23 ธ.ค. 2019 เวลา 02:33 • ประวัติศาสตร์
ประวัติหลวงพ่อแพ เขมังกโร วัดพิกุลทอง
หลวงพ่อแพ ท่านเป็นชาว จ.สิงห์บุรี โดยกำเนิด เป็นบุตรของนายเทียน และนางหน่าย ใจมั่นคง
มีนามเดิมว่า “แพ ใจมั่นคง” ชาตะเมื่อวันจันทร์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง (ตามหลักสากลถือเป็นปีมะเส็ง) ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๔๘ ณ บ้านสวนกล้วย หมู่ที่ ๘ ต.ถอนสมอ อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
เมื่ออายุได้ ๘ เดือน โยมมารดาผู้ให้กำเนิดได้ถึงแก่กรรม นายบุญ และนางเพียร ขำวิบูลย์ สามีภรรยาซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ได้ขอเด็กชายแพ มารับอุปการะเป็นบุตรบุญธรรม จากนายเทียน ใจมั่นคง โยมบิดาบังเกิดเกล้า
พี่น้องร่วมมารดา
หลวงพ่อแพท่านมีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน ๔ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง ปัจจุบันพี่น้องร่วมมารดาทั้งหมดได้เสียชีวิตหมดแล้ว
เริ่มศึกษาครั้งแรก
เมื่อเด็กชายแพอายุได้ ๑๑ ปี ได้ศึกษาภาษาไทยในสำนักของพระอาจารย์พัน ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสของวัดใหม่พิกุลทองในสมัยนั้น ศึกษาได้ประมาณ ๓ เดือน จึงได้ย้ายไปเรียนกับพระอาจารย์ป้อม จันทสุวัณโณ ได้เรียนมูลบท บรรพกิจ จนแตกฉาน พร้อมทั้งได้อ่านคัมภีร์ พระธรรม พระสูตร พระมาลัย ตลอดจนหนังสือเทศน์ ที่จารึกเป็นภาษาขอมได้แตกฉาน ถือว่าเป็นการเรียนจบหลักสูตรในสมัยนั้น
ต่อมา เพราะอายุยังได้ ๑๔ ปี นายบุญ ขำวิบูลย์ บิดาบุญธรรม ได้นำท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์ กับพระอาจารย์สม ซึ่งเป็นภิกษุชาวเขมร ที่คณะ ๑๕ วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ ได้เรียนสูตรสนธิก่อน ๑ ปี และต่อมาได้เรียนบาลีไวยากรณ์ ณ สำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ โดยเป็นสิทธิ์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารีมหาเถร)
บรรพชา
เด็กชายแพ ได้บรรพชา บวชเป็นสามเณร ในวันพฤหัสบดี แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก จ.ศ. ๑๒๘๒ ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ณ วัดใหม่พิกุลทอง ตำบลถอนสมอ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยมีพระอธิการพัน เจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์
อุปสมบท
บวชเป็นพระภิกษุ ในวันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล จ.ศ. ๑๒๘๘ ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ณ วัดใหม่พิกุลทอง จังหวัดสิงห์บุรี โดยมีพระมงคลทิพย์มุนี เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสิทธิเดช วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการอ่อน เจ้าอาวาสวัดแม่ทอง (จำปาทอง) สิงห์บุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และได้รับฉายาทางสมณเพศว่า "เขมงฺกโร" (เขมังกะโร) จากพระอุปัชฌายะ
วิทยฐานะ
พ.ศ. ๒๔๖๖ สอบได้นักธรรมชั้นตรี เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี (ย่าง ๑๙ ปี) ซึ่งในสมัยนั้น กำหนดผู้ที่เข้าสอบ จะต้องมีอายุ ๑๙ ปี จึงจะเข้าสอบได้
พ.ศ. ๒๔๖๘ สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค (ยังเป็นสามเณร) ณ สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. ๒๔๖๙ สอบได้นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. ๒๔๗๐ สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค
รับอาราธนาเป็นเจ้าอาวาส
ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ วัดใหม่พิกุลทอง ได้ว่างเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัดลง ชาวบ้านวัดใหม่พิกุลทอง วัดจำปาทอง วัดวิหารขาว วัดเสมาทอง ตลอดจนวัดใกล้เคียง ได้ประชุมปรึกษาหารือ และมีความคิดเห็นเป็นสมานฉันท์ ว่าพระมหาแพ ซึ่งเป็นบุคคลท้องถิ่น ได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่กรุงเทพฯ บัตรนี้มีอายุพรรษา ตลอดจนความรู้ มีความเหมาะสม เห็นควรจะให้กลับมาสู่ภูมิลำเนาเดิม จึงพร้อมใจกันไปกราบอาราธนาท่าน ให้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่พิกุลทอง โดยหวังจะให้ท่านมหาแพ ได้ช่วยทำนุบำรุงท้องถิ่น และพุทธอาณาจักร ให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป
เริ่มศึกษาจิตศาสตร์
เมื่อพระเดชพระคุณท่านหลวงพ่อแพ ได้ตกลงใจรับอาราธนา กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่พิกุลทองแล้ว จึงเกิดความคิดว่า การที่จะเป็นเจ้าอาวาสนั้น จำเป็นต้องมีภูมิความรู้ และวิทยาคม ตลอดจนความรู้ด้านการรักษา และตำรับยาแผนโบราณ โดยเบื้องแรก ได้รับคำแนะนำจาก ท่านพระครูใบฎีกาเกลี้ยง วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศิษย์ใกล้ชิดของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม ท่านได้เมตตาแนะนำสั่งสอน พร้อมมอบตำราเกี่ยวกับวิชาจิตศาสตร์ และวิทยาคมให้ และนอกเหนือจาก ท่านพระครูใบฎีกาเกลี้ยงแล้ว หลวงพ่อแพ ยังคุ้นเคยเป็นที่รักนับถือกับพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระศรีสัจญาณมุนี (พระมหาสนธิ์ ยติธโร) และหลวงพ่อเลี่ยม ซึ่งท่านทั้งสองรูปนี้ ก็เป็นศิษย์อยู่ในสังกัดเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเช่นเดียวกัน ดังนั้น ท่านพระครูใบฎีกาเกลี้ยง, ท่านเจ้าคุณสนธิ์, หลวงพ่อเลี่ยม ทั้ง 3 ท่าน ต่างมอบวิชาจิตศาสตร์ และวิทยาคม แนะนำถวายแก่หลวงพ่อแพในเบื้องต้น
ในกาลต่อมา หลวงพ่อแพได้สืบทราบว่า มีพระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตศาสตร์ และวิทยาคม เป็นที่เลื่องลือของคนทั่วไป เพราะท่านมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ จำพรรษาอยู่ที่วัดพระปรางค์ จังหวัดสิงห์บุรี ที่คนทั่วไปรู้จักกันในนามของท่านว่า หลวงพ่อสี เกสโร หรือ พระครูศรีวิริยโสภิต ท่านเป็นพระที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีการปฏิบัติดีงาม ยึดมั่นในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด หลวงพ่อแพจึงไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์ ได้ร่ำเรียนวิชาจิตศาสตร์ และวิทยาคม จากหลวงพ่อสี จนมีความรู้แตกฉาน เป็นที่โปรดปรานของหลวงพ่อสีมาก หลวงพ่อสีจึงถ่ายทอดวิชาจิตศาสตร์ และวิทยาคมระดับสูงขึ้นไปให้โดยไม่ปิดบัง
งานปกครอง
พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใหม่พิกุลทอง
พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลถอนสมอ
พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอท่าช้าง
พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี
งานทางด้านการศึกษา
พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ที่วัดชนะสงคราม
พ.ศ. ๒๔๗๕ เปิดทำการสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ที่วัดใหม่พิกุลทอง
พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นกรรมการตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวง
พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นกรรมการศึกษาประจำตำบลถอนสมอ, โพประจักษ์, วิหารขาว
พ.ศ. ๒๕๑๔ เปิดทำการสอนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ที่วัดพิกุลทอง และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการศึกษาประจำจังหวัดสิงห์บุรี
พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นผู้อำนวยการในการสอบธรรมประจำอำเภอท่าช้าง
พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นผู้อำนวยการในการสอบบาลีสนามหลวงประจำจังหวัดสิงห์บุรี
พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นผู้อำนวยการในการตรวจข้อสอบนักธรรมชั้นนวกะภูมิ
พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับการยกย่องจากกรมการศาสนา ให้สำนักเรียนวัดพิกุลทองเป็นสำนักเรียนประจำจังหวัดสิงห์บุรี
พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับถวายปริญญา ครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โปรแกรมวิชาบริหารการศึกษา เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ จากสถาบันราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี
สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ทำกิจปริยธรรมวินัย ที่พระครูศรีพรหมโสภิต
พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ
พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระครูสุนทรธรรมภาณี
พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับการยกย่องจากศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ให้เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา โดยได้รับเสาเสมาธรรมจักร จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชสิงหคณาจารย์
พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นกรณีพิเศษ ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ ในวาระครบ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพสิงหบุราจารย์
พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นกรณีพิเศษ ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมมุนี
1
นับตั้งแต่หลวงพ่อแพ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดพิกุลทอง ได้บำเพ็ญประโยชน์ภายในวัด และสาธารณประโยชน์ทั่วไป พอสรุปได้ดังนี้ ดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ หอประชุมกุฎิสงฆ์ หอไตร หอฉัน ศาลาวิปัสสนา โรงฟังธรรม ฌาปนสถาน ศาลาเอนกประสงค์ เขื่อนหน้าวัด ฯลฯ ดำเนินการก่อสร้างสารธรณประโยชน์ เพื่อเป็นการอนุเคราะห์แก่ประชาชนทั่วไป พอสรุปได้ดังนี้
1. เป็นประธานในการก่อสร้างโรงพยาบาลอำเภอท่าช้าง
2. เป็นประธานในการก่อสร้างที่ว่าการอำเภอท่าช้าง
3. เป็นประธานในการก่อสร้างสถานีตำรวจอำเภอท่าช้าง
4. เป็นประธานในการก่อสร้างสถานีอนามัยตำบลพิกุลทอง
5. เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนประชาบาลวัดพิกุลทอง
6. เป็นประธานในการหาทุนสมทบในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อำเภอ อินทร์บุรีและสะพานข้ามแม่น้ำน้อย อำเภอท่าช้าง
ดำเนินการก่อสร้างสาธารณประโยชน์ ให้กับโรงพยาบาลสิงห์บุรี
พ.ศ. ๒๕๒๘ ก่อสร้างอาคารหลวงพ่อแพ ๘๐ ปี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๔ ชั้น มูลค่า ๑๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท (สิบเอ็ดล้านหนึ่งแสนบาทถ้วน) สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ ๘๙ เตียง พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้เป็นค่ายาและเวชภัณฑ์ สำหรับพระภิกษุสามเณรที่อาพาธในโรงพยาบาลสิงห์บุรี เป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน)
พ.ศ. ๒๕๓๒ ก่อสร้างอาคารเอ็กซเรย์ (อาคารหลวงพ่อแพ ๘๖ ปี) เป็นอาคารคอนกรีต เสริมเหล็ก สูง ๒ ชั้น มูลค่า ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดล้านบาทถ้วน) ก่อสร้างแล้วเสร็จ และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๓ พ.ศ. ๒๕๓๕
พ.ศ. ๒๕๓๔ ก่อสร้างอาคารหลวงพ่อแพ ๙๐ ปี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง ๖ ชั้น มูลค่า ๓๕,๐๙๕,๕๕๕ บาท (สามสิบห้าล้านเก้าหมื่นห้าพันห้าร้อยห้าสิบห้าบาทถ้วน) อาคารหลังนี้ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๔ เวลา ๐๙.๐๙ น. และเปิดให้บริการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๗ โดยชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๕ เป็นหอผู้ป่วยสามัญ ชั้นที่ ๖ เป็นหอผู้ป่วยพิเศษ จำนวน๑๕ ห้อง และทางโรงพยาบาลสิงห์บุรีได้กราบทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารหลวงพ่อแพ ๙๐ ปี เมื่อวันจันทร์ที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
พ.ศ. ๒๕๓๘ ก่อสร้างอาคารหลวงพ่อแพ เขมังกโร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง ๙ ชั้น มูลค่า ๑๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งร้อยยี่สิบล้านบาทถ้วน) ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ อาคารหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอย ๑๑,๔๓๐ ตารางเมตร โดย ชั้นที่ ๑ - ๒ เป็นแผนกบริการผู้ป่วยนอก ชั้นที่ ๓ - ๔ เป็นฝ่ายอำนวยการ ชั้นที่ ๕ - ๙ เป็นห้องผู้ป่วย จำนวน ๖๐ ห้อง ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๑
การมรณภาพ
ในระยะหลัง หลวงพ่อได้งดรับกิจนิมนต์ โดยคำแนะนำจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิงห์บุรี เนื่องจากไม่สามารถพยุงตัวเองได้ รวมทั้งมีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน และโรคชรา จนเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๑ ทางคณะแพทย์ไดเห็นสมควรนำหลวงพ่อเข้าพักรักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี เนื่องจากตรวจพบว่าหลวงพ่อเป็นโรคปอดอักเสบ ทางคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาจนอาการดีขึ้น
ต่อมาในวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๑ ท่านอาการทรุดลง จนกระทั่งเวลา ๐๑.๓๐ น. ของวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๑ ท่านได้มีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ไม่รู้สึกตัว และหัวใจหยุดเต้น ทางคณะแพทย์ได้ทำการช่วยจนหลวงพ่อฟื้นคืนชีพได้สำเร็จ และทางได้ถวายดูแลรักษาจนอาการดีขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๒ หลวงพ่อท่านได้ละสังขารลงอย่างสงบ ณ ห้อง ๙๐๑ ชั้น ๙ อาคารหลวงพ่อแพ เขมังกโร ๙๔ ปี โรงพยาบาลสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี สิริอายุรวม ๙๔ พรรษา ๗๓
ปัจจุบัน ทางวัดพิกุลทองยังคงประดิษฐานสรีระของหลวงพ่อแพเอาไว้ เพื่อให้ศรัทธาญาติโยมและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้สักการบูชากราบไหว้ตลอดมา
โฆษณา