12 ธ.ค. 2019 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
สิงคโปร์ผลิตน้ำจืดได้เอง จนเหลือขายคืนมาเลเซีย
ถ้าพูดถึงประเทศที่เป็น “เกาะ” อย่าง สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือไต้หวัน สิ่งหนึ่งที่เรานึกถึงก็คือ “น้ำจืด” ที่ส่วนใหญ่จะขาดแคลน และมีราคาแพง
ประเทศที่เป็นเกาะเหล่านี้ ต้องพึ่งประเทศเพื่อนบ้าน อย่างสิงคโปร์ก็ต้องซื้อน้ำจากมาเลเซีย หรือ ในกรณีของฮ่องกงและไต้หวันที่ต้องซื้อน้ำจากจีน
แต่รู้หรือไม่ว่า สิงคโปร์ ได้นำ “ข้อจำกัด” เรื่องปริมาณน้ำจืด มาเป็น “แรงผลักดัน” ให้เกิดนวัตกรรม จนสามารถผลิตน้ำจืด ส่งกลับไปขายมาเลเซียได้
เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เราไปติดตามกันเลย!
ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีประชากร 5.6 ล้านคน มีพื้นที่เล็กที่สุดในเอเชีย ประมาณ 719 ตารางกิโลเมตร (ขนาดใหญ่กว่าเกาะภูเก็ตเล็กน้อย โดยภูเก็ตมีพื้นที่ 576 ตารางกิโลเมตร)
เดิมทีเมืองสิงคโปร์มีสัญญาซื้อขายน้ำจากรัฐยะโฮร์ของมาเลเซียมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2470 โดยมีช่องทางขนส่งน้ำผ่านทางหลวงระยะทาง 1.05 กิโลเมตร ที่เชื่อมยะโฮร์และสิงคโปร์ หรือเรียกว่า “คอสเวย์” (The Causeway)
The Causeway Cr. Flickr
แต่หลังจากนั้น ใน พ.ศ.2503 สิงคโปร์ได้ตั้งประเทศ แยกออกมาจากประเทศมาเลเซีย ทำให้ได้มีการเซ็นต์สัญญากันใหม่ อีก 3 ฉบับ คือในปี พ.ศ.2504, พ.ศ.2505 และฉบับล่าสุดคือ พ.ศ.2533
โดยสัญญาทั้ง 3 ฉบับทำให้สิงคโปร์สามารถรองรับความต้องการน้ำได้ประมาณครึ่งหนึ่งของความต้องการทั้งประเทศ
ซึ่งทางรัฐบาลสิงคโปร์เอง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยตั้งเป้าที่จะทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่พึ่งพาน้ำจืดจากประเทศตัวเองได้ 100% ภายในปี 2604 ปีที่สัญญาซื้อขายน้ำกับทางมาเลเซียจะหมดอายุ
1
ทางสิงคโปร์ ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานน้ำแห่งชาติ (Public Utilities Board: PUB) เพื่อดูแลและวางแผนยุทธศาสตร์การจัดหาทรัพยากรน้ำ โดยมีแบ่งกลยุทธ์เป็น 4 ส่วน ด้วยกัน คือ
1) น้ำจากอ่างจัดเก็บน้ำธรรมชาติ (Local Catchment Water) โดยล่าสุดแหล่งเก็บน้ำจืดในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเป็น 2 ใน 3 ของพื้นที่
Marina Barrage Cr. PUB
สำหรับพื้นที่เก็บน้ำที่สำคัญ ก็ไม่ใช่ที่อื่นใด ก็บริเวณ Marina Bay แหล่งท่องเที่ยวสำคัญนั่นแหล่ะ โดยมีชื่อว่า “Marina Barrage” ซึ่งนอกจากเป็นทะเลสาบน้ำจืดแล้ว ยังเป็นแผงป้องกันน้ำท่วม และแหล่งกิจกรรมกลางแจ้งไปในตัว โดยในอนาคตทาง PUB ตั้งเป้าให้การจัดเก็บน้ำเพิ่มขึ้นถึง 90%
Cr. PUB
2) น้ำที่ได้จากการปรับปรุงสภาพ (NEWater) โดยสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยี “Advanced Membrane and Ultra-Violet Disinfection” มาบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือน โดยน้ำที่ได้มีคุณภาพดีเป็นพิเศษ มีความสะอาดมากกว่าน้ำประปา!
NEWater Cr. PUB
ทั้งนี้สิงคโปร์ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณน้ำที่ผลิตด้วยวิธีนี้ จาก 30% ของความต้องการบริโภคทั้งหมด ในปี 2553 ไปเป็น 50% ในปี 2604
3) น้ำที่ได้จากการปรับน้ำเค็มเป็นน้ำจืด (Desalinated Water) โดยสิงคโปร์มีโรงงานในการแยกน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยมีกำลังการผลิตรวมในปัจจุบันประมาณ 130 ล้านแกลลอน/วัน คิดเป็น 30% ของความต้องการน้ำในประเทศ
สิงคโปร์มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิต น้ำจืดจากน้ำทะเล เป็น 2 เท่าภายในปี 2600 เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคต
Desalinated Water Cr. PUB
4) นอกจากเพิ่มกำลังการรองรับและผลิตน้ำจืดแล้ว ทางรัฐบาลสิงคโปร์เองก็พยายามรณรงค์ที่จะลดการใช้น้ำของประชาชนลง
โดยตั้งเป้า (อีกแล้ว) ด้วยการลดจาก 143 ลิตรต่อคนต่อวัน ในปี 2560 ให้เหลือเพียง 130 ลิตรต่อคนต่อวัน ในปี 2573
(ส่วนของไทยเราตัวเลขในปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 220 ลิตรต่อคนต่อวัน – ไม่มากเท่าไหร่ ก็เกือบ 2 เท่าสิงคโปร์เท่านั้น)
Cr. mewr.gov.sg
พอทางสิงคโปร์ผลิตน้ำได้มากขึ้น ก็เลยส่งน้ำกลับไปขายที่มาเลเซีย แต่ปัญหาก็คือ ราคาน้ำที่สิงคโปร์รับซื้อมาจากมาเลเซียเพียง 3 เซ็นต์สิงคโปร์ต่อพันแกลลอน (ซึ่งรับซื้อได้สูงสุด 250 ล้านแกลลอนต่อวัน) แต่ทางมาเลเซีย กลับต้องซื้อน้ำคืนที่ราคาสูงถึง 50 เซ็นต์สิงคโปร์ต่อพันแกลลอน
สาเหตุที่มาเลเซีย ต้องซื้อน้ำจากสิงคโปร์ ก็เพราะปริมาณน้ำในยะโฮร์ มีมลพิษสูง สาเหตุจากโรงงานปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ จึงต้องมีการนำเข้าน้ำประปาจากสิงคโปร์ถึง 37 ล้านแกลลอนต่อวัน และเพิ่มขึ้นอีก 16 ล้านแกลลอนต่อวันในช่วงฤดูแล้ง
Cr. Nikkei Asian Review
ซึ่งเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลมาเลเซียอย่างมาก ทางรัฐบาลมาเลเซีย โดยเฉพาะมหาธีร์ ก็มีความพยายามที่จะต่อรองสัญญานี้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องทำตามสัญญาซื้อขายน้ำ ที่จะหมดในปี 2604 โดยหากจะบอกว่าปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรก็คงต้องโทษมาเลเซียเอง (ไว้ขยายความเพิ่มให้ตอนหน้านะ)
1
จากเรื่องนี้ แอดมินสรุปข้อคิดได้ 3 ข้อด้วยกัน คือ
หนึ่ง เราจะเห็นได้ว่า ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่มี หากเรามองข้อจำกัดหรือปัญหา ให้เป็นโอกาส และพยายามหาวิธีแก้ปัญหาด้วยกำลังของตนเอง ในที่สุด ก็ต้องหาทางออกได้แน่นอน
สอง สิงคโปร์ มีการตั้งเป้าหมาย ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และลงมือทำตามเป้าหมายนั้น
และสาม ที่ไม่ได้ลงรายละเอียดในบทความมากนัก แต่เราน่าจะทราบกันดีก็คือ การที่สิงคโปร์มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ช่วยนำพาประเทศไปข้างหน้าได้
หากเพื่อนๆ ได้มีโอกาสไปเที่ยวสิงคโปร์ ก็ลองไปดูความเจริญก้าวหน้าของสิงคโปร์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำกันดูนะครับ อย่ามัวแต่ไปถ่ายรูปกับสิงโตพ่นน้ำกับทานข้าวมันไก่สิงคโปร์ กันหล่ะ!
Cr. New Straits Times
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ กดติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และสำหรับผู้นำเข้าส่งออก อยากหาช่องทางนำเข้า-ส่งออก หรืออยากให้ลูกค้าต่างชาติทดสอบสินค้า แอดไลน์ @zupports ได้เลย
ที่มา:
โฆษณา