20 ธ.ค. 2019 เวลา 00:27 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ฟัก แฟง แตงโม ใครใกล้ชิดกับใคร?
วงศ์แตง (Family Cucurbitaceae) เป็นพืชกลุ่มใหญ่ มีมากกว่า 800 ชนิด และหลายชนิดก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นพืชเศรษฐกิจ และรู้จักกันโดยทั่วไป เช่น แตงโม แตงกวา ฟักเขียว ฟักทอง เมล่อน แตงไทย แคนตาลูป บวบ ตำลึง มะระ ฟักแม้ว น้ำเต้า
พืชเหล่านี้บางชนิดก็มีลักษณะคล้ายกัน บางชนิดก็มีลักษณะต่างกัน คำถามคือ พืชเศรษฐกิจเหล่านี้ชนิดไหนเป็นญาติใกล้เคียงกัน และมาจากที่ไหนกันบ้าง?
ลองเอากระดาษมาลองเขียนดูก็ได้นะครับว่า อะไรใกล้ชิดกันกับอะไรบ้าง
เริ่มจากฟักก่อน
ฟักเขียว [Benincasa hispida]
ฟักเขียว [Benincasa hispida] ที่นำมาทำไก่ต้มฟักกัน เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณเอเชียใต้ถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราอาจจะคิดว่าพืชที่ใกล้ชิดกับฟักเขียวคือ พืชที่มีชื่อว่าฟักเหมือนกันเช่น ฟักทอง หรือฟักแม้ว แต่ผลการศึกษาในระดับโมเลกุล หรือ DNA พบว่า พืชที่มีความใกล้เคียงกับฟักเขียวมากที่สุดคือ กลุ่มของแตงโม [Citrullus lanatus] และน้ำเต้า [Lagenaria siceraria] ที่พบการแพร่กระจายในธรรมชาติอยู่ในทวีปแอฟริกา
แตงโม [Citrullus lanatus]
น้ำเต้า [Lagenaria siceraria] (ที่มา โดย カールおじさん - http://kusabanaph.web.fc2.com/, see ja:Category:草花写真館画像, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=61571)
ที่มีความใกล้ชิดกันถัดออกมา คือ ตำลึง [Coccinia grandis] พืชที่เรานำเถาและยอดมาต้มจืดกัน ซึ่งพบแพร่กระจายในแอฟริกาและเอเชีย แตงกวา [Cucumis sativus] และเมล่อนชนิดต่างๆ [Cucumis melo] ได้แก่ แตงไทย แคนตาลูป โดยแตงกวามีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ ในขณะที่ต้นกำเนิดของแตงไทยยังไม่แน่ชัด อาจจะเป็นในแอฟริกาหรือในเอเชีย
ตำลึง [Coccinia grandis] (ที่มา Tauʻolunga - CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2118030)
ใช่แล้วครับ แตงกวากับแตงไทยเป็นพืชที่ใกล้ชิดกัน เป็นสกุลเดียวกัน ทำให้บางครั้งเราถึงรู้สึกว่าเวลาเรากินแตงไทยที่ไม่หวาน ก็เหมือนกับกินแตงกวา นอกจากนั้นแตงไทยบางพันธุ์ก็ถูกคัดเลือกจนมีความคล้ายคลึงกันกับแตงกวา เช่น แตงกวาอาร์เมเนีย
แตงกวาอาร์เมเนีย [Cucumis melo] ที่เป็นชนิดเดียวกันกับแตงไทย (ที่มา By Flickr user _e.t - https://www.flickr.com/photos/45688285@N00/550985786/, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=13604448)
แตงไทย [Cucumis melo]
แคนตาลูป [Cucumis melo]
แตงกวา [Cucumis sativus] (ที่มา Stephen Ausmus, USDA ARS - the Agricultural Research Service, the research agency of the United States Department of Agriculture, with the ID D730-30).
พืชข้างต้นรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกันที่เรียกว่า Tribe Benincaseae
พืชที่มีความใกล้ชิดกันกับ Tribe Benincaseae คือ Tribe Cucurbiteae ก็คือ กลุ่มของพืชที่เรารู้จักกันในชื่อของฟักทอง ซึ่งพบแพร่กระจายในธรรมชาติในทวีปอเมริกา บริเวณอเมริกากลางถึงอเมริกาใต้ และถูกนำมาในยุโรปและเอเชียหลังจากคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา โดยมีพืช 5 ชนิดในสกุลนี้ที่นำมาปลูกกันเพื่อใช้เป็นอาหาร ได้แก่ [Cucurbita argyrosperma], [C. ficifolia], [C. maxima], [C. moschata] และ [C. pepo]
ฟักทองชนิด [Cucurbita maxima]
ฟักทองที่นำมาทำฟักทองผัดไข่ หรือสังขยาฟักทอง คือ ชนิด [Cucurbita maxima] ในขณะที่ ชนิด [Cucurbita pepo] ก็เป็นฟักทองอีกชนิดหนึ่งที่มีขายในประเทศไทย รวมไปถึงซุคคินี่ (Zucchini) ก็เป็นฟักทองชนิด [Cucurbita pepo] สายพันธุ์หนึ่ง
ฟักทองชนิด [Cucurbita pepo] สายพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ pattypan squash (ซ้ายบน), yellow summer squash (ขวาบน), ซุคคินี่ (zucchini - ขวาล่าง) และ pumpkins (ซ้ายล่าง) (ที่มา https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a6/Cucurbita_pepo_collage_1.png)
กลุ่มที่อยู่ห่างออกไปคือ Tribe Sicyoeae ได้แก่ บวบหวาน [Luffa aegyptiaca] และ บวบเหลี่ยม [Luffa acutangula] และบวบงู [Trichosanthes cucumerina] ซึ่งพบแพร่กระจายในธรรมชาติในทวีปเอเชีย พืชในกลุ่มนี้อีกชนิดหนึ่งคือ ฟักแม้ว [Sechium edule] มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก และแถบอเมริกากลาง และน่าจะนำมาปลูกที่ภาคเหนือก่อนจึงได้ชื่อว่าฟักแม้ว
บวบงู [Trichosanthes cucumerina] ที่ลวกแล้ว กินกับปลานึ่ง
ฟักแม้ว [Sechium edule] (ที่มา By Bùi Thụy Đào Nguyên - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=16703632)
และ Tribe Momordiceae ได้แก่ มะระขี้นกและมะระจีน [Momordica charantia] โดยพืชทั้งสองเป็นชนิดพันธุ์เดียวกัน แต่คนละสายพันธุ์ มะระขี้นกเป็นสายพันธุ์จากอินเดีย และมะระจีนเป็นสายพันธุ์จากจีน และฟักข้าว [Momordica cochinchinensis] ที่อยู่ในสกุลเดียวกันกับมะระ
มะระพันธุ์จีน [Momordica charantia]
ฟักข้าว [Momordica cochinchinensis]
โดยสรุปความใกล้ชิดเชิงเครือญาติของพืชในวงศ์แตงเป็นไปดังรูปข้างล่าง เหมือนที่คิดกันไว้ไหมครับ
แผนภูมิต้นไม้แสดงความสัมพันธ์เชิงเครือญาติระหว่างพืชในวงศ์แตง พืชที่อยู่ใกล้กันในแผนภูมิแสดงว่าเป็นญาติใกล้ชิดกัน ในขณะที่พืชที่อยู่ห่างกันในแผนภูมิ แสดงว่าเป็นญาติที่ห่างกันออกไป
เอกสารอ้างอิง
1. Kocyan, Alexander et al. “A multi-locus chloroplast phylogeny for the Cucurbitaceae and its implications for character evolution and classification.” Molecular phylogenetics and evolution 44 2 (2007): 553-577.
โฆษณา