ปรากฏการณ์ “แม่น้ำโขง” ที่ไหลผ่านพื้นที่หลายจังหวัดในประเทศไทย “เปลี่ยนสี” จากโขงสีปูนขุ่นมัวเปลี่ยนเป็นสีครามน้ำใสจนเห็นผิวทรายใต้น้ำ สวยงามสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็น แท้ที่จริงแล้วคือ “หายนะ” คือ “สัญญาณอันตราย” ซึ่งบ่งชี้ว่าระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงกำลังถูกทำลายสิ้นเชิง
นี่ไม่นับรวมถึงระดับของแม่น้ำโขงที่ “แห้งขอดขั้นวิกฤต” และว่ากันว่าหนักสุดในรอบ 100 ปี โดยระดับน้ำต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร ทำให้แก่งหินโผล่ขึ้นกลางแม่น้ำ เกิดหาดทราย สันดอนทรายกลางแม่น้ำโขงเป็นบริเวณกว้าง
แน่นอนว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบมากมายต่อสิ่งมีชีวิตในลำน้ำนานาชาติสายใหญ่สายนี้
ทั้งนี้ วิกฤตแม่น้ำโขงแห้งขอดโดยเฉพาะพื้นที่ 7 จังหวัดภาคอีสาน จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี โดยเฉพาะเขตพื้นที่ อ.เชียงคาน อ.ปากชม ของจังหวัดเลย การลดลงของน้ำอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ป่าสองฝั่งโขงที่เป็นพืชธรรมชาติของสัตว์น้ำตายอย่างรวดเร็ว สัตว์น้ำเล็กและตัวอ่อนตายเกลื่อนเพราะไม่สามารถหนีได้ทัน ส่วนปลาใหญ่ที่หนีลงแหล่งน้ำใหญ่ก็ถูกชาวบ้านจับหมด กระทบผู้คนริมฝั่งแม่น้ำโขง ความมั่นคงทางอาหาร อาชีพดั้งเดิมของชุมชน รวมทั้ง จะกระทบต่อการทำการเกษตรโดยเฉพาะการทำนา นับเป็นจุดวิกฤตของระบบนิเวศน์
สำหรับกรณีแม่น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีฟ้าคราม น้ำใสจนมองเห็นผิวทรายด้านล่าง ในเชิงวิชาการเป็นปรากฏการณ์ที่เรียก “Hungry Water Effect” หรือ “น้ำหิว” เป็นภัยพิบัติทางนิเวศครั้งร้ายแรงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากเขื่อนสำหรับผลิตกระแสไฟ ทั้งใน สปป.ลาว และอีกหลายต่อหลายเขื่อนในประเทศจีน ที่สร้างเหนือลุ่มแม่น้ำโขงแห่งนี้
สำหรับปรากฏการณ์ “น้ำหิว” คือน้ำที่ถูกกักมาหลังเขื่อนและไหลช้าในฤดูนี้ ตะกอนจะตกอยู่ในอ่างเก็บน้ำท้ายเขื่อนหมด ที่นี้ น้ำที่ปล่อยออกมาจะเป็นน้ำใสไม่มีตะกอน น้ำพวกนี้หิวตะกอน ผ่านตลิ่งผ่านท้องน้ำตรงไหนก็ดึงเอาตลิ่งตรงนั้นออกมา เกิดการกัดเซาะตลิ่งและพื้นท้องน้ำมากกว่าปกติ
นายจิรศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่าแม่น้ำโขงช่วงเขต อ.เชียงของ จ.เชียงราย เริ่มเปลี่ยนสี โดยมีลักษณะใสขึ้นอย่างผิดสังเกตตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ น้ำที่เปลี่ยนสีสอดคล้องกับระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ยกตัวสูงขึ้นเป็นระยะ แม้จะเข้าสู่ฤดูแล้งที่ระดับน้ำแม่น้ำโขงควรลดลง
“จากสภาพการณ์ดังกล่าวชี้ชัดเจนว่าสภาพน้ำแม่น้ำโขงที่ใสผิดปกติ เป็นน้ำที่เพิ่งปล่อยออกมาจากเขื่อนในประเทศจีน เพื่อยกระดับน้ำในแม่น้ำโขง ให้เรือสินค้าจีนสามารถเดินเรือค้าขายในแม่น้ำโขงได้ในช่วงฤดูแล้ง” นายจิรศักดิ์ กล่าว
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ความว่า “สีของน้ำในแม่น้ำโขงที่เป็นสีครามเกิดจากน้ำในแม่น้ำโขงใส ไร้ตะกอนในน้ำ และการใสไร้ตะกอน ผิวน้ำจึงเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนแสงของท้องฟ้ากลายเป็นสีคราม แต่หากลงไปดูดีๆ น้ำในแม่น้ำโขงใสมาก ทางวิชาการเรียกภาวะแบบนี้ว่า Hungry river แปลว่า ภาวะไร้ตะกอน แต่จะให้เข้าใจเลยก็คือเกิดภาวะสายน้ำที่หิวโหย
“ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานับแต่แม่น้ำโขงเป็นที่รู้จักของชาวตะวันตก แม่น้ำโขงจะได้รับฉายาจากผู้สื่อข่าว นักทำสารคดี นักเขียนว่า Mighty Mekong สายน้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์ สีของสายน้ำนี้จะเป็นสีปูน เพราะมีตะกอนที่เกิดจากการกษัยการ (หรือการพังทลาย) ของหินและดินหอบมากับสายน้ำ ตะกอนที่พัดพามากับสายน้ำโขง เมื่อน้ำโขงไหลไปตามสายน้ำ และมีแม่น้ำสาขาไหลลงมาบรรจบก็จะทำให้เกิดแม่น้ำสองสีในแทบทุกที่ เช่น ที่ปากมูลก็เกิดแม่น้ำสองสี โขงสีปูน มูลสีครามคือน้ำสาขาจะมีสีคราม แต่น้ำโขงมีสีปูน อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้แม่น้ำโขงไม่ได้เป็น Mighty Mekong อีกแล้ว กลายเป็น Hungry Mekong”
ดร.ไชยณรงค์ สะท้อนข้อเท็จจริงว่ามีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าเหนือ “เขื่อนไซยะบุรี” มีน้ำเต็มและนิ่ง ขณะที่ท้ายเขื่อนน้ำแห้ง หลายแห่งที่เคยมีน้ำมองดูราวกับทะเลทรายเหลือแต่น้ำในร่องน้ำลึกที่ยังไหล ถ้าน้ำโขงกว้างก็จะไหลเอื่อย หากแคบมีแก่งน้ำก็พอยังจะเชี่ยว แต่ไม่ได้ไหลแรงตามธรรมชาติ โดยเขื่อนจะปล่อยน้ำในช่วงผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเรียกง่ายๆ ว่าตอนนี้เขื่อนได้ควบคุมน้ำโขงไว้ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “น้ำโขงถูกล่ามโซ่”
“เมื่อน้ำโขงถูกควบคุม น้ำเหนือเขื่อนที่ลึกและนิ่ง ทำให้ตะกอนที่พัดพามากับสายน้ำเหนือเขื่อนและอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อน การปล่อยน้ำผ่านเทอร์ไบน์ต้องมีระดับน้ำที่ต่างกัน ซึ่งเรียกว่า head เขื่อนไหนๆ ก็มี เขื่อนไซยะบุรีที่เรียกว่าเขื่อนน้ำไหลผ่าน (run-off river dam) ก็ต้องมี head และ head ที่นี่ก็หลายสิบเมตร น้ำที่ไหลผ่านเทอร์ไบน์ลงท้ายเขื่อนจึงเป็นน้ำที่ไม่มีตะกอน
กรณีแม่น้ำโขง นอกจากตะกอนทับถมเหนือเขื่อนแล้ว ทางท้ายเขื่อน เมื่อน้ำไม่ไหลเชี่ยวเหมือนเดิมนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา บริเวณที่เป็นหาดทราย แก่งหิน และป่าน้ำท่วม (ป่าไคร้) เช่น ที่พันโขดแสนไคร้ น้ำที่เคยไหลเอื่อยก็แทบไม่ไหล และบ่อยครั้งที่น้ำลดจนแห้งราวขอด บริเวณที่น้ำไหลเอื่อยๆ ตามธรรมชาตินี่แหละที่ทำให้หาดทราย ป่าไคร้ เป็นบ้านของสัตว์น้ำเล็กๆ ทั้งหอย ปู ปลา กุ้ง ที่อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำที่ไหลมาจากข้างบน
การที่น้ำโขงแห้งเพราะถูกล่ามโซ่ นอกจากทำให้ต้นไม้ตายเพราะไม่จมอยู่ใต้น้ำตามวัฏจักรแล้ว สัตว์น้ำจำนวนมากก็ตายด้วย และยังทำให้ตะกอนที่พอจะเหลือจากที่ถูกกักไว้เหนือเขื่อนเกิดการตะกอนอีกครั้ง ป่าไคร้ที่พันโขดแสนไคร้จึงมีตะกอนทับถมสูง บางจุดตะกอนทับถมเหลือแต่ปลายต้นไคร้ บางจุดสูงมากกว่า 2 เมตรเมื่อตะกอนถูกกักไว้เหนือเขื่อนและยังตกตะกอนบริเวณที่เคยเป็นหาดทรายและป่าน้ำท่วม ยิ่งไกลจากท้ายเขื่อนน้ำก็ยิ่งใสราวกระจก และเมื่อสะท้อนแสงจากท้องฟ้าก็ยิ่งกลายเป็นสีคราม แต่คือสัญญาณอันตรายของแม่น้ำสายนี้”
อนึ่ง ความสำคัญของตะกอน คือธาตุอาหารที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของพืชน้ำ เมื่อสายน้ำโขงเกิดภาวะไร้ตะกอน ความอุมดสมบูรณ์ของพืชน้ำก็ลดตามลง แม่น้ำโขงบริเวณที่เคยมี ตะไคร่น้ำ หรือเรียกว่า เทา หรือ ไก เวลานี้ไม่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งบริเวณที่เกิดตะไคร่น้ำจะมีปลามาเล่นน้ำเป็นแหล่งอาหารและผสมพันธุ์ แต่ปัจจุบันวัฏจักรเหล่านี้หายไป
“แม่น้ำโขงในภาวะไร้ตะกอนจะส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง เพราะการขาดธาตุอาหารที่ไหลมากับน้ำจะส่งผลกระทบต่อสาหร่าย พันธุ์พืชขนาดเล็กๆ ไปจนถึงพันธุ์พืชขนาดใหญ่ ซึ่งอาจรวมไปถึงป่าน้ำท่วมแถบสตึงเตร็งในกัมพูชา” ดร.ไชยณรงค์ ระบุชัด
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ระบุว่าหากมีการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเต็มรูปแบบตามที่ได้วางแผนไว้ในลุ่มน้ำโขง จะก่อให้เกิดการลดลงของการพัดพาตะกอนในแม่น้ำอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในเขตประเทศเวียดนาม โดยผลการศึกษาคาดการณ์ว่า ภายในปี 2563 ตะกอนแม่น้ำโขงจะหายไปจากระดับปกติราว 67 % และหากสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงตัวเลขการหายไปของตะกอนจะเพิ่มขึ้นเป็น 97 % ในปี 2583
ทั้งนี้ การสูญเสียตะกอนปริมาณมหาศาลจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ธรณีสัณฐานริมตลิ่งตลอดทั้งลำน้ำ และความอยู่รอดของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
เครดิต: ผู้จัดการออนไลน์
โฆษณา