8 ธ.ค. 2019 เวลา 04:31 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
* สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Extreme weather) หนึ่งในผลกระทบจากโลกร้อน?
สภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ตลอดช่วงเวลา 650,000 ที่ผ่านมามีการเกิดยุคน้ำแข็งวนเป็นวัฎจักรใหญ่ๆถึง 5 ครั้ง จนเมื่อกระทั่งหมดยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายประมาณ 7,000 ปีที่ผ่านมาโลกจึงเข้าสู่ช่วงอากาศอุ่นขึ้นในยุคปัจจุบันพร้อมๆกับการกำเนิดมนุษย์ และเตรียมตัวที่จะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งถัดไปในอีกหมื่นปีข้างหน้า
แต่ขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับสภาวะอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 95% เกิดจากฝีมือของมนุษย์ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเรื่อยมา จนนักวิทยาศาสตร์หลายคนกังวลว่าจะเป็นการชะลอการเข้าสู่ยุคน้ำแข็งครั้งถัดไป
Paleozoic era (http://p4nicoles-gts.weebly.com/paleozoic-era.html)
จากข้อมูลของนาซ่า climate.nasa.gov ระบุว่าสภาวะโลกร้อนได้เกิดขึ้นแล้วและกำลังส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ทีละน้อย หลายๆปัญหาสามารถเก็บหลักฐานได้ชัดเจน เช่น อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น, อุณหภูมิน้ำทะเลอุ่นขึ้น, การหายไปของธารน้ำแข็ง, ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แต่บางปัญหาก็ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงแน่นอน เช่น การที่โลกเกิดสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว
1
ถึงแม้จะบอกไม่ได้อย่างชัดเจนว่าสภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme weather) เป็นผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนโดยตรง แต่โลกของเรากำลังประสบปัญหาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนและส่งผลชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เช่นในหลายๆประเทศที่โดนคลื่นความร้อนโจมตีในช่วงหน้าร้อนหรือความแห้งแล้งของประเทศออสเตรเลียที่จะทำให้พื้นที่บางส่วนขาดแคลนน้ำดื่ม หน้าหนาวที่มีความหนาวรุนแรงขึ้น เช่น เหตุการณ์ในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อปลายเดือนมกราคม 2019 ที่ผ่านมา ด้วยอิทธิพลเสริมจากลมขั้วโลก (Polar vortex) ทำให้มีอุณหภูมิต่ำสุดในรอบ 34 ปี นอกจากนี้ยังมีบันทึกว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 โดย Ashlee Rezin/Sun-Times (chicago.suntimes.com)
เหตุการณ์ที่เป็นผลต่อเนื่องของสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว คือ
• ความร้อนและความแห้งแล้ง
สิ่งที่ทำให้คลื่นความร้อน (Heat waves) เป็นอันตรายต่อมนุษย์และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอยู่เรื่อยๆมีสาเหตุมาจากทั้งอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ นอกจากนี้ความร้อนยังทำให้เกิดการระเหยของน้ำจากพื้นดิน ส่งผลให้แผ่นดินแห้งในช่วงหน้าร้อน เกิดเป็นปัญหาภัยแล้ง
• พายุและน้ำท่วม
ไอน้ำที่ระเหยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศถูกสะสมเป็นปริมาณมาก ส่งผลให้พายุมีความรุนแรงมากขึ้นและมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น ดังที่ปรากฎในข่าวช่วงหลายปีมานี้ว่ามีรายงานการเกิดพายุไต้ฝุ่นและพายุเฮอร์ริเคนที่มีความรุนแรงระดับ 4-5 บ่อยครั้ง ทั้งที่เมื่อก่อนพายุความรุนแรงระดับนี้จะเกิดขึ้นได้น้อย อาจใช้เวลาในรอบหลักสิบปี
1
แต่ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาโลกร้อนกับความรุนแรงของพายุ แต่ด้วยระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดคลื่นทะเลพัดเข้าชายฝั่งรุนแรง (Storm surge) และนำมาซึ่งปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณชายฝั่งอย่างแน่นอน
• พายุหิมะและอากาศหนาวเย็น
ผลจากการที่มีความชื้นและปริมาณไอน้ำในชั้นบรรยากาศสูง เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งจึงทำให้มีปริมาณหิมะตกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาว่าความร้อนที่เพิ่มขึ้นบริเวณขั้วโลกเหนือจะกระทบการไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทร ทำให้ลมหนาวจากขั้วโลกเดินทางได้ไกลขึ้น ส่งผลให้บริเวณแถบตะวันออกของอเมริกาเผชิญกับความหนาวเย็นเป็นบริเวณกว้าง
1
NASA
อย่างไรก็ตาม เราควรแยกระหว่างคำว่า ‘สภาพลมฟ้าอากาศ’ และ ‘สภาพภูมิอากาศ’ ออกจากกัน คำว่าสภาพภูมิอากาศมีนิยามว่าเป็นค่าเฉลี่ยของสภาพอากาศอย่างน้อย 30 ปี ดังนั้นเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วอย่างพายุหิมะ, เฮอร์ริเคน หรือภัยแล้ง ก็ยังไม่สามารถบอกอย่างตรงไปตรงมาได้ว่าโลกกำลังร้อนขึ้นหรือเย็นลง
ยังมีนักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ความแปรปรวนในแต่ละฤดูไม่ได้เป็นหลักฐานของสภาวะโลกร้อน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ซะทีเดียวว่าไม่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งคงได้แต่บันทึกข้อมูลเป็นสถิติเก็บไว้และรอดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
References/อ้างอิง>>
โฆษณา