27 ธ.ค. 2019 เวลา 04:06 • ประวัติศาสตร์
** TBD-1 #โศกนาฏกรรมของทร.สหรัฐฯ **
สำนักการบินทหารเรือ (Bureau of Aeronautics; BuAer) ได้ร่างความต้องการจัดหาเครื่องบินรุ่นใหม่เพื่อมาทดแทนเครื่องบินปีก 2 ชั้นที่ล้าสมัย คำตอบที่เหมาะสมในเวลานั้นมาจากบริษัท Douglas นั่นคือเครื่องต้นแบบ #XTBD-1 Devastator เครื่องทิ้งระเบิดทางระดับ (Horizontal Bomber)/ โจมตีตอร์ปิโด (Torpedo Bomber) รุ่นใหม่นี้จัดว่าล้ำสมัยมากในกลางทศวรรษที่ 30 ด้วยพื้นผิวเครื่องบินทำจากโลหะ ประทุนห้องนักบินเรียวตามทางลึกคลุมลูกเรือ 3 นาย (นักบิน/พลทิ้งระเบิด/พลปืนหลัง,พลวิทยุ) นับเป็นเครื่องบินรุ่นแรกของนาวีสหรัฐฯ ที่มีประทุนครอบครบห้องนักบิน การเล็งตอร์ปิโดจะทำโดยนักบินเพราะเมื่อติดตั้งตอร์ปิโดแล้วหัวรบจะบังศูนย์เล็งนอร์เด็น (Norden Bombsight) ของพลทิ้งระเบิดใต้ที่นั่งนักบินทั้งหมด (พลทิ้งระเบิดต้องมุดลงไปใช้ข้างใต้) ดังนั้นเมื่อติดตั้งตอร์ปิโดจึงทำการลดลูกเรือเหลือเพียง 2 นายเพื่อลดน้ำหนักลง ปีกสามารถพับได้จากห้องนักบิน วันที่ 3 กุมภาพันธ์ปี 1936 หลังจากผลการประเมินของ BuAer ออกมาว่าทาง XTBD-1 นั้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องบินทิ้งระเบิด/โจมตีตอร์ปิโดทุกชนิดที่ทางกองทัพเรือประจำการอยู่ ทางกองทัพเรือสหรัฐฯ จึงลงนามจัดซื้อเครื่องบิน #TBD-1 Devastator จำนวน 129 ลำ (ก่อนสงครามเริ่มเหลือทั้งหมด 90 ลำจากอุบัติเหตุต่าง ๆ) ซึ่งนับว่าเป็นการรูดม่านเปิดฉากโศกนาฏกรรมของกองบินทหารเรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เครื่อง Devastator ลำแรกที่ออกจากโรงงานถูกทางกองทัพสงวนเอาไว้ใช้สำหรับทดสอบประสิทธิภาพและทดลองติดตั้งทุ่นลอยให้กลายเป็นรุ่น TBD-1A เพื่อหาความเป็นไปได้ในการใช้เป็นเครื่องบินน้ำสำหรับภารกิจทิ้งระเบิด/โจมตีตอร์ปิโด เพื่อเสนอขายให้เนเธอร์แลนด์ในชื่อ De Vliegende Hollander แต่การเจรจาก็จบลงหลังการรุกรานของเยอรมันในปี 1940 หน่วยแรกที่ได้เครื่อง Devastator รุ่นใหม่ไปประจำการคือฝูงบินโจมตีตอร์ปิโดที่ 3 (VT-3) ที่ประจำบนเรือบรรทุกเครื่องบินซาราโตกา (USS Saratoga) จากนั้นจึงค่อยตามมาด้วยฝูงบิน VT-5 (USS Yorktown), VT-2 (USS Lexington), VT-6 (USS Enterprise) และ VT-8 (USS Hornet) นอกจากนี้ยังมีประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบินวาส์ฟ (USS Wasp) กับเรือบรรทุกเครื่องบินแรนเจอร์ (USS Ranger) อีกลำละ 1 ฝูงบินคือ VT-4 และ VT-7 ตามลำดับ
การโจมตีที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ในวันที่ 7 ธันวาคมปี 1941 นั้นเป็นเหมือนตะปูที่ตอกฝาโลงของญี่ปุ่นไปแบบไม่รู้ตัว เสริมด้วยความโชคดีแบบไม่น่าเชื่อที่กองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ไม่อยู่ที่ฐานทัพเลยแม้แต่ลำเดียว การจมของเรือประจัญบานทำให้สหรัฐฯ ต้องขยำแผน Orange (War plan Orange) ที่ร่างก่อนสงครามซึ่งรายละเอียดว่าด้วยการใช้กองเรือปืนเข้าทำการตีสวนกองทัพเรือญี่ปุ่นที่ฟิลิปปินส์ทิ้งลงถังไป กองเรือบรรทุกเครื่องบินคือกำลังทางเรือที่มีเหลือเพียงอย่างเดียวในการโต้ตอบกับการประกาศสงครามกับจักรวรรดิอาทิตย์อุทัย
เครื่อง Devastator ได้ชิมรสชาติการรบครั้งแรกในวันที่ 10 มกราคม 1942 หลังจากได้รับรายงานการตรวจพบเรือดำน้ำญี่ปุ่น เครื่อง 4 ลำจากฝูงบิน VT-2 ได้ติดตั้งระเบิดลึกขนาด 325 ปอนด์เข้าโจมตี แรงระเบิดเขย่าเรือดำน้ำญี่ปุ่นที่ลอยลำอยู่ให้เอนเอียงตาม โชคยังเข้าข้างญี่ปุ่นที่สามารถดำลงฉุกเฉินหนีไปได้สำเร็จ แต่ถ้านับจริง ๆ แล้วงานเปิดตัวแบบเป็นทางการจะต้องรอในอีก 1 เดือนถัดมามากกว่า
การโจมตีล้างแค้นครั้งแรกมาถึงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่หมู่เกาะกิลเบิร์ต (Gilbert Islands) เครื่องบิน Devastator จากฝูงบิน VT-6 ของเรือเอ็นเตอร์ไพรซ์ 9​ ลำได้เข้าโจมตีกองเรือลำเลียงของญี่ปุ่นที่ทอดสมออยู่ในลากูน แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นดั่งที่หวังสำหรับเครื่องบินโจมตีตอร์ปิโด และห่างไกลจากคำว่า “สำเร็จ” มากนัก ทั้งที่เส้นทางหนีออกสู่มหาสมุทรโดนปิดด้วยเรือลำเลียงที่เสียหายจากการดำทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน SBD ภายในควาจาเลนอะทอลล์ (Kwajalein Atoll) จึงเต็มไปด้วยเรือลำเลียงญี่ปุ่นที่นั่งรอความตาย เครื่องบินสหรัฐฯ สามารถฝ่าไปทิ้งตอร์ปิโด Mk 13 ได้ทั้งหมดทุกลำแต่ไม่มีลูกไหนที่สามารถสร้างความเสียหายได้ สาเหตุมาจากตอร์ปิโดเจ้าปัญหา ตอร์ปิโดสหรัฐฯ ช่วงต้นสงครามบอบบางและใช้งานยากกว่าทางญี่ปุ่นมาก ความเร็วของเครื่องบินต้องต่ำกว่า 241 กม./ชม. และทิ้งด้วยระยะสูงเพียง 37 เมตร ไม่อย่างนั้นระบบข้างในจะรวนจนมุดหรือจมน้ำหายไป สุดท้ายคือต้องรอให้เครื่องบินดำทิ้งระเบิดมาปิดบัญชีให้ทำให้จมได้เพียงเรือประมงติดอาวุธ 1 ลำ วันถัดมาเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์คทาวน์ส่ง VT-5 ออกไปทำการโจมตีจาลูอิตอะทอลล์ (Jaluit Atoll) แต่ก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาเรื่องเชื้อเพลิงและระยะปฏิบัติการอันน้อยนิดของเครื่องบินรุ่นนี้ผสมกับสภาพอากาศอันเลวร้ายทำให้ต้องลงจอดฉุกเฉินที่จาลูอิตและนักบินตกเป็นเชลยศึกไป 2 ลำ ส่วน VT-6 ที่ถูกส่งออกไปโจมตีฐานทัพญี่ปุ่นโดยใช้การติดตั้งลูกระเบิดสำหรับทิ้งระเบิดทางระดับให้ผลดีแต่ลานบินญี่ปุ่นยังใช้งานได้ตามปกติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมาการฝึกของลูกเรือ Devastator นั้นเน้นแต่กับการทิ้งระเบิดทางระดับมากกว่า เพราะตอร์ปิโดมีราคาแพงระยับที่ 10,000 ดอลลาร์จนกองทัพเรือจ่ายไม่ค่อยไหวจากเรื่องพิษเศรษฐกิจ ก่อนสงคราม การผลิตตอร์ปิโดยังทำที่โรงงานเพียงแห่งเดียวและเป็นการผลิตมือล้วน ทว่านายทหารระดับสูงหลายคนกลับยังไม่มองเห็นข้อด้อยของ Devastator เพราะอัตราการจำหน่ายออกที่ต่ำ พวกเขาคิดว่าเครื่องบินยังมีประสิทธิภาพเพียงพอซึ่งจริงๆ แล้วได้มองข้ามเรื่องที่สำคัญไปคือแต่ละที่ที่เข้าตีฉาบฉวยนั้นพวกเขาไม่ได้ปะทะเครื่องบินขับไล่ข้าศึกแบบจริงๆ จังๆ เลย
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทางกองทัพเรือสหรัฐฯ เริ่มเปิดภารกิจตีฉาบฉวยด้วยฝูงบิน VT-2 และ VT-5 ที่เกาะนิวกินีแต่ก็เป็นการเอาตอร์ปิโดไปทิ้งน้ำเปล่าประโยชน์ ตอร์ปิโด 23 ลูกมีเพียงลูกเดียวที่จมเรือลำเลียงญี่ปุ่นได้ ความล้มเหลวของตอร์ปิโดสหรัฐฯ นั้นนอกจากการออกแบบที่ผิดพลาดแล้วยังเกิดจากความดื้อดึงของสถานีตอร์ปิโดที่เกาะโกตต์ (Goat Island) ที่ยืนยันว่านี่คืออาวุธใต้น้ำคุณภาพสูง มีการประเมินเกินจริงจากกองทัพว่า Mk 13 มีความน่าเชื่อถือโดยรวมสูงถึง 80% ทั้งที่ความจริงจนกระทั่งถึงการรบที่มิดเวย์นั้นทางตัวตอร์ปิโดใช้ได้จริงเพียง 10% เครื่องลับที่ใช้รักษาระดับลึกเองก็เสียหายง่ายจนมักลอดใต้ท้องเรือญี่ปุ่นไปแบบน่าเสียดาย ความเร็วตัวตอร์ปิโดต่ำเพียง 30 นอตนั้นไม่ยากสำหรับเรือสมัยนั้นที่จะหลบ พรายน้ำของตอร์ปิโดสหรัฐฯ เองยังเห็นเด่นชัดเป็นทางยาวทำให้หันเรือเป้าหันเข็มเลี่ยงได้ง่าย การจุดระเบิดโดยอำนาจแม่เหล็กเองก็มักเกิดก่อนที่จะกระทบตัวเรือจริง จึงเป็นเหตุผลว่ามีรายงานมาว่าตอร์ปิโดเข้าเป้าสูงเกินความเป็นจริง เช่น กรณีของเรือบรรทุกเครื่องบินเบา โชโฮ (Shōhō) ที่จมในการรบที่ยุทธนาวีทะเลคอรัล (Battle of the Coral Sea) ตามรายงานของกองทัพเรือสหรัฐฯ เรือญี่ปุ่นลำนี้โดนตอร์ปิโดเข้าไปถึง 22 ลูก ทว่าความจริงแล้วมีตอร์ปิโดกระทบเรือจริงเพียง 7 ลูก
เครื่อง Devastator อาจจะล้ำสมัยตอนที่เริ่มนำเข้ามาประจำการ แต่สงครามแปซิฟิกที่เริ่มในปี 1941 นั้นมันกลับล้าสมัยไปเรียบร้อย เครื่องบินรุ่นนี้มีน้ำหนักตัวมาก อัตราการการใช้เชื้อเพลิงก็สูง ทำให้ทางกองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ต้องเสียเวลาเพิ่มในการนำเรือเข้าใกล้เป้าหมายจนเสี่ยงที่จะโดนญี่ปุ่นโต้กลับ ถังน้ำมันแบบอุดรอยรั่วเองไม่ได้ทำให้ Devastator มักกลายเป็นลูกไฟหลังโดนยิง เครื่องยนต์กำลัง 900 แรงม้ารุ่น Pratt & Whitney R-1830-64 ยังสูญเสียกำลังง่ายทำให้เกิดภาวะร่วงหล่น (Stall) ในตอนลดความเร็วเตรียมลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบิน กำลังเครื่องบินที่ไม่สัมพันธ์กับน้ำหนักทำให้บินท่า snap roll ไม่ได้ เมื่อไม่สามารถหักเลี้ยวหลบได้ การป้องกันตัวหนึ่งเดียวจึงตกเป็นของปืนกลอากาศขนาด .30 นิ้วหรือ .50 นิ้ว M2 Browning ยิงไปด้านหน้าและแท่นปืนกล .30 นิ้ว 1-2 กระบอกที่สำหรับพลปืนหลัง ทว่าก็คงหวังฝากผีฝากไข้ไม่ได้เพราะการฝึกของทร.สหรัฐในเวลานั้นไม่แน่นพอ การฝึกช่วงก่อนสงครามส่วนมากจะเป็นของนักบินกับพลทิ้งระเบิดเท่านั้น เรียกได้ว่าบางฝูงบิน พลปืนหลังทำเป็นแค่ส่งรหัสมอร์ส หากไม่มีเครื่องบินขับไล่คุ้มกันแล้ว Devastator ที่บรรทุกมาเต็มพิกัดพร้อมรบจึงเป็นได้แค่เป็ดอพยพที่บินไปให้นายพรานยิงทีละลำ ๆ เท่านั้นเอง ข้อดีหนึ่งเดียวของ Devastator คือบินได้ค่อนข้างเสถียรเมื่อใช้ความเร็วต่ำ และแล้วทุกเรื่องราวของความผิดพลาดจะถูกทบยอดโยงไยเข้ามาบรรจบกันที่ยุทธนาวีที่มิดเวย์ (Battle of Midway)
หลังจากถอดรหัสและคาดการณ์การโจมตีครั้งต่อไปของญี่ปุ่นได้ว่าต้องเป็นที่มิดเวย์ กองทัพเรือสหรัฐฯ จึงส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำไปรอเตรียมพร้อมรับศึกทันที พวกเค้ามีเครื่องบิน TBD-1 อยู่ทั้งหมด 41 ลำ แต่ทว่าหน่วยแรกที่เข้าสังเวยสนามรบคือ เครื่อง TBF จำนวน 6 ลำซึ่งเป็นส่วนแยกของ VT-8 เครื่องดำทิ้งระเบิด SBD อีก 16 ลำผสมร่วมกับเครื่องทิ้งระเบิดขนาดหนัก B-17 จำนวน 15 ลำและเครื่องบินโจมตีตอร์ปิโด B-26 อีก 4 ลำของกองทัพบก เครื่อง SB2U-3 จำนวน 11 ลำของกองบินนาวิกฯ การโจมตีระลอกแรกนี้กองทัพเรือสหรัฐฯ เสียหายหนักมาก​ส่วนแยกของ VT-8 เหลือเพียงเครื่อง TBF เสียหายหนักเกินเยียวยาเพียงลำเดียวที่รอดกลับมาได้
ฝูงบิน VT-8 รวม 15 ลำขึ้นบินเรือบรรทุกเครื่องบินฮอร์เน็ตบัญชาการโดยมี น.ต.จอห์น วัลดรอน (John Waldron) เป็นผู้บังคับฝูงต้องเผชิญทั้งห่ากระสุนจากปืนเรือและปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มม.ของเครื่องบินขับไล่ A6M2 ของญี่ปุ่นซึ่งบินลาดตระเวนรบ (CAP) แบบไม่มีการปรานีเลยแม้แต่น้อย ซ้ำร้าย นักบินอเมริกันต้องลดความเร็วเครื่องบินลงขณะที่เข้าโจมตีจากข้อจำกัดของอาวุธประเภทตอร์ปิโดทำให้ง่ายต่อการถูกยิงตกมาก อีกทั้ง VT-8 เป็นหน่วยที่ตั้งขึ้นใหม่ นักบินยังไม่มีประสบการณ์ในการใช้ตอร์ปิโดจริงเลยซักครั้งเดียว อาการตื่นสนามรบกับข้าศึกที่จ้องหมายเอาชีวิตยิ่งทำให้การทิ้งตอร์ปิโดไม่ได้ประสิทธิภาพขึ้นไปอีก บ้างก็ปลดที่ระยะไกลไป บ้างก็ทิ้งด้วยความเร็วที่สูงไป หลังการโจมตีจบลง เครื่อง TBD-1 ของฝูงบิน VT-8 ที่ไปโจมตีถูกสอยร่วงทั้งหมด มีผู้รอดชีวิตเพียงรายเดียวคือ ร.ต.จอร์จ เกย์ (George Gay) ก่อนหน้านี้ทาง น.ต.วัลดรอนเคยยื่นคำร้องขอผบ.กองบินน้อยฮอร์เน็ต น.ท.สแตนโฮป ซี. ริง (Stanhope C. Ring) ถึงการคุ้มกันด้วยเครื่อง F4F ที่เพดานบินต่ำแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ส่วนหนึ่งมาจากบทเรียนจากการรบที่ทะเลคอรัลด้วย เพราะหากตัดเรื่องระยะสูงทิ้ง เครื่องขับไล่ F4F จะปราชัยให้กับเครื่องซีโร่ที่ทั้งคล่องแคล่วและอัตราการไต่ดีกว่าได้ง่ายมาก การเปลี่ยนเส้นทางการบินกลางคันของวัลดรอนยังส่งผลให้ฝูงบินขับไล่ VF-6 จากเอ็นเตอร์ไพรส์เข้าใจผิดว่าด้านล่างเป็นฝูงบิน VT-6 จากเรือตนและเริ่มทำการคุ้มกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรนักเพราะ VF-6 ได้ตกลงรหัสกับ VT-6 ไว้ว่าหากต้องการความช่วยเหลือให้ส่งสัญญาณตามที่ตกลงไว้ แน่นอนว่าเรื่องนี้ VT-8 ไม่รู้และไม่เคยได้ส่งสัญญาณอะไรออกไป (การเปลี่ยนเส้นทางของนาวาตรีรายนี้นับว่าตัดสินใจถูกต้อง เส้นทางที่ริงให้มาจะทำให้บินเลยกองเรือญี่ปุ่นไปทางเหนืออีกไกล)
หน่วยที่สองที่เข้าโจมตีกองเรือญี่ปุ่นคือ VT-6 ของนำโดยน.ต.ยูจีน อี. ลินเซย์ (Eugene E. Linsey) ผลลัพธ์ที่ได้ไม่แตกต่างจากหน่วยของน.ต.วัลดรอนมากนัก ไม่มีตอร์ปิโดซักลูกที่กระทบเป้า มี Devastrator เพียง 3 ลำที่สามารถกลับมายังเรือเอ็นเตอร์ไพรส์ ปืนกลแท่นคู่ของพลปืนหลังกลับไม่มีประโยชน์เลยเนื่องจากพลประจำปืนคุมปืนได้ค่อนข้างยาก ส่วนฝูงบินขับไล่ VF-6 ที่ตาม VT-8 มาก่อนหน้านี้ก็เชื้อเพลิงใกล้หมดและเบนหัวมุ่งหน้ากลับเรือไปก่อนเรียบร้อย
ฝูงบินโจมตีตอร์ปิโดสุดท้ายที่เข้าโจมตีในวันนั้นคือ VT-3 จากเรือยอร์คทาวน์ซึ่งก็ดูไม่จืดพอๆ กัน เครื่องบิน 12 ลำที่เข้าโจมตีมีเพียง 2 ลำที่รอดกลับมาที่เรือได้ ระหว่างการโจมตี ฝูงบินนี้ได้รับการคุ้มกันด้วย F4F จำนวน 6 ลำแต่ขาดการประสานงานกับทางฝูงบินดำทิ้งระเบิดที่ 3 จากเรือลำเดียวกัน ซึ่งถ้าทุ่มโจมตีพร้อมกันก็จะช่วยเบนความสนใจของฝ่ายญี่ปุ่นออกจาก Devastator ไปได้บ้าง กว่าจะหลุดเข้าไปโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินโซริวได้ก็มีเครื่องบินในฝูงเหลือเพียง 5 ลำเท่านั้น ด้านเครื่องคุ้มกันเองก็ต้องฉีกออกไปโรมรันกับซีโร่ ตอร์ปิโดของทร.ทรยศนักบินครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยเช่นกันเอง การโหมโจมตีตลอดทั้งวันกลับไม่มีตอร์ปิโดลูกไหนเลยที่สามารถทำความเสียหายให้กับกองเรือญี่ปุ่นได้ ความสูญเสียของฝูงบินทิ้งตอร์ปิโดสหรัฐฯ พุ่งสูงไปถึง 90% ของกำลังรบ ทว่าการเสียสละของเครื่อง TBD-1 เองก็พอจะมีช่วยเปิดโอกาสให้กับหน่วยอื่นๆ ได้
การที่ญี่ปุ่นต้องคอยเสริมส่งเครื่องบินขับไล่ให้เต็มจำนวน 50 ลำเพื่อทำหน้าที่คุ้มกันกองเรือแทนที่จะได้ส่งเครื่องบินไปโจมตีข้าศึกอยู่ตลอดเท่ากับเป็นการซื้อเวลาให้กับกองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ มากพอตัว (เครื่อง A6M หรือที่รู้จักว่า “ซีโร่” หมัดหนักแต่กระสุนที่บรรจุนั้นน้อยจนต้องกลับมาเติมที่เรือบรรทุกเครื่องบินบ่อยครั้ง) เครื่องบินซีโร่ที่ลงมาไล่ยิงข้าศึกที่เพดานต่ำทำให้เพดานสูงเปิดโล่งให้ฝูงบินดำทิ้งระเบิดเข้ามาโจมตี เครื่อง SBD จึงสามารถเก็บชัยชนะในการรบระยะแรกของยุทธนาวีครั้งนี้ได้ด้วยการดำทิ้งระเบิดใส่เรือบรรทุกเครื่องบิน อาคากิ (Akagi) คางะ (Kaga) และ โซริว (Soryu) การสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบินหลักไปรวดเดียวแบบนี้ทำให้กระแสการรบเปลี่ยนทิศไปโดยสิ้นเชิง
ภารกิจรบครั้งสุดท้ายของ TBD-1 คือการเข้าร่วมกับเครื่อง SBD ในการโจมตีเรือลาดตระเวนหนักมิคุมะ (Mikuma) และโมงามิ (Mogami) ซึ่งชนกันก่อนหน้านี้ โดยทางสหรัฐฯ สามารถจมเรือมิคุมะลงได้ หลังจากโศกนาฏกรรมที่มิดเวย์ โดยมีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์จนตกผลึกออกมาเป็ณ 5 เหตุผลหลักในการสูญเสียครั้งใหญ่ว่า
ข้อ 1 นายทหารเรือญี่ปุ่นมีฝีมือเจนจัดจนสามารถนำเรือหลบได้อย่างคล่องแคล่ว
ข้อที่ 2 เครื่องซีโร่มีเวลาในการสกัดกั้นมากพอตั้งแต่ระยะ 15 ไมล์ห่างจากกองเรือหลัก
ข้อ 3 การขาดการประสานงานกันระหว่างเครื่องดำทิ้งระเบิดกับโจมตีตอร์ปิโด
ข้อ 4 การขาดการประสานงานกับเครื่องบินคุ้มกันและ
ข้อที่ 5 คือการวางกำลังป้องกันทางอากาศของญี่ปุ่นที่หนาแน่นเกินจนยากจะเข้าหักตรงๆ โดยเฉพาะกับ Devastator ที่มีความเร็วต่ำ
ทางกองทัพเรือสหรัฐฯ ใช้งานเครื่องบินรุ่นนี้ในแนวหน้าต่ออยู่ 3 เดือนก่อนจะปรับไปเป็นเครื่องบินฝึกแทนและปลดประจำการไปในปี 1944 รวมระยะเวลาที่ Devastator ได้ประจำการในนาวีสหรัฐฯทั้งสิ้น 8 ปี
อ้างอิง
เครื่องบิน TBD-1 ก่อนสงคราม
อ้างอิง
[1]Barrett T. TBD Devastator Units of the U.S. Navy, Combat Aircraft Vol. 20. Oxford, UK: Osprey Publishing; 2000.
[2] Doll TE. The Douglas TBD Devastator, Aircraft in Profile Number 171. Leatherhead, Surrey, UK: Profile Publications Ltd.; 1967.
[3] Jackson BR, Thomas ED. Douglas TBD-1 "Devastator", Aero Series 23. Fallbrook, CA: Aero Publishers; 1973.
[4] Adcock Al. TBD Devastator in Action, Aircraft Number 97. Carrollton, TX: Squadron/Signal Publications Inc.; 1989.
[5] Drendel L. U.S. Navy Carrier Bombers of World War II. Carrollton, TX: Squadron/Signal Publications Inc.; 1987. p.1-28.
[6] Kinzey B. U.S. Navy and Marine Aircraft of World War II, Part 1: Dive and Torpedo Bombers. Northbrook, Illinois: Revell-Monogram, LLC; 2003. p.8-15.
[7] Kernan AB. The Unknown Battle of Midway: The Destruction of the American Torpedo Squadrons. New Haven: Yale University Press; 2005.
โฆษณา