7 ธ.ค. 2019 เวลา 07:39 • ความคิดเห็น
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนใกล้ตัวถึงมักกลายมาเป็นศัตรูได้ง่ายกว่าคนไกลตัว?
ถ้าเราพิจารณาให้เห็นกันตามจริง เราจะพบว่าเรื่องนี้ไม่มีสิ่งใดที่ซับซ้อนและยากเกินที่จะเข้าใจ คนเรามักจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้างที่เราคบหาและมีปฏิสัมพันธ์ด้วยเสมอ
ด้วยความที่ต้องเจอ ต้องใช้ชีวิตร่วมกัน และมีกิจกรรมร่วมกันจึงทำให้ต่างคนต่างเห็นความเป็นมาเป็นไปของกันและกันมากกว่าชีวิตของผู้อื่นที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
ดั่งคำที่พระท่านเคยบอกเอาไว้ว่า
"การที่คนเราได้เกิดมาพบกันในฐานะต่างๆไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อนฝูง หรือคนรู้จัก ต่างคนต่างต้องเคยสร้างกรรมร่วมกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม เช่นนั้นแล้วการได้มาเจอกันจึงเป็นการพบกันเพื่อใช้กรรมที่เคยมีร่วมกันในอดีต"
จึงไม่น่าแปลกใจว่า คนที่คอยช่วยเหลือเรา ห่วงใยเรา สนับสนุนเรา นินทาเรา อิจฉาเรา ทำไม่ดีต่อเรา จะเป็นคนที่อยู่ในชีวิตและวงโคจรของเราเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะในชีวิตจริงเราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา
และก็ไม่แปลกอีกที่จะมีการเปรียบเทียบกันเองเกิดขึ้นในหมู่ของคนที่คบและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเพื่อน ที่ทำงาน คนรู้จัก ญาติ หรือแม้แต่กับพี่น้องด้วยกันเอง
เมื่อมีการเปรียบเทียบในทางอกุศลกรรมเกิดขึ้นก็ทำให้มีการกระทบกระทั่งกันอยู่บ่อยๆ เช่นพูดไม่เข้าหูกันก็โกรธกัน พูดข่มกันอวดมั่งอวดมีใส่กันก็ทำให้เกิดอารมณ์อิจฉาริษยาเกิดความโลภอยากได้อยากมีเกิดขึ้น แข่งกันได้ดิบได้ดีชิงดีชิงเด่นกันอย่างหน้ามืดตามัวเอาเป็นเอาตายเพื่อเอาชนะกัน อารมณ์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นอารมณ์พื้นฐานที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน
และทำไมถึงได้มีการเปรียบเทียบ?
อย่างที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้แล้วในงานเขียนที่ผ่านมาว่า สัญชาติญานของมนุษย์นั้นมักถือตนเองเป็นใหญ่ มนุษย์จึงให้ความรักและความสำคัญต่อตนเองมากกว่าคนอื่น เช่นนั้นแล้วมนุษย์เราจึงอยากเห็นตัวเองมีความสุข มีความสำคัญไม่น้อยหน้าไปกว่าคนอื่น ด้วยเหตุนี้เองมนุษย์จึงชอบเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา
ผู้เขียนจึงขอแบ่งความสัมพันธ์ออกเป็นสามแบบอย่างหยาบๆคือ
แบบที่หนึ่ง ความสัมพันธ์แบบเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน
เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นไปในทางสงบร่มเย็นเช่น สิ่งใดขาดตกบกพร่องก็จะคอยเติมเต็มให้แก่กัน คอยช่วยเหลือกัน เป็นห่วงเป็นใยกัน และคอยสนับสนุนสิ่งดีๆให้แก่กัน เป็นต้น ความสัมพันธ์แบบนี้จะเน้นสร้างบุญบารมีร่วมกัน
แบบที่สอง ความสัมพันธ์ที่รุ่มร้อน
ความสัมพันธ์แบบนี้เป็นเหมือนศัตรูคู่แข่งขันกันเช่น คอยเบียดเบียนกัน อิจฉาริษยากัน ใส่ร้ายกัน ทำร้ายกัน ชิงดีชิงเด่นกัน เป็นต้น ความสัมพันธ์แบบนี้จะเน้นบำรุงบำเรอกิเลสตัณหาให้แก่กันและกัน
แบบที่สาม ก็คือการรวมแบบที่หนึ่งและแบบที่สองเข้าด้วยกัน
ความสัมพันธ์ในแบบที่สามนี้พบเห็นได้บ่อยที่สุดในสังคมโลก เพราะการที่คนสองคนได้มาคบหากันบางครั้งก็สร้างกรรมดีต่อกันและบางทีก็สร้างกรรมชั่วต่อกัน และทำไมถึงสร้างกรรมดีอย่างเดียวหรือกรรมชั่วอย่างเดียวมิได้? นั่นก็เพราะว่าการที่เราใช้ชีวิตร่วมกันหรือทำกิจกรรมร่วมกันจะต้องมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา เหตุก็เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการสร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นกับตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นให้ได้ ด้วยการรู้จักสร้างความดีต่อผู้อื่นและสังคม ความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้จึงมีดีมีเสียปะปนกันไป
เราจะสังเกตเห็นได้ว่าเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนๆนึงแล้วเขาอาจจะมีทั้งดีและร้าย บางทีพูดดีบางทีพูดร้าย บางทีทำดีบางทีทำร้าย สลับกันไป...แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นธรรมดาของคน ธรรมดาของโลก เช่นนั้นแล้วหากเรารู้เท่าทันความธรรมดาและธรรมชาติที่เกิดขึ้นนี้ เราจะพบว่าไม่มีใครเลยสักคนที่น่าถือสา การที่ใครบางคนทำไม่ดีต่อเรานั้นเขาทำไปด้วยอำนาจของกิเลส ทำไปด้วยจิตที่รู้ไม่เท่าทันกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจตน
ดังนั้นแล้วคนเราเกิดมาพบกันมิใช่เรื่องง่ายในโลกนี้มีคนเป็นพันๆล้านคน แต่คนที่จะมาอยู่ในชีวิตเราและใช้ชีวิตร่วมกันกับเราจริงๆนั้นมีไม่เกินพันคน(มีคนเคยสำรวจว่าเต็มที่ก็แค่ประมาณสองร้อยกว่าคนเท่านั้นเอง) เมื่อเป็นอย่างนั้นก็จงรู้เท่าทันความธรรมดาเหล่านี้และประกอบแต่คุณงามความดีต่อกันเอาไว้เถิด เพราะไม่มีสมบัติใดที่ล้ำค่าและยั่งยืนไปกว่าความเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกันเลย
นามปากกา: หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข
โฆษณา