7 ธ.ค. 2019 เวลา 03:13 • การเกษตร
ว่าด้วยปุ๋ยหมัก มหัศจรรย์ปุ๋ยอินทรีย์ 2 – ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร 1
Cr.https://www.futurity.org/food-waste-biofuel-1464012/food-waste-compost-truck_1600/
เศษอาหาร หรือ food waste เป็นขยะที่เราคุ้นเคย เพราะเหลือทิ้งจากครัวเรือนหรือร้านอาหารจำนวนมาก
การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ใช้หลักการเอาจุลินทรีย์มาย่อยสลายเศษอาหารเหล่านี้
ประโยชน์ของการนำเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมัก คือ ช่วยรักษาโลกเพราะการทำให้ขยะเหลือศูนย์ (zero waste) ที่จะนำไปสู่ การสูญเสียที่เป็นศูนย์ (zero lost) อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วในตอนก่อน ๆ
แถมยังลดค่าใช้จ่ายในการจ้างการขนขยะนำไปทิ้ง และยังช่วยลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยหมักมาใส่ในสวนของเราอีกด้วย
ซึ่งน่าจะเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง
แต่อย่างที่คนไทยเราทราบ การปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 ที่ทรงมอบให้คนไทยทุกคน ซึ่งหากเรานำมาศึกษาเพื่อหาแนวทางเฉพาะตน ก็จะทำให้เราประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ไม่ยาก
เศษขยะในครัวเรือนบ้านเราส่วนใหญ่ เป็นจำพวก เศษข้าว เปลือกไข่ เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษเนื้อสัตว์ ฯลฯ การนำมาทำปุ๋ยหมักจะใช้เฉพาะกาก ดังนั้นจึงต้องแยกเอาน้ำออกเพื่อให้เหลือแต่กาก และจำเป็นต้องย่อยให้ชิ้นเล็กลง เพื่อไม่ให้ใช้เวลาในการหมักนานเกินไป
องค์ประกอบที่เป็นพระเอกที่สำคัญคือ จุลินทรีย์ประเภทที่ใช้ออกซิเจน เพราะจุลินทรีย์กลุ่มนี้ไม่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น และไม่ทำให้เกิดน้ำเสีย
ส่วนใหญ่แล้วแหล่งจุลินทรีย์ที่เหมาะสมต่อการนำมาทำปุ๋ยหมัก และหาได้ง่ายในบ้านเรา คือ มูลหรือขี้ของสัตว์ต่าง ๆ ได้แก่ ขี้วัว ขี้ไก่ ขี้แพะ ขี้ม้า
ขี้สัตว์เหล่านี้มีจุลินทรีย์อยู่หลายประเภทและมีจำนวนมาก จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ก็เก่งมากในเรื่องของการเพิ่มจำนวนอันมากมายมหาศาล
จุลินทรีย์ที่อยู่ในขี้สัตว์ เช่น เชื้อรา แบคทีเรียแอคติโนไมซีตส์ (Actinomycetes)
จุลินทรีย์ Actinomycetes ที่ขึ้นอยู่บนกองปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร Cr.www.transformcompostsystems.com
จุลินทรีย์เหล่านี้มีชีวิตอยู่ได้เพราะจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในการหายใจ ซึ่งเป็นการย่อยอาหารทำได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยจำนวนที่มีมากมายมหาศาลนั่นเอง ทำให้เศษอาหารกลายเป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น
ปุ๋ยหมักที่ได้จะมีธาตุไนโตรเจน (N) ซึ่งตัวจุลินทรีย์เองก็จำเป็นต้องใช้สำหรับการเจริญเติบโตและสร้างเซลล์จุลินทรีย์ด้วย
เศษใบไม้แห้ง ช่วยทำให้ปุ๋ยหมักของเรามีความโปร่ง พรุน ไม่อัดแน่น และแน่นอนว่า เพราะใบไม้เป็นอินทรียวัตถุ จึงมีส่วนประกอบของธาตุคาร์บอน (C) ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและสร้างเซลล์จุลินทรีย์เช่นกัน
อุปกรณ์และวิธีการทำได้ไม่ยาก ประยุกต์จากวิธีของมุกดา (2560)
อุปกรณ์ที่ต้องใช้ ได้แก่
1)ถังพลาสติก ขนาดขึ้นอยู่กับความสะดวก
2)ตาข่ายกันแมลงและเทปพันสายไฟ
3)เศษอาหาร 1 ส่วน มูลสัตว์ 1 ส่วน เศษใบไม้ 1 ส่วน (โดยส่วนนั้นให้คิดจากขนาดถัง)
วิธีทำ
1)ใช้เหล็กร้อน ๆ หรือสว่านเจาะรูรอบถังเพื่อเป็นช่องระบายอากาศ พันด้วยสายไฟเพื่อกันแมลงวันวางไข่
2)ใส่เศษอาหาร มูลสัตว์ เศษใบไม้ อย่างละ 1 ส่วน ลงในถัง สามารถทำได้ 2 แบบ
•ในกรณีที่มีเศษอาหารจำนวนมากพอที่จะทำให้เสร็จในครั้งเดียวเลย ทำโดยใส่ส่วนผสมทั้งสามอย่างทีเดียวตามขนาดกระถาง
•ในกรณีที่ปริมาณเศษอาหารมีน้อย ก็ให้ใช้มูลสัตว์และเศษใบไม้ตามสัดส่วน แล้วทำในแต่ละวัน จนกว่าจะเต็มถัง
3)ใช้ไม้คนคลุกเคล้าจนเข้ากันดี ปิดฝา
4)ช่วงแรกยังไม่ต้องเติมน้ำ แต่ต้องคอยใช้ไม้คนทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง เพื่อเป็นการเติมออกซิเจนให้กับจุลินทรีย์ของเรา
5)คอยสังเกตความชื้น ให้พรมน้ำเพิ่มไม่ให้แห้ง
6)ในช่วง 3-10 วันแรกจะมีความร้อนปล่อยออกมาเพราะจุลินทรีย์คายความร้อน
7)ประมาณ 1 เดือนจะทำให้ได้ปุ๋ยหมัก ซึ่งจะมีปริมาตรลดลงเหลือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของกระถาง
8)งดพรมน้ำเพื่อให้ปุ๋ยหมักแห้งสนิท และจุลินทรีย์หยุดทำงาน
9)สภาพของปุ๋ยหมักที่ได้จะต้องมีสีดำคล้ำ เปื่อยยุ่ย ร่วน น้ำหนักเบา และไม่มีกลิ่นเหม็น
ในตอนต่อไปจะมาเล่าให้ฟังถึงงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร
อ้างอิง
🌱มุกดา สุขสวัสดิ์. 2560. ปุ๋ยอินทรีย์ (ฉบับปรับปรุง) Organic fertilizer – กรุงเทพฯ : บ้านและสวน อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
🌱https://www.popsci.com/how-to-compost/
🌱https://www.zerowasteweek.co.uk/compost-cooked-food/
🙏เรียนเกษตรแล้วได้ดี 7 ธันวาคม 2562
โฆษณา