28 ธ.ค. 2019 เวลา 13:34 • ความคิดเห็น
ว่าด้วย "ช้างมาตังคะ"
ช้างมาตังคะคืออะไร ? เป็นสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่พระพุทธเจ้านำมาเปรียบเทียบกับลักษณะบางอย่าง พอดีเมื่อเช้าได้อ่านบทความของพี่เสก (Little Walk) จึงนึกถึงเรื่องนี้ขึ้น และขอนำมาเขียนบทความให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกัน เรื่องราวน่าสนใจมากครับ
... เหตุเกิดจากภิกษุกรุงโกสัมพีทะเลาะกัน ...
ใครว่าเป็นพระไม่ทะเลาะกัน พระก็ทะเลาะกันได้ ในสมัยพุทธกาลก็มีตัวอย่างให้เห็น ดังเช่นเรื่องนี้ เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องหนึ่งที่สอนเรื่องการทะเลาะกันได้เป็นอย่างดี
พอภิกษุกรุงโกสัมพีทะเลาะกัน พระพุทธเจ้าก็เข้าไปห้าม พระองค์ตรัสว่า ...
" ภิกษุทั้งหลาย อย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย "
ภิกษุที่กำลังใช้ปากทะเลาะกันอยู่ แม้พระพุทธเจ้าจะเข้าไปห้าม พวกเขาก็ไม่ฟัง โต้ตอบพระพุทธเจ้าไปว่า ...
" ขอพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเจ้าของธรรม ทรงยับยั้งก่อน ขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย ทรงประกอบเนือง ๆ แต่สุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด "
" พวกข้าพระองค์จักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะ แก่งแย่ง วิวาทกันอยู่ "
อารมณ์ประมาณว่า พระพุทธเจ้าอย่ามายุ่ง ให้เป็นผู้ขวนขวายน้อย ไปนั่งสมาธิประกอบด้วยสุขวิหารธรรมเกิด พวกเรายังจะทะเลาะกัน ยังคันปากที่จะทุ่มเถียงกันอยู่
นึกถึงตอนที่หมู่ชนทะเลาะกัน ยากจริง ๆ นะ ที่จะเข้าไปห้าม พูดอะไรเขาก็ไม่ฟัง เสียงห้ามออกจากปากเรานะ แต่โชคร้ายที่มันเดินทางไปไม่ถึงหูของหมู่ชนที่ทะเลาะกันเลย
พระพุทธเจ้าห้ามถึง 3 ครั้ง ไม่เป็นผล พระองค์ก็ปล่อยเลย เชิญทะเลาะกันตามสบาย หลักการนี้น่าสนใจนะครับ เวลาเราจะพูดบอกอะไรกับใคร ถ้าพูดบอกถึง 3 ครั้งแล้วไม่เชื่อ ไม่ทำตาม ไม่ฟัง ก็ปล่อยเขาไปเถอะครับ ถือว่าเราได้ทำดีที่สุดแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจคือคาถาท้ายพระสูตร พระองค์ตรัสว่า ...
" ภิกษุมีเสียงดังเสมอกัน ไม่มีใคร ๆ สำคัญตัวว่าเป็นพาล เมื่อสงฆ์แตกกัน ต่างก็มิได้สำคัญตัวกันเองให้ยิ่ง "
1
ทะเลาะกันเสียงก็ดังเสมอกัน ตะโกนมาตะโกนกลับ ตะคอกมาตะคอกกลับ ขณะที่ทะเลาะกันนี่ไม่มีใครสำคัญตนว่าเป็นคนพาลเลย ลืมหลงไปหมด
1
" พวกที่เป็นบัณฑิต ก็พากันหลงลืม มีปากพูด ก็มีแต่คำพูดเป็นอารมณ์พูดไป เท่าที่ปรารถนาแสดงฝีปาก ไม่รู้เหตุที่ตนนำไป "
" ก็ชนเหล่าใดผูกโกรธเขาว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ประหารเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ "
* ประหารในคำพระพุทธเจ้าจะหมายถึง การทำร้ายร่างกาย
พอมีคนด่าเรา ทำร้ายเรา เอาชนะเรา ขโมยของของเรา เราก็จะผูกโกรธกับคนที่มีทำเช่นนี้กับเรา พระพุทธเจ้าตรัสว่า เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ
แล้วเวรจะสงบได้อย่างไร ?
" ส่วนชนเหล่าใดไม่ผูกโกรธเขาว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ประหารเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมเข้าไปสงบได้
" เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวรเลย ในกาลไหน ๆ แต่จะระงับได้ด้วยไม่มีเวรกัน นี้เป็นธรรมดามีมาเก่าแก่ "
" คนพวกอื่นตัดกระดูกกัน ผลาญชีวิตกัน ลักโค ม้า ทรัพย์กัน แม้ชิงแว่นแคว้นกัน ยังมีคืนดีกันได้ เหตุไร ? ... พวกเธอจึงไม่มีเล่า "
ขนาดคนอื่นเขาฆ่ากัน แย่งชิงแว่นแคว้นกัน เขายังคืนดีกันได้เลย แล้วเราแค่ทะเลาะกัน ยังไม่ได้ฆ่ากันเลย ทำไมจะคืนดีกันไม่ได้
" ถ้าบุคคลได้สหายที่มีปัญญารักษาตัวร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ คุ้มอันตรายทั้งปวงได้ พึงชื่นชมมีสติเที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด "
" ถ้าไม่ได้สหายที่มีปัญญารักษาตัวร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์ มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ พึงเป็นผู้ผู้เดียวเที่ยวไป "
สั้น ๆ ครับ ถ้ามีเพื่อนที่ดีคบกันยาว ๆ ครับ แต่ถ้าหาเพื่อนที่ดีไม่ได้ อยู่คนเดียวดีกว่าครับ
" เหมือนพระราชาที่ทรงสละราชสมบัติและเหมือนช้างมาตังคะในป่า ฉะนั้นการเที่ยวไปคนเดียวประเสริฐกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันในคนพาล พึงเป็นผู้ผู้เดียวเที่ยวไป และไม่พึงทำบาปเหมือนช้างมาตังคะมีความขวนขวายน้อยในป่าฉะนั้น "
ลักษณะของช้างมาตังคะ พระพุทธเจ้าจะนำไปเปรียบกับผู้ขวนขวายน้อย เที่ยวไปผู้เดียว เพราะตามปกติช้างจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แต่ช้างมาตังคะสามารถทิ้งกลุ่ม แล้วเที่ยวไปในป่าแต่เพียงผู้เดียวได้
เพราะกลุ่มนั้นมีแต่คนพาล เราจะอยู่ทำไม ? ช้างมาตังคะ ก็ไม่อยู่เหมือนกันนะครับ
บทความนี้มีภาษาในพระไตรปิฎกเยอะหน่อยนะครับ ผมอยากให้พวกเราได้ลองอ่านดูบ้าง ว่าจริง ๆ พระไตรปิฎกไม่ได้ยากอย่างที่คิด พระพุทธเจ้าท่านก็สอนชาวบ้านอย่างเรา ๆ นี่แหละครับ ดังนั้นเข้าใจได้ไม่ยากครับ
บทความนี้มีเรื่องราวของการทะเลาะ การก่อเวรกัน มนุษย์มีอาวุธอันทรงพลังอยู่อย่างหนึ่งที่ใช้ทะเลาะกันได้ดีเลย สิ่งนั้นคือ "ปาก" ใช้ปากพูดทิ่มแทงกันอยู่ทุกวัน พระพุทธเจ้าจะบอกว่ามีปากคือหอกทิ่มแทงกันและกันอยู่
แล้วทำไมเราต้องทะเลาะกัน อยู่กันดี ๆ ไม่ได้หรือ ? ไว้มีโอกาสผมจะนำมาเขียนให้ได้อ่านนะครับ
สำหรับค่ำคืนนี้คงมีเพียงเท่านี้
ที่มา : อุปริ.ม. ๑๔/๒๒๙/๔๔๐-๔๔๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา