14 ธ.ค. 2019 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
ฮะจิบัง ราเมน ในวันที่กำไรไม่เติบโต
หลายท่านน่าจะรู้จักกับ "ฮะจิบัง ราเมน" ราเมน หมายเลข 8 ที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยมาตั้งแต่ ปี 2534 โดยเปิดสาขาแรกที่ ศูนย์การค้า สีลม คอมเพล็กซ์ และขยายกิจการเรื่อยมาจนในปัจจุบันมี 127 สาขาทั่วประเทศ
ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา รายได้ของ ไทย ฮะจิบัง ยังคงมีการเติบโต แต่กำไรไม่ได้โตตามไปด้วย เกิดอะไรขึ้นกับฮะจิบัง เราไปดูกันครับ
📷 ฮะจิบัง ราเมน
ก่อนอื่นเราลองดูผลประกอบการของ ไทย ฮะจิบัง กันก่อนครับ
หากเราย้อนไปดูผลประกอบการตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2561 ของ ไทย ฮะจิบัง จะพบว่า
รายได้เติบโต จาก 1,458 ล้านบาท ในปี 2555 มาเป็น 1,855 ล้านบาท ในปี 2561คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 3.5% ต่อปี
แต่...กำไรลดลง จาก 283 ล้านบาท ในปี 2555 มาเหลือ 259 ล้านบาท ในปี 2561 คิดเป็นการลดลงเฉลี่ย 1.26% ต่อปี
Source: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกิดอะไรขึ้นกับฮะจิบังบ้าง เราจะย้อนไปดูกัน
1) น้ำท่วมปี 2554
น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ส่งผลกระทบต่อ ฮะจิบัง ค่อนข้างมาก เพราะน้ำได้ท่วมไปถึงครัวกลางของบริษัทที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ทำให้ครัวกลางของบริษัทได้รับความเสียหาย และบริษัทต้องหยุดการดำเนินงานของสาขาทั้งหมดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม ปี 2554
กว่าจะระบายน้ำ ซ่อมแซมส่วนที่ได้รับความเสียหายเสร็จ และเปิดดำเนินการใหม่ได้ทั้งหมดก็ปาเข้าไปกลางเดือนมีนาคม ปี 2555
ผลจากน้ำท่วมครั้งนั้น ย่อมทำให้บริษัทจำเป็นต้องลงทุนทางด้านเครื่องจักร ทั้งซ่อมแซมและการซื้อเข้ามาใหม่ ทำให้ต้นทุนในส่วนนั้นก็จะถูกตัดเป็นค่าเสื่อมในปีต่อ ๆ ไป
2) ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น
ต่อมาในปี 2556 ประเทศไทยของเราได้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 300 บาทต่อวัน
Source: กระทรวงแรงงานและกระทรวงพาณิชย์
โดยหากเราย้อนไปดูค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2562 จะพบว่ามีการปรับเพิ่มขึ้นจาก 245 บาทต่อวัน มาเป็น 315 บาทต่อวัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตรา 3.66% ต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับการเติบโตของรายได้เลย
ส่วนนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการขายของ ฮะจิบัง ราเมน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3) ค่าเช่าที่ ที่ปรับเพิ่มขึ้น
สาขาส่วนใหญ่ของฮะจิบังจะอยู่ในห้างสรรพสินค้า เช่น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ เทอร์มินอล 21 เป็นต้น ซึ่งห้างสรรพสินค้าเหล่านี้มีการปรับขึ้นค่าเช่าเป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว
จากข้อมูลของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) พบว่า
- ปี 2556 อัตราค่าเช่าเฉลี่ยอยูที่ 1,553 บาทต่อตารางเมตร
-ปี 2561 อัตราค่าเช่าเฉลี่ยอยูที่ 1,682 บาทต่อตารางเมตร
คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.61% ต่อปี ซึ่งย่อมส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของฮะจิบังเพิ่มขึ้นไปด้วย
4) ราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงน้อย (มาก)
หากเราย้อนไปดูราคาสินค้าของฮะจิบัง จะพบว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ตัวอย่างเช่น
ราคาของ ทันตัม เมน ในปี 2557 อยู่ที่ 85 บาท พอมาถึงปี 2562 ราคาขยับเป็น 88 บาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาที่ 0.70% ต่อปีเท่านั้นเอง
เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ฮะจิบัง ราเมน จะงัดกลยุทธ์อะไรมาทำให้กำไรดีขึ้น โดยส่วนตัวผมเอาใจช่วยครับ
ติดตาม “InvesTalk – สนทนาภาษานักลงทุน” ได้ทาง
ขอบคุณครับ
อ้างอิง
โฆษณา