9 ธ.ค. 2019 เวลา 08:27 • ประวัติศาสตร์
วันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
วันนี้ในอดีต 9 ธันวาคม พ.ศ. 2467 เวลา 15.14 น. ณ คุ้มรินแก้ว เป็นวันสิ้นพระชนม์ของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระชนมายุ 60 ปี
Pix from Internet
ครั้งหนึ่งฉันเคยเขียนเรื่องของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เนื่องในวันคล้ายวันประสูติของท่าน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากมีโอกาสไปเชียงใหม่ครั้งล่าสุด และเป็นครั้งแรกที่ได้ไป ' วัดป่าดาราภิรมย์ " เมื่อเดือนกรกฎาคม แล้วไปนั่งน้ำตาไหลพราก ๆ ราวกับเปิดก๊อกอยู่ในหอแก้วคนเดียวอยู่ 10 นาทีอย่างงง ๆ ตัวเอง ฉันได้อ่านประวัติของพระองค์ท่านเพิ่มเติมจากที่เคยได้ยินแต่ชื่อท่านอย่างเดียว
จากที่ได้อ่านคำอธิบายสั้น ๆ ที่กล่าวถึงท่านว่า " เจ้าดารารัศมี เป็นเจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักรจากนครเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม โดยการถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา " สนใจอ่านต่อเรื่องของพระองค์ ...
พระนาม ดารารัศมี ณ เชียงใหม่
พระอิสริยยศ พระราชชายา
ฐานันดรศักดิ์ เจ้านายฝ่ายเหนือ
ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี (โดยการเสกสมรส)
ราชวงศ์ ทิพย์จักร (ประสูติ)
ข้อมูลส่วนพระองค์
ประสูติ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416
สิ้นพระชนม์ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476
พระบิดา
• พระเจ้าอินทวิชยานนท์
พระมารดา
• แม่เจ้าเทพเกสร
พระสวามี:
• พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุตร:
• พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี
ฉันชอบดูหนังดูละครเกี่ยวกับเจ้าผู้ครองนครทางเหนือ ๆ ผู้ครองนครโน้นนครนี้ ก็สนุกดีนะ ชอบคอสตูมชุดของตัวละครทางเหนือ สวยมากทุกเรื่อง อย่างเรื่องรากนครา นี่ชอบมากเจ้าน้อย ๆ ไม่รู้ทำไมเจ้าเมืองเหนือมักชื่อ " เจ้าน้อย " เยอะเหมือนกันนะ ฉันชอบภาษาพูดของคนเหนือ เพราะเพลินหูดี น้องที่ทำงานเป็นคนเชียงใหม่อยู่คนหนึ่ง เวลาน้องคุยกับลูกค้าเชียงใหม่ นางก็จะอู้คำเมืองตลอด ก็ม้วนขนาดละ ฉันชอบพูดเล่นกับคนเหนือ อู้บ่จ่างก็อยากจะอู้กับเขาด้วย
เคยมีคนเข้าใจผิดว่าเจ้าพ่อของพระองค์เป็นเจ้าครองนครเชียงใหม่ พระองค์สุดท้าย แต่ไม่ใช่นะคะ ท่านพ่อของท่านเป็นผู้ครองนครเป็นอันดับที่ 7 ยังมีเจ้าผู้ครองนครต่อจากนั้นอีก 2 พระองค์
ราชวงศ์ทิพย์จักร เป็นราชวงศ์ที่ปกครองทั้งนครลำปาง นครเชียงใหม่ และนครลำพูน เฉพาะลำดับของเจ้าผู้ครองนครของเมืองเชียงใหม่อย่างเดียวก็ 157 ปีเชียวนะเนี่ย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2325 - พ.ศ. 2482
1 พระเจ้ากาวิละ
2325 - 2356 (31 ปี)
2 พระยาธรรมลังกา
2356 - 2365 (11 ปี)
3 พระยาคำฟั่น
2366 - 2368 (2 ปี)
4 พระยาพุทธวงศ์
2369 - 2389 (20 ปี)
5 พระเจ้ามโหตรประเทศ
2390 - 2397 (7 ปี)
6 พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์
2399 - 2413 (14 ปี)
7 พระเจ้าอินทวิชยานนท์
2416 - 2439 (23 ปี)
8 เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
2444 - 2452 (8 ปี)
9 เจ้าแก้วนวรัฐ
2454 - 2482 (28 ปี)
อาจจะเป็นเพราะเรื่องการเมืองก่อนเรื่องความรักในสมัยนั้น ที่เจ้านายในพระราชวงศ์ทิพย์จักรได้อภิเษกสมรสกับพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ จึงทำให้พระราชอาณาจักรล้านนาเดิมกับกรุงรัตนโกสินทร์ รวมตัวกันเป็นหนึ่งในนามสยามประเทศ ในหลายพระองค์นั้นมี 2 พระองค์ที่มีบทบาทสำคัญคือ... " เจ้าศรีอโนชา " พระอัครชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 และ " เจ้าดารารัศมี " พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
.
เจ้าดารารัศมีทรงพระอักษรได้ทั้งของล้านนา สยาม และภาษาอังกฤษอย่างดี คล่องแคล่ว อีกทั้งยังทรงศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ จนเป็นผู้รอบรู้ในด้านขนบประเพณีอันเก่าแก่ที่ดีที่สุดคนหนึ่ง และค่อนข้างเป็นแม่หญิงที่ทันสมัยในยุคนั้น เรื่องกีฬาก็ทรงโปรดการขี่ม้าอีกด้วย
พระองค์เป็นเจ้าหญิงล้านนา ที่ทรงไว้จุกมาตั้งแต่เล็กเหมือนชาวสยาม โดยปกติเด็ก ๆ ที่ไว้จุกเมื่ออายุ 11-13 ปีจะมีพิธีโกนจุก แสดงถึงการเปลี่ยนช่วงวัยเด็กแล้ว
การโกนจุกในวังหลวงใช้คำว่า " พระราชพิธีโสกันต์ " เป็นพระราชพิธีโกนจุกของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน รวมทั้งเจ้านายระดับพระองค์เจ้าขึ้นไปเท่านั้น
ในปี พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ฯ พระราชทานแก่เจ้าหญิงดารารัศมีเหมือนเจ้านายใน "ราชวงศ์จักรี" เป็นกรณีพิเศษ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชา อัญเชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชร ไปพระราชทานเป็นของเฉลิมพระขวัญแก่เจ้าหญิงดารารัศมีด้วย โดยนัยยะว่าเป็นของทรงหมั้น
 
พ.ศ. 2429 เจ้าดารารัศมีโดยเสด็จพร้อมพระราชบิดามายังพระนคร ถวายตัวเป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และประทับอยู่ที่กรุงเทพพระมหานครนับแต่นั้นเป็นต้นมา จบจนพระสวามีเสด็จสวรรคต พระราชชายาจึงทูลขอล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 กลับไปประทับที่นครเชียงใหม่จนถึงวาระสุดท้าย
.
1
Pix from Internet
ในกรุงเทพมหานคร มีพระตำหนักของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ริมถนนจากประตูราชสำราญ เป็นตำหนักขนาดใหญ่ 3 ชั้นสีแดงสลับเขียว ที่ทรงสร้างขึ้นโดยพระราชทรัพย์ของพระบิดา พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ปัจจุบันมีการปรับปรุงทาสีใหม่ แต่ไม่มีการเปิดให้เข้าชมภายใน
Pix from Internet
ยังมี " บ้านพายัพ " Dara Rasmi's Palace คฤหาสน์ยุโรปโบราณตั้งอยู่แยกศรีย่าน ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างพระราชทานแก่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา เพื่อใช้เป็นที่รับรองประยูรญาติจากทางเหนือ
เมื่อเจ้าดารารัศมีเสด็จไปประทับที่นครเชียงใหม่เป็นการถาวรแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระตำหนักนี้จึงเปลี่ยนมาเป็นบ้านพักของพระยาดำรงแพทยคุณ (ฮวด วีระไวทยะ) แพทย์ในพระองค์สมเด็จพระพันปีหลวง แล้วจึงกลายมาเป็นศูนย์ดำเนินการผู้อพยพ หน่วยงานในความดูแลของกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน
.
Pix from Internet
Pix from Internet
พระตำหนักสุดท้ายของพระองค์คือ พระตำหนักดาราภิรมย์ ทรงประทับและทรงใช้พระตำหนักหลังนี้ปฏิบัติพระกรณียกิจต่าง ๆ ทั้งทางด้านการเกษตรและศิลปวัฒนธรรม หลังสิ้นพระชนม์ มีการปรับปรุง และตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2542 ได้มีการเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ และพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ภายในการดูแลของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.
Pix from Internet
รอบ ๆ พระตำหนักดาราภิรมย์ ทรงปลูกต้นกุหลาบจุฬาลงกรณ์ไว้โดยรอบตั้งแต่พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพ เพราะทรงโปรดดอกกุหลาบสีชมพูเป็นพิเศษ และเป็นการน้อมรำลึกถึงพระสวามี
“กุหลาบจุฬาลงกรณ์” ชื่อตามพระนามาภิไธย รัชกาลที่ 5 มีหลักฐานปรากฎเป็นบันทึกในพระราชหัตถเลขา พระราชนิพนธ์ไกลบ้านไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้ผู้ปลูกกุหลาบชาวเยอรมันเข้าเฝ้า เพื่อทูลเกล้าฯถวายกุหลาบพันธุ์นี้ พร้อมขอพระราชทานนามชื่อเรียกว่า “คิงส์ ออฟ สยาม” เป็นกุหลาบดอกเดี่ยว ลำต้นไม่มีหนาม ดอกสีชมพูขนาดโต มีกลิ่นหอมเย็น ๆ
" วันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี " จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชนต่าง ๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ข้าราชการระดับสูง ผู้บริหารหน่วยงานเอกชน จะถวายสักการะพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายฯ พิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ ที่หน้าพระรูปพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ณ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จ.เชียงใหม่ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน ทุก ๆ ปีของวันที่ 9 ธันวาคม
Pix from Internet
...
รฉัตร วรรณกุล
09 ธันวา' 2562

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา