25 ธ.ค. 2019 เวลา 16:58 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
งานวิจัยใหม่ชี้มลพิษจากฝุ่น PM2.5 อาจมีผลทำให้เป็นโรคซึมเศร้า-จบชีวิตตัวเองมากขึ้น!!!
เมื่อเข้าช่วงฤดูหนาวที่ไร ปัญหาหนึ่งที่คนกรุงและเมืองใหญ่ต้องประสบพบเจอบ่อยขึ้นคงมากๆ คงหนีไม่พ้นปัญหาฝุ่นละอองควันและมลพิษทางอากาศนั่นเอง โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาตามสื่อต่างๆเราคงคุ้นกับคำว่า "ฝุ่น PM2.5" กันมากขึ้น แต่เชื่อมั้ยหล่ะครับนอกจากเจ้าฝุ่นนี้จะก่อปัญหาสุขภาพต่อระบบทางเดินหายใจและบดบังทัศนวิสัยแล้ว มันยังอาจก่อปัญหาทางสุขภาพที่น่ากลัวกว่าที่เราคิดไว้มาก เพราะมันเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าและอัตราการฆ่าตัวตายด้วย !!!
แต่ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ล่าสุดกลับพบฝุ่นพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายที่มากขึ้น การศึกษานี้ชี้ว่าการลดมลพิษลงมาที่ระดับมาตรฐานของอียูจะมีผลอย่างมากที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้าถึง 15% โดยข้อมูลจาก WHO พบว่าทั่วทั้งโลกมีคนป่วยเป็นโรคนี้ถึง 264 ล้านคน
ภาวะซึมเศร้า (Depression) นั่นอาจเกิดจากแรงปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของปัจจัยทางสังคมจิตวิทยาและชีวภาพ และบางคนอาจเกิดจากผลกระทบหลังจากเกิดเหตุรุนแรงในชีวิต ที่เผชิญกับปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในชีวิตประจำวัน เช่น การว่างงาน อาการเจ็บป่วยเรื้อรัง สภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ ความเครียดจากสังคมแวดล้อมและอื่นๆอีกมากมายหลายสาเหตุ แน่นอนการตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าเป็นระยะเวลานานย่อมส่งผลเสียต่อทั้งร่างกาย จิตใจ และหน้าที่การงาน รวมถึงครอบครัวและสังคมด้วย
แต่จากรายงานการศึกษาข้อมูลงานวิจัยทั่วโลกล่าสุดเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ของภาวะซึมเศร้ากับการสัมผัสมลพิษทางอากาศของ อิโซเบล เบรทเวต จาก University College London (UCL) หัวหน้าคณะวิจัยพบข้อมูลที่น่าตกใจคือ "คนที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางมลพิษทางอากาศมีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ"
โดยงานวิจัยกล่าวว่ามลพิษทางอากาศที่สำคัญคือ "อนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก" ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล กิจกรรมในชีวืตประจำวันมนุษย์และจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งที่มาของฝุ่นมลพิษเหล่านี้ นักวิจัยระบุว่า ข้อมูลใหม่ที่พบยิ่งทำให้ต้องมีการเรียกร้องอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดย WHO จัดว่า “มลพิษทางอากาศ” เป็นภัยเงียบที่ร้ายแรงด้านสุขภาพและสาธารณสุขที่จำเป็นต้องจัดการอย่างเร่งด่วน จากการประเมินของ WHO พบว่ามีคนเป็นโรคนี้ถึง 264 ล้านคนทั่วโลกและแต่ละปีผู้ที่มีอาการซึมเศร้าฆ่าตัวตายราว 800,000 คน
นอกจากนี้รายงานการวิจัยอื่นซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health Perspectives นั้นได้ใช้หลักเกณฑ์ที่เข้มงวดในการคัดเลือกและรวบรวมงานวิจัยจากกว่า 16 ประเทศที่มีการเผยแพร่จนถึงปี 2017 มาศึกษาข้อมูลทางสถิต พบว่า"ข้อมูลทางสถิติยืนยันว่ามลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า-อัตราการจบชีวิตตัวเองมากขึ้น" นอกจากนี้การศึกษาเพิ่มเติมยังให้ข้อมูลที่ชี้ชัดว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้ระดับสติปัญญาของคนลดลงอย่างมาก และเกี่ยวข้องโดยตรงกับอาการวิกลจริต การศึกษาแบบครอบคลุมทั่วโลกในต้นปี 2019 ได้ข้อสรุปชัดว่า มลพิษทางอากาศอาจจะทำลายอวัยวะและเซลล์ในร่างกายมนุษย์ นำไปสู่ปัญหาสุขภาพระยะยาว
ตัวอย่างงานวิจัยที่บ่งชี้ว่ามลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า-อัตราการจบชีวิตตัวเองมากขึ้น
โดยนักวิจัยประเมินกันว่า "การสูดดมฝุ่นมลพิษฝุ่นพิษที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร (เทียบเท่า 0.00025 มิลลิเมตร) หรือ PM2.5 เข้าไปในปริมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปีหรือมากกว่านี้ มีความเสี่ยงสูงขึ้น 10% ที่จะมีอาการซึมเศร้า" ตามรายงานของ WHO กล่าวเสริมว่าหากลดระดับฝุ่น PM2.5 ลงมาที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะช่วยลดอัตราซึมเศร้าของคนเมืองได้ถึง 2.5% แต่ ในระยะสั้นการเพิ่มขึ้นของปริมาณฝุ่นชนิดอื่นอย่าง PM10 ในปริมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายใน 3 วันกลับเพิ่มความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายถึง 2% แม้จะดูเป็นความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยแต่ผู้คนทั่วโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองกว่า 90% อยู่ในภาวะที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 มากเกินกว่าเกณฑ์ที่ EU และ WHO กำหนดมาก
มากกว่า 90% ของประชากรในโลกอาศัยอยู่ในเมืองที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูงกว่าที่ WHO กำหนด Cr.https://learningenglish.voanews.com/a/air-pollution-may-affect-every-organ-cell-in-the-body/5111226.html
ข้อมูลการทบทวนวรรณกรรมการวิจัยตามรายงานนี้แม้จะศึกษาข้อมูลเฉพาะจากเมืองใหญ่ทั่วโลก ที่ให้ข้อมูลไม่ครอบคลุมแต่ ไอออนนิส บาโคลิส แห่งคิงส์คอลเลจ ซึ่งไม่ได้อยู่ในคณะวิจัยกล่าวว่า งานวิจัยนี้ครอบคลุมงานวิจัยที่ทำมาตลอด 40 ปี แม้งานวิจัยจะมาจากหลายแห่ง ทั้งจีน สหรัฐฯ เยอรมนี และมีความแตกต่างกันทั้งในแง่กลุ่มทดสอบ รูปแบบการศึกษา และวิธีวัดการซึมเศร้า แต่ให้ผลที่เหมือนกัน ถึงแม้ข้อมูลจะยืนยันถึงความเชื่อมโยงทางสถิติที่สูงระหว่างมลพิษทางอากาศกับการเกิดภาวะซึมเศร้างและอัตราการฆ่าตัวตายที่สูง แต่ก็ยังชี้ชัดระบุไม่ได้ว่ามันเป็นสาเหตุจริงๆ เนื่องจากข้อกังวลเรื่องจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ ถึงอย่างนั้นเราก็ทราบแน่ๆว่ามันส่งผลโดยตรงต่อกันไม่น้อยแน่ๆ
ฉะนั้นแล้วถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะทำกิจกรรมที่ช่วยลดปริมาณมลพิษอากาศ ทั้ง การเดิน ปั่นจักรยาน ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาฝุ่นมลพิษ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีไม่ใช้แค่ต่อตัวเรา แต่เพื่อโลกและคนในรุ่นถัดไปด้วย !!!
โฆษณา