14 ธ.ค. 2019 เวลา 04:11 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Internet of Things (IoT) ดีจริง หรือแค่หลอกลวง ?
https://www.startupthailand.org/thailand-leads-asean-iot-exploration-poll-th/
แน่นอนว่าทุกวันนี้ เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน ยานพาหนะ หรือแม้กระทั่งเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านของเราเอง ที่มีการพัฒนาให้ฉลาดและอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้มากขึ้น ถ้าในอนาคตเราสามารถควบคุมการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านมือถือ หรือให้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ทำงานเองได้อัตโนมัติ มันจะดีแค่ไหน ?
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกับ “IoT” (Internet of Things) กันก่อน จริง ๆ IoT มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “M2M” ย่อมาจาก Machine to Machine คือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่ออุปกรณ์กับเครื่องมือต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน IoT เราสามารถแปลความหมายได้ตรง ๆ เลยว่า “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง” ตรงตัวเลยครับ มันคือการที่เราสามารถนำอินเทอร์เน็ตมาเชื่อมต่อกับทุกสิ่งในชีวิตเรา อย่างเช่น นาฬิกา เครื่องซักผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตของเราเพิ่มมากขึ้น และมาดูกันดีกว่าว่ามันทำงานยังไง ?
หลักการทำงานของมันหลัก ๆ เลยก็คือ “Internet” ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางเพื่อให้อุปกรณ์สองชนิดเข้าใจกัน และส่งผ่านข้อมูลกันได้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
แบ่งกลุ่ม Internet of Things
ปัจจุบันมีการแบ่งกลุ่ม Internet of Things ออกตามตลาดการใช้งานเป็น 2 กลุ่มได้แก่
Commercial IoT
คือแบ่งจาก local network ที่มีหลายเทคโนโลยีที่แตกต่างกันในโครงข่าย Sensor nodes โดยตัวอุปกรณ์ IoT Device ในกลุ่มนี้จะเชื่อมต่อแบบ IP network เพื่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ต
Industrial IoT
คือแบ่งจาก local communication ที่เป็น Bluetooth หรือ Ethernet (wired or wireless) โดยตัวอุปกรณ์ IoT Device ในกลุ่มนี้จะสื่อสารภายในกลุ่ม Sensor nodes เดียวกันเท่านั้นหรือเป็นแบบ local devices เพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้เชื่อมสู่อินเทอร์เน็ต
แนวคิดเรื่อง IoT (Internet of Things)
จริง ๆ แล้วแนวคิดนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 1999 เดิมทีแนวคิดนี้เริ่มมาจาก บิดาแห่ง Internet of Things นั้นคือ Kevin Ashton ในตอนที่เขาได้ทำงานวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า MIT เขานั้นได้ถูกเชิญให้ไปบรรยายเรื่องนี้ให้กับบริษัท Procter & Gamble (P&G) เป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งเขาได้นำเสนอโครงการที่มีชื่อว่า Auto-ID Center ซึ่งเป็นโครงการที่มีเทคโนโลยีต่อยอดมาจาก Radio frequency identification (RFID) เป็นเทคโนโลยีที่ระบุสิ่งต่าง ๆ โดยอาศัยคลื่นวิทยุ ที่ในตอนนั้นเทคโนโลยีนี้นับเป็นมาตรฐานของโลกเลยก็ว่าได้ สำหรับการจับเซนเซอร์ต่าง ๆ (RFID Sensors) ซึ่งเขาบอกว่า เขาสามารถทำให้ตัวเซนเซอร์เหล่านี้พูดคุย และเชื่อมต่อกันผ่านระบบ Auto-ID ของเขาได้ โดยการบรรยายให้กับ P&G ครั้งนั้น Kevin ได้พูดถึง Internet of Things ในสไลด์การบรรยายของเขาในครั้งแรก แต่ในตอนนั้น Kevin ได้นิยามเอาไว้ว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ ก็ตาม ที่สามารถสื่อสารกันได้ถือเป็น Internet-like ทั้งหมดหรือง่าย ๆ คือ เชื่อมต่อสื่อสารกันผ่านระบบสื่อสารแบบเดียวกันกับระบบอินเทอร์เน็ตนั้นเอง โดยคำว่า Things คำสุดท้าย ก็คือคำใช้แทนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นนั่นเอง
ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการเชื่อมต่อ Internet of Things
มีอยู่ 3 ตัวได้แก่
• Bluetooth 4.0
• IEEE 802.15.4e
• WLAN IEEE 802.11™ (Wi-Fi) มาตรฐานการทำงานของระบบเครือข่ายไร้สาย
สิ่งสำคัญสำหรับ Internet of Things คือ IPv6
เพราะแต่ละอุปกรณ์ หรือ Device เอง การเชื่อมต่อต้องมีที่อยู่เฉพาะตัวเหมือนเลขที่บ้านเวลาเราจะส่งของ อุปกรณ์ก็ต้องการเหมือนกัน ดังนั้นแต่ละอุปกรณ์จะมีเลขของตัวเองเพื่อเชื่อมต่อในระหว่างกัน โดยจำเป็นจะต้องใช้ IP Address version 6 หรือ IPv6 มาเพื่อกำกับหมายเลขให้ไม่ซ้ำกัน ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญของ Internet of Things
Internet of Things ในปัจจุบัน
จริง ๆ แล้วมีอย่างหนึ่งที่บางคนอาจจะคิดไม่ถึงคือ Cloud Storage หรือเรียกว่าบริการฝากไฟล์และประมวลผลข้อมูลผ่านโลกออนไลน์ หรือบางคนอาจจะเรียกว่า ข้อมูลบนก้อนเมฆก็ได้ ถ้าให้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็จะมีหลายเจ้าที่เปิดให้บริการอย่าง Google Drive, Mega, Dropbox คุณอาจจะพอนึกภาพออกแล้ว ซึ่งสมัยนี้คนนิยมใช้กันมากขึ้น เพราะว่ามันสะดวกมาก ๆ และไม่ต้องกลัวข้อมูลสูญหาย หรือถูกโจรกรรม และยังสามารถกำหนดให้เป็นแบบส่วนตัวหรือสาธารณะก็ได้ และคุณสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไหนก็ได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และมีพื้นที่ใช้สอยมาก แต่ถ้าคุณต้องการมากกว่านี้ คุณสามารถเสียเงินเป็นรายปีได้ และไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้ออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลมากมาย อย่าง Hard Drive หรือ Flash Drive ต่าง ๆ อีก ซึ่งสิ่งจำพวกนี้ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของ Internet of Things จริง ๆ แล้วมันใกล้ตัวคุณกว่าที่คิดมาก ๆ เลย ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้พวกนี้ จะเรียกว่าคุณคือผู้ใช้ส่วนหนึ่งของมันก็ว่าได้
Cloud storage คือการเก็บข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต
ถ้าให้ยกตัวอย่าง Internet of Things ให้เข้าใจง่ายมากขึ้น และคนหลายคนรู้จักก็คงจะเป็น “Google’ s — Driverless Cars” หรือรถไร้คนขับของกูเกิลนั่นเอง รถนี้จะตรวจจับสัญญาณเซนเซอร์รอบคัน เพื่อวิเคราะห์ว่ามีรถใกล้ ๆ หรือไม่ เพื่อกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นหรือเลนไหนถึงจะถูกต้องในการขับขี่ประเทศนั้น ๆ เพราะแต่ละประเทศมีกฎจราจรการขับขี่ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ยังมีความสามารถเพิ่มเข้ามาอีก คือการวิเคราะห์การจราจร ว่าถ้าถนนเส้นนี้ติดขัด จะแสดงผลบอกให้รถอีกคันรู้ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงเส้นทางนี้ ซึ่งในอนาคตรถยนต์ไร้คนขับพร้อมให้บริการเป็นรถโดยสาร ซึ่งสามารถใช้แอปพลิเคชันเรียกรถยนต์ไร้คนขับเพื่อไปส่งในสถานที่ที่ต้องการได้
รถยนต์ไร้คนขับ( Google self-driving car) ของ Waymo
แต่ถ้าคุณรู้สึกว่ารถไร้คนขับมันไกลตัวมากไป ลองคิดว่าถ้าในห้องนอนของเรามีกล้อง ที่ตรวจจับ เมื่อเราตื่นกล้องจะจับสัญญาณเรา และส่งสัญญาณไปให้กาต้มน้ำร้อนเปิดการทำงานเองโดยอัตโนมัติ เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินไปกดเองเลย และไม่ต้องเสียเวลาในช่วงเช้าไปกับการรอน้ำเดือด 2–3 นาที ประหยัดเวลาในช่วงเช้าที่แสนเร่งรีบของคุณได้ ฟังอย่างนี้มันอาจจะดูดีใช่ไหมล่ะครับ ?
อย่างที่อ่านมา สงสัยกันไหมครับว่า ทำไมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เราสามารถตรวจจับว่าเราตื่นได้ยังไง จริง ๆ ปัจจัยสำคัญของ Internet of Things นอกจาก Internet แล้วยังมีสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ คือถ้าไม่มีสิ่งนี้ มันก็จะทำงานไม่ได้เลย นั่นคือ Sensor node นั่นเอง ซึ่งหากนำ Sensor node หลาย ๆ ตัวมาประกอบกันจะทำให้เกิด Wireless sensor network (WSN) ให้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถเชื่อมต่อเข้ามาได้ ซึ่งตัว WSNs นี่เองสามารถตรวจจับปรากฏการณ์ หรือปฏิกิริยาต่าง ๆ (physical phenomena) ในเครือข่ายได้ด้วยยกตัวอย่าง เช่น แสง อุณหภูมิ ความดัน เป็นต้น เพื่อส่งค่าที่อ่านได้ไปยังอุปกรณ์ในระบบให้ทำงาน หรือสั่งงานอื่น ๆ ต่อไป
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง การที่ทุกอย่างในบ้านของเราถูกเชื่อมต่อโดยอินเทอร์เน็ตมันก็น่ากลัวไปอีกแบบนะครับ อย่างเช่น เกิดวันไหนระบบล่ม เราก็จะไม่สามารถใช้งานสิ่งนั้นได้เต็มประสิทธิภาพได้ และราคาของสินค้าที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เพราะแน่นอนล่ะว่าอุปกรณ์ที่จะสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นได้มักมีราคาสูงกว่าปกติเสมอ และการที่ข้อมูลการใช้ชีวิตประจำวันเราถูกบันทึกแล้ว ถ้าหากวันหนึ่ง มันโดนขโมยไปโดยผู้ไม่หวังดีล่ะ แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดนั้นคือ.. ความเคยชิน ของเรานั่นเองครับ ถ้าสมมุติเราใช้งานสิ่งของเหล่านี้จนชินมาก ๆ แล้วเกิดมีปัญหาด้านใดด้านหนึ่งทำให้ใช้งานไม่ได้ เราคงจัดการเวลาตัวเองได้แย่ลงมาก ๆ เลยล่ะครับ นั่นล่ะครับ สิ่งที่ทำให้เราได้คิดว่ามันดีจริง ๆ หรือเปล่า ? แต่อย่าพึ่งคิดว่ามันแย่เสมอไปนะครับ
ซึ่งในไทยตอนนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ใช้กันคือ NB-IoT (Narrowband Internet of Things) หรือก็คือการเชื่อมต่อผ่านสัญญาณโทรศัพท์ สิ่งจำเป็นต้องมีในการใช้งานคือ SIM CARD 1 ใบ ก็เพียงพอ ส่วนหลักการทำงานเหมือน IoT ทั่วไปเลยครับ คือการรับส่งข้อมูลระหว่างเครื่องมือสองอย่าง
ตัวอย่างของ NB-IoT ที่มีให้เห็นก็คือ โครงการ AIS จับมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสร้างนวัตกรรมสนับสนุนสมาร์ทซิตี้ที่ช่วยเรื่องด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านคมนาคม และความเป็นอยู่ต่าง ๆ เพื่อสังคมที่อยู่อย่างยั่งยืน และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2018 ได้ร่วมกันเปิดตัวระบบลานจอดรถอัจฉริยะ (KKU Smart Parking System) เพื่อให้บริการกับ นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อตอกย้ำความสำเร็จ ว่านวัตกรรมนี้สามารถใช้ได้ในชีวิตจริง ซึ่งเราสามารถนำเครื่องใส่ซิมแล้วฝังไว้ใต้ที่จอดรถ ไม่จำเป็นต้องโยงสายระโยงระยางทั่วถนน ทำให้เราสามารถรู้ว่า ที่จอดรถตรงนั้นว่างไหม และแสดงบนจอภาพของโรงจอดรถ หรือเมื่อมีเครื่องไหนพัง เราสามารถรู้ได้เลยไม่จำเป็นต้องไปตรวจสอบให้เสียเวลา และแสดงผลออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ทำให้ทราบพิกัดจุดจอดรถที่ให้บริการที่มีสถานะว่างอยู่ ซึ่งสถานะว่างจะเป็นสีเขียว ถ้าไม่ว่างจะขึ้นสีแดง ยังมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ใช้ NB-IoT ในการพัฒนาด้านต่างๆอยู่ด้วย
รูปภาพจาก : Techsauce Team
ข้อดีของ NB-IoT ก็คือ
1. ประหยัดพลังงาน
2. อายุการใช้งานถึง 10 ปี
3. กระจายสัญญาณได้ 10 กิโลเมตร
4. สามารถใช้ในตัวตึกได้ดี
ซึ่งบริษัทเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ที่ให้บริการมีแค่ 2 เจ้าคือ True และ AIS เท่านั่นเองครับ
พออ่านมาถึงตรงนี้แล้วเทคโนโลยีนี้มันไม่ได้ไกลตัวเราเท่าไหร่เลย และจริง ๆ ในบ้านเราก็ใช้งานมาได้ช่วงหนึ่งแล้ว อีกทั้งยังมีเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์เปิดให้บริการอีกด้วย ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้ใช้งานมันง่าย ๆ อาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ เลย หรือตอนนี้คุณอาจจะกำลังถือเครื่องมือที่ใช้ IoT อยู่ก็ได้ การเตรียมพร้อมเพื่อรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาอาจจะทำให้ชีวิตคุณสะดวกมากขึ้นก็ได้นะครับ บางทีสิ่งใหม่มันอาจจะไม่ได้แย่เสมอไปขอแค่คุณลองเปิดใจรับมันดู มันน่าตื่นเต้นดีออก
สุดท้ายแล้ว IoT (Internet of Things) ก็คือเครือข่ายไร้สาย ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์หนึ่งไปยังอุปกรณ์หนึ่ง เพื่อส่งข้อมูล และสะดวกต่อการใช้งาน
ข้อดี
1.สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย
2.เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาได้เรื่อย ๆ
3.สามารถเก็บข้อมูลประจำวันของเราไว้ใช้ในอนาคตได้
ข้อเสีย
1.อาจจะมีความเสี่ยงสูง เพราะว่ายังอยู่บนระบบอินเทอร์เน็ต
2.อุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อได้ อาจจะมีราคาสูงกว่าอุปกรณ์ทั่วไป
3.อุปกรณ์เชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ต เมื่ออินเทอร์เน็ตใช้ไม่ได้อาจจะเกิดปัญหา
และอย่างที่รู้ ๆ กันครับว่า ขอบเขตอินเทอร์เน็ตไม่มีวันสิ้นสุด ดังนั้นเราสามารถพัฒนาได้เรื่อย ๆ แม้ว่าในตอนนี้อาจจะยังไม่น่าสนใจ แต่อนาคตเราอาจจะเป็นผู้ใช้ส่วนหนึ่งของ IoT (Internet of Things) ก็ได้ และยิ่งเราสามารถใช้นวัตกรรมพวกนี้ได้ดีมากขึ้นเท่าไหร่ หรือเป็นที่นิยมมากขึ้นเท่าไหร่ ครในอนาคตก็ต้องมีการพัฒนาเพื่อให้มีคนใช้มากขึ้น และก็ต้องเกิดธุรกิจอีกมากมายหลายอย่าง และเกิดการแข่งขันทางธุรกิจขึ้น ซึ่งเราคือบุคคลที่ได้ประโยชน์มากที่สุดนั้นเอง ซึ่ง IoT มีผลกระทบต่อชีวิตผู้คนทั่วโลก และเริ่มเป็นที่นิยมตั้งแต่ปี 2018
แล้วคุณล่ะครับ ? พร้อมที่จะใช้มันหรือยัง ?
โฆษณา