25 ธ.ค. 2019 เวลา 02:38
ความรู้การเงิน สำหรับชาว "GIG
#3 Gig Economy เมื่อรักจะเป็นอิสระ ก็ต้องระวังความเสี่ยงให้ตัวเอง
อิสระที่ต้องเสี่ยงด้วยตัวเอง
เมื่อทำงานแบบ Gig worker เต็มตัว ก็เท่ากับอยู่นอกระบบโครงสร้างหลักของการจ้างงานซึ่งได้รับการพัฒนาด้านต่างๆ รองรับคนที่ทำงานภายใต้โครงสร้างไว้ไม่มากก็น้อย เช่น ระบบสวัสดิการ ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และระบบประกันสังคมของคนทำงานในระบบที่จะเป็นประกันสังคมภาคบังคับที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบตลอดการทำงาน ในขณะที่การเลือกทำประกันสังคมภาคสมัครใจจะได้รับผลประโยชน์ที่ต่ำกว่า รวมทั้งไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายการจ่ายเงินชดเชยกรณีออกจากงานหรือเกษียณอายุ เป็นต้น
คนที่มีรายได้จาก Gig worker เพียงช่องทางเดียวเป็นเหมือนผู้ประกอบการอิสระที่ต้องดูแลด้านต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่ใช่แค่ด้านการเงินและด้านภาษีที่เราไม่สามารถเลี่ยงได้ แต่ยังมีความเสี่ยงบางด้านที่ต้องทราบและเตรียมรับมือไว้แต่เนิ่นๆ
1. ความไม่แน่นอนของรายได้ ทั้งรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้จ่าย และความสม่ำเสมอของรายได้ที่จะได้รับไปตลอดระยะเวลา
ข้อดีของการทำงานแบบ Gig worker หรือการเป็นผู้ประกอบการอิสระ คือ ทำมากได้มาก แต่ถ้าอยากทำแต่มีงานให้ทำน้อยหรือไม่มีงานให้ทำ ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาด้วยตนเองให้มีรายได้พอใช้ให้ได้
นอกจากนี้เราจะคาดการณ์รายได้ระยะยาวได้ค่อนข้างยาวเพราะการทำงานผ่านแอปฯ ต่างๆ นั้น เราจะถูกแอปฯ กำหนดราคาการทำงานให้ และยังอาจจะถูกแบ่งงานจากจำนวนคนที่เข้ามาสมัครทำงานมากขึ้น และระยะยาวหากแอปฯ ไม่สามารถอยู่รอด ก็จะเท่ากับเราต้องไปเริ่มต้นใหม่
2. การที่ต้องรับผิดชอบต้นทุนต่างๆ ในการทำงาน ทำให้ "รายได้" ไม่เท่ากับ "รายรับ"
รายรับที่ได้อาจจะไม่ใช่รายได้ทั้งหมด เพราะมีต้นทุนในการทำงานต่างๆ ที่เราแบกรับไว้เอง จึงต้องแยกระหว่าง รายรับ กับรายได้ ให้ดี โดยการหักต้นทุนในการทำงานออกไปจากรายรับ เช่น ค่าธรรมเนียมที่บริษัทฯ เรียกเก็บ ภาษีต่างๆ ค่าใช้จ่ายในการทำงาน ทั้งค่าเสื่อมราคาและค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ ค่าสาธารณูปโภคและพลังงาน รายได้จึงเป็นส่วนของรายรับที่หักต้นทุนต่างๆ ออกไปแล้ว และนอกจากนี้ รายจ่ายบางรายการไม่ได้แปรตามจำนวนหรือการทำงาน แต่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าผ่อนรถหรือมอเตอร์ไซด์ที่ใช้ทำงาน ค่าประกันรถยนต์ ค่าทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น
จึงต้องบริหารจัดการบัญชีรายรับรายจ่ายให้ดี เพื่อดูว่าเรามีรายได้จริงมากน้อยแค่ไหน และเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร อีกทั้งทำให้เราทราบว่าเรามีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายจำเป็นต่างๆ หรือเปล่าและเราควรระมัดระวังในเรื่องการสร้างหนี้ต่างๆ
วิธีการควบคุมภาระหนี้ง่ายๆ ก็คือ การกำหนดสัดส่วนเงินใช้คืนหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยที่ได้เรารับ สัดส่วนที่เป็นที่ยอมรับว่าค่อนข้างปลอดภัยคือ เงินใช้คืนหนี้ที่ยกเว้นหนี้ผ่อนชำระที่อยู่อาศัย ควรมีสัดส่วนไม่สูงเกินกว่า 20% ของ"รายได้" เฉลี่ยที่เรามี
3. หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เราไม่สามารถทำงานได้ ในช่วงเวลานั้นจะเอารายได้จากไหนมาใช้จ่าย
ความคุ้มครองเบื้องต้นที่ทุกคนน่าจะมีอยู่ คือ ถ้าหากมีรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ ก็จะมี พรบ รถยนต์และจักรยานยนต์ ที่เป็นประกันอุบัติเหตุภาคบังคับ เพื่อให้มีความคุ้มครองเบื้องต้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ตั้งแต่ ค่าใช้จ่ายในการนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล และการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น หากเบิก พรบ จนเต็ม ก็จะ เบิกสิทธิ์อื่นๆ ต่อไป สำหรับในด้านสุขภาพนั้น ทุกคนมี สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
ความคุ้มครองเหล่านี้ เป็นเพียงความคุ้มครองเบื้องต้นที่อาจไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายและค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเพียงพอ และมีรวมการขดเชยรายได้ที่ขาดหายในระหว่างที่ไม่สามารถทำงานได้
เนื่องจากGig worker ส่วนใหญ่มีรายได้จากงานแบบ On demand หรือเป็นการทำงานแลกกับค่าจ้าง สิ่งที่อาจตามมาหลังเกิดเรื่องไม่คาดฝัน หากไม่สามารถทำงานได้ก็คือการขาดรายได้ทั้งแบบระยะสั้น หรือระยะเวลายาว ทำให้มีผลกระทบต่อรายจ่ายที่จำเป็นต้องใช้จ่าย เช่น การชำระคืนเงินงวดหรือหนี้สินตามกำหนดเวลา รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตต่างๆ และยังอาจมีค่าใช้จ่ายในการดูแลซ่อมแซมอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการทำงานต่างๆ เช่น ค่าซ่อมรถยนต์ หรือเงินสำหรับใช้จ่ายหากรายได้ลดลงในช่วงใดช่วงหนึ่ง
เราควรเตรียม ร่ม และ ชูชีพ เพื่อรับความเสี่ยงแต่ละด้าน
เมื่อรู้ว่ามีความเสี่ยง เราคงต้องตัดสินใจว่าจะรับความเสี่ยงไว้เอง หรือควรจะโอนความเสี่ยงให้มีคนมาช่วยรับผิดชอบแทน ความเสี่ยงบางเรื่องเป็นความเสี่ยงที่เราไม่ควรแบกรับไว้เอง เพราะมีภาระหนักด้านการเงินที่ต้องแบกรับไว้ การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ช่วงปกติ จะเป็นการเตรียมตัวด้วยจำนวนเงินที่เกิดภาระน้อยกว่าจำนวนเงินเมื่อเกิดปัญหาขึ้น
เปรียบเหมือนการเดินทางออกจากบ้านในช่วงหน้าฝนที่เราถือร่มติดมือไปด้วย หากเจอฝนตกระหว่างทางเราก็มีร่มไว้กางป้องกันฝน การถือร่มไปด้วยแม้ทำให้เกิดภาระในการถือบ้างแต่เทียบกับการถูกฝนเปียกอาจเป็นสิ่งที่คุ้มค่าในการพกร่มออกจากบ้านในหน้าฝน
ร่มจึงเปรียบเหมือนเครื่องมือโอนความเสี่ยงนั่นเอง ร่มชนิดหนึ่งที่มักถูกเลือกใช้เพื่อรับความเสี่ยงภัยก็คือ การทำประกันภัยและการทำประกันชีวิต ที่เบี้ยประกันเป็นจำนวนเงินไม่มากนัก แต่แลกกับเงินชดเชยจำนวนสูงหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น
ยามที่ฝนตกร่มช่วยทำหน้าที่รับน้ำฝนที่ตกลงมาแทนเราไม่ให้เราเปียกน้ำฝน แต่หากเราเกิดตกน้ำ การทำให้เราลอยตัวอยู่ในน้ำได้นานโดยไม่จมน้ำย่อมสำคัญกว่าเรื่องการเปียกน้ำ เรือทุกลำจึงต้องเตรียมชูชีพ ทั้งเสื้อชูชีพ หรือห่วงชูชีพ ไว้รองรับตามจำนวนความจุของผู้โดยสารบนเรือ หากเกิดปัญหาขึ้นผู้โดยสารก็จะสามารถใช้ชูชีพช่วยลอยตัวไม่ให้จมน้ำได้นานจนกว่าจะมีคนช่วยเหลือ
ชูชีพที่เราต้องเตรียมก็คือ เงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เดือน ขึ้นกับภาระค่าใช้จ่ายที่เรามีอยู่ เงินสำรองฉุกเฉินคือเงินออมที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้รวดเร็วด้วยต้นทุนไม่สูงและนำมาใช้ได้ทันทีในยามจำเป็น หากเงินสำรองที่เตรียมไว้ 6 เดือนไม่เพียงพอ ก็อาจต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้ต้นทุนต่ำเป็นอีกทางเลือกที่สามารถใช้ได้เพื่อเป็นเงินสำรองระยะสั้นๆ เพียงแต่เราต้องมั่นใจว่าจะสามารถกลับมาใช้คืนได้ตามกำหนด แต่การกู้เงินด้วยต้นทุนต่ำจะต้องอาศัยเครดิตที่ดีในการกู้ จึงอาจข้อจำกัดสำหรับหลายคน การตั้งสำรองฉุกเฉินจึงเป็นทางเลือกที่ดี
นอกจากนี้การทำประกันเพื่อชดเชยรายได้ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเช่นกัน โดยสามารถเลือกทำควบคู่ไปกับประกันสุขภาพหรือประกันโรคร้ายแรงได้
การเตรียมชูชีพบนเรือต้องเตรียมให้เพียงพอกับจำนวนคนบนเรือ ชูชีพของเราก็เช่นเดียวกันต้องเตรียมให้พอกับค่าใช้จ่ายที่เราไม่สามารถหยุดการจ่ายได้ รายจ่ายที่เราจ่ายไปแต่ละเดือน แบ่งได้เป็น 4 ประเภทคือ
- รายจ่ายจำเป็น เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟค่าโทรศัพท์ ค่าเวชภัณฑ์และค่าตรวจรักษาพยาบาลพื้นฐาน และค่าเดินทาง
- รายจ่ายฉุกเฉินประกอบด้วยค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน อาทิ ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน
- รายจ่ายไม่จำเป็นประกอบด้วยรายจ่ายอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านอาหารนอกบ้าน ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่างๆ เป็นต้น
- รายจ่ายภาระหนี้ ประกอบด้วยค่างวดหรือค่าผ่อนต่อเดือน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
โดยพื้นฐานต้องเตรียมชูชีพสำหรับ Gig worker ที่มีความไม่มั่นคงของรายได้ควรจะครอบคลุมรายจ่ายจำเป็นและรายจ่ายภาระหนี้ให้ได้อย่างน้อย 3 เดือน แต่ถ้าให้ดีควรจะมีชูชีพที่เป็นเงินสำรองฉุกเฉินประมาณ 6 เดือน
การเตรียมร่มและชูชีพ ช่วยป้องกันค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงภัยที่ไม่คาดฝัน และช่วยให้เรามีรายได้ให้สามารถดำรงชีพในสถานการณ์ที่เราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เต็มที่ เป็นเรื่องสำคัญที่ควรพิจารณาควบคู่กันไป การเตรียมร่มและชูชีพอาจจะใช้ค่าใช้จ่ายไม่มากนัก เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดต่างๆ เปรียบเหมือนการพกร่ม หรือมีชูชีพในเรือซึงคงไม่มีใครอยากจะใช้งานหรืออยากอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้ร่มหรือชูชีพ
การเลือกร่มและชูชีพสามารถเลือกให้เหมาะสมตามลำดับความจำเป็นของแต่ละคน รวมทั้งยังสามารถใช้รับสิทธิลดหย่อนทางภาษีสำหรับประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรงได้อีกด้วย
บทความทั้ง 3 ตอนนี้เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานทางด้านการเงินที่น่าจะต้องรู้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ทำงานแบบ Gig Economy เต็มตัว และยังสามารถใช้กับคนที่ทำงานเป็นผู้ประกอบการอิสระอื่นๆ ด้วยเช่นกันครับ
สำหรับเรื่องการคุ้มครองความเสี่ยงนี้ คนส่วนมากอาจไม่ค่อยอยากอ่านหรือฟัง แต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเช่นกัน
ท้ายนี้ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านนะครับ
โฆษณา