21 ธ.ค. 2019 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา Gmail ยอมขาดทุน เพื่อใหญ่กว่าเดิม
1
ในหนึ่งวัน มนุษย์รับส่งอีเมลกัน 293,000 ล้านฉบับ
หรือเฉลี่ย 38 ฉบับต่อคน
ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มอีเมล จึงมีความสำคัญต่อโลกในยุคนี้เป็นอย่างมาก
ถ้าถามว่า คนใช้อีเมลอะไรมากที่สุด
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คงจะเป็น Hotmail ของ Microsoft
แต่ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่หันมาใช้ “Gmail” ของ Google กันแทน
เพราะอะไร Gmail ถึงแย่งส่วนแบ่งตลาดมาจาก Hotmail ได้สำเร็จ
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Google เริ่มศึกษาธุรกิจอีเมลมาตั้งแต่ปี 1999
ซึ่งขณะนั้น ผู้นำตลาดคือ Hotmail ของ Microsoft มีสมาชิกอยู่ราว 30 ล้านบัญชี
ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน 2004 Google ก็ได้เปิดตัวบริการอีเมลฟรี ชื่อว่า “Gmail”
ตอนแรกผู้คนต่างคิดว่าเป็นเรื่องโกหกฉลองวัน April Fool’s Day
เพราะสิ่งที่ Google นำเสนอ มันดูน่าเหลือเชื่อมากสำหรับยุคนั้น
1
โดย Gmail ให้พื้นที่เก็บข้อมูลถึง 1,000 MB หรือ 1 GB
สูงกว่าผู้เล่นรายอื่นที่ให้แค่ประมาณ 4 MB
ทำให้สมาชิกไม่ต้องคอยลบอีเมลอยู่บ่อยครั้ง
ถือว่าแก้ปัญหา pain point ของคนที่ใช้อีเมลในยุคนั้นได้อย่างดี
นอกจากนี้ Gmail ยังได้มุ่งเน้นพัฒนาระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้อีเมล
ไม่ว่าจะเป็น การใช้ฟีเจอร์คล้ายเว็บไซต์ Google ค้นหาข้อมูลภายในอีเมลได้ละเอียด
จากเดิมที่เราค้นหาอีเมลยาก
มาตอนนี้เราสามารถหาอีเมลด้วยระบบ algorithm ที่ฉลาดของ Google
และการพัฒนาต่อมาก็คือ การเชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น Google Drive ช่วยให้รับส่งไฟล์ และทำงานสะดวกขึ้น
จนในปัจจุบัน Google ได้เริ่มใช้ Machine Learning ของ AI มาคาดเดาประโยคที่เรากำลังจะพิมพ์เลยทีเดียว
1
Cr. FierceVideo
ด้วยคุณภาพของแพลตฟอร์ม ที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้อีเมล
จึงทำให้ Gmail ได้รับความนิยม จนมีจำนวนสมาชิกแซงหน้า Hotmail และครองส่วนแบ่งตลาดในที่สุด
ปี 2011
Gmail มีสมาชิก 220 ล้านบัญชี
Hotmail มีสมาชิก 360 ล้านบัญชี
ปี 2019
Gmail มีสมาชิก 1,500 ล้านบัญชี
Outlook (แพลตฟอร์มใหม่แทนที่ Hotmail) มีสมาชิก 400 ล้านบัญชี
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัย
ว่าทำไม Microsoft ถึงไม่พัฒนาฟีเจอร์ของ Hotmail ให้เป็นเช่นนั้น ทั้งที่บริษัทก็มีทรัพยากรมากมายที่จะมาแข่งขันกับ Google
คำตอบคือ 2 บริษัทนี้ ใช้กลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจอีเมลแตกต่างกัน
2
ธุรกิจ Hotmail สามารถสร้างรายได้ให้ตัวเอง
โดยเงินที่ใช้พัฒนาธุรกิจ ก็จะมาจากค่าโฆษณาบนหน้าแพลตฟอร์มของ Hotmail
แต่ Google สร้าง Gmail ให้เป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่
ไม่ได้ให้ Gmail หารายได้โดยตรง
Google เก็บข้อมูลผู้ใช้อีเมล แล้วนำไปวิเคราะห์เพื่อการโฆษณาบนที่อื่น เช่น Search Engine ของตนเอง
เพราะพวกเขามองว่า คนจะกดดูโฆษณาตอนค้นหาข้อมูล มากกว่าตอนเช็กอีเมล
1
ดังนั้น Gmail จะสร้างมูลค่าเพิ่มต่อแพลตฟอร์มหลักของบริษัท มากกว่าตัวมันเอง
1
ทำให้ Google พัฒนา Gmail ได้เต็มที่ ทั้งให้เนื้อที่จำนวนมาก และไม่มีโฆษณา โดยไม่ถูกจำกัดว่าผลิตภัณฑ์นี้จะขาดทุนหรือไม่ เพราะบริษัทมีรายได้จากค่าโฆษณาใน Search Engine มหาศาลอยู่แล้ว
1
และถึงแม้ต่อมา คู่แข่งรายอื่นจะเสนอฟีเจอร์ต่างๆ ขึ้นมาทัดเทียมกัน ก็ไม่อาจดึงดูดคนไปจาก Gmail ได้ เพราะคนคุ้นชิน และไม่มีเหตุผลจูงใจมากพอในการเปลี่ยนไปอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง
1
ในทางทฤษฎี เราสามารถสมัครอีเมลใหม่ได้ทุกเมื่อ
แต่ในทางปฏิบัติ เราคงไม่ได้เปลี่ยนอีเมลกันบ่อยๆ เพราะเราได้ใช้มันเป็นบัญชีในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นมากมายไปแล้ว ทำให้ธุรกิจนี้มี Barriers to Entry อยู่พอสมควร
ในขณะที่คู่แข่งรายอื่นก็ไม่สามารถยอมขาดทุนได้แบบ Google เพราะเขาเหล่านั้นไม่มีแพลตฟอร์มหลักในการหารายได้
อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลส่วนตัวจากอีเมล ส่งผลให้เกิดประเด็นถกเถียงด้านความเหมาะสม
จนเมื่อปี 2017 นั้น Google ก็ได้ประกาศยุติใช้ข้อมูลจาก Gmail มาวิเคราะห์เพื่อการโฆษณา
2
ในตอนนี้ Google จึงเน้นให้ Gmail เป็นหน้า portal นำไปสู่การใช้ผลิตภัณฑ์อื่นของ Google เช่น การซื้อเนื้อที่เพิ่มจาก Google Drive หรือ การใช้ Docs, Sheets, Slides และในช่วงหลังรายได้จากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่เรียกว่า Cloud ก็เติบโตได้ดีเช่นกัน
3
Cr. Voicebot
จากเรื่องนี้ ทำให้เห็นว่า
ในบางครั้ง มูลค่าเชิงธุรกิจของผลิตภัณฑ์
ไม่ได้อยู่ที่ว่า ตัวมันเอง สร้างผลตอบแทนเป็นตัวเงินเท่าไหร่
แต่มูลค่าที่แท้จริงอาจซ่อนอยู่ ซึ่งสร้างประโยชน์ในภาพรวมให้เราได้มากกว่า
แนวคิดนี้ Google ยังนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์อื่น ไม่ใช่เฉพาะ Gmail
ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดก็คือ Google Maps
เคยสงสัยไหม ว่าเราใช้แผนที่ของ Google ฟรี แล้ว Google ได้อะไร
คำตอบคือ Google ไม่มีรายได้โดยตรง
แต่มูลค่ามหาศาลที่ซ่อนอยู่ก็คือ
ข้อมูลว่าเราไปไหนบ้างในแต่ละวัน
ถ้าวันนี้มีบางอย่างที่ตัวเรารู้สึกว่า เราทำไปแล้วไม่ได้อะไร
ลองคิดดูดีๆ
สิ่งนั้นมันอาจจะมีประโยชน์ต่อเราในภาพรวมก็เป็นได้
ยอมขาดทุนสิ่งหนึ่ง เพื่อสิ่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม..
1
โฆษณา