10 ธ.ค. 2019 เวลา 10:09 • การเกษตร
ฮอร์โมนน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ – กรณีศึกษาในผักกาดกวางตุ้ง
บทความวันนี้ยาวสักนิด แต่ลูกยายน้อยรับประกันได้เลยว่าท่านผู้อ่านสามารถกลับไปทำได้ทันทีหลังอ่านจบ😊
น้ำหมักชีวภาพ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า bio-extract เป็นของเหลวที่ได้จากการหมักเศษพืชผัก ผลไม้ หรือสัตว์ กับน้ำตาล โดยมีพระเอกของเราคือจุลินทรีย์ที่ทำกิจกรรมในการช่วยย่อย
หลักการคล้ายกับการทำปุ๋ยหมักดังที่เล่าไปแล้ว 2 ตอนก่อนหน้านี้ โดยย่อคือ จุลินทรีย์ใช้น้ำตาลเป็นอาหาร รวมทั้งไปย่อยเศษพืชหรือสัตว์ที่เป็นส่วนผสม
แต่ผลลัพธ์ที่ได้ในท้ายที่สุดจะเป็นของเหลวสีดำน้ำตาลเข้มข้น ที่อิทธิฤทธิ์ไม่ธรรมดา เพราะช่วยในการเจริญเติบโตของพืชที่เราปลูกไว้ และยังช่วยทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นด้วย
ฤทธิ์ของน้ำหมักชีวภาพ มาจากการที่พืชผักผลไม้ที่เรานำมาหมัก และถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ ทำให้มีสารที่เป็นประโยชน์ในการเจริญเติบโตของพืชนอกเหนือจากธาตุอาหารหลัก ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K)
สิ่งที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์แล้วมาอยู่ในน้ำหมักของเรา เช่น ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง ฮอร์โมนพืช (กลุ่มออกซิน ไซโทไคนิน จิบเบอเรลลิน) โปรตีน กรดอะมิโน กรดอินทรีย์ เอนไซม์ วิตามิน ฯลฯ
ชนิดของน้ำหมักชีวภาพแบ่งไปตามวัตถุดิบหลักที่นำมาให้จุลินทรีย์ช่วยย่อย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ พืช สัตว์ (เช่น ปลา, หอย เป็นต้น) สาหร่าย
ในวันนี้จะเล่าถึงน้ำหมักชีวภาพที่ทำจากพืช ซึ่งคือ ผลไม้
หลักการของวิธีทำน้ำหมักชีวภาพจากพืช คือ
1.สับหรือย่อยให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ควรเป็นผักหรือผลไม้สด ในกรณีเป็นผักใช้ได้ทั้งอ่อนแก่ ส่วนผลไม้ใช้ได้ทั้งผลดิบหรือผลสุก ไม่ต้องปอกเปลือก แต่ทั้งผักผลไม้ต้องไม่ใช้ส่วนที่เน่า
2.อัตราส่วนที่ใช้ทำน้ำหมัก คือ ผักหรือผลไม้ 3 ส่วน น้ำตาล (ทรายขาว ทรายแดง น้ำตาลอ้อย ฯลฯ ได้ทุกชนิด) หรือกากน้ำตาล (โมลาส) 1 ส่วน
3.ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดี และหมักไว้ในถังพลาสติกที่มีฝาปิด
4.เติมน้ำตาลลงไป 1 ใน 3 ของน้ำหนักผักหรือผลไม้ จากอัตราส่วนด้านบน ดังนั้น ถ้าเทียบเป็นหน่วยกิโลกรัมคือ ผักหรือผลไม้ 3 กิโลกรัม น้ำตาลหรือกากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
5.อัตราส่วนที่ใช้ทำน้ำหมัก คือ ผักหรือผลไม้ 3 ส่วน น้ำตาลหรือกากน้ำตาล (โมลาส) 1 ส่วน
ดังนั้น ถ้าเทียบเป็นหน่วยกิโลกรัมคือ ผักหรือผลไม้ 3 กิโลกรัม น้ำตาลหรือกากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
6.ปิดฝาทิ้งไว้ ปล่อยให้จุลินทรีย์ทำงานไป
7.วิธีเก็บน้ำหมักชีวภาพของเราทำได้ 2 แบบ
แบบแรก หลังหมักไปแล้ว 5-7 วัน คอยตักของเหลวชั้นบนออกเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่มีน้ำหมัก และ
แบบที่ 2 หมักไปจนกว่าจะได้น้ำหมักสีดำข้น มีกลิ่นหอม (ไม่เหม็นกลิ่นหมักหรือบูด) จึงค่อยกรองให้เหลือแต่น้ำ บรรจุขวด รอนำไปใช้ แบบนี้มักใช้เวลาหมักประมาณ 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ
1
8.โดยทั่วไปน้ำหมักนี้สามารถเก็บไว้ใช้ได้นานถึง 6 เดือน น้ำหมักจะมี pH หรือความเป็นกรดด่างอยู่ที่ 3-5
9.กากที่เหลือหลังจากกรอง สามารถนำไปใช้ทำปุ๋ยหมักต่อได้อีก
น้ำหมักชีวภาพผลไม้รวม
หากในระหว่างที่หมัก อาจมีเศษผักผลไม้เหลือจากการทำอาหารระหว่างวัน ก็สามารถนำมาเติมในถังหมักนี้ได้ด้วยเช่นกัน แต่ต้องไม่ลืมใส่น้ำตาลลงไปตามสัดส่วน (3 : 1) เสมอ
น้ำหมักชีวภาพที่ทำเสร็จแล้ว สามารถใช้ไปได้อีกนาน และสามารถใช้ได้บ่อยต่อรอบการผลิต เพราะก่อนจะใช้ต้องนำไปเจือจาง โดยสัดส่วนในการเจือจางหรือละลายน้ำหมักชีวภาพคือประมาณ 1 ต่อ 100-200
ตัวอย่างเช่น การผสมน้ำหมักชีวภาพ 1 ซีซีหรือมิลลิลิตร ต่อน้ำ 10-20 ลิตร เป็นต้น
วันนี้มีกรณีศึกษาแบบสมัครเล่น โดยทำน้ำหมักชีวภาพผลไม้รวม ทดสอบกับผักกาดกวางตุ้ง
ส่วนประกอบมีดังนี้
1.เศษผลไม้ 5 กิโลกรัม ได้แก่ กล้วย แตงโม เมล่อน และส้ม
2. น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
3. EM 70 mL (หาซื้อได้จากในร้านเคมีเกษตร หรือห้างขายวัสดุเกี่ยวกับบ้านก็มีขาย)
4. น้ำสะอาด 10 ลิตร
5. ถังน้ำ ขนาด 5-10 ลิตร
สำหรับ EM ย่อมาจาก Effective Microorganisims แปลว่า กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งขอเก็บไว้เล่าในตอนต่อ ๆ ไป
ถามว่าทำไมต้องใส่ EM ในเมื่อจากหลักการก็ดูเหมือนว่าจะหมักได้อยู่แล้วตามที่เล่าไป
Cr.www.homepro.co.th
คำตอบคือ ไม่ใส่ก็ได้ เพราะจุลินทรีย์มีอยู่ทั่วไปในผักผลไม้ และระหว่างการเตรียมของเรา
แต่ใส่ EM เพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยได้เร็วขึ้น เพราะจะมีสารที่ถูกปลดปล่อยออกมาซึ่งเกิดจากกิจกรรมการย่อยสลายของจุลินทรีย์ที่ใส่เพิ่มเข้าไป น้ำหมักชีวภาพที่ได้จะมีคุณภาพดีเพราะปริมาณและการทำงานของกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีมากกว่าปกติ รวมทั้งย่นเวลาในการทำน้ำหมักของเราด้วย
วิธีทำ
1. หั่นเศษผลไม้เป็นชิ้นเล็ก ๆ
2. ใส่ผลไม้ที่หั่นแล้วลงในถัง น้ำตาลทรายแดงตามลงไป ใส่น้ำลงไป และใส่ EM ลงไป คนให้เข้ากัน ปิดฝาทิ้งไว้
3. ทุก ๆ 3 วัน เปิดฝาแล้วเอาไม้คน จนครบกำหนด 15 วัน สามารถนำมาใช้ได้
อัตราและวิธีการใช้น้ำหมักชีวภาพผลไม้รวม จะใช้น้ำหมัก 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทางใบ 5 วัน/ครั้ง
การเตรียมต้นกล้าและการปลูกผักกาดเขียวกวางตุ้ง
1.เพาะเมล็ดผักกาดเขียวกวางตุ้งในถาดหลุม (ขนาด 200 หลุม) โดยใช้พีทมอส (peat moss) เป็นวัสดุเพาะ
2.เมื่อต้นกล้างอกมีอายุประมาณ 7-10 วัน จึงย้ายปลูก
3.ปลูกลงในดินที่ทำไว้เป็นบล็อก ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1.2 เมตร (1.2 ตารางเมตร) การทดสอบนี้ไม่ได้ขึ้นแปลงเหมือนกับที่เกษตรกรปลูกปกติทั่วไป รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 ช้อนชา
4.ปลูก 4 แถว แถวละประมาณ 9-10 ต้น แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนละ 2 แถว
ส่วนที่ 1 ไม่ใช้น้ำหมัก และส่วนที่ 2 ใช้น้ำหมัก
2 แถวล่างใช้น้ำหมักชีวภาพ
หลังปลูกประมาณ 5 วัน เริ่มฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพที่ผสมแล้วตามอัตราส่วนข้างต้น และทำทุก ๆ 5 วัน จนกระทั่งเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวต้นผักกาดกวางตุ้งเมื่อต้นมีอายุได้ 30 วัน หลังย้ายปลูก
หลังเก็บเกี่ยว ล้าง และตัดแต่งราก ใบที่ใช้ไม่ได้ทิ้งแล้ว พบว่า
แปลงที่ไม่ได้ใช้น้ำหมักชีวภาพ มีน้ำหนักเฉลี่ย 138.80 กรัม/ต้น น้ำหนักรวม 5.6 กิโลกรัม/บล็อก (1.2 ตารางเมตร)
แปลงที่ใช้น้ำหมักชีวภาพ มีน้ำหนักเฉลี่ย 160.78 กรัม/ต้น น้ำหนักรวม 6.4 กิโลกรัม/บล็อก (1.2 ตารางเมตร)
ผักกาดกวางตุ้งหลังถอนเก็บเกี่ยวและล้างดินที่รากออกแล้ว
ณ วันที่เก็บเกี่ยว ราคาของผักกาดกวางตุ้งขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 70 บาท นั่นเท่ากับว่า หากปลูกผักกาดกวางตุ้งเฉย ๆ โดยไม่ใช้น้ำหมัก เราจะขายผักได้เงินต่อบล็อก 392 บาท
แต่หากใช้น้ำหมักชีวภาพ เราจะขายผักได้เงินต่อบล็อก 448 บาท ซึ่งมากกว่า 56 บาท
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ข้อสังเกตในระหว่างที่ทดสอบ เนื่องจากไม่ได้แยกปลูกกันคนละบล็อก เวลาที่ฉีดพ่น ละอองฝอยของน้ำหมักที่พ่นใน 2 แถวของเรา ก็ฟุ้งกระจายไปโดนอีก 2 แถวที่เรากำหนดให้ไม่ใช้น้ำหมักชีวภาพ
อันเป็น error หรือความผิดพลาดที่เกิดจากวิธีการฉีดพ่น จึงทำให้เปรียบเทียบแล้ว ผลผลิตต่างกันไม่ถึงกิโลกรัม
นอกจากนี้ คุณภาพในการรับประทาน (ซึ่งไม่มีตัวเลขยืนยัน แต่เกิดจากการนำไปปรุงอาหาร) พบว่า ผักกาดเขียวกวางตุ้งที่ใช้น้ำหมักชีวภาพ มีความกรอบ หวาน และมั่นใจว่าไม่มีสารพิษตกค้าง
อันนี้ทำเล่น ๆ แต่เป็นตัวอย่างของการใช้น้ำหมักเพื่อเพิ่มผลผลิตผักที่เราปลูก ถ้ามีพื้นที่ในการปลูกมากขึ้น หรือจำนวนบล็อกมากขึ้น และมีการวางแผนให้ผลผลิตออกได้ต่อเนื่อง ก็จะทำให้มีรายได้เสริมเพิ่มเข้ามาได้เป็นอย่างดี
หรือหากไม่ปลูกขาย ปลูกไว้กินเอง จำหน่ายจ่ายแจก ก็จะได้ทั้งความปลอดภัยในการบริโภค และสุขใจในฐานะเป็นผู้ให้ได้อีกด้วย
🙏เรียนเกษตรแล้วได้ดี 10 ธันวาคม 2562
โฆษณา