18 ธ.ค. 2019 เวลา 12:19 • ความคิดเห็น
ว่าด้วย"ความจน"
เป็นอีกหนึ่งอุปมาที่พระพุทธเจ้าใช้เปรียบเทียบกับอะไรบางอย่าง หากท่านผู้อ่านอยากรู้ว่าเป็นอะไร อย่ารอช้า รีบเข้ามาอ่านกันได้เลยครับ
ขึ้นชื่อว่าความจนนั้นเป็นความทุกข์ของคนผู้บริโภคกามในโลก
เมื่อเรายากจน เป็นคนเข็ญใจ ไร้ทรัพย์สมบัติ ทำอย่างไรล่ะ คนจนมักถูกบังคับให้กู้หนี้ "การกู้หนี้นั้น เป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก"
เมื่อกู้หนี้มาแล้ว จะต้องเกิดดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น คงไม่มีใครให้กู้ดอกเบี้ย 0% ถ้ามีนี่หายากมากเลยนะ ดังนั้นเราต้องจ่ายดอกเบี้ย "การต้องจ่ายดอกเบี้ยนั้น เป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก"
ยิ่งใครกู้นาน ๆ อาจจะเจอพลังดอกเบี้ยทบต้น ต้องระวังให้ดี พลังดอกเบี้ยทบต้นถ้ามาอยู่ในฝั่งเงินฝาก เงินลงทุนจะเป็นอะไรที่ดีมาก กลับกันถ้าไปอยู่ฝั่งเงินกู้ก็ไม่น่าอภิรมย์ใจนัก
แรก ๆ ก็อาจจะจ่ายดอกเบี้ยได้ตรงตามเวลา ไม่มีผิดนัด แต่หลัง ๆ หมุนเงินไม่ทันก็ไม่อาจจ่ายดอกเบี้ยได้ตามเวลา พอจ่ายไม่ตรงเวลาก็จะถูกเจ้าหนี้ทวง “การถูกทวงหนี้นั้น เป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก"
1
เจ้าหนี้ทวงหนี้แล้ว คนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ ไม่มีจ่ายอีก เจ้าหนี้ก็ต้องให้คนมาตามถึงที่ ชีวิตเริ่มมีผู้ติดตามแล้วตอนนี้ "การถูกติดตามนั้น เป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก"
เจ้าหนี้ทวงก็แล้ว ตามก็แล้ว คนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติ ก็ยังไม่มีจ่ายอยู่ดี มาถึงขั้นนี้ เจ้าหนี้ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย (ถ้าเป็นในปัจจุบัน) แต่ถ้าเป็นในสมัยพุทธกาล คนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติผู้นั้นก็จะถูกจับกุม "การถูกจับกุมนั้น เป็นทุกข์ของคนบริโภคกามในโลก"
จุดเริ่มต้นมาจาก การกู้หนี้ แค่กู้หนี้ความทุกข์ก็เกิดแล้ว และยังมีเรื่องราวความทุกข์อื่น ๆ ตามมาจากการกู้หนี้เพิ่มมาอีก ดังข้อความที่กล่าวไปข้างต้น
แล้วพระพุทธเจ้ายกเรื่อง "ความจน" นี้เปรียบกับอะไร ?
การไม่มีศรัทธา ไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ไม่มีความเพียร ไม่มีปัญญา ในการทำความดี มีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นเรียกว่า "คนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติในอริยวินัย"
เมื่อไม่มีทรัพย์ที่เป็นอริยะเหล่านี้ เขาย่อมทำชั่วทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ การทำชั่วของเขานั้นเปรียบเหมือน "การกู้หนี้"
เมื่อทำชั่ว เขาย่อมปรารถนาไม่ให้ใครรู้จักเขา ดำริไม่ให้ใครรู้จักเขา พูดจาเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา ขวนขวายทุกอย่างเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา การกระทำเพื่อปกปิดความชั่วนี้เปรียบเหมือน "ดอกเบี้ยที่เขาต้องใช้"
เพื่อนผู้มีศีลเป็นที่รัก ก็จะพากันกล่าวกับเขาอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุนี้ ทำอะไร ๆ (น่าเกลียดน่าชัง) อย่างนี้ มีปกติประพฤติกระทำอะไร ๆ (น่าเกลียดน่าชัง) อย่างนี้” การถูกเพื่อนผู้มีศีลว่ากล่าวอย่างนี้เปรียบเหมือน "การถูกทวงหนี้"
เขาผู้ทำชั่วจะไปอยู่ที่ไหน ๆ ก็ตาม ก็จะเกิดอกุศลวิตกอันลามกประกอบอยู่ด้วยความร้อนใจ ย่อมเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจเขาอยู่อย่างนั้น อาการอย่างนี้เปรียบเหมือน "การถูกติดตามเพื่อทวงหนี้"
สุดท้าย ทำความชั่วจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ภายหลังแต่การตายเพราะการแตกทำลายแห่งกาย ย่อมถูกจองจำอยู่ในนรกบ้าง ในกำเนิดเดรัจฉานบ้าง เปรียบเหมือน “การถูกจับกุม”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ไม่มองเห็น การจองจำอื่นแม้อย่างเดียว ที่ทารุณอย่างนี้ เจ็บปวดอย่างนี้ เป็นอันตรายอย่างนี้ ต่อการบรรลุธรรมอันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เหมือนการถูกจองจำในนรก หรือในกำเนิดเดรัจฉาน
ดังนั้นเป็นคนจนในทางโลกได้ แต่อย่าเป็นคนจนในทางธรรมล่ะ คนรวยในทางธรรมนั้นรวยอะไร คือ รวยด้วยศรัทธา (ในพระพุทธเจ้า) รวยด้วยความละอายและเกรงกลัวต่อบาป รวยด้วยความเพียร รวยด้วยปัญญา
วันคืนล่วงไป ๆ คุณเป็นคนรวยในทางธรรมแล้วหรือยัง ... ด้วยรัก ❤️
ที่มา : ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๙๒/๓๑๖.
ขอขอบคุณภาพทุกภาพจาก pixabay.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา