13 ธ.ค. 2019 เวลา 01:27 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ว่าด้วยเรื่องดาวเทียมดวงโตและดวงจิ๋ว
 
กลับมาอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนาน วันนี้มีโอกาสเลยอยากจะมาเขียนเล่าเรื่องราวต่ออีกนะครับ ครั้งนี้จะเปลี่ยนจากเรื่องปกติที่เขียนเกี่ยวกับเครื่องบิน แต่จะขอขึ้นไปสูงกว่าเดิมอีกหน่อยไปพูดถึงเรื่องดาวเทียมบ้าง
เรื่องราวของดาวเทียมได้เริ่มต้นเมื่อมนุษย์เราได้มีการส่งดาวเทียมสู่วงโคจรได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ตั้งแต่ปี 1957 โดยรัสเซีย (สหภาพโซเวียตในขณะนั้น) ได้ส่งดาวเทียม Sputnik 1 นับจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน หลายประเทศในโลกก็มีการส่งดาวเทียมขึ้นไปอีกเป็นจำนวนมากรวมแล้วเกือบหมื่นดวง แต่วันนี้จะขอเลือกมาเพียงสองดวงที่มีขนาดใหญ่และเล็กที่สุด ทราบกันหรือไม่ครับว่าสองดวงนี้คือดาวเทียมดวงไหน???
ดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มนุษย์ได้สร้างและส่งขึ้นโคจรในอวกาศได้สำเร็จ ตามการจัดสถิติของ Guinness World Records ได้แก่ ISS หรือ International Space Station ซึ่งมีความยาว (End to End) ประมาณ 109 meters (ใกล้เคียงกับขนาดของสนามอเมริกันฟุตบอล) มี Solar Array Wingspan ยาวประมาณ 73 meters (ใกล้เคียงกับความยาวของเครื่องบินแบบ A380) และมีน้ำหนักประมาณ 419,725 kg การสร้างสำเร็จด้วยความร่วมมือและเงินลงทุนร่วมกันจาก 5 หน่วยงานด้านอวกาศที่สำคัญ คือ NASA (สหรัฐอเมริกา), Roscosmos (รัสเซีย), ESA (สหภาพยุโรป), JAXA (ญี่ปุ่น) และ CSA (แคนาดา) โดยมีความมุ่งหวังให้เป็นสถานีอวกาศเพื่อให้ประเทศต่างๆสามารถใช้สำหรับดำเนินการทดลองด้านอวกาศ
ส่วนประกอบของ ISS
การสร้างดาวเทียมที่มีน้ำหนักมากและมีขนาดใหญ่ดังกล่าว ต้องใช้วิธีการขนส่งวัสดุและอุปกรณ์ขึ้นไปในอวกาศเป็น Module และดำเนินการสร้างในวงโคจร (Built in Orbit) โดย Module แรกได้รับการส่งขึ้นไปในปี ค.ศ.1998 และมีการนำส่งเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ.2011รวม 42 เที่ยวบิน (สหรัฐอมเริกา 37 เที่ยวบิน รัสเซีย 5 เที่ยวบิน) ซึ่งการประกอบ Module ต่างๆ เข้าด้วยกันได้ใช้ทั้ง Spacewalk จากนักบินอวกาศ และระบบ Robotics เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ ISS ได้เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.2000 เมื่อนับจนถึงปัจจุบันมีนักบินอวกาศจาก 19 ประเทศ ได้ไปที่สถานีอวกาศนี้แล้ว 239 คน และมีผลงานการทดลองเกี่ยวข้องกับงานวิจัยมากกว่า 2,700 งาน
ดาวเทียม ISS
สำหรับดาวเทียมที่มีขนาดเล็กที่สุด เป็นของเด็กนักเรียนอายุ 18 ปี ชาวอินเดีย ชื่อ Rifath Sharook ที่ได้สร้างดาวเทียมที่มีขนาดเล็กที่สุดและมีน้ำหนักเบาที่สุดได้สำเร็จ โดยมีน้ำหนักเพียง 64 กรัม มีขนาดกว้างและยาวประมาณด้านละ 3.5 ซม. ดาวเทียมดวงนี้มีชื่อว่า KalamSat ซึ่งถูกตั้งตามชื่อของอดีตประธานาธิบดีคนที่ 11 ของอินเดีย A.P.J. Abdul Kalam ทั้งนี้ดาวเทียมดังกล่าวถูกสร้างขึ้นจากวัสดุประเภท Reinforced fibre polymer และผลิตโดยเครื่องพิมพ์สามมิติ สถิตินี้ถูกจารึกขึ้นเมื่อ NASA ได้ทำการปล่อยดาวเทียมดวงนี้สู่วงโคจรได้สำเร็จ เมื่อ 22 มิถุนายน 2017 ด้วย Terrier Orion Sounding Rocket ของ NASA โดยทำการปล่อยขึ้นจาก Wallops Flight Facility มลรัฐ Virginia ทั้งนี้ดาวเทียมดวงนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ในห้วงอวกาศเป็นเวลาประมาณ 12 นาที โดยมีจุดประสงค์หลักในการสาธิตการทำงานของอุปกรณ์ที่ผลิตโดยเครื่องพิมพ์แบบสามมิติว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ในอวกาศได้จริง เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาสู่การนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์กับดาวเทียมดวงอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
ดาวเทียม KalamSat
เพิ่มเติมข้อมูลสำหรับ ISS อีกเล็กน้อย
- วงโคจรอยู่ที่ระยะประมาณ 400 km จากพื้นโลก
- เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 28,000 km/h โดยจะใช้เวลาประมาณ 90 นาทีในการโคจรรอบโลก
- สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากพื้นโลก
- มีแผนการใช้งานอย่างน้อยไปจนถึงปี ค.ศ.2024 และสามารถขยายเวลาต่อได้ถึง ปี ค.ศ.2028 เป็นอย่างน้อย
- สามารถจอดยานอวกาศได้จำนวนครั้งละ 6 Spaceship
- ยานอวกาศจากโลกสามารถเดินทางไปยัง ISS ได้ในเวลาประมาณ 6 ชม.
โฆษณา