4 ธ.ค. 2019 เวลา 02:28 • ประวัติศาสตร์
กว่าจะเป็น PlayStation
ภาพจำในวัยเด็กของท่านผู้อ่านหน้าตาเป็นอย่างไรครับ?
สำหรับผมซึ่งเป็นเด็กเกิดในยุค 90 ก็คงหนีไม่พ้น แมนยูได้ทริปเปิ้ลแชมป์ปี 1999, นิตยสารต่วยตูนพิเศษ, รายการช่อง 9 การ์ตูนตอนเช้าวันเสาร์-อาทิตย์
และเครื่องเพลย์
ทุกเย็นหลังเลิกเรียนผมกับเพื่อนจะรีบวิ่งไปที่ร้านเกมเพื่อจะได้นั่งเล่นวินนิ่ง (เกมฟุตบอล) กันสัก 1-2 ชั่วโมงก่อนกลับบ้าน จนกลายเป็นหัวข้อที่พูดคุยกันอย่างสนุกสนานเวลาเจอเพื่อนเก่าตามงานแต่ง
เพราะเป็นความทรงจำที่ดีในวัยเด็ก ผมก็เลยอยากเขียนเกี่ยวกับเจ้าเครื่องสี่เหลี่ยมสีเทานี้สักครั้งหนึ่ง
จากการศึกษาผมพบว่า กว่าจะกลายมาเป็นเครื่องเล่นเกมอันดับ 1 ของโลกในปัจจุบัน PlayStation ผ่านการต่อสู้ทางความคิด เชือดเฉือนกันทางธุรกิจ และชิงไหวชิงพริบมาอย่างเข้มข้น
ย่อยประวัติขอเสนอ "กว่าจะเป็น PlayStation" ครับ!
.
.
.
ปีค.ศ. 1988
ในยุคสมัยที่โลกแห่งเกมถูกครอบครองโดยสองบริษัทยักษ์ใหญ่คือ Nintendo ผู้ผลิตเครื่อง Famicom และ Sega ผูสร้างเครื่อง Mega Drive
ตลาดเกมในตอนนั้นเป็นยุคบุกเบิก ผู้คนเริ่มตื่นตัวกับการมาถึงของวิดีโอเกมซึ่งเป็นผลจากความสำเร็จของเครื่อง Family ทำให้ทั้งสองค่ายผู้นำฟาดฟันกันอย่างหนัก
สาดโคลนใส่กันทางหน้าจอทีวี, การวางสถานะเครื่องเกมตนให้เหนือกว่าคู่แข่ง, สอดแนมล้วงความลับของเครื่องรุ่นใหม่โดยการให้ข้อมูลจากคนใน หรือกระทั่งการซื้อตัวขุนพลของอีกฝ่ายมาอยู่บริษัทตัวเองก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ
นักหนังสือพิมพ์เรียกดราม่าเดือดระหว่าง Nintendo และ Sega ว่า "Console Wars"
และในขณะที่ไฟสงครามกำลังระอุอยู่นี้เอง
ชื่อของ "เคน คุตารากิ" ก็ปรากฎบนสารบบ
.
เกิดเมื่อปี 1950 ในครอบครัวชนชั้นกลางของญี่ปุ่น เคน คุตารากิ จัดเป็นเด็กหัวดีคนหนึ่ง
ในวัยเด็ก พ่อและแม่จะคอยกระตุ้นเขาให้มีความอยากรู้อยากเห็นอยู่เสมอ เช่นเวลาได้รับของเล่น แทนที่คุตารากิจะเอามาเล่นเหมือนเด็กทั่วไป เขากลับนำมาผ่าเพื่อศึกษาส่วนประกอบและกลไกข้างใน
ด้วยหลงรักในวงจรอีเลคโทรนิกส์อย่างหัวปักหัวปำ คุตารากิจึงเลือกเรียนต่อในคณะวิศวกรรมไฟฟ้าที่ University of Electro-Communications สำเร็จการศึกษา ในปี 1974 ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และเริ่มต้นชีวิตการทำงานทันทีกับบริษัท Sony ยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะนั้น
การตัดสินใจเข้า Sony ตั้งแต่ที่แรกนับว่าบ้าบิ่นไม่น้อยในสายตาคนทั่วไป เพราะรู้กันในหมู่นักศึกษาจบใหม่ว่า เป็นบริษัทที่ทำงานหนัก แรงกดดันสูง
แต่นั่นไม่เคยทำให้คุตารากิหวั่นใจ เขามองเห็นแต่ด้านดี คือการได้ขลุกอยู่กับวงจรไฟฟ้าทั้งวัน และยังเป็นเหมือนทางด่วนให้เขาไต่ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารได้ในเวลาอันสั้น
คุตารากิมุ่งมั่นตั้งใจทำงานทุกโปรเจคต์ที่ได้รับมอบหมาย โดยมีจุดเด่นคือความสามารถในการแก้ปัญหายากๆและเป็นวิศวกรหัวก้าวหน้า เขาทำนายเทรนด์ของตลาดได้ถูกหลายครั้งจนเริ่มมีชื่อเสียงในวงการ
กระทั่งปี 1988 คุตารากิในวัย 37 ปี นั่งมองลูกสาวเล่นเกมจากเครื่อง Famicom ที่เป็นผลงานของบริษัทนินเทนโด้ พลางคิด
"ตอนนี้ Sony เราเป็นเจ้าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำไมเราถึงไม่มีเครื่องเล่นเกมแบบบริษัทอื่นเขามั่งนะ?"
คุตารากิมองเห็นศักยภาพของธุรกิจเกมมาสักพักแล้ว แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากเพราะบอร์ดบริหารของ Sony ในเวลานั้น เน้นทำกำไรจากทีวี เครื่องซักผ้า และเครื่องเล่นซีดีอย่าง Sony Walkman เป็นหลัก
วันหนึ่ง คุตารากิไปทานอาหารเย็นกับเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยซึ่งทำงานอยู่บริษัท Nintendo เป็นปกติของชาวญี่ปุ่นที่จะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องงาน เพื่อนบอกคุตารากิว่า ตอนนี้ Nintendo กำลังสร้างเครื่องรุ่นใหม่ต่อจาก Famicom โดยจะพัฒนาจาก 8 bit เป็น 16 bit
เพื่อนเก่าของเขายังบอกต่อไปอีกว่า Nintendo กำลังต้องการบริษัทที่สามารถผลิตชิปเสียง ให้กับเครื่อง 16 bit ตัวใหม่ที่ชื่อว่า Super Famicom และมันก็เพียงพอให้คุตารากิตอบรับงานนี้ในนามบริษัท Sony ทันที
โดยไม่ถามความเห็นบอร์ด...
.
คุตารากิพัฒนาชิปเสียงชื่อ SPC700 ให้ Nintendo อย่างลับๆ จนใกล้จะสมบูรณ์ก็ถูกจับได้โดยบอร์ดบริหารคนหนึ่งที่บังเอิญไปเห็นแฟ้มข้อมูล
ถือเป็นความผิดร้ายแรงและทำให้บอร์ดบริหาร Sony โกรธมาก แต่เคราะห์ดีที่นายใหญ่ของ Sony ขณะนั้น โนริโอะ โอกะ เล็งเห็นข้อดีในโปรเจคต์นี้อยู่บ้าง จึงให้โอกาสคุตารากิพัฒนาจนเสร็จ
ภายใต้สภาพแวดล้อมในบริษัทที่ตอนนี้ดูไม่เป็นมิตรนัก คุตารากิต้องถกเถียงกับบอร์ดบริหารหัวเก่าไม่เว้นแต่ละวัน คนส่วนใหญ่คิดว่าเกมเป็นแค่กระแสที่มาแล้วก็ไป ต่างจากอุตสาหกรรมดนตรี ทีวี อันเป็นรายได้หลักค้ำจุนบริษัท
ในช่วงนี้เอง คุตารากิคุยกับท่านประธานโอกะมากขึ้น โดยเขาพยายามชี้ให้เห็นถึงพลังแฝงของเกม ซึ่งประธานโอกะก็ดูจะเห็นด้วย ทั้งสองจึงเริ่มคุยถึงความเป็นไปได้ในการผลิตโปรดักต์เพิ่มอีกชิ้นชื่อ SuperDisc
SuperDisc คือพาร์ทเสริมที่ใช้เสียบด้านบนตัวเครื่อง Super Famicom เพื่อให้สามารถเล่น CD ได้ นับเป็นงานท้าทายไม่น้อย เพราะสมัยนั้นมีแต่เกมตลับและแผ่นดิสก์สี่เหลี่ยม เรียกว่าแหวกกฎกันไปไกล
แต่ด้วยความอุตสาหะทำงานเป็นเวลานาน SuperDisc ก็เสร็จสมบูรณ์ รอเพียงการจัดงานแถลงข่าวความร่วมมือของทั้งสองบริษัทเท่านั้น ผู้คนฝั่ง Sony ที่เคยไม่เห็นด้วยกับคุตารากิ ตอนนี้เต็มไปด้วยความหวัง
.
เดือนมิถุนายน ปีค.ศ. 1991
ในงานเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับประเทศของญี่ปุ่นชื่อ Consumer Electronics Show (CES)
ในที่สุด Sony ก็จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือของตนกับบริษัท Nintendo โดยนำ SuperDisc ที่เป็นส่วนต่อพวงของเครื่อง Super Famicom มาโชว์ให้สื่อมวลชนดู
"สิ่งนี้จะพาเราไปสู่โลกของเกมยุคใหม่อย่างเต็มตัว โดยเทคโนโลยี CD-i จะทำให้เกมบันทึกข้อมูลได้มากขึ้น และคอมพิวเตอร์กราฟฟิกดีกว่าเดิมด้วย" Sony กล่าว
นับเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการที่สื่อทุกสำนักต้องยกเป็นข่าวพาดหัว แต่ขึ้นชื่อว่าธุรกิจ มันย่อมมาพร้อมความผิดหวัง เมื่อบอร์ดบริหาร Nintendo ประกาศหลังงานของ Sony เพียงหนึ่งวันว่า
"เรา Nintendo ขอประกาศยกเลิกความร่วมมือกับ Sony ทั้งหมด โดยเราได้เลือก Philips เป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจของเราสำหรับการพัฒนาเครื่องเกม 16 bit รุ่นใหม่ ซึ่งใช้เทคโนโลยีเดียวกัน คือ CD-i"
เมื่อวานว่าข่าวใหญ่แล้ว วันนี้ยิ่งกว่า นี่คือดราม่าที่ดุเดือดที่สุดในวงการเกมโลกขณะนั้น สำนักข่าวเร่งเช็คข่าวกันให้วุ่น โทรศัพท์ในออฟฟิศทั้งสองบริษัทดังระงม
Nintendo หักหน้า Sony ครั้งใหญ่ สร้างความไม่พอใจให้กับ Sony เป็นอย่างมาก แน่นอน บอร์ดบริหารรุมก่นด่าคุตารากิอย่างไม่เหลือชิ้นดี
"ใช้อะไรคิด ไปไว้ใจคู่แข่งอย่าง Nintendo"
"คุณน่ะเชื่อคนง่าย สร้างความเสียหายให้บริษัท"
จากสูงสุด ดิ่งสู่พื้นราวนกปีกหัก ไม่มีใครคาดคิดว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้น
คุตารากิกลับมาบ้านทั้งน้ำตา และใช้เวลาหลายวันโทษตัวเองกับสิ่งที่ทำไป แต่ลึกๆในใจเขาก็ยังเชื่อถึงศักยภาพของ SuperDisc ที่ผลิตขึ้นมาจนเสร็จ
ท่านประธานโอกะดูจะเป็นคนเดียวในบริษัทที่ยังเชื่อมั่นในตัวคุตารากิ เขาต่อสายไปที่บ้านคุตารากิ และกล่าวประโยคอันทรงพลังว่า
"พรุ่งนี้กลับมาทำงาน หน้าที่นายคือทำอย่างไรก็ได้ให้เครื่องเกมของเราเหนือว่า Nintendo!"
.
คุตารากิกลับมาทำงานในฐานะผู้ล้มเหลว แต่กลับมีพลังใจในการทำงานมากขึ้นเป็นทวีคูณ เขาต้องการพิสูจน์ให้โลกเห็นถึงพลังของ SuperDisc
ทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ, ไม่สนคำครหา, ข้าวปลาไม่กิน, ไม่กลับบ้านเป็นเวลาหลายๆวัน ด้วยเหตุผลที่ว่า
"เพราะงานมันช่างน่าสนใจเหลือเกิน"
1
ยิ่งเขาพัฒนาเครื่อง SuperDisc ไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ และได้รับการสนับสนุนจากบอร์ดบริหารมากขึ้น
แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นการวัดความอดทนของคนและเครื่องจักร วัดความแข็งแกร่งทางจิตใจของคุตารากิและท่านประธานโอกะ
ปีแล้วปีเล่า เครื่อง SuperDisc ก็ยังคงอยู่ในช่วงพัฒนา Sony ไม่ได้เงินจากมันสักแดงเดียว มีแต่จะเสียเงินให้ทีมคุตารากิหลายล้านเยน
.
ปี 1993
หลังจากง่วนอยู่กับเครื่อง SuperDisc มาได้สองปี คุตารากิก็ได้รับคำสั่งจากท่านประธานโอกะให้ตั้งบริษัทลูกของ Sony ขึ้นมาชื่อว่า Sony Computer Entertainment Inc (SCEI) ร่วมกับสองผู้บริหารจาก Sony Music ชิเงโอะ มุรายามะ และ อากิระ ซาโตะ
SCEI แรกเริ่มมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยของ Sony Music ดูแลธุรกิจเพลงในด้านดิจิตอล ทำแผ่น CD เพลงให้ศิลปิน และทำการตลาด
ปลายปี 1993 SCEI ของคุตารากิได้รับมอบหมายโปรเจคต์แรกอย่างเป็นทางการ นั่นคือการนำ SuperDisc เครื่องเกมที่พัฒนามาหลายปีออกวางจำหน่ายให้ได้ภายในหนึ่งปี พร้อมเปลี่ยนชื่อมันใหม่เป็น
"PlayStation"
นี่คือโอกาสสุดท้ายของคุตารากิในการพิสูจน์ตัวเองกับแนวคิดเรื่องเครื่องเกม เพราะถ้าคราวนี้ล้มเหลว SCEI จะเป็นได้เพียงบริษัทผู้ช่วย Sony Music และคุตารากิจะต้องใช้ชีวิตที่เหลือหมดไปกับการไรต์ซีดีเพลง เขาต้องแบกรับแรงกดดันมหาศาล
.
ปี 1994
นิตยสารเกมชื่อดังจากสหรัฐ Computer Gaming World ออกคอลัมน์ซุบซิบว่า Sony เตรียมจะปล่อยเครื่องเกมไม่ทราบชื่อก่อนสิ้นปีนี้ โดยมีสนนราคาอยู่ที่ 400 เหรียญสหรัฐ
ข่าวนี้สอดคล้องกับ Sony ที่จัดการสาธิตอย่างลับๆในโรงแรมแห่งหนึ่ง ณ กรุงโตเกียว โดยเชิญเพียงสื่อที่ใกล้ชิดไม่กี่เจ้า และเน้นย้ำว่าห้ามเปิดเผยข้อมูลในการสาธิตโดยเด็ดขาด
แต่สิ่งที่สื่อเห็นมันคือโลกใหม่ของเครื่องเกม ทุกอย่างถูกเปลี่ยนจาก 2D ภาพสองมิติ มาเป็น 3D ภาพสามมิติ ด้วยเทคโนโลยี CD-i ที่พัฒนามายาวนานโดยคุตารากิ สร้างความตกตะลึงให้นักข่าวเป็นอย่างมาก จนกระทั่งผลการสาธิตรั่วไหลออกไปทั่วโลก
ตอนนี้ถนนทุกสายมุ่งสู่ Sony นักข่าวติดต่อมามากมายจนผู้บริหารขึ้นรถหนีกันแทบไม่ทัน และยังมีบริษัทผู้ผลิตเกมโทรเข้ามาไม่ขาดสาย หลังจากการพิจารณา Sony จึงได้เลือกไว้สองเจ้า เพื่อทำงานร่วมกันคือ Electronics Art (EA) จากสหรัฐอเมริกา และ Namco จากญี่ปุ่น
ในที่สุด เครื่อง PlayStation ก็วางขายทั่วโลกในวันที่ 3 ธันวาคม 1994 ก่อนถึงช่วงเทศกาลคริสต์มาส
PlayStation กลายเป็นเทรนด์ใหม่ทันที และเป็นของขวัญที่ถูกเฝ้ารอมากที่สุด เรามักจะเห็นภาพวิดีโอวินาทีที่เด็กๆแกะห่อของขวัญออกมาเป็นเครื่องเล่นเกมสีเทาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเจ้าหนูหลายคนก็กรี้ดลั่นบ้านเลยทีเดียว
ช็อคที่สุดดูจะเป็น Nintendo และ Sega ยอดการสั่งซื้อเครื่องเกม Super Famicom และ Sega Saturn ชะลอตัวลงชัดเจน แยกเป็นสาเหตุได้ประมาณนี้
1. PlayStation ราคาถูกกว่า
2. PlayStation เป็นเครื่องเกมสามมิติ 3D ในขณะที่คู่แข่งยังเป็น 2D
3. ผู้พัฒนาเกมชอบ เพราะการทำเกมลงเครื่อง PlayStation ใช้เพียงแผ่น CD ซึ่งต้นทุนต่ำ ต่างจากคู่แข่งที่ยังเป็นแบบตลับเกมต้นทุนสูง ทำให้เครื่อง PS มีเกมให้เล่นเยอะกว่า
นับเป็นฟ้าหลังฝนของบริษัท Sony
ท่านประธานโนริโอะ โอกะ
และผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่ง PlayStation
เคน คุตารากิ
.
.
ภายในระยะเวลา 10 ปี 1993-2003 PlayStation 1 ขายไปทั้งหมด 102 ล้านเครื่อง
เฉพาะในอเมริกา ข้อมูลทางสถิติชี้ว่า ในทุกๆบ้านสี่หลังจะมีเครื่อง PlayStation 1 เครื่อง
บริษัทลูก SCEI ของคุตารากิกลายเป็นแผนกที่ทำเงินให้ Sony สูงที่สุดตลอดกาล
จากเศษเหล็กที่มีแต่คนเบือนหน้าหนีชื่อ SuperDisc
จากแนวความคิด ที่แม้แต่คนในบริษัทยังไม่เอา
กลายมาเป็นกล่องผลิตความสุข ซึ่งสร้างความทรงจำสนุกสนานให้เด็กๆ ตลอดเวลา 25 ปี
ทุกอย่างนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดพวกเขา
เคน คุตารากิ ผู้เชื่อในสิ่งที่ตัวเองรักอย่างหมดใจ ไม่ย่อท้อ และไม่ปล่อยให้กระแสสังคมมาตีกรอบความคิดสร้างสรรค์
ท่านประธานโนริโอะ โอกะ ที่บ้าพอจะให้โอกาสลูกน้องและนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยความมั่นใจในสัญชาติญาณตัวเอง
และพนักงาน Sony ทุกคน ที่ถึงแม้จะเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก แต่ก็ยังรวมพลังรังสรรค์ผลงานชิ้นอมตะออกมาจนได้
.
หลังจากบทความนี้ ความรู้สึกของผมเวลามองเจ้ากล่องสี่เหลี่ยมคงเปลี่ยนไป
.
PlayStation
นายแม่ง...
พังค์ว่ะ!
.
.
.
เกร็ดเล็ก: ท่านผู้อ่านเคยสงสัยไหมครับ ว่าเครื่องหมายบนปุ่ม PlayStation ทั้ง 4 หมายความว่าอะไร
Δ ใช้แทนความหมายมุมมองหรือ View ซึ่งก็คือตัว V กลับหัว
□ แทนกระดาษ สื่อถึงหน้าเมนู
O และ x แทนความหมาย Yes หรีอ No
เกร็ดน้อย: วันนี้ 3 ธันวาคม 2019 เป็นวันเกิดครบรอบ 25 ปีของ PlayStation ครับ
Happy Birthday. It's the best time to play PS4!
- Xyclopz
โฆษณา