6 ธ.ค. 2019 เวลา 12:03 • ธุรกิจ
ช่วงเดือนที่ผ่านมานี้เรื่องแม่น้ำโขงแห้งกำลังเป็นประเด็นใหญ่โตระดับภูมิภาคของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่น้อยไปกว่าเรื่องแม่น้ำโขงเปลี่ยนมาเป็นสีใสได้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จนผู้คนแตกตื่น และเริ่มกังวลว่าแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป จะก่อความเสียหายอะไรให้กับไทยมากน้อยแค่ไหนไหม
1
ตอบก่อนเลยว่า ก่อแน่นอนครับ อย่างแรกเลยก็ อุตสาหกรรมการประมงในแถบอีสาน ลาว พม่า เวียดนามที่ต้องพึ่งพาการหาปลาจากลำน้ำโขงทุกๆปี ปลาในแม่น้ำโขงเนี่ยมีปริมาณถึงเกือบ 3 ล้านตัน สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมประมงแถบๆนี้ได้ถึงปีละ 17,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
1
ถ้าแม่น้ำโขงแห้งในระยะยาวเมื่อไร กลุ่มชาวบ้านและอุตสาหกรรมประมงที่อยู่แถบนี้ล้มแน่นอน เอาแค่ปัจจุบันภาวะน้ำแล้งเฉพาะฤดูกาลก็ทำให้ชาวประมงขาดรายได้ไปเกินครึ่งแล้ว ปกติชาวบ้าน ชาวประมงที่หาปลาจากแม่น้ำโขงเนี่ย เอาแค่โซนปลายน้ำอย่างกัมพูชานะ เขาหารายได้จากการหาปลาได้กันวันละเกือบ 100 ดอลลาร์ (3,000 กว่าบาท)
คือหาได้กันวันละไม่ต่ำกว่า 10 กิโล เดี๋ยวนี้ลดลงเหลือกันประมาณ 2-3 กิโล ดีหน่อยก็จับได้ 5 กิโล ซึ่งบวกลบแล้วยังไงก็ไม่พอค่าน้ำมันเรือ ค่าเดินทาง ค่าเบ็ด ค่าอวน และค่าเหยื่อ ที่ไทยก็แย่เหมือนกัน แถวๆจังหวัดเลยเนี่ยคนหาปลาเขาลงไปเดินในแม่น้ำเพื่อคุ้ยเขี่ยหาลูกปลาได้เลยนะ
สาเหตุหลักๆนอกจากสภาวะน้ำแล้งในหน้าแล้ง และสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ก็มาจากเรื่องการสร้างเขื่อนนี่แหละ ตอนนี้ทางการจีนมีแผนจะสร้างเขื่อนมากมายหลายสิบเขื่อน (ซึ่งในปัจจุบันนี้เสร็จไปแล้วประมาณ 11 เขื่อน)
ปัญหาดังกล่าวจึงดูเหมือนจะง่าย เพราะตัวละครที่เกี่ยวข้องกับปัญหามันค่อนข้างปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าใครมีส่วนที่เกี่ยวข้องบ้าง ก็คือ จีน อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะจีนคือประเทศต้นน้ำ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อนจำนวนมากตั้งแต่ต้นสายของลำน้ำโขงที่ทอดยาวมาจนถึงทะเลจีนใต้
แต่ถ้าหันไปดูกระบวนการแก้ปัญหาในระดับรัฐ และระดับระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะการประชุม Mekong River Commission (MRC), Greater Mekong Subregion (GMS), Lower Mekong Initiative (LMI), Mekong-South Korea Summit (MSKS) หรือแม้แต่ Lancang-Mekong Cooperation (LMC) ฯลฯ ที่
** จริงๆมีกรอบความร่วมมือและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรภายในแม่น้ำโขงร่วมกันระหว่าง 5 ประเทศในแถบนี้อีกหลายชุด บางชุดก็มีความเคลื่อนไหว บางชุดก็ไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวแล้ว แต่ในนี้จะยกมาแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น
ก็จะเห็นความจริงในอีกมิติหนึ่งว่า การรวมตัว การรวมกลุ่มในระดับสุดยอดผู้นำเหล่านี้แทบไม่มีการนำประเด็นเรื่องเขื่อนของจีนขึ้นมาบนโต๊ะเจรจาเลย อย่างการประชุม Mekong River Commission ที่เพิ่งจัดไปก็เน้นพูดถึงแต่เรื่องยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยให้ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ‘เตรียมรับมือกับภัยดังกล่าวร่วมกัน’
เน้นว่า ‘เตรียมรับมือร่วมกัน’ อ่านทวนดีๆจะเข้าใจได้ว่ามันคือการบอกให้ประเทศที่อยู่ปลายน้ำแก้ไขปัญหา และเอาตัวรอดจากภัยแล้งดังกล่าวร่วมกันโดยจีนจะไม่มีส่วนรู้เห็นในวิกฤติเหล่านี้นัก และจะไม่มีการกล่าวโทษไปถึงรัฐบาลจีนอย่างออกหน้าแน่นอน
ส่วน Mekong-South Korea Summit ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ก็เช่นกัน ทางเกาหลีใต้ที่เป็นหัวโต๊ะของการประชุมก็สนับสนุนให้ทุกประเทศในแถบแม่น้ำโขง ร่วมมือกันในด้านเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง และโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็ละที่จะไม่พูดเรื่องต้นตอของปัญหาซึ่งก็คือ จีน
สำหรับ Greater Mekong Subregion เองก็ไม่ต่างกัน ล่าสุดที่มีการจัดการประชุมเกี่ยวกับประเด็นทรัพยากรในแม่น้ำโขงก็ดันเป็นในส่วนของการสนับสนุนความร่วมมือภายในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน และประเด็นด้านทรัพยากรมนุษย์ไป
จะเห็นว่าการประชุมที่เกี่ยวข้องกับกรอบความร่วมมือภายในแม่น้ำโขงที่ผ่านๆมาในช่วงเวลาไม่กี่เดือนนี้ แทบไม่มีกลุ่มกรอบใดได้กล่าวถึงภัยความมั่นคงของแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นจากมิติของเขื่อนและอุตสาหกรรมพลังงานที่เกี่ยวข้องเลย โดยเฉพาะในมิติที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาลจีนโดยตรง
ยิ่งกับ Lancang-Mekong Cooperation ที่จีนเป็นคนก่อตั้งขึ้นมายิ่งแล้วใหญ่ เป็นกรอบความร่วมมือที่มีความเป็นไปได้น้อยที่สุดที่จะนำปัญหาเรื่องเขื่อนเหล่านี้ออกมาอภิปราย หรือสรรหาต้นตอของปัญหา
ตรงนี้เลยทำให้เขื่อนไซยะบูลีกลายเป็นประเด็นเงียบที่แทบไม่มีใครพูดถึง หากไม่ใช่จากฟากส่วนขององค์กรอิสระ และนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากเขื่อน
(อันนี้คือพูดในระดับกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของแต่ละประเทศในองค์รวมนะครับ)
ทีนี้ลองมาดูกันในรายระดับสเกลที่เล็กกว่านั้น คือ ระดับรัฐบาลของแต่ละประเทศเอง ถ้าเรานำแผนที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป (mainland Southeast Asia) ออกมากางดูแล้วพิจารณาผ่านมิติของภูมิรัฐศาสตร์ภายในแต่ละประเทศ ไล่มาตั้งแต่พม่าไปจนถึงกัมพูชาเป็นรายประเทศไปเลย
พูดถึงพม่าก่อนเลยนะครับ จากซ้ายของแผนที่ไปก่อน พม่าตอนนี้สถานการณ์อยู่ในจุดที่ขยับตัวไม่ได้อยู่แล้วครับ ตั้งแต่เรื่องคดีโรฮิงญาแล้ว Aung San Suu Kyi ต้องไปขึ้นศาล ไหนจะเตรียมเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ในปี 2020 อีก
รัฐบาลพม่าตอนนี้ภาระเต็มมือแล้ว ยิ่งพม่ากับจีนมีพันธะต่อกันในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับนิคมอุตสาหกรรมในแถบทางตอนตะวันตกของพม่าอีก พม่าในปัจจุบันนั้นไม่มีข้อต่อรองอะไรจะไปกล่าวอ้าง หรือโวยวายกับจีนเรื่องเขื่อนอยู่แล้ว
ต่อมาคือ ลาวกับกัมพูชา 2 ประเทศนี้ยิ่งแล้วใหญ่แทบจะกลายเป็นอาณานิคมหนึ่งของจีนไปแล้ว หลังจากการเทการลงทุนของนายทุนและรัฐวิสาหกิจชาวจีนตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน Belt and Road Initiative ปัจจุบันนักลงทุนจีนถือครองทรัพย์สินในระดับเมืองของทั้งสองประเทศไปแล้ว ทั้งสร้างโรงแรม สร้างถนน
1
แถมลาวยังไปติดพันเรื่องสร้างระเบียงเศรษฐกิจอินโดจีนที่จะลากทางรถไฟจากคุนหมิงลงมายังลาวต่อเข้าโคราชอีก ลาวกับกัมพูชาเนี่ยจึงหมดโอกาสจะออกหน้าโวยวายกับรัฐบาลจีนไปเลย
ถ้าอย่างนั้น แล้วเวียดนามล่ะ? เวียดนามในปัจจุบันมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังอยู่ ก็ดูน่าจะสามารถมีสิทธิมีเสียง มีอำนาจต่อรองกับทางจีนมากกว่า 3 ประเทศแรกสิ ก็ยังไม่ได้อยู่ดีครับ เพราะถึงแม้เวียดนามจะมีความโน้มเอียงทางการเมืองไปหาสหรัฐอเมริกา แต่ในทางเศรษฐกิจจีนยังคงมีอิทธิพลต่อเวียดนามสูงมากพอตัว
ส่วนมหาอำนาจระดับภูมิภาคที่กระจายตัวอยู่รอบๆเอเชียในขณะนี้นั้น เกาหลีใต้ไม่ต้องพูดถึง เพราะเกาหลีใต้เราเห็นจุดยืนกันไปแล้วต่อประเด็นแม่น้ำโขง เกาหลีใต้แทบไม่คิดจะแตะจีนเลย สนแต่ผลประโยชน์และกรอบของตัวเองเท่านั้น
สำหรับอินเดียที่กำลังวุ่นอยู่กับเกมแข่งขันขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับจีนอยู่นั้น แม้จะมีแววว่าจะสามารถเข้ามาช่วยคานอำนาจกับจีนภายในภูมิภาคได้ แต่หากดูจากลักษณะนโยบายทางกลาโหมของอินเดียในปัจจุบันแล้ว อย่างมากผมคิดว่าโอกาสที่อินเดียจะแทรกเข้ามาในเกมชิงลุ่มน้ำโขงนี้ได้
1
น่าจะมีแค่ในมิติของปฏิบัติการซ้อมรบแบบทวิภาคีระหว่างประเทศใดประเทศหนึ่งในภาคีลุ่มน้ำโขงนี้เท่านั้นนะครับ (เช่น ซ้อมรบกับเวียดนาม) แต่การจะขยายผลไปกดดันจีนในเรื่องแม่น้ำโขงเพื่อช่วยเหลือประเทศแถบนี้ ออกจะดูเป็นไปได้ยากสักนิดหนึ่ง เพราะอินเดียเองก็มีเรื่องที่ยังคาใจกับจีนภายในเขตเอเชียใต้อยู่เป็นทุนเดิม
ผมคิดว่าตัวละครที่พอจะเป็นความหวังให้กับภูมิภาคนี้ได้น่าจะเป็นทางญี่ปุ่นนะครับ ที่พอจะมีสายป่านยาวพอที่จะเล่นเกมแย่งชิงอำนาจภายในลุ่มน้ำโขงกับจีนได้ (เพราะในปัจจุบันญี่ปุ่นเองก็ทะยอยทุ่มเงินสนับสนุนโครงการพัฒนาหลายๆโปรเจ็คให้กับประเทศในแถบๆนี้อยู่มาก่อนแล้ว ทั้งในพม่าและในไทยเอง)
แต่ก็อีกนั่นแหละ แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีขีดความสามารถเพียงพอ แต่ไม่ได้แปลว่าญี่ปุ่นจะออกมาประจัญหน้ากับจีนโดยตรงจากปัญหาเรื่องของเขื่อน เพื่อประเทศในแถบลุ่มน้ำ 5 ประเทศนี้ เพราะไม่มีความจำเป็นอะไร หรือมีเหตุผลสนับสนุนที่เพียงพอขนาดนั้น
จากที่ว่ามานี้ จึงพอจะสรุปได้สั้นๆว่าไทยกำลังลำบาก แม้ว่าไทยมีสัมพันธ์ที่ดีกับจีนในระดับที่ฝ่ายนโยบายหลายๆคนนิยามว่า ‘เป็นมหามิตร’ ก็ตาม แต่ด้วยลักษณะการบริหารจัดการผลประโยชน์ทางทรัพยากรแบบจีน แม้ไทยจะเป็นมหามิตรต่อจีน ถ้าจีนต้องการทรัพยากรในส่วนนี้ ประเทศเล็กๆอย่างไทยก็ยากที่จะปฏิเสธ (แถมเขื่อนก็เริ่มสร้างจนเสร็จไปหลายแห่งแล้ว)
เพราะไทยไม่มีข้อต่อรอง หรือ หมากข้อแลกเปลี่ยนที่มีพลังพอจะนำไปคานกับจีนได้ แถมมหาอำนาจระดับภูมิภาครอบๆนี้ก็แทบจะไม่มีใครใหญ่พอที่จะกล้าเปิดหน้าชนกับจีนเพื่อประเด็นแอ่งน้ำเล็กๆในแถบแม่โขงนี้เลย หลายประเทศในนี้ก็ยังจำเป็นต้องค้าขายกับจีนเป็นหลักอยู่
ยิ่งบวกกับสภาวะที่กลไกระหว่างประเทศ และกรอบความร่วมมือพหุภาคีชุดต่างๆไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เช่นนี้ คงยากที่ประเทศในแถบลุ่มน้ำโขง หรือ ไทย จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ทางฝั่งจีนได้
** แถมเกมแย่งแม่น้ำโขงนี้ยังไม่มีโอกาส หรือช่องว่างเพียงพอที่จะให้ไทยหยิบกลยุทธ์นกสองหัวมาใช้ได้ง่ายๆเหมือนตอน event สงครามการค้าด้วย สถานการณ์แม่น้ำโขงตอนนี้จึงถือว่าค่อนข้างวิกฤติของจริง มันยากมากๆที่จะมีอะไรบางอย่างมาสกัดการยึดครองแม่น้ำโขงของจีนในตอนนี้
โฆษณา