27 ธ.ค. 2019 เวลา 04:56 • ประวัติศาสตร์
** A6M2-N Pt.I : Float Zero [PART I] **
[1] ปี 1940 กองทัพญี่ปุ่นมั่นใจไม่ว่าอย่างไรการก่อสงครามในแปซิฟิกก็เป็นสิ่งที่พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ นโยบายจักรวรรดินิยมทำให้ประเทศญี่ปุ่นต้องการทรัพยากรมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหล่อเลี้ยงจำนวนประชากรที่ขยายตัว โดยแหล่งทรัพยากรที่ใกล้ที่สุดก็คือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งมีทั้งยางพาราและน้ำมันดิบล้นเหลือ ทว่าด้วยสภาพที่เป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่ของทะเลใต้ทำให้ญี่ปุ่นมองเห็นถึงความยากลำบากในการสร้างสนามบินเพื่อขยายระยะปฏิบัติการ ทั้งห่างไกล เข้าถึงยากและต้องใช้เวลา ดังนั้นทางกองบัญชาการกองบินทหารเรือ (ไคกุนโคคุฮมบุ) จึงได้เริ่มร่างโครงการเครื่องบินขับไล่ติดทุ่นขึ้น โดยเครื่องบินรุ่นใหม่จะต้องใช้เครื่องยนต์ลูกสูบดาว 1 เครื่อง ข้างใต้ลำตัวและที่ปีกติดทุ่นเพื่อให้ความสมดุล ทางบริษัทคาวานิชิ (Kawanishi) ซึ่งเป็นผู้ชนะในการยี่นแบบครั้งนี้ได้พัฒนาเครื่องบิน N1K1 ขึ้นแต่ก็ดำเนินไปได้อย่างล่าช้าเพราะระบบใบพัด 2 กลีบ 2 ใบหมุนสวนทางกันที่หวังให้กักอากาศมากและเพิ่มความเร็วมากขึ้นได้ ทว่าผลที่ออกมายังไม่น่าพอใจนักจากปัญหากับชุดเกียร์ในเครื่องยนต์ (Gearbox) กว่าจะเริ่มเปลี่ยนมาใช้เป็นใบพัด 3 กลีบธรรมดาก็กินเวลาการพัฒนาไปมากและผลิตได้เพียงไม่ถึง 100 ลำเท่านั้นตอนที่สงครามเริ่มต้นขึ้น
[3] โชคดีที่ไคกุนโคคุฮมบุได้มองเห็นถึงปัญหาข้อนี้ไว้แล้ว พวกเขาหันไปหาอีกโครงการหนึ่ง นั่นคือการเอาเครื่องบินขับไล่ A6M2 Model 21 มาทำการติดทุ่นภายใต้การผลิตของบริษัทนากาจิม่า ฐานล้อได้ถูกถอดออกทั้งหมด เพิ่มพื้นที่ผิวหางเสือเครื่องเพื่อเพิ่มความสเถียร ปลายปีกนั้นพับไม่ได้เหมือนกับ A6M2 ปกติ อาวุธหลักใช้เป็น ปญอ.แบบ 99 โมเดล 1 มาร์ค 3 ขนาด 20 มม. จำนวน 2 กระบอกพร้อมกระสุนกระบอกละ 60 นัดติดตั้งที่ปีกและปกอ.แบบ 97 ขนาด 7.7 มม. จำนวน 2 กระบอกยิงผ่านใบพัดพร้อมกระสุนกระบอกละ 500 นัด ด้านล่างปีกมีตำบลติดลูกระเบิดขนาด 60 กก. ด้านละ 1 ลูก ลำตัวเครื่องบินบรรจุเชื้อเพลิงได้ 578 ลิตร แม้เครื่องบินรุ่นใหม่นี้จะไม่สามารถติดตั้งถังเชื้อเพลิงสำรองได้เหมือน A6M2 แต่ปัญหานี้ก็หมดไปเนื่องจากเชื้อเพลิงสำรองได้ถูกนำมาติดตั้งภายในทุ่นกว่า 330 ลิตร ระยะปฏิบัติการ 1,782 กม. ลดลงจากรุ่นมาตราฐานมาก (3,105 กม.) จากน้ำหนักตัวและแรงฉุดจากทุ่นที่เพิ่มเข้ามา ความเร็วสูงสุดจึงเหลือเพียง 440 กม./ชม. จาก 533 กม./ชม. ทว่าเรื่องความคล่องตัวนั้นเครื่องรุ่นใหม่นี้ยังคงรักษาไว้ได้อย่างเยี่ยมยอดมากกว่าที่โคคุฮมบุหวังไว้ตั้งแต่ต้นเสียอีก
N1K1 (ภาพบน)/ A6M2-N (ภาพล่าง)
[3] หลังจากเริ่มบินทดสอบในวันที่ 7 ธันวาคมปี 1941(วันเดียวกับที่ญี่ปุ่นโจมตีอเมริกา) มันได้เข้าประจำการในชื่อแบบทางการว่า เครื่องบินน้ำขับไล่แบบ 2 โมเดล 11 (นิชิดิซุยโจเซนโตกิ) หรือชื่อจากทางบริษัทคือ A6M2-N เครื่องล็อตแรก 12 ลำได้ถูกผลิตขึ้นในเดือนเมษายนปี 1942 โดยส่งไปทั้งแนวรบทางแปซิฟิกตอนเหนือและตอนใต้อย่างละครึ่ง วันที่ 3-4 มิถุนายนปี 1942 กองเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นของพล.ร.ต.คาคุจิ คาคุตะ ได้โจมตีดัตช์ฮาร์เบอร์ ตามด้วยการยกพลขึ้นบกที่เกาะแอตตูและเกาะคิสก้าเพื่อลวงกองทัพอเมริกันว่ากองเรือบรรทุกเครื่องบินหลักญี่ปุ่นอยู่ทางเหนือ สภาพของหมู่เกาะอะลูเชียน (Aleutian Islands) นั้นเต็มไปด้วยหมอกหนาและลมแรง ไม่เหมาะสำหรับเครื่องบินปกติเท่าไร ดังนั้นหน้าที่เครื่องบินขับไล่จึงมาตกอยู่กับ A6M2-N ของกองบินที่ 452 ที่เพิ่งย้ายมาพร้อมกับชื่อเรียกขานจากททางสัมพันธมิตรว่า “Rufe”
โฆษณา