10 ธ.ค. 2019 เวลา 14:32 • ธุรกิจ
NaRaYa กำลังจะวางขายใน 7-11
ผมเชื่อว่าหลายท่านน่าจะรู้จักกับแบรนด์ NaRaYa ในฐานะของกระเป๋าที่ "คุณภาพดีในราคาที่เข้าถึงได้"
เมื่อไม่นานมานี้ผู้บริหารของ NaRaYa ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะเริ่มวางขายกระเป๋าใน 7-11 ภายในปีนี้ เรื่องราวเป็นอย่างไรไปติดตามกัน
บริษัทนารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด คือ บริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์ NaRaYa โดยบริษัทได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2532
ในช่วงแรกบริษัทดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่ประสบปัญหา จึงเบนเข็มไปทำธุรกิจผลิตภัณฑ์จากสิ่งทอแทน จึงจุดกำเนิดของกระเป๋าแบรนด์ NaRaYa
สาขาแรกของ NaRaYa อยู่ที่ ตึกนารายภัณฑ์ ถนนราชดำริ โดยเน้น concept "Luxury Affordable" หรือ "สินค้าดีราคาไม่แพง" ทำให้สินค้าขายดี ต่อมามีการขยายสาขามาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมี 23 สาขาในประเทศไทย กับอีก 13 สาขาในต่างประเทศ
ตลอด 30 ปีของการดำเนินธุรกิจเราไม่ค่อยเห็นการขยับของแบรนด์นี้เท่าไหรนัก เรียกว่าขายไปเรื่อย ๆ จากการบอกปากต่อปาก
แต่เมื่อ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นการขยับของ NaRaYa อย่างรุนแรง ทั้งการเปิดตัว 4 แบรนด์ใหม่ ในชื่อ Nara by NaRaYa แบรนด์กระเป๋าสำหรับผู้ชาย, LaLaMa by NaRaYa แบรนด์เสื้อผ้าสไตล์โบฮีเมียน, Aphrodite by NaRaYa แบรนด์กระเป๋ารุ่นพิเศษสำหรับผู้หญิง และ Evangelisa NaRaYa Silk แบรนด์เสื้อผ้าไหมไทย รวมถึงการเปิด NaRaYa Tea Room ร้านชาสไตล์นารายาแห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย
นอกจากนั้นบริษัทยังเปิดขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Lazada กับ JD Central อีกด้วย
ล่าสุด NaRaYa จะส่งกระเป๋าแบรนด์ NR by NaRaYa เข้าไปขายใน 7-11 โดยเริ่มจากที่พัทยาก่อน เพื่อให้คนไทยรู้จักกับแบรนด์ NaRaYa มากขึ้น
คำถามที่ตามมา ก็คือ ทำไม NaRaYa เล่นใหญ่ขนาดนี้ และสิ่งที่พอจะเป็นคำตอบได้ มี 2 ประเด็นครับ คือ
(1) ผลประกอบการในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาดูไม่ค่อยสู้ดีนัก
โดยรายได้ลดลงจาก 1,803.06 ล้านบาทในปี 2558 มาเป็น 1,338.46 ล้านบาท ในปี 2561 คิดเป็นการลดลง 9.45% ต่อปี
ขณะที่กำไรลดลงจาก 210.110 ล้านบาทในปี 2558 มาเป็น 42.405 ล้านบาท ในปี 2561 คิดเป็นการลดลงถึง 41.34% ต่อปี
Source: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
(2) สัดส่วนรายได้มาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากเกินไป
ผู้บริหารของนารายณ์อินเตอร์เทรด ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่าสัดส่วนของรายได้ของ NaRaYa มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาตึมากถึง 80% ซึ่ง 3 อันดับแรก คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนที่มาจากคนไทยเพียง 20% หากการท่องเที่ยวมีปัญหาคงกระทบ NaRaYa ไม่น้อย
สิ่งที่เราต้องติดตามกันต่อก็คือการปรับกลยุทธ์ครั้งนี้จะช่วยให้ผลประกอบการของ NaRaYa ดีขึ้นหรือไม่
ติดตาม “InvesTalk – สนทนาภาษานักลงทุน” ได้ทาง
ขอบคุณครับ
Reference
โฆษณา