25 ธ.ค. 2019 เวลา 15:04 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
7 มหานครที่กำลังจะจมบาดาล!! 😯
ซึ่งไม่ว่าโพลสำนักไหนก็ตาม กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรของเรา คือหนึ่งในเมืองใหญ่ที่มีชะตากรรมต้องจมบาดาลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 😱
ไม่ใช่ด้วยสาเหตุจากโลกร้อนเพียงอย่างเดียว เพราะอะไรเดี๋ยวเรามาดูกัน
เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม หนึ่งในเมืองที่เสี่ยงต่อการจมทะเลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า, เครดิตภาพ: Pedro Szekely/Flickr
ปัญหาภาวะโลกร้อนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นสร้างความกังวลให้กับผู้คนในเมืองใหญ่ติดทะเล โดยข้อมูลย้อนหลัง 10 ปีระบุว่าค่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นปีละ 1-3 มิลลิเมตร
เดี๋ยวก่อนครับอย่าเพิ่งปิดโพสหนี บางคนอาจคิดว่าบ้าบออีก 20 ปีก็แค่ 6 เซนติเมตรเองจะกลัวอะไรกัน มันไม่ใช่แค่นั้นครับ บางเมืองแค่ 6 เซนติเมตรนี้ก็คือเรื่องใหญ่แล้ว
จริง ๆ แล้วมหานครนั้นกำลังทรุดตัวจากน้ำหนักของเมืองเอง ประกอบกับการใช้น้ำบาดาลเกินกว่าที่น้ำใต้ดินจะเติมกลับใส่โพรงน้ำใต้เมืองได้ทัน
ดังนั้นขอเริ่มจากเมืองที่ทรุดตัวเร็วที่สุดกันก่อน
** เมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก **
เครดิตภาพ: ap0013/Flickr
ด้วยอัตราทรุดตัวอย่างบ้าคลั่งที่ 38 เซนติเมตรต่อปี!! ใช่ครับ ปีหนึ่งยุบไปฟุตกว่า ๆ ซึ่งนักธรณีวิทยาได้ประเมินว่าในรอบ 60 ปีที่ผ่านมาเมืองนี้ทรุดตัวไปแล้ว 9.8 เมตร หรือเทียบเท่าตึก 3 ชั้น 😅
สาเหตุที่เมืองนี้ทรุดตัวอย่างหนักก็เนื่องมาจากการใช้น้ำบาดาล ซึ่ง 70% ของน้ำที่ใช้ในเมืองนี้มาจากแหล่งน้ำบาดาล ประกอบกับตัวเมืองที่ตั้งอยู่บนหลุมภูเขาไฟโบราณจึงทำให้เกิดการทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง
เดชะบุญที่เมืองนี้ไม่ได้อยู่ติดทะเล จึงน่าจะรอดพ้นจากการจมทะเล 😔
เอาละ เรามาต่อกันกับ 7 มหานครที่กำลังจะจมทะเลกันต่อ
1. เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
เครดิตภาพ: Gary Todd/Flickr
มหานครแห่งนี้เคยเจอกับปัญหาดินทรุดถึงปีละ 9 เซนติเมตรจากการขุดใช้น้ำบาดาล แต่เมื่อรัฐบาลออกกฏควบคุมการใช้น้ำบาดาลจึงทำให้ปัจจุบันอัตราการทรุดตัวอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 1 เซนติเมตร
2. จาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย
สาเหตุการทรุดตัวก็เหมือนกับเมืองใหญ่อื่น ๆ ก็คือการใช้น้ำจากแหล่งบาดาล ซึ่งปัจจุบันจาการ์ต้ามีอัตราการทรุดตัวสูงถึง 25 เซนติเมตรต่อปี
3. เวนิส ประเทศอิตาลี
บรรยากาศเมืองเวนิสยามโพล้เพล้
เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของอิตาลี ซึ่งเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาเมืองนี้ก็เพิ่งเผชิญกับเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่
เคราะห์ดีที่เมืองนี้ไม่ใช่มหานครใหญ่คนพลุกพล่าน การใช้น้ำบาดาลมีไม่มาก จึงทำให้เมืองนี้ปัจจุบันทรุดตัวในอัตรา 1-2 มิลลิเมตรต่อปี
แต่ทั้งนี้เวนิสก็ยังหนีไม่พ้นรายชื่อเมืองที่มีความเสี่ยงจมบาดาลจากภาวะโลกร้อนอยู่ดี เนื่องจากตัวเมืองนั้นอยู่ระดับปริ่มน้ำอยู่แล้ว
4. ลากอส ประเทศไนจีเรีย
ด้วยการเป็นเมืองที่สร้างอยู่บริเวณชายหาด เชื่อมติดด้วยเกาะลากอส เป็นเมืองที่ผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นมีการใช้น้ำบาดาลมาก ประกอบกับระดับของเมืองที่สูงจากน้ำทะเลเพียง 1-3 เมตร
เมืองลากอสจึงเป็นอีกเมืองที่มีความเสี่ยงจะจมทะเลในอีกไม่กี่ปีหากไม่มีการทำอะไรเลย
5. ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ปัญหาน้ำท่วมลอนดอนนี้มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เสียอีก สาเหตุอันเนื่องมาจากยุคน้ำแข็งครั้งก่อน ด้วยน้ำหนักของแผ่นพืดธารน้ำแข็งได้กดแผ่นดินฝั่งตอนเหนือของประเทศอังกฤษ เช่น ส่วนที่เป็นสกอตแลนด์ ทำให้แผ่นดินฝั่งใต้ยกตัวขึ้น
ซึ่งอัตราการยกตัวอยู่ที่ประมาณ 1 มิลลิเมตรต่อปี เมื่อมายุคปัจจุบันแผ่นพืดธารน้ำแข็งละลายหายไปน้ำหนักที่เคยกดไว้ก็หายไป แผ่นดินก็กระดกกลับเหมือนไม้กระดาน ทำให้ปัจจุบันแผ่นดินฝั่งด้านใต้ทรุดตัวกลับในอัตราเดียวกัน
เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับลอนดอน เขื่อนกั้นแม่น้ำเทมส์จึงถูกสร้างขึ้นและเปิดใช้ในปี 1984
Thames Barrier ประตูน้ำยักษ์กั้นแม่น้ำเทมส์ สร้างเพื่อใช้ป้องกันน้ำท่วมกรุงลอนดอน
ตอนก่อสร้างคาดการณ์ว่าเขื่อนที่เปิด-ปิดได้นี้จะใช้งานเพียงปีละ 2-3 ครั้งเพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่ปัจจุบันมีการใช้งานถึงปีละ 6-7 ครั้ง
6. ธากา ประเทศบังคลาเทศ
เครดิตภาพ: blese/Flickr
ธากา เมืองหลวงของบังคลาเทศที่มีผู้คนอาศัยอยู่หลายล้าน ด้วยน้ำหนักของตัวเมืองก็ทำให้เมืองนี้ทรุดตัวปีละ 1.5 เซนติเมตรต่อปี
ประกอบกับการใช้น้ำบาดาล การเลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก (ด้านเทือกเขาหิมาลัยดันตัวขึ้นย่อมดันให้ฝั่งติดทะเลยุบตัวลง) ทำให้มหานครนี้เป็นอีกเมืองที่เสี่ยงต่อการจมบาดาล
7. กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ตั้งใจเก็บไว้เป็นเมืองสุดท้ายกับกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอรมของเรา คงยังจำกันได้ก่อนหน้านี้ผู้นำรัฐบาลหรือนักการเมืองที่ออกมาพูดเรื่องกรุงเทพฯ จะจมทะเล การย้ายเมืองหลวง หรือแม้แต่การสร้างเขื่อนยักษ์กันน้ำท่วม
มันไม่ใช่เรื่องสร้างขึ้นมาหาเรื่องจะสวาปามงบประมาณแต่อย่างใด ก็กรุงเทพฯ กำลังจะจมทะเลจริง ๆ 😖
โดบปัจจุบันแถวลาดกระบัง หนองงูเห่า บางพื้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแล้วนะครับ
แม้ว่าเคยมีความพยายามลดการใช้น้ำบาดาลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ปัจจุบันอัตราการทรุดตัวของกรุงเทพฯ ปัจจุบันก็ยังอยู่ที่ 2 เซนติเมตรต่อปี
ซึ่งด้วยอัตรานี้คาดว่ากรุงเทพฯ จะจมทะเลในระดับที่ส่งผลกระทบวงกว้างภายในอีก 15-20 ปีข้างหน้า
นี่ไม่ใช่เรื่องขำ ๆ ถ้าไม่ทำอะไรเลยตั้งแต่ตอนนี้ อาจจะสายไปแล้วก็ได้
และกลับกันในทุก ๆ ปีเรามีแต่จะขนอิฐ หิน ปูน เข้ามาสร้าง ตึกสูง คอนโด ขึ้นเป็นดอกเห็น กรุงเทพมหานครมีแต่จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ดินก็ทรุดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ
คงไม่ต้องแปลกใจถ้าคนกรุงเทพฯ จะต้องเจอกับน้ำรอการระบายซ้ำ ๆ จนในที่สุดมันระบายไปไหนไม่ได้แล้ว
5
น้ำรอการระบายที่เห็นจนเหนื่อยหน่ายสำหรับชาวกรุง
หากบางคนยังไม่ได้สังเกต ฟุตบาทแถวบ้านคุณหายไปหรือยัง?
อาคารต่าง ๆ ได้บันไดแถมมากี่ขั้นแล้ว นั้นแหละครับคำตอบ
ถึงแม้โลกจะไม่ร้อน กรุงเทพฯ เองก็คงไม่รอดที่จะจมทะเลอยู่ดี
และนี่คือ 7 เมืองใหญ่ที่กำลังเสี่ยงกับการจมทะเลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งคงจะได้เห็นแน่นอนในชั่วชีวิตของเราว่าแค่คิดไปเองหรือจมจริง ๆ
เมืองใหญ่บางเมืองในประเทศที่มีเงินก็เริ่มเตรียมแผนป้องกัน แต่กับหลาย ๆ เมืองในประเทศกำลังพัฒนาแลดูน่าเป็นห่วง รวมถึงบ้านเราเองด้วย ที่ดูเหมือนไม่ได้มีใครจะรู้ร้อนรู้หนาวกันสักเท่าไหร่เลย แชร์แล้วก็หาย ... 😔

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา