5 ธ.ค. 2019 เวลา 08:20 • ประวัติศาสตร์
รากศัพท์ของคำว่า บิดา กับ father เกี่ยวกันอย่างไร?
ไหนๆวันนี้ก็เป็นวันพ่อ แล้วก็เป็นปีแรกที่ผมได้เป็นพ่อ เลยเขียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคำที่แปลว่าเสียหน่อย
เคยสงสัยกันไหมครับว่า คำว่า บิดา เกี่ยวข้องกับคำว่า father ในภาษาอังกฤษอย่างไร?
คำตอบสั้นๆคือ สองคำนี้มีรากศัพท์ร่วมกันมา
สำหรับคำอธิบายแบบยาวหน่อย ว่า คำสองคำนี้มีรากศัพท์ร่วมกันได้อย่างไรนั้น มันมีเรื่องราวดังต่อไปนี้ครับ
(เนื้อหาเรียบเรียงขึ้นมาใหม่จากหนังสือ 2 เล่ม ทำไมเราเลี้ยง pig แต่กิน pork และ ทำไมแฮมเบอร์เกอร์จึงไม่มีแฮมนะครับ)
1. ทำไมภาษาสันสกฤตและภาษาละตินจึงคล้ายกันมาก
มนุษย์เริ่มสังเกตมานานเป็นพัน ๆ ปีแล้วว่าคำศัพท์ในภาษาต่าง ๆ หลายคำที่ความหมายเหมือนกันมีการออกเสียงที่คล้ายกัน แรกทีเดียวเป็นการสังเกตระหว่างภาษาของชนชาติ กลุ่มคนหรือประเทศที่ใกล้เคียงกัน เช่น ระหว่างกรีกและโรมัน ระหว่างภาษาต่าง ๆ ในยุโรป
แต่ต่อมาเมื่อประเทศในยุโรปเริ่มเดินเรือออกไปล่าอาณานิคมหรือติดต่อค้าขายกับประเทศที่ห่างไกลออกไป ก็พบว่าไม่เพียงแต่ภาษาในยุโรปเท่านั้นที่มีความคล้ายกัน แต่ยังพบได้ในภาษาอื่น ๆ อีกด้วย
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 17 ก็มีชายชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ วิลเลียม โจนส์ (William Jones) ค้นพบว่าภาษาโบราณต่าง ๆ อย่าง ละติน กรีก สันสกฤตแบบพระเวท (Vedic Sanskrit) และภาษาเปอร์เซียโบราณ มีคำศัพท์และไวยากรณ์ที่คล้ายกันในระดับที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ
8
เซอร์ วิลเลี่ยม โจนส์
ในยุคนั้นอินเดียยังเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษอยู่
เซอร์ วิลเลียม โจนส์ถูกส่งไปอินเดียเพื่อรับตำแหน่งผู้พิพากษา แต่ก่อนที่เขาจะมาเรียนด้านกฎหมาย สมัยเป็นวัยรุ่นเขาชอบเรียนภาษามาก
นอกจากภาษาอังกฤษแล้วเขายังมีความรู้ในภาษากรีก ละติน ฝรั่งเศส เปอร์เซีย อารบิก ฮิบรู และภาษาจีนนิดหน่อย ต่อมาเมื่อเขาโตเป็นหนุ่มใหญ่ก็ตัดสินใจไปเรียนกฎหมาย และด้วยความรู้ด้านกฎหมายนี้เองที่พาให้เขาได้มาทำงานอยู่ที่ประเทศอินเดีย
ในยุคนั้นชาวอังกฤษจำนวนไม่น้อยที่ดูถูกวัฒนธรรมอินเดียว่าป่าเถื่อน ไม่เจริญเท่าวัฒนธรรมของยุโรป แต่เซอร์วิลเลี่ยม โจนส์ ไม่ได้คิดเช่นนั้น
เมื่อมาถึงอินเดียเขาจึงสนใจศึกษาภาษาและวัฒนธรรมอินเดียด้วยความตื่นเต้น และไม่ได้ศึกษาแค่ผิวเผินแต่ลงลึกไปถึงรากที่มาของภาษาฮินดี (Hindi) ซึ่งก็คือภาษาบาลีและสันสกฤต
2
และเมื่อศึกษาภาษาสันสกฤตเขาก็ได้พบกับสิ่งที่น่าสนใจบางอย่างนั่นคือ คำในภาษาสันสกฤตจำนวนมาก มีเสียงพ้องกับคำในภาษาละติน
คำที่มีเสียงพ้องกันเช่นนี้ เรียกว่า cognate ครับ เพื่อให้คนไทยอย่างเราพอนึกภาพออก จะขอยกตัวอย่างคำไทยที่มีเสียงพ้องกับคำในภาษาอังกฤษพอให้นึกภาพออกนะครับว่าเสียงพ้องเป็นยังไง ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เช่น
name กับ นาม
three กับ ตรี
twice, twin, two, duo กับ ทวิ ที่แปลว่าสอง
naval กับ นาวา
mortal กับ มตะ
divine กับ เทวะ
ฯลฯ
2. รู้จักภาษา PIE
ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ุ ค.ศ. 1786 ที่งานประชุมประจำปีเกี่ยวกับเอเชียศึกษา หรือ Discourse to the Asiatic Society เซอร์โจนส์ก็บรรยายสิ่งที่เขาพบให้ที่ประชุมฟัง
2
โดยทั่วไปอาจจะถือได้ว่าการบรรยายของเขาในวันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของ ภาษาศาสตร์ยุคปัจจุบัน (modern linguistic)
ในตอนหนึ่งของการบรรยาย เซอร์โจนส์บรรยายว่า ภาษาสันสกฤตมีลักษณะหลายอย่างที่คล้ายกับภาษากรีกและละติน อย่างมาก คล้ายทั้งคำนาม คำกริยา รวมไปถึงไวยกรณ์ ความคล้ายกันนี้มันมากเสียจนไม่น่าจะเกิดจากความบังเอิญ
ถ้าคิดด้วยเหตุและผล คำอธิบายที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ ภาษากรีก ละติน และสันสกฤตน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากภาษาเดียวกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าภาษาที่เป็นต้นกำเนิดของภาษาทั้งสามนี้ได้หายสาบสูญจากโลกนี้ไปแล้ว
เขาจึงเสนอทฤษฎีว่า ในอดีตน่าจะมีภาษาหนึ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นภาษาแม่ของภาษาต่าง ๆ เหล่านี้
ต่อมาเมื่อคนที่ใช้ภาษานี้ค่อย ๆ ขยายตัวย้ายถิ่นย้ายที่ทำกินไปอยู่ห่างไกลกันมากขึ้น ภาษาที่พวกเขาใช้ก็ถูกวิวัฒนาการต่างกันไปมากขึ้น จนเกิดเป็นภาษากรีกโบราณ ภาษาละติน ภาษาสันสกฤตแบบพระเวท และภาษาอื่น ๆ ที่เป็นลูกหลานของภาษาเหล่านี้ตามมา
ทุกวันนี้ไม่มีใครรู้ว่าภาษาแม่ที่วิลเลียม โจนส์ เสนอนี้มีเสียงพูดจริง ๆ เป็นอย่างไร เพราะไม่มีใครที่พูดภาษานี้หลงเหลืออยู่แล้ว
เราไม่มีหลักฐานว่าภาษานี้มีอยู่จริง เพราะไม่มีหลักฐานที่เป็นภาษาเขียนของภาษานี้ให้เห็นเลย (เชื่อว่าคนใช้ภาษานี้ไม่มีวัฒนธรรมการเขียน การอ่าน)
และไม่มีใครแน่ใจว่าภาษานี้ใช้กันในยุคไหน แต่เดาได้ว่าน่าจะเป็นภาษาที่เก่าประมาณห้าพันถึงหกพันปี หรือมีนักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่าอาจจะเก่าถึงแปดพันกว่าปีก็เป็นได้ นักภาษาศาสตร์จึงเรียกภาษานี้ว่า Proto-Indo-European หรือย่อว่า PIE
คำถามคือ ทำไมจึงตั้งชื่อเช่นนั้น?
คำตอบตรงไปตรงมาครับ
เพราะเมื่อนักภาษาศาสตร์ศึกษาภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างเจาะลึกและนำคำศัพท์และไวยากรณ์มาเทียบกัน พบว่าภาษาต่าง ๆ หกพันกว่าภาษาทั่วโลกนั้นมีความคล้ายกันเป็นกลุ่ม ๆ เช่น
2
ภาษาอังกฤษคล้ายกับภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศสคล้ายกับภาษาสเปนและภาษาอิตาลี ภาษาไทยคล้ายกับภาษาลาวและภาษาไหลของชนพื้นเมืองบนเกาะไหหลำ เป็นต้น
ภาษาที่คล้ายกันนี้จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาษาเดียวกัน
แต่มันไม่หยุดแค่นั้นครับ
เพราะเมื่อศึกษาต่อก็พบว่าภาษาโบราณที่คนเลิกพูดไปแล้ว แม้ว่าคนที่เคยใช้ภาษาเหล่านั้นจะอาศัยอยู่ห่างไกลกัน ก็ยังมีความคล้ายกันจนพอจะจับเป็นกลุ่ม ๆได้อีก
ถ้าจะเทียบภาษาปัจจุบันเป็นภาษารุ่นลูก และภาษาอย่าง ละติน กรีกโบราณ ภาษาเปอร์เซียโบราณ และสันสกฤตแบบพระเวท เป็นภาษารุ่นพ่อ
นักภาษาศาสตร์พบว่า ภาษารุ่นพ่อที่ไม่มีใครใช้พูดกันในชีวิตประจำวันแล้ว ก็ยังมีความคล้ายกันเองอีก ซึ่งบ่งว่าภาษารุ่นพ่อเหล่านี้น่าจะมีพ่อร่วมกันอีกคือมีปู่เดียวกัน
2
ภาษาปู่นี้เป็นเป็นปู่ของภาษาเกือบทั้งหมดที่ใช้ในอังกฤษ ไล่ยาวมาถึงยุโรป เปอร์เซีย และอินเดีย จะมียกเว้นอยู่ก็ไม่กี่ภาษาเช่น ภาษา บาส์ก (Basque) ที่พูดในสเปน, ภาษาตระกูลยูเรลิก (Uralic) ได้แก่ ภาษาของเอสโตเนีย ฟินแลนด์ และฮังการี และภาษาอื่นๆอีกเล็กน้อย
ด้วยความที่ลูกหลานของภาษาปู่นี้ครอบคลุมไปทั่วยุโรป เปอร์เซีย และอินเดีย ภาษานี้จึงถูกเรียกว่าภาษา อินโดยูโรเปียน (Indo-European) หรือ โปรโตอินโดยูโรเปียน (Proto-Indo-European หรือนิยมย่อสั้น ๆ ว่า PIE)
3. เมื่อรู้จักภาษา PIE กันแล้ว ก็ถึงเวลามาคุยกันถึงคำว่า บิดา และ father
ในภาษาละตินคำว่า พ่อ ใช้คำว่า pater
ซึ่งคำว่า pater นี้ก็มีรากศัพท์จากคำในภาษา PIE ที่ออกเสียงคล้ายๆ กันคือ *pəter (ดอกจันบอกให้รู้ว่าคำนี้นักภาษาศาสตร์แกะหรือ reverse engineer คำนี้จากหลายๆภาษาที่มีคำพ้องเสียงกัน) และเป็นญาติกับคำว่า ปิตา ในภาษาสันสกฤตแบบพระเวท
1
ในเวลาต่อมาก็มีนักภาษาศาสตร์ ชาวเยอรมันชื่อ Jacob Grimm พบว่า คำที่ออกเสียง P ในภาษา PIE เมื่อวิวัฒนาการมาเป็นภาษาในตระกูลเยอรมันทั้งหลาย (เช่น ภาษาเยอรมัน ภาษาดัชต์ ภาษาอังกฤษ) จะเปลี่ยนเป็นเสียง f
ลักษณะนี้พบบ่อยจนเขาเรียกว่าเป็นกฎ ที่มีชื่อว่า Grimm’s Law
เขายังพบกฎอีกข้อว่าเสียง d ใน PIE จะกลายเป็นเสียง t และจากเสียง t ก็วิวัฒนาการกลายเป็นเสียง th ได้
และนั่นอธิบายว่าทำไมจาก pater จึงกลายมาเป็น vader ในภาษาดัตช์ fader ในภาษาเยอรมันโบราณ และ fæder ในภาษาอังกฤษโบราณ (Old English) ก่อนจะมาเป็น father ในปัจจุบัน (แถมสำหรับแฟนหนังสตาร์วอร์สที่กำลังจะเข้าในอีกไม่กี่วัน ชื่อ Darth Vader จึงมีความหมายว่า Dark Father)
และทั้งหมดนี้ก็คือ คำอธิบายแบบย่อๆว่า คำว่า บิดา และ คำว่า father มีรากศัพท์ร่วมกันมาได้อย่างไรครับ
สุขสันต์วันพ่อให้กับคุณพ่อทุกคนครับ
(แล้วก็ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
ชอบเรื่องราวแบบนี้ แนะนำให้อ่านหนังสือ ทำไมเราเลี้ยง pig แต่กิน pork และ ทำไมแฮมเบอร์เกอร์จึงไม่มีแฮม
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน
โฆษณา