.
1. การอธิษฐานเป็นเรื่องง่ายที่ทำยาก
คริสเตียนแทบทุกคนรู้ว่า การอธิษฐานคืออะไร (what) และ ทำไปทำไม (why) และหากพิจารณาถึง รูปแบบ (when, where, how) ก็ยิ่งพบว่าการอธิษฐานเป็นเรื่องง่าย เราอธิษฐานเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ท่าทางแบบไหนก็ได้ แต่การอธิษฐานกลับเป็นสิ่งที่คริสเตียนหลายคนไม่ค่อยได้ทำเป็นประจำทุกวัน โดยมีข้ออ้างนู้นนี่นั่นมากมาย
.
เมื่อมองย้อนในปีที่ผ่านมา จำได้ว่าผมตั้งใจมากว่าจะอธิษฐานให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาทีทุกวัน โดยเฉพาะการอธิษฐานเผื่อครอบครัวและทีมงาน แต่ก็ไม่สำเร็จ ลองมาดูอีกสักตั้งว่า ปี 2020 จะทำได้ไหม “เรามาสร้างนิสัยการอธิษฐานร่วมกันนะครับ”
.
“การอธิษฐานไม่ใช่เครื่องมือของมนุษย์ในการเปลี่ยนแปลงพระเจ้า
แต่การอธิษฐานเป็นเครื่องมือของพระเจ้าในการเปลี่ยนแปลงมนุษย์”
.
2. ให้เวลากับพื้นฐานมาก ๆ
ปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับแนวทางของคริสตจักรเครือข่ายบ้าน เช่น DMM (Disciple Making Movement), CPM (Church Planting Movement) และ T4T (Training for Trainers) ซึ่งเป็นแนวทางการตั้งคริสตจักรที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ผมได้เรียนรู้ว่าพวกเขาว่า “ความสำเร็จที่ยั่งยืน เกิดจากพื้นฐานที่มั่นคง” ในด้านการขยายคริสตจักรพวกเขาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นพื้นฐานมาก เช่น การอธิษฐาน อ่านพระคัมภีร์ เป็นพยานส่วนตัว และ การสร้างสาวก โดยสมาชิกและผู้เชื่อใหม่จะถูกสอนให้ “ทำ” มากกว่าถูกสอนให้ “รู้”
.
3. อย่าอ่านหนังสือเยอะ แต่จงอ่านหนังสือที่ดี
อ่านหนังสือก็เปรียบเหมือนกินอาหาร อาหารที่เรากินส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และ หนังสือที่เราอ่าน (รวมถึงข่าวสารที่เราติดตาม) ก็จะส่งผลต่อความคิดของเรา you are what you eat, and you think what you read อีกทั้งเรามีเวลาที่จำกัด ไม่สามารถอ่านหนังสือหมดทั้งโลกได้ ผมเคยคำนวณคร่าวๆ ว่า หากเราอ่านหนังสือปีละ 20 เล่ม (เล่มละ 200 หน้า) และสมมติว่าเรามีเวลาเหลือเพียง 30 ปี ก็จะอ่านได้เพียง 600 เล่ม ซึ่งความรู้ของเราก็จะน้อยนิดมาก เมื่อเทียบกับจำนวนหนังสือและความรู้ที่มีบนโลก ดังนั้นเราต้องเลือกอ่านหนังสือที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ
.
สุดท้ายผมมีเคล็ดลับส่วนตัวในการเลือกหนังสือ คือ สมมติว่าเราสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับหัวข้อ AAA
(1) ให้เราเข้าไปค้นหาว่า มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ไหนเปิดสอนด้าน AAA บ้าง
(2) เข้าไปค้นหาแผนการสอน (Course Syllabus) และให้เราดูว่ามีหนังสือเล่มไหนบ้างที่ใช้ในการสอน
(3) ซื้ออ่านหนังสือเล่มนั้นมาอ่าน และ หากอยากลงรายละเอียด ก็ไปหาอ่านเพิ่มเติมจากเอกสารอ้างอิงที่ท้ายเล่มได้
วิธีนี้ เรามั่นใจได้ในระดับสูงเลยว่า หนังสือเล่มนี้ดีแน่ ๆ เพราะว่า ผ่านการคัดกรองจากผู้เชี่ยวชาญมาให้เราแล้วระดับหนึ่ง
.
4. ปัญหาที่แก้ยาก คือ ปัญหาที่ไม่ยอมรับว่ามีปัญหา
คนที่พัฒนาตัวเอง คือ คนที่ค้นพบว่าตัวเองมีปัญหาที่ต้องแก้ไข จุดที่ยากอย่างหนึ่งในการพัฒนาตัวเอง คือ การยอมรับว่าเรายังมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข โดยการที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ จึงทำให้มีความรู้มากและมั่นใจมาก จนหลายครั้งนำไปสู่ความหยิ่ง ไม่ยอมพัฒนาตัวเอง (สุภาษิต 16:18)
.
สิ่งที่ช่วยได้คือ “ต้องเปิดใจ” และตระหนักว่า การยอมรับความบกพร่องของตัวเองเป็นการแสดงความเข้มแข็งในจิตใจ ในขณะที่ “การแก้ตัว” เป็นการแสดงความอ่อนแอในจิตใจ แม้จะอธิบายเหตุผลมากเท่าไร หากคุณไม่เปิดใจฟัง แม้จะบอกว่า 1+1 = 2 คุณก็ไม่เชื่ออยู่ดี หากเราหลับหูหลับตาเชื่อในสิ่งที่ผิด สิ่งที่ได้คือ ความมั่นใจในสิ่งที่ผิด
.
5. อย่าให้ความไม่สมบูรณ์ของคนอื่น มาทำให้เราสมบูรณ์ช้าลง
เมื่อเราถูกทำร้าย เข้าใจผิด หรือ ทำไม่ดีกับเรา หน้าที่ของเราคือ “ให้อภัย” อย่าสะสมเอาไว้จนเกิดเป็นความเกลียด ให้ตระหนักว่า เรายังอยู่บนโลกที่เต็มไปด้วยคนที่ยังไม่สมบูรณ์ (รวมทั้งตัวเราเองด้วย) จึงไม่แปลกอะไร ที่จะมีบางคนมาละเมิดเรา “ขนาดพระเยซู ยังมีคนเกลียดเลย แล้วเราเป็นใครที่ทุกคนต้องมารัก” ดังนั้นเราควรสนใจในบทบาทของเรา อย่าไปเกลียดหรือแก้แค้น แต่จงให้อภัยกันและกัน
.
โคโลสี 3:13 “จงผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งกันและกัน และถ้าแม้ว่าผู้ใดมีเรื่องราวต่อกัน ก็จงยกโทษให้กันและกัน องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดยกโทษให้ท่านฉันใด ท่านจงกระทำอย่างนั้นเหมือนกัน”
.
6. จงเตรียมพร้อมกับความตาย
ปีที่ผ่านมา มีคนใกล้ตัวเสียชีวิตไป 2 คน คือเพื่อนสมัยมัธยม และสมาชิกในโบสถ์ หลังจากการจากไปของทั้งสองคน ผมสังเกตถึงคำชม คำเยินยอ และวีรกรรมดีๆ มากมายที่ถูกกล่าวถึงโดยคนรอบตัว ผมจึงเกิดคำถามว่า หากถึงคิวเรา เพื่อนๆ จะพูดถึงเราอย่างไรบ้าง จะมีคำเยินยอเราในด้านใดบ้าง เราต้องทำอะไรบ้างนะจึงจะได้คำชมเยอะๆ แต่เดี๋ยวก่อนนะ ทำไมผมต้องไปสนใจ “ความคิดเห็นของคนอื่น” ด้วยล่ะ คนเหล่านี้ไม่มีผลกับผมแล้วนะ ก็เราตายไปแล้วนี่ ผมควรโฟกัสที่ “ความคิดเห็นของพระเจ้า” เท่านั้น
.
เปรียบเสมือนกับ จำเลยที่อยู่ต่อหน้าศาล ที่คงไม่สนใจสำนวนของตำรวจหรือของอัยการ หรือ คำให้การของพยานอีกต่อไป แต่สนใจเพียงความคิดเห็นของผู้พิพากษาเท่านั้น หากเราตายไป พระเจ้าจะเป็นผู้พิพากษาหนึ่งเดียวของเรา ดังนั้นหากอยากได้คำพิพากษาที่ดี ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ก็ต้องสนใจสายตาของพระเจ้า มากกว่า สายตาของมนุษย์
.
7. อย่าเอาชนะภรรยา แต่จงรักเธอ
ในฐานะสามีคนหนึ่ง ตลอดปีที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่ความเห็นไม่ตรงกัน ขัดแย้งกันบ้าง ข้อสังเกตหนึ่งที่ได้ในปีนี้ คือ หากเราพยายามใช้เหตุผล เราอาจจะชนะด้านเหตุผลแต่เราก็จะแพ้ในด้านความสัมพันธ์
.
ความสัมพันธ์ของสามีภรรยาไม่ใช่การเอาชนะกัน แต่เป็นการยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน ดังนั้น “ความรัก” จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะประคองชีวิตคู่ให้มั่นคง หลายครั้งที่สามีภรรยาก็มีเห็นต่างกัน แต่เพราะความรักจึงทำให้อยู่ร่วมกันได้ แต่หากใส่ความเกลียดชัง เข้าไปแล้ว ก็ยากที่จะปรองดอง คืนดีกันได้