26 ธ.ค. 2019 เวลา 05:44 • กีฬา
แปลกแต่จริง : คิวบา...ดินแดนแห่งนักมวยสากลสมัครเล่น แต่ทำไมไร้กำปั้นอาชีพฝีมือดี?
เมื่อพูดถึงประเทศคิวบา หลายคนอาจจะนึกถึงหาดทรายขาว ทะเลน้ำใส หรือแม้แต่ซิการ์เกรดพรีเมียม แต่สำหรับวงการกีฬา “มวยสากลสมัครเล่น” คงเป็นสิ่งแรกๆ ที่แม้แต่คนซึ่งไม่ได้ติดตามกีฬาอย่างจริงจังยังนึกออกอย่างแน่นอน
เพราะดินแดนที่เป็นเกาะในทะเลแคริบเบียนแห่งนี้ คือแหล่งที่สร้างสิงห์กำปั้นมากมาย ซึ่งมีผลงานระดับเหรียญรางวัลโอลิมปิกการันตีฝีมือมาแล้วนับไม่ถ้วน จนหลายชาติตัดสินใจอิมพอร์ตโค้ชจากที่นี่มาสอนนักชกของตนให้มีฝีมือที่เก่งกาจขึ้น ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจก็คือ แม้นักมวยสากลสมัครเล่นคิวบาจะคว้าเหรียญรางวัลในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกตลอดจนรายการต่างๆ มากมาย แต่ไฉนถึงไม่เคยได้ยินข่าวคราวของพวกเขาในการเทิร์นโปรขึ้นเป็นนักชกอาชีพ หรือแม้กระทั่งการคว้าเข็มขัดแชมป์โลกเลยล่ะ?
อดีตอันรุ่งโรจน์
หลายคนอาจจะคิดว่า คิวบาเพิ่งจะเริ่มสร้างชื่อบนเส้นทางกำปั้นมาในยุคหลายสิบปีหลังมานี้ แต่อันที่จริง วงการมวยในคิวบานั้นเติบโตเบ่งบานมาตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 20 ใหม่ๆ เลยทีเดียว
Photo : www.positive-magazine.com
ด้วยความที่คิวบาเป็นประเทศแหล่งท่องเที่ยว นักลงทุนจึงมีความคิดที่จะหาสิ่งดึงดูดเพื่อให้มีนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศนี้มากๆ ... กีฬามวยสากล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่ชาวอเมริกันนิยมมาอย่างยาวนาน จึงได้ถูกนำเข้าข้ามน้ำข้ามทะเลมายังดินแดนแห่งนี้ โดยเกิดแมตช์การชกในระดับอาชีพครั้งแรกเมื่อปี 1909 ที่กรุงฮาวาน่า
หลังจากนั้น 1 ปี ในปี 1910 ชายชาวชิลีที่ชื่อ จอห์น บูดินิช ก็ได้ก่อตั้งอคาเดมี่มวยขึ้นเป็นครั้งแรก และแม้จะมีการสั่งแบนการแข่งชกมวยระหว่างปี 1912-1921 จากปัญหาความรุนแรงระหว่างคนต่างสีผิว แต่กีฬามวยก็ไม่ได้สูญเสียความนิยมแต่อย่างใด เพราะเมื่อแข่งอย่างเปิดเผยไม่ได้ ก็ไปใช้สถานที่ปิดในการฟาดปากแทน
แม้จะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ความนิยมชมชอบของชาวคิวบานั้นกลับเบ่งบาน เพราะค่าตัวของนักชกระดับท็อปในประเทศนั้นสูงพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างไม่ลำบาก แถมยังมีแฟนๆ ติดตามมากมาย กีฬาชกมวยจึงเปรียบเสมือนเป็น "ยาแก้จน" ของคนในชาติไปโดยปริยาย
Photo : www.positive-magazine.com
ยิ่งมีการเปิดเสรีกีฬามวยอีกครั้งในปี 1921 "Boxing Fever" ในคิวบาก็ยิ่งเติบโต ทั้งด้วยเงินจากภายนอกที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ กับการเปิดอคาเดมี่มวยแห่งชาติเพื่อปลุกปั้นนักกีฬาสายเลือดใหม่โดยเฉพาะ และเนื่องจากในยุคสมัยนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างคิวบากับสหรัฐอเมริกายังดีอยู่ หลักสูตรและทัศนคติต่างๆ ของนักมวยคิวบาจึงแทบจะถอดแบบมาจากนักชกอเมริกันอย่างไม่มีผิดเพี้ยน
และพวกเขาก็ทำได้ดีเสียด้วย เพราะหากดูจากในปี 1959 ก็จะเห็นว่า คิวบามีนักมวยสากลดีกรีแชมป์โลกถึง 6 คน โดยมี เกราร์โด้ "Kid Gavilán" กอนซาเลซ, เบนนี่ ปาเรต์ และ เอลิจิโอ "Kid Chocolate" ซาร์ดินาส เป็นหัวหอก เช่นเดียวกับนักชกชื่อดังจากต่างประเทศที่มาล่าเงินในดินแดนแห่งนี้มากมาย ซึ่งมีชื่อของ โจ หลุยส์ และ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน รวมอยู่ด้วย
Photo : www.josportsinc.com
แต่ถึงคิวบาจะประสบความสำเร็จในเวทีมวยสากลอาชีพ ขุนพลเสื้อกล้าม หรือทีมมวยสากลสมัครเล่นของคิวบากลับมีผลงานไม่สู้ดีนักในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เมื่อพวกเขาไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลใดๆ มาครองได้เลยแม้แต่เหรียญเดียว
และที่น่าฉงนสงสัยยิ่งกว่าก็คือ แม้นักชกคิวบาจะทำเงินได้มากมายจากการขึ้นสังเวียน กลับมีพวกเขาจำนวนไม่น้อยที่จากโลกนี้ไปเฉกเช่นยาจก ไม่เพียงเท่านั้น บางคนยังมีการผูกสัมพันธ์กับเหล่ามาเฟีย และเกี่ยวโยงกับขบวนการคอร์รัปชั่นในประเทศอีกด้วย
1
คำสั่งเปลี่ยนประเทศ
ปัญหาดังกล่าวของวงการมวยสากลคิวบา ถือเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะชาวคิวบาจำนวนมากต่างประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม "รวยกระจุก จนกระจาย" ตลอดจนปัญหาสังคมมากมาย โดยประชาชนที่เสียประโยชน์ ต่างชี้ให้ที่รัฐบาลของ ฟูลเกนซิโอ บาติสต้า ประธานาธิบดีของประเทศ ตลอดจนกลุ่มมาเฟียต่างๆ ซึ่งมีประเทศสหรัฐอเมริกาให้การหนุนหลังเป็นต้นเหตุสำคัญ
Photo : www.marinaschedler.com
เรื่องดังกล่าวที่สะสมทับถมมานาน ที่สุดแล้วก็นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือในปี 1959 เมื่อ ฟิเดล คาสโตร, ราอูล คาสโตร น้องชายของฟิเดล, เอร์เนสโต้ "เช" กูวาร่า, กลุ่มนักศึกษา และประชาชนอีกหลายกลุ่ม ลุกฮือเข้ายึดอำนาจการปกครองจากบาติสต้า จนสามารถก่อการปฏิวัติได้สำเร็จ
แม้การปฏิวัติคิวบาจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงหลายประการภายในประเทศ แต่สิ่งสำคัญที่ส่งผลกับวงการกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการมวยมากที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกา 83A" ที่คาสโตรลงนามเมื่อปี 1962
เพราะใจความโดยสรุปของกฎหมายฉบับนี้คือ "การแข่งขันกีฬาในระดับอาชีพ ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายของประเทศคิวบา" โดยให้เหตุผลไว้ส่วนหนึ่งว่า กีฬาอาชีพทำให้เกิดผลตอบแทนน้อยกว่าที่ได้ทุ่มทุนงบประมาณในการสร้างไป ... พูดง่ายๆ ก็คือ รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของคิวบาตราหน้าว่า กีฬาอาชีพคืออีกรูปแบบหนึ่งของการคอร์รัปชั่นในประเทศนั่นเอง
Photo : www.boxing.com
จอน ดันแคน เล่าผ่านตัวอักษรในหนังสือ In the Red Corner, A Journey into Cuban Boxing ว่า หลังจากที่มีการลงนามในพระราชกฤษฎีกา สหพันธ์กีฬาของคิวบาสั่งเรียกตัวนักมวยอาชีพของประเทศทั้งหมดมาประชุมร่วมกัน โดยยื่นเงื่อนไขให้เพียง 2 ข้อ หนึ่งคือ อยู่ในบ้านเกิดต่อไป แต่จะต้องเลิกเป็นนักมวยอาชีพ โดยที่รัฐบาลจะจัดหาอาชีพอื่นๆ ให้ อีกหนึ่งคือ ออกจากประเทศนี้ไปซะ หากหวังจะเป็นนักมวยอาชีพต่อ
ผลปรากฎว่า นักมวยอาชีพคิวบาส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เบนนี่ พาเรต์, หลุยส์ โรดริเกซ, โฮเซ่ เลกรา, โฮเซ่ นาโปเลส และ ชูการ์ รามอส ต่างตัดสินใจที่จะล่าฝันในฐานะนักมวยอาชีพต่อไป ... เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าพวกเขามีอันต้องลี้ภัย แตกกระสายไปคนละทิศทาง สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก. สเปน ฯลฯ กลายเป็นจุดหมายของเหล่านักสู้ผู้ยืนหยัดเพื่อความฝันนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ตัวแทนอุดมการณ์
แม้การทำให้กีฬาอาชีพเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จะเป็นการล้มล้างมรดกจากสมัยที่สหรัฐอเมริกายังมีอิทธิพลอยู่ในดินแดนเกาะแห่งทะเลแคริบเบี้ยนก็จริง ถึงกระนั้นทุกคนก็ทราบดีว่า กีฬา คือสิ่งที่จะช่วยให้คนในชาติเกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้
Photo : www.esquire.com
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของคิวบาจึงได้ทำการรื้อโครงสร้างระบบการพัฒนานักกีฬาของประเทศนี้ใหม่ ด้วยการโละแนวคิดและหลักสูตรของโลกเสรี ที่เน้นการพัฒนาตนเองเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของตัวเองออกไป และนำแนวคิด หลักสูตรจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ เพื่อสร้างนักกีฬาสายเลือดใหม่ ที่ต่อสู้เพื่อเกียรติยศ, ความรักในกีฬา และความรักชาติ โดยเน้นไปที่การเสริมสร้างระเบียบวินัย, ความพยายาม และความเสียสละ ซึ่งตรงกับคุณสมบัติที่นักมวยพึงมีอยู่แล้ว
การพัฒนาโค้ชท้องถิ่นอย่าง อัลซิเดียส ซาการ์ร่า, ความช่วยเหลือจากมิตรประเทศอย่าง สหภาพโซเวียต ที่ส่ง อังเดร เชอร์โวเนนโก้ มาร่วมสร้างนักกีฬา ตลอดจนการให้ความสำคัญของรัฐบาลถึงกับบรรจุกีฬาเป็นหนึ่งในหลักสูตรการศึกษา เช่นเดียวกับสร้างโรงเรียนกีฬาเพื่อพัฒนาทักษะให้ก้าวหน้าโดยเฉพาะ ทำให้มวยสากลสมัครเล่นของคิวบาพัฒนาก้าวไกลอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะตั้งแต่โอลิมปิกปี 1968 ที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ เป็นต้นมา ทีมมวยสากลสมัครเล่นของคิวบาสามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ตลอด โดยมีเพียงปี 1968 และปี 2008 ที่กรุงปักกิ่งเท่านั้นซึ่งคิวบาไม่อาจคว้าเหรียญทองมาได้ ที่เหลือกวาดเหรียญทองมาได้ทุกครั้ง
แต่หากจะหาว่า นักมวยคนไหนของคิวบาที่ถูกยกให้เป็นที่รักของคนทั้งชาติมากที่สุด? คำตอบนั้นคงหนีไม่พ้น เตโอฟิโล สตีเฟนสัน เพราะนอกจากจะคว้าเหรียญทองมวยสากลสมัครเล่นรุ่นเฮฟวี่เวตได้ถึง 3 สมัยซ้อนในปี 1972 ที่เมืองมิวนิค, 1976 ที่เมืองมอนทรีออล และ 1980 ที่กรุงมอสโก แล้ว เขายังถือเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้กับระบบทุนนิยมของโลกเสรีอีกด้วย
เพราะชายผู้นี้ กล้าปฏิเสธข้อเสนอมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ได้รับหลังคว้าเหรียญทองโอลิมปิกปี 1976 เพื่อให้เขาไปสู้กับ มูฮัมหมัด อาลี นักมวยสากลอาชีพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลด้วยเหตุผลสุดเท่ "เงิน 1 ล้านดอลลาร์ มันเทียบได้กับความรักจากชาวคิวบา 8 ล้านคนได้มั้ยล่ะ?"
"เทียบกันในฐานะแชมเปี้ยนแล้ว เตโอฟิโลคือคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นแบบอย่างให้กับพวกเราทุกคน" เฟลิกซ์ ซาวอน ลูกศิษย์ของสตีเฟนสัน และเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกรุ่นเฮฟวี่เวต 3 สมัยซ้อนเช่นกันในปี 1992 ที่เมืองบาร์เซโลน่า, 1996 ที่เมืองแอตแลนต้า และ 2000 ที่เมืองซิดนี่ย์ เผยถึงความรู้สึกที่มีต่ออาจารย์ผู้นี้
และซาวอนเองก็น้อมนำสิ่งที่สตีเฟนสันเคยทำมาปฏิบัติต่อด้วยความภูมิใจ เพราะครั้งหนึ่ง เจ้าตัวเคยได้รับข้อเสนอ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้ขึ้นสู้กับ ไมค์ ไทสัน มฤตยูดำโคตรมวยแห่งยุค 1990 ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการยื่นข้อเสนอรอบที่สอง ที่เบิ้ลมูลค่าในสัญญาไปอีกเท่าตัวเป็น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกด้วย แต่ซาวอนก็ปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า "ผมจะอยากได้เงิน 10 ล้านดอลลาร์ไปทำไม ในเมื่อมีชาวคิวบาถึง 11 ล้านคนที่หนุนหลังผมอยู่"
ชาติต้องมาก่อน
สร้อย มั่งมี หรือ สอดสร้อย สาวสังเวียน ผู้สื่อข่าวสายมวย หนังสือพิมพ์ข่าวสด และแฟนพันธุ์แท้แชมเปี้ยนโลกชาวไทย ให้มุมมองถึงแนวทางการสร้างมวยของประเทศคิวบาไว้ว่า "นี่คือแนวทางที่สะท้อนถึงความศรัทธาในระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งตรงข้ามกับทางสหรัฐอเมริกาอย่างแท้จริง สหรัฐฯ เน้นการสร้างมวยเพื่อให้เป็นนักมวยอาชีพเพื่อชีวิตที่ดีกว่า แต่คิวบาสร้างนักมวยเพื่อให้เป็นฮีโร่ของชาติ"
1
และเรื่องดังกล่าว ยังสอดคล้องกับสิ่งที่ซาวอนกล่าวด้วยความภูมิใจว่า "ผมสู้เพื่ออุดมการณ์ และเพื่อปกป้องประเทศของผม"
นับตั้งแต่พระราชกฤษฎีกา 83A ปี 1962 ได้บัญญัติให้กีฬาอาชีพเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย วงการมวยสากลอาชีพในคิวบาก็ได้ตายไปอย่างสมบูรณ์ พวกเขาเปลี่ยนเส้นทางมาเป็นการสร้างนักมวยสากลสมัครเล่น และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
และแม้ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา คิวบาจะยอมแง้มประตูสู่มวยอาชีพไว้เล็กๆ ด้วยการส่งนักชกของตัวเองลงแข่งในรายการ World Series of Boxing ซึ่งนักชกจะได้รับค่าเหนื่อยในการขึ้นสังเวียนแต่ละครั้งด้วย แต่รายการดังกล่าวก็ยังไม่ใช่มวยสากลอาชีพอย่างเต็มรูปแบบอยู่ดี เพราะกติกาที่สหพันธ์มวยสากลนานาชาติ หรือ ไอบา นำมาใช้กับรายการนี้มีหลายสิ่งที่ต่างจากมวยสากลอาชีพ ทั้งจำนวนยกในการชกที่มีเพียง 5 ยก และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ นักชกที่ลงแข่งในรายการนี้ ยังสามารถกลับมาชกในมหกรรมกีฬาอย่าง โอลิมปิก ได้
Photo : www.badlefthook.com
การสร้างประเทศให้เป็นดินแดนแห่งมวยสากลสมัครเล่น จนไร้ซึ่งนักชกอาชีพฝีมือดี จึงได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคิวบา เพื่อถ่ายทอดอุดมคติสำคัญให้กับคนในชาติมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษกระทั่งทุกวันนี้
นั่นคือคำว่า “ชาติ ต้องมาก่อน” เสมอ ...
1
บทความโดย เจษฎา บุญประสม
1
โฆษณา