงเรียนยังคงเน้นเรื่องศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นนอกเหนือจากการก่อตั้งโรงเรียนอาชีวะและอุตสาหกรรมแล้ว รัฐบาลไอส์เซนได้ออกพระราชบัญญัติการศึกษา ค.ศ. 1912 ซึ่งได้แยกการศาสนาออกจากการศึกษาอย่างเห็นได้ชัด ครูอาจารย์ไม่ต้องมีใบรับรองศีลธรรม และไม่มีการสอนเกี่ยวกับศาสนาในโรงเรียน ซึ่งกฎหมายนี้ได้เป็นประเด็นของความขัดแย้งในช่วงปลายรัฐบาลของไอส์เซนระหว่าง ฝ่ายซ้าย ที่เป็นกลุ่มสังคมนิยมและเสรีนิยม กับ ฝ่ายขวา ที่เป็นฝ่ายศาสนา
แกรนด์ดัชเชสมารี-อาเดลาอีด (Grand Duchess Marie-Adélaïde; ประสูติ ค.ศ. 1894 - สวรรคต ค.ศ. 1924) ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์หลังการสวรรคตของพระราชบิดาในปีค.ศ. 1912 แกรนด์ดัชเชสวัย 18 พรรษา ทรงเป็นผู้ที่ศรัทธาในพระศาสนาอย่างมาก จึงทำให้ทรงชิงชังนายกรัฐมนตรีไอส์เซนอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นจึงทรงเข้าร่วมกับฝ่ายขวาที่เป็นฝ่ายศาสนาเพื่อต่อต้านรัฐบาลไอส์เซน พระนางทรงมีแนวคิดทางการเมืองที่เป็นอนุรักษ์นิยมอย่างสุดขั้ว ทรงมีความทะเยอทะยานแต่ขาดประสบการณ์และความรู้ทางการเมือง พระนางไม่พอพระทัยที่รัฐบาลไอส์เซนคบคุมการเมืองลักเซมเบิร์กมากว่า 24 ปี พระนางปฏิเสธที่จะลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่นี้ในวันที่ทรงครองราชย์ เนื่องจากพระนางทรงมองว่ากฎหมายนี้เป็นการลดทอนบทบาทของโรมันคาทอลิกที่ทรงศรัทธาอย่างยิ่ง แต่ท้ายที่สุดทรงต้องถูกบีกให้ลงนามในกฎหมายนี้ในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1912
พระนางทรงรับฟังคำแนะนำและคำปรึกษาจากไอส์เซนแต่ก็มักจะทรงต่อต้านตลอด การปฏิเสธกฎหมายการศึกษาได้ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น มีการปะทะกันในลักเซมเบิร์กระหว่างกลุ่มฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา กลุ่มต่อต้านศาสนาได้ใช้ถ้อยคำชักชวนให้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ด้วย ในขณะที่มีความขัดแย้งครั้งนี้ ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในปี 1914 กองทัพเยอรมนีได้คุกคามความเป็นกลางของลักเซมเบิร์ก ในที่สุดเยอรมนีเข้ายึดครองลักเซมเบิร์ก แม้ว่าทั้งไอส์เซนและแกรนด์ดัชเชสจะทรงร่วมมือกันชั่วคราว ย้ำถึงสถานะความเป็นกลางของลักเซมเบิร์ก แต่สิ่งนี้ก็ไม่ช่วยให้กองทัพเยอรมันถอยกลับไปได้ ในปี 1915 ความแตกแยกระหว่างแกรนด์ดัสเชสกับนายกรัฐมนตรีไอส์เซนได้ตึงเครียดขึ้นอีกเมื่อมีการเสนอลดบทบาทของศาสนาในระบบการศึกษายิ่งขึ้น แกรนด์ดัชเชสทรงคัดค้านอย่างรุนแรงและตรัสต่อนายกรัฐมนตรีว่า "ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้มรดกอันล้ำค่ายิ่ง [โรมันคาทอลิก] นี้ถูกขโมยไปขณะที่ข้าพเจ้ายังคงรักษากุญแจนี้อยู่" พระนางทรงปฏิเสธที่จะเคลื่อนไหวใดๆ และมีพระราชปฏิสันถารให้นายกรัฐมนตรีไอส์เซนลาออกจากตำแหน่งถ้าเขาไม่เห็นด้วยตามพระราชเสาวนีย์ เรื่องนี้เป็นแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรไอส์เซนเตรียมการลาออกจากตำแหน่งด้วยความเสียใจ แต่ก็ล้มเลิกแผนนี้ไป
หลังจากเข้าพบแกรนด์ดัชเชส นายกรัฐมนตรีชราเสียใจอย่างมาก ประกอบกับความเครียดที่ต้องบริหารประเทศท่ามกลางสงครามและการยึดครองของเยอรมนีที่เขาเคยไว้ใจและขอความช่วยเหลือมาตลอด อีกทั้งองค์แกรนด์ดัชเชสตรัสให้เขาลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้อาจเป็นเหตุให้พอล ไอส์เซนถึงแก่อสัญกรรม ด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1915 ขณะที่ยังคงทำงานอยู่ในห้องทำงาน มีการเล่าลือกันว่า การที่เขาเสียชีวิตอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดนี้ เกิดเนื่องจากเขาตรอมใจจนเสียชีวิตเอง ไอส์เซนเสียชีวิตด้วยอายุ 74 ปี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 27 ปี ทำให้เป็นรัฐบาลหนึ่งเดียวที่ชาวลักเซมเบิร์กรู้จักกันมาก โดยตลอดปีแรกของการยึดครองโดยทหารเยอรมัน ทำให้เขากลายเป็นศูนย์รวมของชาวลักเซมเบิร์ก และเขาก็ได้รับความสำคัญจากการที่เป็นผู้รักษาสถานะประมุขของแกรนด์ดัสเชสมารี-อาเดลาอีดในช่วงที่เกิดวิกฤต ไอส์เซนได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาลักเซมเบิร์กและเขาจัดการโดยยึดรัฐบาลหลักร่วมกับฝ่ายการเมืองใหญ่ ๆ โดยปรากฏความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวไว้
การอสัญกรรมของเขาทำให้ระบบการเมืองของลักเซมเบิร์กสั่นคลอน และนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง ความไม่มั่นคงในระบบการเมือง ที่ถูกแทรกแซงโดยแกรนด์ดัชเชสมารี-อาเดลาอีด จนเกิดวิกฤตสถาบันกษัตริย์ หลังสงครามสิ้นสุด
พิธีศพของนายกรัฐมนตรีไอส์เซน
"ลักเซมเบิร์กในสงครามโลกครั้งที่ 1"
แกรนด์ดัชเชสมารี-อาเดลาอีด
หลังการอสัญกรรมของไอส์เซน แกรนด์ดัชเชสมารี-อาเดลาอีดทรงใช้พระราชอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาล มัทธีอัส มองเกนาสท์ (Mathias Mongenast) ได้รับการแต่งตั้งจากพระนาง โดยรัฐบาลของมองเกนาสท์นี้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภา ซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่เพียง "รัฐบาลรักษาการ" เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลของมองเกนาสท์ต้องลาออกเนื่องจากขัดแย้งกับพระนางในเรื่องการดำรงตำแหน่งอธิการบดีวิทยาลัยครู ซึ่งมองเกนาสท์เป็นหนึ่งในผู้สมัคร แต่แกรนด์ดัชเชสทรงปฏิเสธเขา เขาจึงไม่พอใจและลาออก
นายกรัฐมนตรี มัทธีอัส มองเกนาสท์
จะสังเกตเห็นได้ว่าในช่วงที่ลักเซมเบิร์กตกอยู่ในการยึดครองนี้ สถานการณ์ทางการเมืองของลักเซมเบิร์กยังคงวุ่นวาย แกรนด์ดัชเชสมารี-อาเดลาอีดทรงทำให้พระองค์เองไม่เป็นที่ชื่นชอบในหมู่ประชาชนมากขึ้น จากเหตุการณ์หนึ่งคือ เนื่องจากทรงเป็นผู้นิยมเยอรมัน พระนางทรงมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับผู้ยึดครอง พระนางทรงเชิญจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี (Wilhelm II, German Emperor) ให้เสด็จเยือนลักเซมเบิร์ก และทรงอนุญาตให้กองทัพเยอรมันมาตั้งฐานทัพในลักเซมเบิร์กได้ ทัศนคตินี้ของพระนางทำให้ไม่ทรงเป็นที่ชื่ชอบอย่างยิ่งในหมู่ชาวลักเซมเบิร์ก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงปฏิเสธที่จะไล่คณะผู้ติดตามชาวเยอรมันออกไป
หลังรัฐบาลของมองเกนาสท์ล่มลง ซึ่งพระนางทรงได้ชัยชนะในการต่อสู้ครั้งนี้ แกรนด์ดัชเชสทรงมีพระราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐบาลที่มาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งหมด ฮูเบิร์ต ลูทช์ (Hubert Loutsch) ขึ้่นเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐสภาได้มีการต่อต้านอย่างมาก พรรคฝ่ายขวาของลูทซ์จึงได้ที่นั่งจำนวนน้อย และอีกฝ่ายได้มากกว่า แกรนด์ดัชเชสมารี-อาเดลาอีดจึงทรงยุติความชะงักงันนี้ด้วยการใช้พระราชอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร ทรงมอบอำนาจแก่ฝ่ายอนุรักษนิยม ครั้งนี้เป็นการกระทำที่รุนแรงแก่ฝ่ายซ้าย ซึ่งถือว่าฝ่ายขวาครองเสียงข้างมากในรัฐสภาแต่เพียงผู้เดียว พระนางให้มีการเลือกตั้งใหม่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1916 เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ถูกขนานนามว่าเป็นการ "รัฐประหารอำนาจของพวกฝ่ายซ้ายโดยแกรนด์ดัชเชส" ต่อมาผลการเลือกตั้งแม้ว่าที่นั่งของพรรคฝ่ายขวาจะเพิ่มขึ้น แต่ยังแพ้คะแนนนิยมอีกฝ่าย ในวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1916 รัฐสภามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจและนายกรัฐมนตรีลูทช์ถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง
หลังความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐบาลอนุรักษนิยมหลายคณะ แกรนด์ดัสเชสมารี-อาเดลาอีดทรงเปลี่ยนพระทัยโปรดเกล้าฯ ให้นักการเมืองแนวคิดเสรีนิยม วิกเตอร์ ทอร์น (Victor Thorn) จัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1916 รัฐบาลนี้เป็นการรวมเอาทุกฝ่ายเข้าร่วมกันจัดตั้ง "รัฐบาลผสม" ซึ่งประกอบทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยม เสรีนิยมและสังคมนิยม รัฐบาลนี้ได้ประสบปัญหาจากแรงกดดันในเรื่องเสบียงอาหารที่ต้องจุนเจือชาวลักเซมเบิร์กในยามสงคราม ราคาสินค้าแพงขึ้น โดยเยอรมนีให้ความช่วยเหลือเพียงน้อยนิด ในช่วงความยุ่งยากของประเทศนี้ แกรนด์ดัชเชสมารี-อาเดลาอีดทรงอุทิศพระองค์ในพระราชกรณียกิจด้านกาชาดในลักเซมเบิร์กและทรงดำเนินพระราชกรณียกิจด้านการพยาบาลแก่ทหารที่ออกรบในแนวหน้า แต่ทางด้านการเมือง ทรงมีความสนพระทัยตลอดสงครามอย่างไม่ลดน้อยลงเลย
ประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง กองทัพเยอรมันจึงเข้าปราบปราม แนนำผู้ชุมนุมถูกจับ การที่รัฐบาลไม่สามารถหยุดทั้งกองทัพเยอรมันและประชาชนได้ นายกรัฐมนตรีทอร์นจึงลาออกจากตำแหน่ง รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเลออน คลัฟแมนน์ (Léon Kauffmann) ในปีค.ศ. 1917 ได้ก้าวเข้ามาเพื่อแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อเอาใจประชาชนในเรื่องการเลือกตั้งโดยเปลี่ยนการเลือกตั้งมาเป็นระบบสัดส่วน ซึ่งได้รับความนิยมในวงกว้าง รัฐสภาซึ่งมีแนวคิดสาธารณรัฐพยายามให้รัฐบาลแก้ไขบทบัญญัติเรื่อง "อำนาจอธิปไตยทั้งปวงเป็นขององค์แกรนด์ดัชเชส" แต่รัฐบาลไม่ทำตามจึงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น แกรนด์ดัชเชสยังคงสามยสัมพันธ์กับพระญาติชาวเยอรมันและนายกรัฐมนตรีคลัฟแมนน์ยังคงประนีประนอมกับเยอรมนีจึงทำให้เสียความนิยมในหมู่ประชาชนจึงต้องลาออกจากตำแหน่ง
ชาวลักเซมเบิร์กออกมาเฉลิมฉลองการปลดปล่อยลักเซมเบิร์กและต้อนรับการเข้ามาของฝ่ายสัมพันธมิตรหลังจากการสงบศึกกับเยอรมัน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918
ในปีค.ศ. 1918 เกิดการโต้กลับของฝ่ายสัมพันธมิตร ทหารเยอรมันถอนทัพออกจากลักเซมเบิร์กเพื่อไปตั้งมั่นในประเทศ ต่อมาเยอรมนีได้ลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกที่จะนำมาสู่การสิ้นสุดสงคราม 4 ปี มีข้อตกลงของการสงบศึกรวมถึงการถอนทหารเยอรมันออกจากลักเซมเบิร์ก กับประเทศอื่นที่ถูกยึดครอง หลังจากกองทัพเยอรมันถอนไปแล้วได้เกิด "วิกฤตสถาบันพระมหากษัตริย์" ขึ้นรัฐบาลลักเซมเบิร์กต้องประสบปัญหาการก่อความไม่สงบของกลุ่มคอมมิวนิสต์ เกิดการก่อกบฏในสถานที่ต่างๆทั่วประเทศ นักสังคมนิยมได้ทำการโจมตีพฤติกรรมของแกรนด์ดัชเชสมารี-อาเดลาอีด ผู้ซึ่งทรงเข้าแทรกแซงและขัดขวางอดีตนายกรัฐมนตรีไอส์เซนอยู่เสมอ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 นักการเมืองสายสังคมนิยมและเสรีนิยมได้พบสาเหตุของปัญหาเก่าที่เรื้อรังมานาน พวกเขาได้กราบบังคมทูลขอให้แกรนด์ดัชเชสทรงสละราชสมบัติ รัฐสภาได้มีญัตติ "ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ลักเซมเบิร์ก" แต่ได้พ่ายแพ้ด้วยคะแนนเสียง 21 ต่อ 19 เสียง(งดออกเสียง 3 เสียง) อย่างไรก็ตามทางรัฐสภาได้ทำการให้รัฐบาลจัดทำการออกเสียงประชามติในประเด็นนี้
ตราบใดที่พระนางมารี-อาเดลาอีดยังทรงดำรงเป็นแกรนด์ดัชเชส ฝ่ายเสรีนิยมจึงเป็นพัมธมิตรกับฝ่ายสังคมนิยมเพื่อต่อต้านพระนาง รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะช่วยเหลือ โดยมีการกล่าวตอบคณะผู้แทนลักเซมเบิร์กว่า "รัฐบาลฝรั่งเศสเราไม่ประสงค์พิจารณาที่จะเจรจาต่อรองกับรัฐบาลขององค์แกรนด์ดัชเชสแห่งลักเซมเบิร์ก ผู้ซึ่งเราได้พิจารณาแล้วว่าแกรนด์ดัชเชสทรงเป็นผู้ร่วมมือในฐานะ"ผู้ทำการประนีประนอมกับศัตรูของฝรั่งเศสขั้นร้ายแรง" " แรงกดดันจำนวนมากเกิดจากสิ่งเหล่านี้ ในวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1919 กองร้อยทหารหนึ่งของกองทัพลักเซมเบิร์กได้ก่อกบฏขึ้น โดยได้ประกาศว่าเป็นกองทัพแห่งสาธารณรัฐใหม่
แกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อต
กระแสความไม่จงรักภักดีได้สร้างการต่อต้านมากเกินไปสำหรับแกรนด์ดัชเชสมารี-อาเดลาอีด เสียงของรัฐสภาได้เรียกร้องให้พระนางสละราชบัลลังก์ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา ในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1919 แก่พระขนิษฐา เจ้าหญิงชาร์ล็อต (Princess Charlotte) เมื่อการลงคะแนนเสียงประชามติซึ่งกำหนดอนาคตของราชรัฐผลคือคะแนนเสียงจากประชาชนถึง 77.8% ต้องการให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ราชวงศ์นัสเซา-ไวล์บูร์กต่อไป โดยประมุของค์ใหม่คือ แกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อต ในขณะที่ประชาชนผู้ลงคะแนนให้เปลี่ยนเป็น "สาธารณรัฐ" กลับได้คะแนนไปเพียง 19.7% ซึ่งผิดจากความคาดหมายมาก
หลังจากแกรนด์ดัชเชสมารี-อาเดลาอีดสละราชบัลลังก์ พระนางได้เสด็จลี้ภัยออกจากประเทศ ไปประทับที่เยอรมนี ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตในวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1924 สิริพระชนมายุ 29 พรรษา โดยทรงได้กลับมาลักเซมเบิร์กเพียงพระบรมศพซึ่งถูกฝังในมหาวิหารน็อทร์-ดาม ลักเซมเบิร์ก ปิดฉากพระประมุขที่ไม่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ลักเซมเบิร์ก
พระบรมศพอดีตแกรนด์ดัชเชสมารี-อาเดลาอีดแห่งลักเซมเบิร์ก ในปีค.ศ. 1924
อ้างอิง
-
https://en.wikipedia.org/…/German_occupation_of_Luxembourg_…
-
https://en.wikipedia.org/…/Marie-Ad%C3%A9la%C3%AFde,_Grand_…
-
https://en.wikipedia.org/wiki/Eyschen_Ministry
-
https://en.wikipedia.org/wiki/German_occupation_of_Luxembourg_during_World_War_I
-
https://en.wikipedia.org/wiki/Marie-Adélaïde,_Grand_Duchess_of_Luxembourg
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย