24 ธ.ค. 2019 เวลา 04:14 • ประวัติศาสตร์
บุญคูณลาน..กุ้มข้าวใหญ่
อีกหนึ่ง ประเพณี...
ที่มีแถวบ้านเฮา..
มื้อนี่..
บายศรี..
บุญคูณลาน
เป็นการทำบุญเพื่อรับขวัญข้าว เมื่อถึงเดือนยี่ หรือเดือนที่ ๑
คือเดือนมกราคม ของทุกปี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวบ้านจะขนเอามัดรวงข้าวที่เกี่ยวเสร็จแล้ว
นั้นไปกองรวมกันไว้ที่ลานเก็บข้าวด้วยมีความเชื่อว่าข้าวนั้นเป็นพืชเลี้ยงชีวิตที่มีเทพารักษา
เทพองค์นั้นมีนามว่า "แม่โพสพ" ซึ่งเป็นขวัญข้าวที่เลี้ยงมนุษย์มา การทำบุญมีพระสวดมนต์เย็น
ฉันเช้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวเปลือก เมื่อพระฉันเช้าแล้วก็ทำพิธีสู่ขวัญข้าว
และผูกข้อต่อแขนกันในหมู่ชาวบ้านผู้ร่วมพิธี
มูลเหตุที่ทำ
เนื่องมาจากชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว จะหาบฟ่อนข้าวมารวมกันไว้ที่ลานนวดข้าว
แล้วนำมาวางกองเรียงกันให้สูงขึ้นเรียก คูณลาน ชาวนาที่ทำนาได้ผลเมื่อต้องการจะทำบุญ
บำเพ็ญกุศลให้ทาน ก็จะสัดขึ้นที่ลานเป็นสถานที่ทำบุญทำทาน โดยมีญาติพี่น้องมาทำบุญ
นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ปะพรมน้ำมนต์ ขึงด้ายสายสิญจน์ รอบกองข้าว
เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์แล้ว ถวายอาหาร บิณฑบาตเสร็จแล้วจึงเลี้ยงคนที่มาในงาน
มีเรื่องเล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ มีชาวบ้านสองพี่น้องทำนาร่วมกัน
เมื่อข้าวเป็นน้ำนมน้องชายอยากทำข้าวมธุปายาส ถวายแด่พระสงฆ์มีพระกัสสปะเป็นประธานชวนพี่ชาย
แต่พี่ชายไม่ยอมจึงแบ่งนากันทำ พอน้องได้กรรมสิทธิ์ในที่นาแล้ว ก็เอาข้าวในนาของตนทำทานถึง ๙ ครั้ง
คือเวลาข้าวเป็นน้ำนม ๑ ครั้งเป็นข้าวเม่า ๑ ครั้ง เก็บเกี่ยวข้าว ๑ ครั้ง จักตอกมัดหนึ่งครั้ง
มัดฟ่อนครั้งหนึ่ง กองในลานครั้งหนึ่ง ทำเป็นลอมครั้งหนึ่ง เวลาฟาดครั้งหนึ่ง ขนใส่ยุ้งฉาง
การถวายทานทุกครั้ง น้องชายปรารถนาเป็นพระอรหันต์
ครั้นมาถึงศาสนาพระโคดมน้องชายได้เกิดเป็นพราหมณ์ นามว่าโกญทัญญะได้ออกบวช
เป็นพระภิกษุองค์แรก ได้สำเร็จพระอรหันต์เป็นองค์แรกได้รับฐานันดรศักดิ์ที่รัตตัญญู
ส่วนพี่ชายได้ถวายข้าวในนาข้าวเพียงครั้งเดียวคือในเวลาทำนาแล้วตั้งปณิธานขอให้สำเร็จเป็นอริยบุคคล
ครั้นมาถึงศาสนาพระโคดมได้มาเกิดเป็นสุภัททปริพาชกบวชในพระพุทธศาสนา
แต่ไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ดับขันธ์ปรินิพพาน ได้เข้าไปทูลถามความสงสัยกับพระองค์
ภายในม่าน เวลาจนเทศน์ได้สำเร็จเป็นอนาคามีเป็นอริยบุคคลองค์สุดท้าย เพราะถวายข้าวเป็นทาน
มีอานิสงส์มากจึงถือเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้
พิธีกรรม
ในการทำบุญคูณลาน จะต้องจัดเตรียมสถานที่ทำบุญที่ลานนวดข้าวของตน
การนำข้าวที่นวดแล้วมากองขึ้นให้สูงเรียกว่า คูณลาน จากนั้นนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
จัดน้ำอบ น้ำหอมไว้ประพรมขึงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าว เมื่อพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว
ถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นนำข้าวปลาอาหาร มาเลี้ยงญาติพี่น้อง
ผู้มาร่วมทำบุญ พระสงฆ์ฉันเสร็จก็จะประพรมน้ำพุทธมนต์ให้กองข้าว ให้เจ้าภาพและทุกคนที่มาในงาน
เสร็จแล้วก็จะให้พรและกลับวัด เจ้าภาพก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ที่เหลือไปประพรมให้แก่วัว
ควาย ตลอดจนเครื่องมือในการทำนาเพื่อความเป็นสิริมงคล
ในปัจจุบันนี้ บุญคูณลานค่อยๆเลือนหายไป เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้สนใจประพฤติ ปฏิบัติกัน
ประกอบกับในทุกวันนี้ชาวนาไม่มีลานนวดข้าวเหมือนเก่าก่อน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ
และมัดข้าวเป็นฟ่อนๆ แล้วจะขนมารวมกันไว้ ณ ที่ที่หนึ่งของนา โดยไม่มีลานนวดข้าว
หลังจากนั้นก็ใช้เครื่องสีข้าวมาสีเมล็ดข้าวเปลือกออกจากฟางลงใส่ในกระสอบ
และในปัจจุบันยิ่งมีการใช้รถไถนา เครื่องสีข้าว เป็นส่วนมากจึงทำให้ประเพณีคูณลานนี้เลือนหายไป
แต่ก็มีบางหมู่บ้านบางแห่งที่ยังรวมกันทำบุญโดยนำข้าวเปลือกมา กองรวมกัน เรียก "กุ้มข้าวใหญ่"
ซึ่งจะเรียกว่าบุญกุ้มข้าวใหญ่ แทนการทำบุญคูณลาน ซึ่งนับว่าเป็นการประยุกต์ใช้
"ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" ให้เหมาะกับกาลสมัย
โฆษณา