9 ธ.ค. 2019 เวลา 06:09 • ประวัติศาสตร์
อนาคตอันเลือนราง'กระซู่'
แรดสองนอที่ใกล้จะสูญพันธุ์
1.สัตว์หลายชื่อ
.
กระซู่ หรือแรดสุมาตรา, แรดสองนอ, แรดขน (Sumatran rhinoceros) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dicerorhinus sumatrensis เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกแรดสองนอ หนักราว 700–800 กิโลกรัม ลำตัวยาว 2.4–3.1 เมตร สูงประมาณ 1.2–1.5 ม. อายุเฉลี่ย 30–45 ปี กินพืชเป็นอาหาร ลักษณะพิเศษคือมีขนยาวปกคลุม มี 2 นอ เหมือนแรดแอฟริกา และมีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาแรดทั้งหมด 5 สายพันธุ์
.
กระซู่เคยกระจายตัวอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น ป่าพรุ และ ป่าเมฆในประเทศอินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ เมียนมา ลาว ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมณฑลเสฉวน
.
กระซู่สามารถส่งเสียงได้ดีกว่าแรดพันธุ์อื่น พวกมันมักส่งเสียงแหลมเพื่อสื่อสารและหาคู่ ขณะที่กระซู่ตัวน้อยมักส่งเสียงในยามที่เล่นสนุก หรือร้องขออาหาร ในวันที่อากาศร้อน กระซู่ลดความร้อนของร่างกายโดยการเกลือกตัวกลิ้งในบ่อโคลน
.
.
2.ตำนานความเชื่อสมัยโบราณ
.
ชาวจีนโบราณเชื่อว่า ภาชนะที่ทำจากนอแรดสามารถใช้ตรวจหายาพิษได้ เพราะเมื่อเทเครื่องดื่มที่มียาพิษผสมลงถ้วยน้ำที่ทำจากนอแรด ฟองอากาศจะก่อตัวขึ้น นอกจากนี้ ชาวจีนโบราณยังนิยมใช้นอแรดทำจอกเหล้าสำหรับประกอบศาสนพิธีหรือให้เป็นของขวัญ
.
ในปี 2011 ที่งานการประมูลของเก่าชื่อ แอนทีกส์ โรดโชว์ (Antiques Roadshow) เมืองทัลซาร์ สหรัฐอเมริกา มีผู้ประมูลจอกเหล้าจีนสมัยศตวรรษที่ 17–18 ทำจากนอแรดจำนวน 5 ใบ ในราคาจอกละ 1–1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30–45 ล้านบาท)
.
ด้านชาวเมียนมาเคยเชื่อว่า กระซู่กินไฟเป็นอาหาร พวกมันจะตามหาเปลวไฟที่มนุษย์ก่อไว้เพื่อย่ำให้ไฟมอด ชาวเมียนมานิยมล่ากระซู่ในคืนพระจันทร์เต็มดวง ช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี เพราะพวกมันชอบมารวมตัวกันเวลานั้น
.
ชาวมาเลย์เคยมีความเชื่อว่า นอของกระซู่เป็นยาปลุกเซ็กซ์ขนานแรง พวกเขามีเรื่องเล่าของแรดสองนอตัวนี้หลายเรื่อง เช่น สามารถหายใจใต้น้ำผ่านนอ หรือพ่นน้ำด้วยนอ เพราะนอของมันกลวง อีกเรื่องคือพวกมันจะผลัดนอใหม่ทุกปี (ชาวสุมาตราก็เชื่อเช่นเดียวกัน) และฝังนอของมันใต้ดิน ชาวมาเลย์จะแกะไม้ให้มีรูปทรงเดียวกัน และฝังแทนที่นอจริงเพื่อไม่ให้แรดรู้ตัว เท่านี้ชาวมาเลย์ก็มีนอให้เก็บเกี่ยวทุกปี นอกจากนี้ ยังมีแรดพันธุ์หายากและดุร้ายชื่อว่า แรดไฟ (badak api)
.
ในส่วนของชาวเกาะบอร์เนียวเคยเชื่อว่า กระซู่ หรือแรดสุมาตราอาจจะฝังอุจจาระลงใต้แม่น้ำ เมื่อปลาบริเวณนั้นลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำ พวกมันก็จะจู่โจมเข้ากินปลาเหล่านั้นเป็นอาหาร ทั้งที่กระซู่เป็นสัตว์กินพืช พวกเขายังกล่าวว่ากระซู่เป็นสัตว์ที่กรนเสียงดัง ทำให้ล่าได้ง่าย
.
.
3.ฝูงสุดท้ายของมาเลเซีย
.
หลายสิบปีที่แล้ว ไม่มีใครเคยเห็นกระซู่ หรือแรดสุมาตราในมาเลเซีย กระทั่งมีพระเอกและนางเอก 3 ตัว ปรากฏตัวมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
.
วันที่ 13 สิงหาคม 2008 กระซู่เพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี ปรากฎตัวขึ้นบริเวณไร่ปาล์มน้ำมันของบริษัทครีทัม เขตตาวาว รัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย กระซู่ตัวนี้ไม่ยอมกลับเข้าป่า ผู้เชี่ยวชาญจึงย้ายมันไปยังสถานคุ้มครองแรดแห่งบอร์เนียว (Borneo Rhinoceros Sanctuary) ในสถานคุ้มครองสัตว์ป่าตาบิน (Tabin Wildlife Reserve) พวกเขาตั้งชื่อเล่นมันว่า ครีทัม หรือ ทัม (Tam) ทัมอาศัยอยู่ที่นั่นจนอายุประมาณ 31 ปี และเสียชีวิตวันที่ 27 พฤษภาคม 2019 ด้วยอาการอวัยวะล้มเหลว สืบเนื่องจากไตและตับล้มเหลว เพราะความชรา
.
ต่อมา ปี 2011 มีผู้พบกระซู่เพศเมียตัวหนึ่งในป่า พวกเขาตั้งชื่อมันว่า ปุนตุง (Puntung) และย้ายมันมาดูแลที่สถานคุ้มครองสัตว์ป่าตาบิน ด้วยความหวังว่าจะปุนตุงจะเริ่มผสมพันธุ์กับตัม แต่ปรากฏว่าปุนตุงมีถุงน้ำ (ซีสต์) ในมดลูก จึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ สัตวแพทย์ตรวจพบฝีที่แก้มของปุนตุงในเดือนเมษายน 2017 ถึงแม้จะรักษาถึงขึ้นผ่าตัดฟันกรามออก แต่อาการฝีที่แก้มกลับรุนแรงและขยายใหญ่จนปุนตุงหายใจผ่านจมูกซ้ายไม่ได้
.
สุดท้ายสัตวแพทย์ตัดสินใจทำการุณยฆาต วันที่ 15 มิถุนายน 2017 เพื่อไม่ให้มันทรมานต่อไป รวมอายุขัย 25 ปี
.
เดือนมีนาคม 2014 มีผู้พบกระซู่เพศเมียอีกตัวบริเวณหุบเขาดานัม (Danum) เขาตั้งชื่อมันว่า อิมัน (Iman) ก่อนย้ายมันไปยังสถานคุ้มครองสัตว์ป่าตาบิน ร่วมกับทัมและปุนตุง ความพยายามผสมพันธุ์อิมันล้มเหลว เพราะการห่างหายจากการผสมพันธุ์เป็นเวลานาน ทำให้ท่อสืบพันธุ์ของอิมันมีซีสต์และเนื้องอก อิมันจึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ อิมันเกือบตายหลายครั้งเพราะเสียเลือดมาก เนื่องจากเนื้องอกในมดลูก ซึ่งขยายตัวจดกดทับกระเพาะปัสสาวะของอิมัน
.
อิมันสิ้นลมด้วยอาการช็อก เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2019 ขณะมีอายุประมาณ 25 ปี ถือเป็นกระซู่ หรือแรดสุมาตราตัวสุดท้ายของมาเลเซีย
.
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า รัฐบาลมาเลเซียจะสตัฟฟ์อิมัน เพื่อเป็นอนุสรณ์ของกระซู่ตัวสุดท้ายของมาเลเซีย เช่นเดียวกับตัม ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียได้สตัฟฟ์และจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ซาบาห์
.
.
4.อนาคตอันเลือนรางของกระซู่
.
ระหว่างที่กระซู่ทั้งสามตัวยังมีชีวิตอยู่ สัตวแพทย์ได้เก็บตัวอย่างเซลล์ไข่และอสุจิ โดยหวังว่าวันหนึ่งจะสามารถเพาะพันธุ์ขึ้นมาใหม่
.
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2019 เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ของมาเลเซีย เดอะสตาร์ออนไลน์ (The Star Online) ระบุว่า ดร. เซเวียร์ จายาคุมาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำ ที่ดิน และทรัพยากรมาเลเซีย กล่าวว่า จะเร่งลงนามบันทึกความเข้าใจ (memorandum of understanding หรือ MoU) ร่วมกับอินโดนีเซีย เพื่อผสมเซลล์ไข่ของอิมัน กับเซลล์อสุจิของแรดสุมาตราเพศผู้ของอินโดนีเซีย
.
ปัจจุบันอินโดนีเซียมีกระซู่อยู่ในสถานคุ้มครองสัตว์สงวน 7 ตัว ขณะที่ในป่าธรรมชาติน่าจะมีประมาณไม่เกิน 80 ตัว
.
.
เรื่อง: พชร อังคเรืองรัตนา
ภาพประกอบ: เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
.
.
อ้างอิง
Walter William Skeat. (1965). Malay Magic: An Introduction To The Folklore And Popular Religion Of The Malay Peninsular.
.
.
#กระซู่ #แรดสุมาตรา #sumatranrhinoceros #sumatran #rhinoceros #สูญพันธุ์ #มาเลเซีย #Malaysia #gypzyworld #สำนักพิมพ์ยิปซี
.
//////////
โฆษณา