6 ธ.ค. 2019 เวลา 05:17 • การศึกษา
พุทธวจน (ธรรมะจากพระโอษฐ์)
"หลักในการจัดสรรทรัพย์"
คหบดี ! อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์ที่ตนหาได้มาด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้น รวบรวมมาด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม เพื่อกระทำกรรมในหน้าที่ ๔ ประการ ๔ ประการเป็นอย่างไร คือ
(๑) อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดยชอบธรรม ในการเลี้ยงตนให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารตนให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง ในการเลี้ยงมารดาและบิดา ให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารท่านทั้งสองให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง ในการเลี้ยงบุตร ภรรยา ทาสและกรรมกรชายหญิง ให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารให้อยู่กันอย่างเป็นสุขโดยถูกต้องในการเลี้ยงมิตรอำมาตย์ให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ฐานที่ ๑ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล
(๒) คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดยชอบธรรม ในการปิดกั้นอันตรายทั้งหลาย ทำตนให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งหลายที่เกิดจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร หรือจากทายาทที่ไม่เป็นที่รักนั้นๆ นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ฐานที่ ๒ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล.
(๓) คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดยชอบธรรม ในการกระทำพลีกรรม๕ ประการ คือ ญาติพลี (สงเคราะห์ญาติ) อติถิพลี (สงเคราะห์แขก) ปุพพเปตพลี (สงเคราะห์ผู้ล่วงลับไปแล้ว) ราชพลี (ช่วยชาติ) เทวตาพลี (สงเคราะห์เทวดา) นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ฐานที่ ๓ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล.
(๔) คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดยชอบธรรม ในการตั้งไว้ซึ่งทักษิณา อุทิศแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้งดเว้นแล้วจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งมั่นอยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้ฝึกฝน
ทำความสงบ ทำความดับเย็นแก่ตนเอง อันเป็นทักษิณาที่มี ผลเลิศในเบื้องบน เป็นฝ่ายดี มีสุขเป็นผลตอบแทน เป็นไปพร้อมเพื่อสวรรค์ นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ฐานที่ ๔ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล.
คหบดี ! อริยสาวกนั้น ย่อมใช้โภคทรัพย์ที่ตนหาได้มาด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้น รวบรวมมาด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วยธรรมได้มาโดยธรรม เพื่อกระทำกรรมในหน้าที่ ๔ ประการเหล่านี้.
คหบดี ! โภคทรัพย์ทั้งหลายของบุคคลใด ถึงความหมดสิ้นไป โดยเว้นจากกรรมในหน้าที่ ๔ ประการดังกล่าวแล้วนี้ โภคทรัพย์เหล่านั้น เรากล่าวว่าเป็นโภคทรัพย์อันบุคคลนั้นไม่ถึงแล้วโดยฐานะ ไม่บรรลุแล้วไม่บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล.
คหบดี ! โภคทรัพย์ทั้งหลายของบุคคลใด ถึงความหมดสิ้นไป โดยกรรมในหน้าที่ ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วนี้ โภคทรัพย์เหล่านั้น เรากล่าวว่าเป็นโภคทรัพย์อันบุคคลนั้นถึงแล้วโดยฐานะ บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล.
อ้างอิงจาก : พุทธวจนหมวดธรรม เล่มที่ ๑๓
พุทธวจน ทาน
หน้าที่ ๒๔ - ๒๖
บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๘/๖๑.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา