Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ไดโนสคูล
•
ติดตาม
5 ธ.ค. 2019 เวลา 15:37 • การศึกษา
วโรกาสวันพ่อ: ไดโนสักวา ลิงสู้ยักษ์ (ภาคจบบริบูรณ์)
ในวโรกาสวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2562
ข้าพเจ้า ขอน้อมถวายกำลังสติปัญญา แม้เพียงน้อยนิดแทบเศษธุลี เป็นพระราชกุศล แด่ พ่อหลวงและบรรพบุรุษแห่ง ”สยาม” ประเทศ ทุกพระองค์
ผ่านกลอนสักวาฝีมือหยาบช้า “ไดโนสักวา ลิงสู้ยักษ์”
ควรมิควร แล้วแต่จะโปรดฯ
เพื่ออรรถรสของผู้เสพย์วรรณกรรมที่อาจต้องการการอธิบายเป็นร้อยแก้วเสริมที่มาที่ไปบ้าง แอดนก ขอแทรกคำอธิบายใต้รูปเป็นช่วง ๆ ซึ่งอาจรบกวนสายตา ท่านที่ต้องการอ่านแต่ส่วนของกลอน จึงต้องขออภัย ไว้ ณ ที่นี้ค่ะ
ความเดิมต่อจาก “ไดโนสักวา ลิงสู้ยักษ์” (ภาคแรก)
https://www.blockdit.com/articles/5de5230cae13cd09c816b073
โขนตอน “สืบมรรคา” เริ่มจากภารกิจสำคัญ คือ พระรามได้มอบหมายให้หนุมาน องคต และชมพูพาน นำทัพลิงไปลงกา เพื่อลอบส่งแหวนและพระภูษาให้นางสีดา ส่งข่าวให้รู้ว่า อีกไม่ช้า พระรามจะยกทัพมาช่วย
ในระหว่างการเดินทางไปส่งสารให้นางสีดาที่ถูกลักโดยทศกัณฐ์ พำนักอยู่ที่กรุงลงกา ได้มีแม่น้ำสายใหญ่ขวางกั้น หนุมานจึงขยายร่างให้ใหญ่มโหฬาร เพื่อให้ขบวนทัพข้ามได้อย่างง่ายดาย
แต่ระหว่างการเดินทางก็มีความเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างมาก ดังสักวาบทต่อไปนี้ (บรรเลงเพลงวรเชษฐ์ หรือ ค้างคาวกินกล้วย)
เพียงเคลื่อนทัพ ครู่ผ่าน พณาสวาท
ปลดศักราช สองทัณฑ์ ชู้สวรรค์
ยักษ์ปักหลั่น และอนงค์ ธิดาวรรณ
พญาองคต แลหนุมาน ได้สร้างบุญ
ยักษ์ปักหลั่น กำลังถูก องคต ปั่นคอด้วยพระขรรค์ เพื่อให้ปลดจากคำสาปของพระอิศวร ในคดีที่ริอ่านเป็นชู้กับนางสวรรค์ สังเกตความทุกข์เศร้าและอับอาย จากสีหน้ายักษ์บนหัวโขนที่แลดูสุดอาภัพ อาศัยอยู่ในบึงบัวชมพู รอจนกว่าทหารพระรามที่มาช่วยนางสีดาจะเคลื่อนทัพผ่านและมาช่วยปลิดชีวิตให้พ้นสาป
นางรำท่านนี้เป็นหนึ่งในชุดรำถวายพระพรตอนต้น ที่มีการนำเพลงเวสสุกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเสียงประสาน มีความไพเราะอย่างยิ่ง แม้มิใช่ตัวนางอัปสรในเรื่องโดยตรง แต่ก็งามหาที่ติไม่ พอให้ท่านผู้อ่านได้จินตนาการถึงนางสวรรค์ที่เป็นชู้กับยักษ์ปักหลั่น จนต้องโทษจากพระอิศวรให้ลงมาอยู่ในป่าอย่างเดียวดาย
ลิงทั้งผอง แรมคืนข้าม ทิวาเปลี้ย
พร่ำช่างเพลีย เสียจริง เจี๊ยกจั๊กจ๋อ
ลูกพระพาย เรียกสติ อย่าเพ่อท้อ
จงเอาเยี่ยง พ่อ “สดายุ” นกทรงคุณ
ครั้งทศพักตร์ ลักลอบ อุ้มสีดา
บินข้ามฟ้า วิหกพญา ส่ายตาเห็น
มิเพิกเฉย ช่วยสกัด ห้ามยากเย็น
ยักษ์มิเว้น ชีพจึงวาย ด้วยธำมรงค์
ก่อนเฮือกสุด สดายุ ยังอุกกลั้น
นำแหวนนาฏ วงนั้น ขึ้นถวาย
รามศวรโปรด อาลัย วาระท้าย
แม้เจ้าพ่าย ไม่เสียชาติ ปักษาสกุล
ยักษ์ทศกัณฐ์ กำจัด พญานก “สดายุ” ด้วยการเขวี้ยงแหวนของนางสีดา ใส่ที่ปีกของนกสดายุให้หักและร่วงตกมาที่พื้น ระหว่างที่นกสดายุเข้ามาเพื่อช่วยเหลือให้ปล่อยนางสีดาคืนพระราม แล้วหลังจากนั้น ทศกัณฐ์ได้พานางสีดาไปเก็บตัวในสวนขวัญ ในกรุงลงกา ของตัวเอง
นก “สดายุ”มิใช่ตัวเดียวกับ นกวายุภักษ์
(อาจเรียก นกการเวกหรือนกกินลม) ในตำนานป่าหิมพานต์ ที่เป็นสัญลักษณ์นกสีฟ้า ของธนาคาร กรุงไทย และหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง (หลายท่านอาจเคยเข้าใจคลาดเคลื่อน)
แว่วเสียงใคร เอ่ยถึง น้องสดายุ
“สัมพาที” รีบรุด เปิดหน้าถ้ำ
ที่แอบอู้ ซ่อนเร้น กายระกำ
โดนพระ SUN เผาเพลิง ขนโกร๋นตัว
พญาเผือก หนุมาน ตกกะใจ
นกอะไร ล่ำแดง แต่ไร้ขน
อนาถสิ้น ดูด้อยพันธุ์ ช่างชอบกล
อะไรดล หรือผู้ใด สาปส่งมา
นกสัมพาที พี่ชายของนกสดายุ ขนไหม้เกรียมจากการสามหาวบินใกล้หมายจิกพระอาทิตย์มาให้น้องชายตามคำขอ เมื่อได้ยินเสียงหนุมานเอ่ยถึงชื่อน้องชาย ก็ออกมาจากถ้ำที่กำบังความน่าอับอายไว้แสนนาน
สัมพาที เอื้อยเฉลย เมื่อครั้งเยาว์
สดายุ ร้องเอาอ้อน คุณพี่ขา
อยากชิมผล อาทิตย์ แดงสุรา
พี่โฉบหา เพียงใกล้ ขนละลาย
เหตุสามหาว อยากจิก พระสุริยะ
ลูกพายพระ หาวดาวเดือน ทางไถ่ถอน
หาวสามโห่ ก้องทั่ว สั่นอมร
หนุมาน เบิกโอษฐ์ ปลดพันธนา
เพียงหนุมาน หาวสามครั้ง ก้องพสุธาถึงสวรรค์ นกสัมพาที ก็พ้นมนต์สาป กลับมามีขนสีแดงฉานงามสง่าดั่งที่เคย
เหนือกว่าสุข คือลิ้มรส อิสระ
ปลดพันธะ สาปสิ้น คืนศักดิ์ศรี
สัมพาที ขอรับใช้ กตเวที
ขอท่าน ศรีหนุมาน ปีนกายา
ข้าพือปีก อย่าว่าโอ่ ข้ามสมุทร
อิทธิฤทธิ์ เต็มสูบ ไม่มีถอย
ครั้งนี้ จักเทียมร่าง ดั่งไพร่น้อย
โปรดใช้สอย ข้ามเมฆ เหาะ“ลงกา”
นกสัมพาที ขอแสดงความกตัญญูกตเวที ตอบแทนหนุมาน ที่โห่สามครั้ง ปลดคำสาปขนโกร๋นจากพระอาทิตย์ พาขึ้นขี่หลัง เหาะไปส่งยังกรุงลงกา แม้หนุมานจะมีฤทธิ์สูง เหาะได้เองสบายมาก แต่ก็ไม่อยากปฏิเสธน้ำใจ การรับการตอบแทนนี้ ยังช่วยประหยัดพลังงานให้หนุมานไว้สู้ยักษ์ได้อีกโข
พริบเวฬา วานรเผือก เหยียบเมืองยักษ์
ผู้พิทักษ์ นางเสื้อเมือง รุดสงสัย
อาวุธพร้อม สี่ยุทธ “อังกาศตไล”
เหวยเหวย ใครช่างบังอาจ ล้ำเขตคาม
หนุมาน หน้าเป็น มิเคยหวั่น
ยักษีดุ ร่างตัน เคร่งหนักหนา
สู้ด้วยแรง เห็นที อาจเสียท่า
ใช้วิชา ลามก จับอกเอว
นางอังกาศฯ มิเคย ถูกต้องจับ
พรายระยับ แอบยิ้ม ปริ่มจักจี๋
เดี๋ยวบั้นท้าย โดนลูบ ลิงอัปรีย์
จึ่งเสียที ถูกพิฆาต ในบัดดล
ภาพปกตอน “สืบมรรคา” Sueb Marga การผจญภัยของหนุมานชาญสมร ทหารเอกพระราม ในภาพกำลังยื้อยุดกับนางอังกาศตไล ที่ทศกัณฐ์มอบตำแหน่งพระเสื้อเมือง อันเปรียบเหมือนทหารเอกหน้าด่าน ป้องกันผู้แปลกปลอมรุกล้ำเข้ามายังกรุงลงกา
นางยักษีอังกาศตไล ครองตำแหน่งพระเสื้อเมือง ปกป้องเมืองลงกา เช่นเดียวกับที่เราคนไทย ชาวกรุงเทพฯ มีศาลหลักเมืองและมีศาลพระเสื้อเมืองอยู่ติดกัน สำหรับให้ลูกหลานสักการะบูชา ที่ใกล้สนามหลวง วัดพระแก้ว และมีในทุก ๆ จังหวัดทั่วไทย
นางอังกาศตไล แม้เป็นยักษ์เพศหญิง แต่มีความแข็งแรง จิตใจห้าวหาญ เมื่อหนุมานเห็นเช่นนั้น การต่อกรคงไม่ง่าย ด้วยอุปนิสัยซุกซน ไม่กลัวใคร จึงใช้การจับแตะเนื้อต้องตัวทำให้นางอังกาศตไล เสียสมาธิ ทำให้พ่ายไปในที่สุด
ตีลังกา หน้าหลัง ม้วนหลายรอบ
คนดูชอบ แสนชม ฝึกไฉน
ปรบมือก้อง กังวาน ชื่นชอบใจ
แถมยกให้ ความทะเล้น ที่หนึ่งลิง
รับพลังใจ หน้าเวที แล้วย่างต่อ
มิย่นย่อ ภารกิจ ยังมีอยู่
เดี๋ยวองค์ราม สอดส่าย พระญาณดู
จะรู้ว่า ลิงอู้ โดนติเตียน
เพียงมิไกล เจอเวิ้ง ทะเลลึก
นางคนถึก ยักษ์ผีเสื้อ มาจากไหน
ยืนตระหง่าน ผิวเข้ม เห็นแต่ไกล
คงต้องใช้ วิชา พระอาจารย์
ถ้อยกลอนว่า “อย่าไว้ ใจมนุษย์
ช่างแสนสุด ลึกล้ำ เหนือกำหนด
ถึงเถาวัลย์ พันเกี่ยว ที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คด เหมือนหนึ่ง ในน้ำใจคน”
กลอนท่อนล่า เอ่ยจาก สุนทรภู่
เจ้าตำรับ นางสมุทร ยักษาศรี
อภัยมณี ไม่เกี่ยวกับ เรื่องนี้
นึกถึงมี ยักษ์สมุทร หลายตำนาน
นางยักษ์ผีเสื้อสมุทร ที่สรรค์สร้างขึ้นให้ร่างใหญ่โตและใช้เทคนิคสุดประทับใจในการขยับส่วนต่าง ๆ ทั้งศีรษะ บ่า ไหล่ แขน โดยเฉพาะส่วนเต้านม ที่แกว่งไกวได้เลียนแบบธรรมชาติ เรียกเสียงปรบมือครื้นเครงได้อย่างมาก และให้มีผู้เชิดช่วงแขนซ้ายขวาถืออาวุธสู้กับหนุมาน ลักษณะเช่นเดียวกับ การเชิดหุ่นละครเล็ก เป็นที่น่าประทับใจยิ่งนัก
หนุมาน โหนทะยาน ขึ้นเหนือยักษ์
ปีนป่ายปัก ด้วยตรี สุดพลิ้วไหว
แอบดูดดอม เต้าสมุทร ขำสุดใจ
คนดูไซร้ ปรบมือ เชียร์กันเฮ
ครั้งนางเผลอ กระบี่น้อย ดอดเข้าปาก
ฤทธีมาก ซ่อนตัว แทงไส้ไหล
ลากคดยาว แดงก่ำเลือด ทะเลไฟ
จบหนึ่งไป ตัวมาร ขวางมรรคา
ในอีกทิศ ราชชั้นใน กรุงลงกา
ทศพักตรา เก็บสีดา ในสวนขวัญ
นางนั่งร้อย มาลัย อยู่อย่างนั้น
นึกครึ้มฝัน ใจสะออน อยากคู่เคียง
จึงแต่งองค์ ทาหน้า ประแป้งผ่อง
สุวรรณา รูปทอง หาใดเหมือน
เอกฉากเดียว ของกาพย์ราม- เกียรติ์เอื้อน
ไม่รูปเขียว ครึ้มเหมือน ที่คุ้นเคย
ทศกัณฐ์รูปงามหล่อเหลาที่สุด ด้วยทองอร่ามตั้งแต่ศีรษะทั้งสิบหน้าจรดปลายเท้า เป็นฉากเดียวในวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ที่ทศกัณฐ์เป็นองค์สีทอง โดยปกติจะเป็นองค์เขียวเข้มอย่างที่เราจดจำกันได้ดี
และด้วยการแต่งกายที่พิถีพิถันเฟี้ยวฟ้าวเป็นพิเศษ และเทคนิคจีบสาวที่มีลูกล่อลูกชน จึงเป็นที่มาของวลี “เจ้าชู้ยักษ์” นั่นเอง
เหวยเหวย ค่ำนี้เรา ฤทธิ์สิริ
ขบวนประดิษฐ์ จัดวิจิตร ตระการหนา
เราจักแล่น ไปเยี่ยม นางกัลยา
เอื้อยสีดา ขวัญวิลาส จรุงใจ
ถึงสวนขวัญ ธ ไล่ บ่าวไพร่อออก
เท่ไม่หยอก ตัวเรา หมดสงสัย
นางต้องรัก หลงแน่ แท้กระไร
สมชายไหน ไม่เท่า ทศกัณฐ์
ถ้าบุ่มบ่าม เข้าไป นางคงกริ้ว
จักทำพลิ้ว “เจ้าชู้ยักษ์” ไม่หักหาญ
คืนนี้พี่ ก็แต่งองค์ ทรงสราญ
เพี้ยงนงคราญ โปรดเห็นใจ หนุ่มสักที
สีดาแก้ว ใจสัตย์ ในความรัก
ทศสิบหน้า โฉดคด สันดานไพร่
เปรียบไม้ซุง คดเลี้ยว ใช้มิได้
ต้องขุดเหี้ยน วายป่วง หมดลำเค็ญ
เปรียบพล่าม พลางมองที่ ทศยักษ์
สะดุ้งฮัก นางสาป เราหรือนี่
ถ้าเช่นนั้น คงต้องใช้ กำลังนี้
ขอแตะตัว น้องสักที เผื่ออ่อนใจ
อธิษฐาน กายาร้อน ด้วยความสัจจ์
สีดาสกัด ทำนบบุญ ไล่อสูร
เจ้าลงกา มิได้ชิด ชู้ผอูน
หมดสิ้นสูญ อดทนขาด กลับปึงปัง
ทศกัณฐ์ทรงราชรถ ไปหานางสีดาที่ถูกลักตัวมาเก็บไว้อยู่ในสวนขวัญแห่งเมืองลงกา แต่สุดท้ายก็ถูกปฏิเสธและยังแตะนางไม่ได้ด้วยแรงบุญที่นางอธิษฐานไว้
สีดานาฏ หมองเศร้า หวังริบหรี่
อายชาชี ถูกยักษ์ พิสมัย
ลักหลงบ้าน ต่างเมือง ไร้หัวใจ
ขอผูกพลิ้ว แพรผ้า ปลิดวิญญาณ
หนุมาน ลิงซน อยู่ที่รุกข์
ฉุกละหุก แกะปม ที่กิ่งโศก
กราบสีดา อย่าทรง เพ่อพิโรธ
องค์รามโปรด หม่อมฉัน นำสารมา
น้อมยื่นแหวน และภู- ษาชิ้นเลิศ
ทรงโปรดเถิด ข้าพระองค์ พากลับหนา
องค์นเรศ รออยู่ นครา
ศรีธิดา บารมี เอกกรุงไกร
“หนุมานถวายแหวน” และผ้าภูษา พร้อมถ้อยสารลับที่พระรามและนางสีดาเท่านั้นที่รู้เรื่องรักแรกพบ พร้อมทูลเชิญเสด็จกลับเมืองไปด้วยกัน
และยังเป็นที่มาของท่า “หนุมานถวายแหวน” แม่ไม้มวยไทย ที่ดังทั่วโลก
แม้นปรีดิ์เปรม อัสสุชล ปริ่มรื้นกลั้น
อนงค์นั้น ครองสง่า ดาราเสมือน
ยักษ์ชิงมา ลิงพาไป ช่างแชเชือน
จักแปดเปื้อน หมดตระกูล คุณความดี
นางกล่าวน้อย แต่ถ้อย เข้าถึงจิต
หนุมาน หมดทางคิด จะกล่อมไหว
ตีลังกา ทำลายสวน- ขวัญบรรลัย
สนั่นไกล ทหารยักษ์ ตระเวนมา
มิเคยหวั่น ให้เสียชาติ พระพายพ่อ
สหัสกุมาร- ยักษา แลสนม
โหมกระหน่ำ นับพัน เงื้อจู่โจม
กระบี่โสม รัดเหวี่ยง เสียกระบวน
เหวยหวย น่าอับอาย เสียยิ่งนัก
ลิงจั๊กจั๊ก ล้มยักษ์พัน รู้ถึงไหน
อายมุดดิน ไม่ต้องคิด ต่อกรใคร
“อินทรชิต” ยักษ์ใหญ่ แกว่งศรประจัน
อสูรยักษ์ เหยียบบ่าลอย วายุบุตร
เอ็งอ้ายมูตร จัณฑาล ริลองของ
ศรข้าแปลง เป็นมะเส็ง รัดพันกร
อ้ายวานร มึงโทษร้าย ถวายบดี
การต่อสู้ระหว่าง ยักษ์อินทรชิต และหนุมาน ลูกพระพาย เป็นฉากหนึ่งที่เฉียบคมมิอาจวางตา ท่วงท่าที่ทุกท่านเห็นด้านบนนี้ คือ “การเหยียบบ่าขึ้นลอย” ซึ่งผู้จัดโขนกล่าวว่าเป็นการทำนาฏยจารีตโขน ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มิเคยปรากฏที่ใดมาก่อน นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของนาฏศิลป์ไทย
ฉากการต่อสู้อลังการ เกินกว่าจะใช้คำว่าน่าประทับใจ ต้องพากเพียรฝึกซ้อมอย่างมีวินัยเพียงใด ถึงได้โขนฝีมือครูเช่นนี้ อยากให้ผู้ชมเห็นด้วยตาตัวเองเหลือเกิน
ศรของยักษ์ใหญ่อินทรชิต สามารถจำแลงเป็นงูฤทธิ์มาก รัดตัวหนุมานไม่ให้หลุดรอดไปได้
หนุมานจึงเสียท่า ถูกจับเพื่อไปรับโทษที่ทำร้ายสหัสกุมารและสนมนับพันของทศกัณฑ์ในสวนขวัญ (หลังจากที่นางสีดาปฏิเสธการกลับไปหาพระรามด้วยกัน)
ลานพลับพลา คลาคล่ำ เสฯ-พลยักษ์
เคืองยิ่งนัก อ้ายลิงจิ๋ว ทำเสียหาย
เอ็งคงมี ของครู คุ้มตัวตาย
ประหารวาย ธรรมดา ไม่พอมือ
บรมยักษ์ ปรบเรียก คนสนิท
นครบาล จงประชิด ทั้งซ้ายขวา
ดาบไม่ขาด เร่งเอาสาก ครกมหึมา
ฝีมือกล้า ขอผู้เลิศ ในปฐพี
เมื่ออินทรชิตจับตัวหนุมานมาถวาย ทศกัณฐ์ให้ลงทัณฑ์ด้วยการตัดหัวเสีย แต่ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ จึงให้ตามนายนครบาลผู้มีหน้าที่ทำโทษผู้กระทำผิด ให้นำสากและครกยักษ์มาตำให้ร่างแหลกละเอียดแทน
แขย่งเย่อ ยักยัน โยกสากครก
ดูตลก หนุมาน ขำเย้ยหยัน
จังหวะดีด อุตลุด พัลวัน
สากนั้น ก็ตำร่าง ผู้ลงทัณฑ์
มีงานวาดผนังตอนที่หนุมานสู้กับนครบาล ตอนกำลังเอาสากและครกมาตำร่าง แสดงถึงพระอารมณ์ขันของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่สอง แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่พระราชนิพนธ์ไว้ โดยทรงพระราชนิพนธ์ต่อจาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่หนึ่ง
แรงหนึ่งเดียว ของเอ็ง มันช่างร้าย
ไม่อยากตาย จงสวา- มิภักษ์ข้า
ทศพักตร์ ยื่นคำขาด ลิงเสนา
อันตัวข้า ยอมตาย ควรวายชนม์
หนุมาน ทำเป็น “ลิงหลอกเจ้า”
แม้นทรงเอา ดาบวุธา ไม่อาสัญ
กระหม่อมตาย แพ้ต่อ ไฟเท่านั้น
โปรดจุดพลัน มิบังอาจ สู้หน้าใคร
ทศกัณฐ์ หมดทาง จักลวงล่อ
อยากได้หนอ พลทหาร ฤทธาศัย
ลิงยืนกราน ขอตาย แทนอภัย
เอ้าช่วยให้ เอ็งสมใจ ก็แล้วกัน
ว่าแล้วจุด พระเพลิง เริงพลุ่งพล่าน
หนุมาน พรวดพราด เหาะขึ้นสูง
เกินเจ้าสั่ง ลงกาวอด สุดอาดูร
นครสูญ ก่อนศึกใหญ่ จักตามมา
นี่หนาโทษ ทำรู้มาก เกินนายสั่ง
เผาลงกา เดือดคลั่ง ร้อนอินทร์หนา
ต้องมาสร้าง ลงกาสอง ให้อสุรา
จบตอนลา สืบมรรคา รามรามายณ์
หนุมานหลอกล่อให้ทศกัณฐ์ใช้วิธี จุดไฟเผา เพื่อตีลังกาโลดโผน โจนทะยานเผากรุงลงกาให้สิ้น เป็นการทำเกินกว่าที่พระรามสั่ง จึงเป็นที่มาของ วลี “ลิงหลอกเจ้า” “เกินเจ้าสั่ง” และ “เผาลงกา”
ขอกล่าวถึงเจตนาของข้าพเจ้า (แอดมินนก ไดโนสคูล) ในการสักวากลอน ที่เรียกได้ว่ามิมีค่าเทียบได้กับวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ
แต่ขอบังอาจ เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสานสมบัติชาติให้ลูกหลานได้เห็น และส่งต่อให้คงไว้สืบนานไป
แม้ในปีนี้ จะสิ้นสุดการแสดงใน 5 ธันวาคม วันพ่อแห่งปวงชนชาวไทย แต่มรดกลูกหลานไทย ยังคงอยู่ และยังมีการจัดการแสดงทุกปี ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิศิลปาชีพฯ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ เป็นประจำทุกปี
โปรดได้รับคำขอบคุณ
แอดมินนก ไดโนสคูล
วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2562 เวลา 22.22 น.
บันทึกจากความทรงจำไล่เรียงหลังชมโขนสืบมรรคา วันอาทิตย์ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562 รอบ 19.30 น.
และสืบเนื้อหาเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ผู้จัดงาน (ด้านล่าง)
อย่าลืมชมภาพความประทับใจเบื้องหลังงานบางส่วนด้านล่างนะคะ🌹
ร่วมติดตาม จองบัตรล่วงหน้า (บัตร 400-1,800 บาท) และสนับสนุนกิจกรรมด้านโขนและอื่น ๆ เพื่อรักษาอัตลักษณ์ไทย มรดกโลก ให้คงอยู่ทาง facebook : Khon-Performance
https://web.facebook.com/pg/Khon-Performance-โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ-322915151114362/posts/?ref=page_internal
แหล่งรูปภาพงดงามและข้อมูลเกี่ยวกับการแสดงโขน “สืบมรรคา” โดยผู้จัดงาน เชิญติดตามได้จาก
https://web.facebook.com/pg/Khon-Performance-โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ-322915151114362/posts/?ref=page_internal
https://web.facebook.com/322915151114362/posts/3254833387922509/?_rdc=1&_rdr
#ตลกโขน
#สืบมรรคา
#โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
#โขนสมเด็จพระพันปีหลวง
#มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ
#khonmaskeddancedramainthailand
#theroyalkhonperformancethailand
รูปอื่น ๆ และเกร็ดความรู้เพิ่มเติมจาก
https://th.wikipedia.org/wiki/สดายุ
https://th.wikipedia.org/wiki/นกการเวก_(เทพปกรณัม)
google
บทส่งท้าย
กว่าจะได้มาซึ่งความสำเร็จของงานแต่ละชิ้น มิใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องอาศัยความวิริยะ วินัยและร่วมมือร่วมใจของทุกคน พลังเล็ก ๆ ที่มาหล่อรวมกัน จึงเกิดสิ่งน่าอัศจรรย์
ขอขอบคุณ ทุกความเสียสละและความตั้งใจของท่านผู้จัดทำ คณะเบื้องหน้าและเบื้องหลังทุกชิ้นงานในงานโขนและศิลปะไทยทุกแขนงนับแต่บรรพกาล
นกไดโนสคูล
https://nokdinoschool.com/contact-me/
4 บันทึก
132
178
35
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
🔰ไดโนสักวา ลิงสู้ยักษ์🐒
4
132
178
35
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย