21 ธ.ค. 2019 เวลา 12:28 • ธุรกิจ
Learning Visual Diary #40: Simple is not Easy
สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้ผมอยากจะชวนทุกท่านคุยถึงประโยคนึงที่ผมอยากยกขึ้นมาพูดคุยกันถึงนัยสำคัญของมัน นั่นก็คือ 'Simple is not Easy' ประโยคสั้นๆที่ว่าด้วยเรื่องง่ายๆ แต่คมคาย และมีความหมายที่ลึกซึ้ง เรามาว่ากันง่ายๆ ครับ ตามมาเลยครับ
คือมันอย่างนี้ครับ...
ตอนนี้ผมหาข้อมูลจากหลายแหล่ว เช่น เนื้อหาจาก MarkDivine Blog แล้วก็ Christopher S Penn Blog และแน่นอนว่าผสมความเห็นผมลงไปด้วย ดังนั้นอาจจะถูกหรือผิด ก็ share กันได้นะครับ
Simple ≠ Easy
หลายๆคนอาจจะมีความเข้าใจว่า คำว่า Easy กับ Simple เป็นคำพ้องความหมายกันครับ ยิ่งถ้าเรากดหาความหมายจาก google translate ก็พบว่าทั้งสองคำนี้แปลว่า 'ง่าย' เหมือนกัน ยิ่งถ้าไปหา synonym แล้ว ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มความหมายเดียวกัน แต่จริงๆแล้วคำสองคำมีความต่างกัน ชนิดว่าเป็นตรงกันข้ามเลยครับ
Easy แปลว่า 'ง่าย' แต่ถ้าแปลให้ลึกต้องแปลว่า การทำอะไรก็ตามที่ให้ผลลัพท์โดยใช้ความพยายามน้อยที่สุด (Easy is a minimum amount of effort to produce a result)
ขณะที่ Simple ก็แปลว่า 'ง่าย' แต่ความหมายลึกๆคือการทำให้กระบวนการง่ายขึ้นโดยขจัดความยากหรือตัดความไม่จำเป็นออกจากขั้นตอน (Simple is the removal of everything except what matters)
จะเห็นความหมายเบื้องต้นเหมือนกันแต่ความหมายแท้จริงต่างกันมากเลยครับ
Easy ตรงข้ามกับ Difficult ขณะที่ Simple ตรงข้ามกับ Complexity
Easy แล้วมันไม่ดียังไง
Easy เป็นความง่ายในมุมมองของเจ้าของง่าย แต่อาจไม่ง่ายในมุมมองผู้ใช้ง่าย การทำอะไรง่ายๆในมุมมองเจ้าของง่ายอาจกลายเป็นความมักง่ายแทน ง่ายในมุมของเจ้าของงานมันคือการใช้ความพยายามน้อยที่สุด ไม่ลงทุน หาทางลัดโดยสนใจ Core value น้อยกว่า
ผลเสียก็จะทำให้เราไม่ใส่ใจรายละเอียด ไม่ส่งเสริมให้เราเติบโตจากคุณค่าจริงๆ ลองคิดดูๆว่าเมื่อเป้าหมายการออกผลิตภัณฑ์ของคุณคือ การใช้ความพยายามให้น้อยที่สุดเพื่อให้อแกผลิตภัณฑ์มาให้ได้ ฟังเผินๆก็เหมือนไม่เลว แต่มันไม่มีมุมมองของลูกค้าอยู่ในนั่นเลย คุณอาจจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ง่าย แต่ถ้ามันไม่ง่ายในมุมผู้ใช้ก็ไม่มีความหมาย จริงใหมครับ
Simple ละต่างและดีกว่ายังไง
Simple เป็นความง่ายเช่นกันครับแต่กลับมุมมองเป็นมุมมองของผู้ใช้งานไม่ใช่เจ้าของงาน เป้าหมายของ Simple จึงเป็นการทำให้ผู้ใช้งานสะดวกที่สุด เป็นความง่ายในมุมมองของผู้ใช้ไม่ใช่เจ้าของงาน ซึ่งการจะทำให้สินค้าและบริการของเราง่ายต่อผู้ใช้งาน เจ้าของงานต้องผ่านการเคี่ยวงานที่ตนทำอย่างมาก ต้องอาศัยการทดลองลองผิดลองถูก อาศัยข้อมูล อาศัยความเช้าใจความเข้าถึงลูกค้าจริงอย่างมาก ผมคิดว่าการสร้างสินค้าหรือบริการที่ simple อาจสร้างผ่านการตั้งคำถามมากๆ สงสัยมากๆ เอ๊ะมากๆครับ ตัวอย่างคำถามสำคัญก็เช่น
1. สิ่งที่ทำหรือขั้นตอนที่ทำสร้างคุณค่าอะไรกับลูกค้า
2. สิ่งที่ทำหรือขั้นตอนที่ทำมันจำเป็นกับลูกค้าจริงๆใหม มันยุ่งยากไปใหม
3. สิ่งที่ทำหรือขั้นตอนที่ทำยกเลิกได้ใหม แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
4. สิ่งที่ทำหรือขั้นตอนที่ทำยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ใหม
หนึ่งในตัวอย่างแห่งความสุดยอดของ Simple ก็คงหนีไม่พ้น Apple และ Steve Jobs เองก็ถือเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับ Simplicity Design มากๆ จำวันที่ใช้ iPhone เครื่องแรกได้ใหมครับ มันใช้ง่ายมาก simple มากไม่มีปุ่มอะไรเลย ทำงานผ่านปุ่ม Home และ touchscreen แบบใช้นิ้วสัมผัส น้องๆยุคนี้อาจไม่ทราบแต่สมัยนั้น touchscreen เราใช้ stylus จิ้มเอา ซึ่งเรียกว่าสะดวกแล้ว แต่เทียบไม่ได้กับ iPhone ในยุคนั้น แน่นอนว่าเบื้องหลังมันยากมากกว่าที่วิศวกรจะคิดออกมาได้
หรือ Muji ที่มีปรัชญาการออกแบบว่าแค่ลูกค้าเห็นผลิตภัณฑ์ครั้งแรกก็สามารถใช้ได้เลยโดยไม่ต้องแนะนำ มันฟังดูง่ายแต่ทำจริงต้องผ่านการคิดอย่างละเอียดอ่อนมากๆครับ
Simple จำเป็นไม่ใช่แค่กับลูกค้า
Simple ยังมีบทบาทสำคัญกับการทำงานในองค์กร ผมขอยกด้านสำคัญมาซักสองด้านละกันครับ
1. การจัดการด้านประสิทธิภาพ
จะเห็นว่า Simple กับ Effectiveness เป็นเรื่องที่ส่งเสริมกัน ยังเราสามารถออกแบบขั้นตอนที่ simple ได้เท่าไร เรายิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งเราเพิ่ม effectiveness จากการลด waste process ได้เท่าไร เรายิ่งได้ simplicity มากขึ้นเท่านั้น 2 สิ่งนี้จึงไปในทางเดียวกันอย่างแยกไม่ออกเลย
1
https://teamstrength.com/think-simple-not-easy/
2. การสื่อสารภายในองค์กร
ตั้งแต่การออกแบบ Vision Mission OKRs จริงๆแล้วการออกแบบการสื่อสารภายในที่ดีมีหัวใจอยู่เรื่องเดียวคือ พนักงานต้องได้รับการสื่อสารที่สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน คือต้องเข้าใจและต้องไปทางเดียวกันด้วย การกลั่นเรื่องที่ต้องสื่อสารออกมาเป็นประโยคที่ง่ายและสั้นจึงดีต่อความเข้าใจและเมื่อเข้าใจก็จำหรือเข้าสมองได้ง่ายกว่า ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของผู้บริหารเลยที่ต้องสร้าง Simple statement ที่เชื่อมความเข้าใจของพนักงานทุกคนทุกระดับไปด้วยกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เขาเหล่านั้นทำตามได้ง่ายแล้วยังช่วยให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวจากคุณค่าที่เห็นร่วมกันด้วยครับ
จะทำตัวให้ simple ได้ ผมเชื่อว่าต้องเริ่มจากนิสัยส่วนตัวของเรา เราตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้สร้างคุณค่าที่แท้จริงออกจากชีวิตได้หรือยัง เราหยุดความเกินพอดีของเราได้หรือยัง เราตอบสั้นๆแต่ตรงได้หรือยัง เราเขียน email สั้นๆแต่ได้ใจความได้หรือยัง เรามีความสุขกับรายละเอียดที่เรียบง่ายและพร้อมส่งต่อความเรียบง่ายเหล่านั้นให้คนรอบข้างได้หรือยัง
ผมขอจบบทความนี้ด้วยหนึ่งในประโยคทองของ Steve Jobs
"Simplicity is the ultimate sophistication"
เพราะความเรียบง่ายไม่ใช่ความง่าย คุณต้องเข้าใจและทำงานหนักกับมันจริงๆ ผ่านกระบวนการมากมายซ้ำแล้วซ้ำอีก คุณจึงจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจแบบง่ายได้ครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
โฆษณา